มัดรวม 5 คอร์ส "สอนชงชาญี่ปุ่น" โตแล้วอยากชงชากินเอง แถมสร้างเป็นอาชีพได้ด้วย
โดย : Ying
มัทฉะลาเต้ 1 แก้วค่ะ ❤️
ชาเขียว คือ ชาที่มาจากต้น Camellia Sinensis มีจุดกำเนิดดั้งเดิมมาจากประเทศจีน ก่อนจะกระจายความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น แต่บางคนที่ดื่มชาไม่บ่อยนัก (เช่นเรา) อาจจะเข้าใจว่าชาเขียวกับมัทฉะคือชาแบบเดียวกัน และมักจะสั่งผิด พอได้เครื่องดื่มมาจะออกอาการ เอ๊ะ ! ทำไมชาเขียวแก้วเราถึงมีรสชาติไม่เหมือนกันกับเพื่อน ?
ในความจริงแล้ว ถึงแม้จะชาเขียวกับมัทฉะจะทำมาจากใบชาเหมือนกัน แต่ต้องบอกเลยว่า กรรมวิธีในการผลิตนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และชาทั้ง 2 แบบนี้ก็มีรสชาติที่แตกต่างกัน โดยเมื่อเราได้ใบชาสดมาแล้ว ชาเขียวจะมีกรรมวิธีการผลิตดังนี้
อบด้วยไอน้ำ > นำไปนวด > นำไปอบแห้ง > นำใบที่แห้งมาแช่น้ำและดื่ม
กระบวนการผลิตชาเขียวนี้ จะช่วยรักษาสภาพของใบชาให้คงเดิมมากที่สุด อีกทั้งยังช่วยดึงรสชาติ และกลิ่นหอมของใบชา ออกมาได้มาก ด้วยชาเขียวนั้นจะไม่ได้ผ่านการหมักเหมือนชาประเภทอื่น ๆ เลยทำให้ยังมีคุณภาพเช่นเดียวกับใบชาสด สีของใบชายังคงความเขียวสด และเมื่อนำมาแช่ในน้ำร้อน สีของน้ำชาจะออกมาเป็นสีเขียวสดใส และให้รสชาติขมที่เป็นเอกลักษณ์
ใบชาเขียวที่ผ่านกรรมวิธีเรียบร้อยแล้ว เวลาดื่มมักจะนำใบไปใส่ในน้ำร้อน
แต่ชาเขียว ก็มีหลายรูปแบบ หลายรสชาติ และหลายชื่อเรียก
🍵
มัทฉะ ชาที่เราได้ยินชื่อบ่อยที่สุด แทบจะทุกคาเฟ่จะต้องมีเมนูนี้บนกระดานแน่นอน การผลิตมัทฉะจะมีความซับซ้อนกว่าชาเขียว ซับซ้อนตั้งแต่กระบวนการปลูกเลย ชาที่ปลูกเพื่อนำมาทำมัทฉะนั้น จะควบคุมปริมาณแสงที่ต้นชาจะได้รับ โดยการคลุมต้นชาด้วยสแลนสำหรับกรองแสง เพื่อกระตุ้นให้ต้นชาสร้างสารคลอโรฟิลล์มากยิ่งขึ้น สีใบชาจะเข้มข้นกว่าชาเขียวธรรมดา เมื่อชาโตพอเหมาะ ก็จะเก็บมาดำเนินการขั้นต่อไปดังนี้
อบด้วยไอน้ำ > นำไปบดให้ละเอียด > นำผงที่บดได้มาชงดื่ม
ด้วยกระบวนการนี้ทำให้มัทฉะมีรสชาติและกลิ่นที่ดี รสฝาดน้อย มัทฉะจะมีหลายเกรด ถ้าเราสังเกตด้วยตาเปล่า สีของผงมัทฉะยิ่งเข้ม นั่นหมายความว่าคุณภาพจะยิ่งดี แถมการดื่มมัทฉะ 1 ถ้วย จะได้รับสารอาหารเท่ากับดื่มชาเขียวประเภทอื่น 10-15 แก้วเลยทีเดียว ความเข้มข้นของมัทฉะ มักจากถูกนำไปทำขนม และ มัทฉะนี่แหละ ที่มักจะนำมาใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่น
ผงมัทฉะขณะที่กำลังบดละเอียด เมื่อนำมาชงชาจะได้รสชาติที่เข้มข้นมาก ทำให้ส่วนใหญ่นิยมผสมกับนม
หรือที่เราเรียกว่า มัทฉะลาเต้ นั่นเอง
