ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) เข้าใกล้โลก 23 ก.ค. 63 ดูด้วยตาเปล่าได้!

avatar writer
avatar writer22 ก.ค. 2563 avatar writer3.3 K
ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) เข้าใกล้โลก 23 ก.ค. 63 ดูด้วยตาเปล่าได้!

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)
ในรอบหกพันปีถึงจะได้เห็น!
โอกาสสุดท้ายที่จะเห็นดาวหางนี้ชัดที่สุด


 

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

 

 

“ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) เป็นดาวหางที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ดาราศาสตร์ หรือหลงรักการดูดาว เพราะนานทีถึงจะได้เห็น! และใช่ว่าทุกคนจะดวงดีได้เห็นกันด้วยตาเปล่า เพราะในบางประเทศหรือในประเทศไทยของเราในขณะนี้ฝนตกฟ้าไม่เป็นใจเอาเสียเลยค่ะ การดูดาวหางในครั้งนี้จึงมีอุปสรรคไปบ้าง ส่วนใครที่อยากทำความรู้จัก อยากเห็นความสวยงามของ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) วันนี้ปันโปรได้ข้อมูลมาแน่นพร้อมบอกต่อแล้วค่ะ มาดูกัน 😀

 


ทำความรู้จัก “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE)

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

 

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) หรือ ดาวหาง C/2020 F3 เป็นดาวหางคาบยาว มีหางที่เห็นได้ชัดถึง 2 แฉก โดยจะมีหาง 2 ส่วน “หางส่วนบน” เรียกว่า “หางไอออน” จะมีความยาวมากกว่าหางส่วนล่าง แต่จะสว่างน้อยกว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแก๊สที่อยู่รอบดาวหาง แล้วแตกตัวออกเป็นไอออน เนื่องจากได้รับพลังงานจากลมสุริยะ ส่งผลให้เกิดการเรืองแสงเป็นแนวยาวออกมา

“หางส่วนล่าง” ของดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) จะมีความฟุ้ง สะท้อนรับกับแสงของดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เรียกว่า “หางฝุ่น” ซึ่งเกิดจากอนุภาคฝุ่นที่ฟุ้งกระจายจากนิวเคลียส ขณะที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ปรากฏเป็นแถบโค้งสว่างไปในทิศทางเดียวกับการโคจร NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดเผยสิ่งควรรู้สำหรับนักล่าดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE) ว่า ปัจจุบันดาวหางดวงนี้อยู่ใกล้กับบริเวณกลุ่มหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “กลุ่มดาวจระเข้” เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์ที่พบเห็นได้ง่ายทางด้านทิศเหนือนั่นเอง


การค้นพบครั้งแรกของ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE)

 

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

 

ดาวหางนีโอไวส์ ถูกค้นพบครั้งแรกโดยยานอวกาศ NEOWISE ซึ่งเป็นอดีตกล้องโทรทัศน์อวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ก่อนจะเข้าสู่ภาวะจำศีลในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาถูกปลุกขึ้นมาในเดือนกันยายน 2556 ในภารกิจช่วยเหลือ NASA สำรวจวัตถุใกล้โลก
ดาวหางนีโอไวส์ถูกค้นพบอีกครั้ง จากภาพถ่ายในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOWISE ย่อมาจาก Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer) ขณะค้นพบ ดาวหางที่มีความสว่างโชติมาตร 17 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ต่อมา ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ในภาพถ่ายจากยานโซโฮ ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมรอบดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
และพบว่าดาวหางมีความสว่างมากขึ้นกว่าเดิม และยังอยู่ในสภาพที่ดี ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มีแนวโน้มที่ดาวหางจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน จนอาจสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

 


ข่าวดีจาก NASA

 

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

 

 

NASA เผยภาพ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก ชัดสุด 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งการค้นพบดาวหางดวงใหม่ “นีโอไวส์” (NEOWISE) ที่กำลังจะพุ่งเข้าใกล้โลกมากที่สุด ทำให้เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ และผู้ที่หลงใหลในดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตามอง เพื่อรอชมการปรากฏตัวของ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) ที่ NASA ระบุว่าจะส่องแสงสว่างมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งดาวหางจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 นี้

 

 

ดาวหางนีโอไวส์ (NEOWISE)

 

ถึงแม้ว่าวันที่ 23 กรกฎาคม จะเป็นช่วงที่ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) เข้าใกล้โลกที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่าดาวหางจะมีค่าค่าความสว่างจะลดลง รวมทั้งในคืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย ซึ่งหลังจากนั้น ความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ใครชอบดูดาว...งานนี้ต้องรีบนะคะ!

