สงสัยกันไหม? นอนเต็มอิ่มแต่ทำไมยังรู้สึกง่วงอยู่ เรามีคำตอบมาให้แล้ว!

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer21 เม.ย. 2563 avatar writer32.4 K
สงสัยกันไหม? นอนเต็มอิ่มแต่ทำไมยังรู้สึกง่วงอยู่ เรามีคำตอบมาให้แล้ว!

นอนก็เยอะนะ แต่ทำไมถึงยังง่วงอยู่?
นี่เรานอนไม่พอจริงๆ หรือนอนมากเกินไปกันแน่นะ?
ได้เวลาไขข้อสงสัยกับปัญหาใหญ่ระดับชาติอย่าง ‘การนอน’ กันแล้ว


มนุษย์เราแต่ละคนนั้นมีกระบวนการของการนอนหลับที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัยเข้ามาประกอบ อาทิ ช่วงอายุ เพศ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อย่างวัยผู้ใหญ่นั้นควรได้รับการพักผ่อนอย่างต่ำ 7 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะดีต่อสุขภาพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้ใหญ่บางคนอาจจะไม่จำเป็นต้องนอน 7 ชั่วโมงแต่ก็สามารถมีสุขภาพที่ดีได้เหมือนกัน ตราบใดที่การนอนหลับของเรานั้นลึกและเพียงพอสำหรับความต้องการของร่างกายจริงๆ

 

 

และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ จะส่งผลทำให้เมื่อเราตื่นขึ้นมานั้นร่างกายจะเต็มไปด้วยความสดชื่น พร้อมสำหรับการทำงาน อีกทั้งยังช่วยลดความเครียดและทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้นด้วย เห็นไหมว่าการนอนหลับนั้นมีประโยชน์สำหรับพวกเราทุกคนจริงๆ นะ

แต่ในบางคนที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับมาตลอด อาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการนอนหลับได้เท่ากับคนที่ไม่เคยมีปัญหา โดยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับที่พบเจอกันได้บ่อยที่สุดคงจะหนีไม่พ้นปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เป็นเวลา หรืออย่างบางคนประสบกับปัญหานอนเยอะไป แต่ทำไมยังง่วงอยู่ ใครที่เคยประสบกับปัญหานี้ หรือกำลังเป็นอยู่พอดี ได้เวลามาหาคำตอบกันแล้วว่า ทำไมยิ่งนอน เราถึงยิ่งง่วง?

 

 


นอนมากเกินไป ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพจริงหรอ?


การนอนหลับนั้นดีต่อสุขภาพก็จริง แต่ถ้านอนมากไปแล้วยังรู้สึกง่วงกันอยู่นี่สิ แบบนี้อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดย พญ. พัชรนันท์ ศรีพัฒนวัชร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลสมิติเวชเรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรค ‘นอนเกิน’ หรือ Hypersomnia ที่นับว่าเป็นความผิดปกติที่สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับอาการของคนที่เป็นโรคนอนเกินคือ มีความต้องการในการนอนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน ถ้าตื่นก็จะตื่นยาก หรือในบางคนต่อให้ตื่นแล้วก็ยังมีความต้องการที่จะนอนต่ออีก อีกทั้งยังมีอาการง่วงหงาวหาวนอนอยู่ตลอดทั้งวัน และพร้อมหลับได้ตลอดเวลา ซึ่งทางการแพทย์ต้องอาศัยการวิเคราะห์พฤติกรรมโดยละเอียดว่าก่อนหน้านี้เราเคยนอนไม่พอกันใช่ไหม หรือได้รับยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงกันหรือเปล่า เป็นต้น

 


สาเหตุของโรคนอนเกิน (Hypersomnia) มาจากอะไร


สำหรับใครที่ประสบปัญหานอนมากเกินไปกันอยู่ ก่อนจะตัดสินว่าตัวเองเป็นโรคนี้กันไหม ไหนลองมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเองคร่าวๆ กันหน่อยซิว่าสาเหตุของโรคนอนเกินนั้นมาจากอะไรกันได้บ้าง

• อดนอนมาเป็นระยะเวลานาน หรืออดนอนบ่อยๆ จนทำให้กระบวนการนอนหลับทำงานผิดปกติ

• ปรับเวลาในการนอนผิด หรือบางคนเรียกว่า Jet Lag (มักจะพบในผู้ที่เดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากันมากๆ)

• ฮอร์โมนรวมถึงสารเคมีในสมองบางชนิดทำงานไม่ปกติ

• พฤติกรรมการนอนกรน และมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอ

• กระบวนการทางสมองทำงานผิดปกติ รวมไปถึงการได้รับบาดเจ็บที่สมอง

• การรับประทานยาบางชนิด ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้แพ้

 

 


ผลกระทบของโรคนอนเกินส่งผลเสียมากกว่าที่คิด!


