รู้จัก PANTONE จุดเริ่มต้นของสีแห่งปี ที่มีอิทธิพลต่อทุกวงการ !
โดย : imnat
ใครที่ทำงานอยู่ในสายกราฟิก หรือสายงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสี น่าจะเคยเจอปัญหาเกี่ยวกับความ 'เยอะ' ของลูกค้า เอ้ย ความเยอะของสี มาให้ปวดเศียรเวียนเกล้ากันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นขาวไหน แดงไหน หรือว่าเขียวไหน ที่มักจะพ่วงมาด้วยสับเซตย่อย ๆ ของสี ที่เวลาสื่อสารกันแต่ละที แทบอยากจะยกเท้าขึ้นมาก่ายหน้าผากให้มันรู้แล้วรู้รอดไป 😓
ขาวไหนของเรา อาจจะไม่ใช่ขาวไหนของลูกค้า แดงไหนของเรา อาจจะไม่ใช่แดงไหนของลูกค้า นั่นจึงกลายมาเป็นที่มาของการกำหนดเฉดสี หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ PANTONE ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของจักรวาลการใช้สีเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าเราต้องการสีอะไร จะเขียวไหน แดงไหน หรือว่าขาวไหน ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนทำงานอีกต่อไป ตราบใดที่เรามีคลังแสงแห่งสีอย่าง PANTONE
PANTONE คลังแสงแห่งสี
อาวุธลับที่ช่วยให้หลายคน "หายสับสนในเรื่องสี"
สำหรับจุดเริ่มต้นของ PANTONE ได้เริ่มต้นขึ้นมาจากไอเดียของ Lawrence Herbert ลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัท M&J Levine Advertising บริษัทเล็ก ๆ ที่รับหน้าที่ในการผลิตการ์ดสีให้กับบริษัทเครื่องสำอาง โดย Lawrence ได้ไอเดียนี้มาจากปัญหาที่เขามักจะพบบ่อย ๆ เวลาทำงาน นั่นก็คือ ปัญหาเฉดสีที่ไม่ตรงกัน ที่ทำให้เขาและเพื่อนร่วมงานจะต้องเสียเวลาในการคัด และผลิตการ์ดสีนั้นออกมาใหม่อีกครั้ง เพื่อทดแทนการ์ดสีที่ผิดเพี้ยนไป
โดยจุดประสงค์ของการเกิดเป็น PANTONE ขึ้นมานี้คือ ความต้องการที่จะทำให้เฉดสีต่าง ๆ มีความเป็นสากลมากขึ้น ต่อให้จะมีการนำไปใช้ที่ไหน แต่สีที่ออกมาจะต้องเหมือนกัน โดยตัวของ Lawrence ได้ให้กำเนิด Color Matching System หรือแนวทางการใช้สี ขึ้นมาในปี 1963 โดยใช้ชื่อเรียกมันว่า Pantone Guides ที่มีลักษณะเป็นคู่มือเล่มเล็ก ๆ โดยด้านในจะประกอบไปด้วยชาร์จสีขนาด 6 x 2 นิ้ว แต่ละหน้าจะมีแม่แบบของสีหลัก ๆ อยู่แค่เพียงสีเดียว แต่จะมีองค์ประกอบย่อย ๆ เป็นสีอื่น ๆ ที่จัดอยู่ในหมวดสีเดียวกัน
อย่างสมมุติ แม่แบบของหน้านั้นเป็นสีเหลือง สีย่อย ๆ ที่อยู่ในหน้าเดียวกันก็จะมีตั้งแต่สีเหลืองโทนสว่าง ไปจนถึงสีเหลืองโทนเข้ม โดยการมีองค์ประกอบที่เป็นสีย่อย ๆ แบบนี้ จะทำให้คนที่ต้องการจะใช้สีในการทำงาน หรือใช้ในการออกแบบต่าง ๆ ได้ไอเดียในการใช้งานที่หลากหลาย และได้เฉดสีที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
หลังจากคู่มือ Pantone Guides ของเขาได้รับความนิยม จนเรียกได้ว่าตัวของ Lawrence ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัทเล็ก ๆ เป็นอย่างมาก แถมยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนในที่สุด Lawrence ก็ได้ตัดสินใจซื้อกิจการ M&J Levine Advertising มาบริหารงานต่อ ทั้งยังได้เปลี่ยนชื่อให้กับมันใหม่ จนกลายมาเป็น PANTONE ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
และต้องบอกเลยว่า ความสำเร็จของ Pantone Guides ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น จากเดิมที่แม่แบบของสีมีแค่เพียง 13 สี นานวันเข้า ระบบสีของ Lawrence ก็ได้แตกแขนงออกมาเรื่อย ๆ จนพัฒนาต่อมาเป็น Pantone Matching System หรือคู่มือมาตรฐานการเทียบสี ที่มีให้เลือกใช้งานหลากหลาย เรียกได้ว่าเป็นคลังแสงแห่งสี ที่ไม่ว่าใครที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสี จะต้องมีคู่มือนี้ติดตัวเสมอ
จากคู่มือมาตรฐานสี สู่ที่มาของการกำหนด "สีแห่งปี" ที่มีอิทธิพลต่อทุกวงการ !