 


 

เทคนิคและวิธีการเบื้องต้นที่นักล่าดาวหางควรรู้

สำหรับเทคนิคและทักษะสำคัญในการถ่ายภาพดาวหางนั้น นักล่าดาวหางจำเป็นต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้น เช่น ตำแหน่ง ทิศทางการเคลื่อนที่ ค่าความสว่าง เทคนิคการถ่ายภาพ และการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยมีเทคนิค 7 ข้อ ดังนี้ค่ะ

  1. การติดตามข่าวสารจากเว็ปไซต์ ที่ได้จากการเฝ้าสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์ ซึ่งจะมีหอดูดาวสังเกตการณ์ตลอดทั้งปี และคอยอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับดาวหางที่อาจมีค่าความสว่างมากขึ้น จนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น https://theskylive.com ซึ่งมีข้อมูลดาวหางแบบ Real Time และค่าความสว่าง ตำแหน่งดาวหางล่วงหน้าอย่างละเอียด

  2. การหาตำแหน่งดาวหางจากโปรแกรม Stellarium ในการใช้โปรแกรมบางครั้งจำเป็นต้องอัพเดตโปรแกรมเวอร์ชั่นล่าสุด และสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดาวหางลงไว้ในโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ของเรา เพื่อตรวจสอบตำแหน่งดาวหางในแต่ละวันได้ ดังรายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2CcgdPi

  3. การวางแผนถ่ายภาพดาวหางในแต่ละวัน โดยสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง รวมทั้งการคาดการณ์ค่าความสว่างของดาวหางในแต่ละช่วงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากค่าความสว่างของดาวหางแล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบดวงจันทร์ที่อาจจะทำให้มีแสงรบกวนได้ โดยสามารถศึกษารายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2ZOjqwW

  4. อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพดาวหางสว่าง (ย้ำว่าเป็นดาวหางสว่าง) สำหรับอุปกรณ์ในการถ่ายภาพดาวหางสว่างนั้น มีเพียง A.กล้องดิจิตอล B.ขาตั้งกล้องที่มั่นคง C.เลนส์ไวแสง แต่สำหรับ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) ครั้งนี้ เฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แนะนำเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัส 24 - 70 mm. หรือ 70 - 200 mm. เนื่องจากขนาดปรากฏของดาวหางมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก

  5. การหามุมรับภาพ เพื่อให้เราสามารถวางแผนเลือกใช้เลนส์และอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพดาวหาง โดยสามารถใช้โปรแกรม Stellarium ในการหามุมรับภาพ ตามลิงก์ : https://bit.ly/2WydE1o

  6. การตั้งค่าถ่ายภาพดาวหาง

    6.1 เริ่มจากการใช้ค่ารูรับแสงกว้าง เช่น f/2.8 เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุด

    6.2 คำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์จากสูตร 400/600 ให้สัมพันธ์กับช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราเลือก

    6.3 ใช้ รายละเอียดตามลิงก์ : https://bit.ly/2Cpsdxw ตั้งค่าความไวแสง ISO โดยอาจเริ่มจาก ISO 800 ขึ้นไป และปรับเพิ่มขึ้นตามสภาพแสงของท้องฟ้า

  7. การมองหาดาวหางด้วยตาเปล่า ในระหว่างวันที่ 18 - 23 กรกฎาคม 2563 นี้ เริ่มต้นมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป และใช้การถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างประกอบการค้นหา เนื่องจากกล้องถ่ายภาพสามารถรวมแสงวัตถุจาง ๆ ได้ดีกว่าตาเปล่า แล้วเช็คดูภาพที่หลังกล้อง หรืออาจใช้กล้องสองตาในการค้นหาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ทาง NASA ยังทำคลิปพิเศษวิธีการสังเกต “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) ด้วยนะคะ

 

เรียกได้ว่าการค้นพบ “ดาวหางนีโอไวส์” (NEOWISE) ในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก ๆ ค่ะ หากใครต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อยากชมความงามของดาวหางดวงนี้ด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต สามารถเข้าไปได้ที่ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทางสถาบันได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการดูดาวหางไว้ละเอียดมาก ๆ แล้วมาร่วมเก็บภาพความทรงจำไปพร้อมกันค่ะ  

ขอบคุณข้อมูลจาก 1 2

 

แสดงความคิดเห็น