นอนเยอะใครว่าจะดี โดยเฉพาะถ้ามีอาการผิดปกติอย่างการนอนมากเกินไป  บอกเลยว่าผลกระทบนั้นสามารถส่งผลต่อสมองได้โดยตรงเลยนะ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินประโยชน์ของการนอนหลับที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่ากันมาบ้าง แต่ถ้าเรามีอาการง่วงและต้องการที่จะนอนตลอดเวลา พฤติกรรมดังกล่าวอาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่สมองทำงานช้า ล้า ไร้ชีวิตชีวา โดยเฉพาะในคนที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง จะสังเกตเห็นความแตกต่างของตัวเองกันได้ชัดเจนเลยว่า ประสิทธิภาพของการทำงานนั้นลดลง กลายเป็นไม่มีความสุขกับการทำงาน ทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะไม่ได้ติดต่อเข้าสังคมเป็นระยะเวลานาน แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมากๆ อีกด้วย

 

 


ปรับสมดุลการนอนใหม่ = วิธีการรักษาโรคนอนเกิน


สำหรับวิธีการรักษาโรคนี้ ก่อนอื่นเราต้องแน่ใจก่อนว่าตัวเองเป็นโรคนอนเกินจริงๆ ด้วยการเข้าไปพบแพทย์เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของการนอนมากเกินไป ในบางรายถ้ามีอาการกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจจะให้ยาหรือวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของเรามาให้ โดยวิธีการรักษาเบื้องต้นเมื่อค้นพบว่าตัวเองเริ่มจะเข้าข่ายเป็นโรคนอนเกิน คือการปรับสมดุลการนอนใหม่ อันได้แก่

• พยายามเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพราะการเข้านอนในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนดีๆ ที่จะช่วยทำให้เรานอนหลับได้ดีมากขึ้น

• กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนของตัวเอง โดยควรจะเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ติดต่อกัน 28 วัน

• จัดสภาพแวดล้อมของห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน เพราะห้องนอนก็มีส่วนที่ทำให้เรานอนหลับลึกและมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

• ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ 

• หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือน้ำอัดลมชั่วคราวจนกว่าการนอนหลับของเราจะกลับมาเป็นปกติ

ถ้าลองแก้ปัญหาตามขั้นตอนที่แนะนำไปนี้แล้วพบว่าพฤติกรรมการนอนของตนเองนั้นดีขึ้น ก็ให้รักษาสมดุลนี้ไปให้ได้ตลอด พยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เราอดนอนเป็นระยะเวลานาน อย่างการทำงานหามรุ่งหามค่ำเป็นสิ่งที่แอดไม่แนะนำเลยนะ หรือการดื่มชากาแฟบ่อยๆ ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราประสบปัญหานอนเกินนี้กันได้ หรือถ้าใครลองวิธีการดังกล่าวนี้แล้วไม่ได้ผล แอดแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์กันเลยนะ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานๆ เดี๋ยวสุขภาพจะแย่กันไปใหญ่เด้อ

 

 


ปันโปรสรุปให้

• ปัญหาการนอนหลับนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนได้จริงๆ เพราะการนอนหลับเปรียบเสมือนการชาร์จพลังให้กับชีวิต ถ้าการนอนหลับมีความผิดปกติ ได้เวลาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและปรับสมดุลการนอนกันด่วนๆ ก่อนที่ประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ชีวิตของเราจะลดลงกันไปมากกว่านี้

• นอกจากนี้ในคนที่มีปัญหาหลับยาก อาจจะใช้ตัวช่วยในการนอนหลับอย่างการเปิดเพลงคลอเบาๆ หรือการหารายการที่ช่วยเรื่องการนอนหลับโดยเฉพาะมาฟัง วิธีนี้อาจจะช่วยทำให้เราหลับง่ายขึ้นมาได้นะ หรือจะเริ่มกันที่ ASMR กันก่อนเลยก็ได้ > https://www.punpro.com/p/ASMR-treatment-etc 

 

via GIPHY

 

- ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากโรงพยาบาลสมิติเวช - 

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น