นอกจากมัทฉะชาตัวฮิตแล้ว ชาเขียวยังมีแบบอื่นอีกด้วยนะ ซึ่งนอกจากเรื่องของกรรมวิธีในการผลิตแล้ว ก็จะมีเรื่องของฤดูกาลในการเก็บเกี่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นส่งผลทำให้ชามีรสชาติแตกต่างกันไป ชาบางตัวเราอาจจะเคยได้ชิมรสชาติมาบ้าง แต่บางชนิดเราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเลยก็มี
- เกียวคุโระ - Gyokuro (ซ้าย) ชาคุณภาพสูง ที่ผ่านการเลี้ยงในร่มเพื่อรักษาสารอาหารให้ได้มากที่สุด และเก็บเป็นชาแรกของปี โดยจะเก็บเฉพาะยอดอ่อนของใบชาเท่านั้น ชาชนิดนี้มักจะใช้ในพิธีการสำคัญ เพราะใน 1 ปีจะเก็บได้น้อยมาก
- เกนไมฉะ - Genmaicha (ขวา) เกนไมฉะ หรือชาข้าวคั่ว เป็นชาเขียวที่ผสมกับข้าวคั่วญี่ปุ่น ทำให้ชามีสีเหลืองอ่อน มีรสชาติที่ฝาดกำลังดี หวานน้อย มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวคั่ว ชาชนิดนี้มีคาเฟอีนน้อยมาก
- เซนฉะ - Sencha (ซ้าย) ชาเขียวที่มีคุณภาพรองจากเกียวกุโระและมัทฉะ เป็นชาที่นิยมดื่มกันมากที่สุด ซึ่งจะใช้ชาที่ปลูกโดนแสงแดดตลอดเวลาจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ชาชนิดนี้จะมีรสชาติหวานปนขม
- โฮจิฉะ - Hojicha (ขวา) โฮจิฉะ มักจะผลิตด้วยชาบันฉะ เซนฉะ และคุคิฉะ ซึ่งถูกเก็บเกี่ยวในช่วงสุดท้าย มาผสมรวมกันก่อนจะนำไปคั่ว ทำให้ชามีสีน้ำตาล รสชาติอ่อน และมีกลิ่นหอมหวาน มีปริมาณคาเฟอีนน้อย
- บันฉะ -Bancha บันฉะ เป็นใบชาเกรดต่ำสุด ซึ่งเก็บมาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล จึงแทบจะไม่มีความขมเลย แต่มีรสชาติที่สดชื่น เหมาะสำหรับดื่มทั่วไปในชีวิตประจำวัน
I ❤️ Matcha
สำหรับทาสรักมัทฉะ ไม่ว่าจะแวะร้านไหนก็จะสั่งแต่มัทฉะเท่านั้น จะทราบกันดีว่า กว่าเราจะได้มาดื่มสักแก้วจะต้องใช้เวลาพอสมควรเลย ยิ่งในร้านที่ชงสด เอาผงมัทฉะมาตีกันสดๆ ทีละออเดอร์แล้วละก็ บอกเลยว่า คิวยาวแน่นอน นั่นก็เพราะว่า มัทฉะจะมีขั้นตอนเยอะกว่าชาชนิดอื่น ต่อให้ไม่ได้ชงตามแบบฉบับดั้งเดิมของญี่ปุ่นก็ตาม เวลาที่เราคนผงมัทฉะกับน้ำร้อน นี่เรียกว่างานละเอียด เพราะถ้าคนไม่ละเอียดรับรองเลย ลูกค้าเจอมัทฉะแบบเป็นก้อนแน่นอน
และก็จะมีคนรักมัทฉะอีกไม่น้อยเลย ที่นอกจากจะรักในการดื่มแล้ว ยังรักมากซะจนอยากชงให้เป็นด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีเลยนะ เพราะด้วยแต่ละคน จะมีความชอบต่างกัน ถึงจะชอบมัทฉะเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะชอบดื่มในลักษณะเดียวกันทั้งหมด บางคนอาจจะชอบแบบข้นมากๆ บางคนอาจจะขอให้เจือจางหน่อย เพราะไม่ชอบดื่มแบบขมสักเท่าไหร่ และตามร้านก็จะมีสไตล์การชงเป็นของตนเอง ถ้าเจอร้านถูกใจก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ายังไม่เจอร้านในแบบที่ถูกใจ ทางเลือกของเราคงไม่พ้น ชงมัทฉะดื่มเอง
