อุณหภูมินั้นสำคัญไฉน ถ้ามากไปเสี่ยงโควิด-19 จริงหรอ?
โดย : imnat
ได้เวลาหาคำตอบเกี่ยวกับอุณหภูมิในร่างกาย
มากไปไม่ดีจริงเหรอ? ถ้าจะให้ดีควรอยู่ที่เท่าไหร่?
เครื่องวัดอุณหภูมิเชื่อถือได้ไหม? เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้ว!
หลังจากมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายคนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องของอาการของผู้ติดเชื้อกันมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของอุณหภูมิในร่างกายที่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนไหนมีไข้ คนไหนไม่มี โดยที่อาการไข้ขึ้นนี้เป็นหนึ่งในอาการเบื้องต้นของผู้ที่เข้าข่ายได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็มีเสียงอีกส่วนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองที่ว่าเรื่องของอุณหภูมินั้นวัดไม่ได้เสมอไป ซึ่งความจริงแล้วเป็นอย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลย
โดยปกติแล้วคนเรามีอุณหภูมิในร่างกายอยู่ที่เท่าไหร่?
เมื่อเอ่ยถึงอุณหภูมิต้องบอกเลยว่าการที่คนๆ นึงควรมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่เท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนมาประกอบ เพราะแต่ละคนมีองค์ประกอบของปัจจัยไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอุณหภูมิในร่างกายของคนเรานั้นได้แก่
• เพศ - จากข้อมูลพบว่าเพศหญิงจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดีกว่าเพศชาย เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปจะสามารถแสดงปฏิกริยาออกมาได้ไวกว่า อาทิ อาการตัวสั่น หรือเนื้อตัวเย็น เป็นต้น
• อายุ - รู้หรือไม่ว่าคนเรามีระดับของอุณหภูมิที่เหมาะสมแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ สำหรับเด็กหรือทารกนั้นจะมีอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ที่ระหว่าง 36.6 - 37.2 องศาเซลเซียส, ผู้ใหญ่ จะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 36.1 - 37.2 ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส
• ตำแหน่งที่วัดอุณหภูมิ - อันนี้สำคัญมากๆ เลยจ้ะ เพราะตำแหน่งนั้นมีผลต่ออุณหภูมิในร่างกายของเราจริงๆ แต่ละจุดที่วัดจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมแตกต่างกันไป เช่น ถ้าวัดอุณหภูมิภายในปาก ถ้าเป็นไข้อุณหภูมิควรอยู่ที่ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถ้าน้อยกว่าแปลว่าไม่มีไข้, ถ้าวัดบริเวณรักแร้ ถ้าเป็นไข้อุณหภูมิจะอยู่ที่ 37.2 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า, ถ้าวัดบริเวณหูหรือทวารหนัก ถ้าเป็นไข้อุณหภูมิจะอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นต้น
• ปัจจัยอื่นๆ - นอกจากจะมีเรื่องของเพศ, อายุ และตำแหน่งที่วัดอุณหภูมิในร่างกายแล้ว ยังมีในส่วนของปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่ออุณหภูมิที่สูงหรือต่ำของร่างกายกันอีกนับตั้งแต่การสวมใส่เสื้อผ้า, การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม หรือแม้แต่อุณหภูมิภายในห้องก็มีผลเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการที่จะบอกว่าคนๆ นึงควรจะมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่เท่าไหร่นั้นไม่ได้ง่ายเลย เพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ดังนั้นถ้าจะให้ชัวร์จริงๆ ต้องอาศัยข้อมูลอื่นตามที่ได้บอกไปด้วยนะจ๊ะ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าร่างกายมีอุณหภูมิที่ต่ำเกินไป?
อุณหภูมิต่ำที่ว่าคือการที่ร่างกายมีอุณหภูมิน้อยกว่า 35 องศา หรือเรียกอีกชื่อนึงว่าภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) เป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วจนทำให้มีอุณหภูมิที่ต่ำ ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยเช่นกัน อาทิ การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเกินไป, การบาดเจ็บรุนแรง, การใช้ยาบางชนิด หรือผู้ที่เสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำอยู่ในระดับที่ร้ายแรงมาก (ร่างกายมีอุณหภูมิที่น้อยกว่า 27 องศาเซลเซียส) อาจจะทำให้เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงเกินไป?