หลังจาก PANTONE ประสบความสำเร็จจากการเป็นคู่มือให้กับกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์และการออกแบบแล้ว PANTONE ยังได้สร้างความตื่นเต้นและแรงกระเพื่อมให้กับวงการอื่น ๆ กันอีกครั้ง ด้วยการกำหนด Color of the Year ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1999 โดยจุดประสงค์ของการกำหนดสีแห่งปีขึ้นมานั้น เพื่อเป็นการประกาศศักดาความทรงอิทธิพลของ PANTONE ว่านอกจากมันจะมีประโยชน์กับวงการออกแบบต่าง ๆ แล้ว PANTONE ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสี หลังจากที่ได้คลุกคลีอยู่กับวงการสีมาแล้วหลายปี จนทำให้มีอำนาจในการตัดสิน "เฉดสี" ที่จะมีอิทธิพลในปีต่อ ๆ ไปได้
ซึ่งเฉดสีที่ PANTONE ที่เคาะออกมาในแต่ละปีนั้น ก็ได้อาศัยจากการทำ Research ในเรื่องสีมาตลอดทั้งปีนี่แหละ จนกลายเป็นการคาดการณ์เทรนด์สีที่น่าจะได้รับความนิยมในปีถัด ๆ ไป ซึ่งแต่ละสีก็จะมีความหมายในตัวของมันเอง ซึ่งถามว่าเฉดสีที่เคาะออกมาในแต่ละปีมีอิทธิพลจริงไหม เราตอบให้เลยว่า มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เฉพาะแค่ในวงการออกแบบเพียงอย่างเดียว อย่างวงการแฟชั่น การตลาด การทำสื่อ Social Media หรือไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการเมือง ก็ได้ยึดเอามาตรฐานสีจาก PANTONE มาปรับใช้ในการกำหนดเฉดสีของตัวเองในปีนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
อย่างสี PANTONE 2024 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ก็ได้แก่สี Peach Fuzz โดยสามารถสื่อความหมายได้ถึง ความอบอุ่นและความต้องการที่จะอยู่ร่วมกับคนที่เราแคร์ และอยากแชร์ความรู้สึกดี ๆ ด้วย ซึ่งหลังจากนี้น่าจะมีหลาย ๆ แบรนด์ที่มีการนำโทนสีนี้มาใช้กันมากขึ้น รอติดตามกันได้เลย
และไม่ใช่แค่เฉดสีประจำปีที่จะมีอิทธิพลกับหลาย ๆ วงการเท่านั้น แต่ PANTONE ยังรับออกแบบโทนสี "เฉพาะแบรนด์" อีกด้วย เหมือนเป็นการกำหนดเฉดสีที่เป็น Identity เฉพาะแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีหลาย ๆ แบรนด์ที่ให้ทาง PANTONE ช่วยออกแบบโทนสีเฉพาะแบรนด์ให้ อาทิเช่น สี Tiffany Blue ของแบรนด์ Tiffany & Co. สี Barbie Pink ของบาร์บี้ สี Louboutin Red ของแบรนด์รองเท้าพื้นแดง คริสเตียน ลูบูแตง สีส้ม Hermès นอกจากนี้ยังลามไปถึงวงการเซเลบริตี้กับตัวพ่อแห่งวงการฮิปฮอปอย่าง Jay-Z ที่มีสี PANTONE เป็นของตัวเอง ในชื่อสุดเท่อย่าง Jay-Z Blue
นอกจากนี้มาตรฐานสี PANTONE ยังได้ถูกนำไปใช้งานในระบบภายในต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบภายในของบริษัท Adobe, CANON หรือว่า Microsoft โดยความกินขาดของระบบสีจาก PANTONE เมื่อเทียบกับระบบสีอย่าง CMYK แล้ว ต้องบอกเลยว่าความหลากหลายของสีจาก PANTONE นั้นเป็นต่อกว่ามาก ๆ แถมในแต่ละปี ทาง PANTONE ก็ได้คิดค้นเฉดสีใหม่ ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ๆ จึงทำให้ระบบสีของ PANTONE สามารถดึงดูดบรรดานักออกแบบได้มากกว่านั่นเอง
💭 เราจะเห็นได้ว่า อำนาจของสี PANTONE นั้นทรงอิทธิพลมากกว่าที่เราคิด นอกจากมันจะมีอิทธิพลต่อวงการสิ่งพิมพ์ และงานออกแบบแล้ว ในปัจจุบันนี้อิทธิพลของ PANTONE ก็ได้ลามไปยังวงการอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แล้วยิ่งมีการกำหนดสีแห่งปี หรือ Color of the Year ขึ้นมาแบบนี้ หลายธุรกิจก็เริ่มที่จะมีการวางแผนทำการตลาดกันตั้งแต่ช่วงรอยต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่กันเลย สมแล้วกับที่มันถูกวางให้เป็นเฉดสีสากลตั้งแต่ต้น หลังจากนี้เราก็มาจับตาดูกันอีกที ว่าอิทธิพลของสีประจำปีนี้อย่าง Peach Fuzz จะสร้างอิทธิพลให้กับสังคมเรามากแค่ไหน 🍑
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- ศาสตร์แห่งสี Personal Color เลือกให้ถูก จะแต่งหน้า-แต่งตัวยังไงก็ปัง !
- เปิดตำรา "แต่งตัวสุดปัง" ด้วยเทคนิคจับคู่สีเสื้อผ้า
- แจกทริค แต่งรูปชาร์จสี Pantone ชิค ๆ ด้วยแอป PANTONE Studio
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : PANTONE, g2, designface, medium, visme และ Refinery29
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)