มัดรวมคอร์สชงชาญี่ปุ่น
ช่วยเติมเต็มความฝัน ให้คนรักชาเขียว
ชายอดฮิตและมีตำนานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นมัทฉะ หรือชาเขียวญี่ปุ่นประเภทอื่นๆ ย่อมต้องมีคอร์สเรียน ที่สอนวิธีการชงแบบเจาะลึกเปิดสอนอย่างแน่นอน และที่สำคัญคือ ไม่ต้องถึงขั้นบินไปเรียนไกลถึงญี่ปุ่น เพราะเราสามารถเรียนได้ในประเทศไทย ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ แล้วจะมีคอร์สไหน ห้องเรียนไหน หรือการสอนรูปแบบใดน่าสนใจบ้าง วันนี้เรารวมมาให้แล้วถึง 5 สถานที่ด้วยกัน ดังนี้เลย
🍂 Little Bambino Club
สำหรับที่แรก Little Bambino Club ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ร้านอยู่ห่างจากสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ ประมาณ 300 เมตร และแน่นอนว่ามีคอร์สชงชาที่สอนโดย ครูผู้ที่มีประสบการณ์ไม่น้อยเลย แถมรีวิวก็แน่นด้วย อีกทั้งยังมีข้อความแนะนำตัวที่หน้าเพจ ได้อย่างน่าสนใจว่า "Nice and cozy place for Arts, Creativities, and Activities among birds and trees, a perfect place " ยิ่งทำให้น่าสนใจเข้าไปใหญ่
💸 ราคาคอร์สเรียนเริ่มต้น 2,500 บาท
📌 สนใจคอร์สเรียนชงชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> littlebambinoclub
🍂 Chaya & Co.
Chaya & Co. ตั้งอยู่ในซอยประดิพัทธ์ 14 พญาไท ไม่ไกลจาก BTS สะพานควาย ที่นี่มีทั้งคอร์สชงชา และคอร์สชิมชา Chaya & Co. มักจะจัด Workshop ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องชาบ่อยๆ อีกทั้งหน้าเพจของร้านก็มีสาระดีๆ ให้อ่านกันเพลินๆ อยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญ ร้านนี้ยังสนับสนุนชาที่ปลูกแบบออร์แกนิก อีกด้วยนะ
💸 ราคาคอร์สเรียนเริ่มต้น 3,100 บาท
📌 สนใจคอร์สเรียนชงชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่>> chayaandco
🍂 Asian School of Tea - Thailand
เมื่อพูดถึงแหล่งปลูกชา เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่แน่นอน และ Asian School of Tea - Thailand นี้ก็ตั้งอยู่ที่ อำเภอท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ก็คือไปเรียนกันถึงแหล่งเพาะปลูกกันเลย นั่นแปลว่าชาที่ได้จะต้อง ทั้งสด ทั้งใหม่ และด้วยสถานที่ ที่ใกล้ชิดกับแหล่งเพาะปลูกชา Asian School of Tea - Thailand จึงเป็นอีกแหล่งที่สามารถ หาความรู้เรื่องชาได้แบบเจาะลึก รวมถึงยังได้รับการบอกเล่าประสบการณ์ สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจร้านชากันอย่างแน่นอน
💸 ราคาคอร์สเรียนเริ่มต้น 8,225 บาท / 1 คอร์ส (เรียน 2 วัน)
📌 สนใจคอร์สเรียนชงชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> asianschoolofteathailand
🍂 Koto Tea Space - 琴
สำหรับ Koto Tea Space ตั้งอยู่ในย่านบางรัก ห่างจาก BTS สะพานตากสินเพียง 7 นาที ร้านนี้นอกจากจะเปิดสอนชงชาแล้ว เรายังสามารถ Walk in เพื่อเข้าไปชิมชาได้ด้วย อีกทั้งยังมีขนมแบบญี่ปุ่นขายด้วยนะ รับรองว่าต้องเพลิดเพลิน ชิมชาได้อย่างจุใจ และถึงแม้คอร์สสอนชงชาจะยังขึ้นป้าย Coming Soon อยู่ แต่แนะนำให้กดติดตามไว้ได้เลย คอร์สเปิดเมื่อไหร่ จะได้ไม่พลาดข่าวสาร แต่ระหว่างนี้แวะเข้าร้านไปชิมชาก่อน เผลอๆ อาจจะได้ร้านที่ชงชาถูกใจเพิ่มอีกหนึ่งร้านก็ได้
💸 คอร์สเรียนชงชาเปิดตัวเร็วๆ นี้ คาดว่าน่าจะช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นะ
📌 สนใจคอร์สเรียนชงชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> kototeaspace
🍂 MTCH
และสำหรับที่สุดท้าย MTCH ภายใต้การแนะนำตัว “CONTEMPORARY MATCHA BAR SPECIALTY MATCHA SERVICE” แห่งนี้ ตั้งอยู่ในซอย พหลโยธิน 5 ใกล้ BTS อารีย์นิดเดียว สำหรับร้านนี้ เป็นร้านที่หลายรีวิวบอกว่า ที่สุดของมัทฉะต้องที่นี่เลย ถึงแม้ว่าคอร์สเรียนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะถูกจองหมดแล้ว แต่แนะนำให้กดติดตามไว้ เมื่อไหร่ที่ทางร้านเปิดคอร์สเรียนอีกครั้ง ให้รีบจองด่วน และร้านนี้มีสาขาอยู่ที่สุขุมวิทด้วยนะ
💸 คอร์สเรียนชงชาเดือนกุมภาพันธ์เต็มเรียบร้อยแล้ว ติดตามคอร์สต่อไปทางเพจนะ
📌 สนใจคอร์สเรียนชงชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >> mtch.bkk
การเรียนชงชา นอกจากจะช่วยให้เราสร้างสรรค์รสชาติชาในแบบที่ถูกใจตัวเองแล้ว หลายคนก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้ด้วย ยิ่งร้านไหนมีพื้นที่ให้ผู้เรียน ได้แชร์ประสบการณ์ด้านธุรกิจ หรือผู้สอนแชร์เทคนิคการค้นหาใบชาชั้นเลิศ ส่งต่อความรู้ในการผลิตผงชาให้มีคุณภาพสูง ก็ยิ่งทำให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้นั้นๆ เป็นพื้นที่ที่ดีมาก และ การที่เราได้ประกอบอาชีพจากสิ่งที่เรารัก นับว่าเป็นทั้งความสุข และความสำเร็จในชีวิตเลยก็ว่าได้
🍵
💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่
- Tea Time การเดินทางของ "ชา" เครื่องดื่มยอดฮิต แท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากไหนกันนะ ?
- รู้จัก Sadou พิธีกรรมทรงคุณค่า เมื่อ "การชงชา" เกี่ยวข้องกับทุกวิถีชีวิตของญี่ปุ่น
- เปิดประวัติ พร้อมไขคำตอบชื่อเรียกที่ถูกต้องของ "ชาสีส้ม" ไปกับ History of THAI TEA
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : sciplanet.org / baristabuddy.co.th
โดย Ying
ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