น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ได้เช่นกันจ้ะ โดยปกติแล้วถ้าคนที่เป็นไข้จะมีอุณหภูมิของร่างกายอยู่ระหว่าง 37.5 แต่จะไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิอยู่ระหว่างนี้เราจะเรียกว่ามีไข้ต่ำ, ถ้าสูงเกิน 38 แต่ไม่เกิน 41.5 องศาเซลเซียสจะถือว่ามีไข้สูง แต่ถ้ามากกว่า 41.5 เป็นต้นไปแปลได้ว่าคนๆ นั้นกำลังมีไข้สูงอย่างรุนแรง ซึ่งจัดอยู่ในภาวะที่อันตรายมากที่สุด โดยภาวะดังกล่าวนี้มักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงในกระแสโลหิต รวมไปถึงภาวะเลือดออกในสมองก็ได้เช่นกัน การรักษาคือจะต้องรีบทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงให้เร็วที่สุด มิเช่นนั้นอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
อีกหนึ่งภาวะที่มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่สูงเกินไปของร่างกายนั้นได้แก่ ภาวะฉุกเฉินจากความร้อน หรือ Heatstroke มีสาเหตุมาจากการไม่สามารถทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายเย็นลงได้ มักจะพบในกลุ่มของผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศร้อนชื้น, การใช้ยาบางตัว, นักกีฬา รวมถึงทหารเกณฑ์ โดยอุณหภูมิของผู้ที่มีภาวะฉุกเฉินจากความร้อนนั้นคือมีมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส มีอาการโซเซ กระวนกระวาย เป็นลมหมดสติ ซึ่งวิธีการรักษาเบื้องต้นคือการทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงมาที่ 40 องศาโดยเร็วที่สุด
การวัดอุณหภูมิแบบไหนได้ผลและแม่นยำที่สุด?
ตั้งแต่ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นต้นมา สิ่งที่คนในสังคมให้ความสนใจนอกจากบรรดาหน้ากากอนามัยกับเจลล้างมือแล้ว เครื่องวัดอุณหภูมิ ก็กลายเป็นที่สนใจเช่นกัน สืบเนื่องจากเวลาที่เราเดินทางไปออฟฟิศ ไปห้างสรรพสินค้า ไปโรงพยาบาล หรือตามพื้นที่สำคัญต่างๆ เรามักจะเจอจุดตรวจวัดอุณหภูมิที่เปรียบเสมือนด่านคัดกรองพื้นฐานก่อนจะให้บุคคลนั้นๆ เดินทางเข้าไปยังภายในอาคาร และไม่ใช่ว่าผลที่ออกมาจะได้มาตรฐานทุกครั้ง เพราะความแม่นยำของการตรวจวัดนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบยิงหน้าผากจะต้องมีระยะการใช้งานที่ถูกต้อง คือจะต้องมีระยะห่างประมาณ 15 ซม. แต่สำหรับการชี้ชัดว่าใครมีโอกาสติดเชื้อโควิดนั้นคงจะเป็นอะไรที่บอกได้ยาก เพราะผู้ป่วยบางคนอาจจะยังไม่แสดงอาการ และอาจจะต้องรอนานถึง 14 วันจนกว่าอาการไข้จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน
นอกจากปัจจัยเรื่องของระยะห่างแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของสถานที่ที่ทำการวัด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไปยืนวัดอยู่ที่หน้าตู้แอร์ มันอาจจะส่งผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายของเราเย็นลง แต่ถ้าเราเดินตากแดดร้อนๆ มาแล้วมาวัดทันที อุณหภูมิในร่างกายของเราก็จะดีดตัวสูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย จะสังเกตได้ว่าต้องอาศัยหลายปัจจัยมากจริงๆ ที่จะบอกได้ว่าอุณหภูมิในร่างกายของเรา ณ ขณะนั้นอยู่ที่เท่าไหร่
มีไข้... ไม่ได้แปลว่าเราติดเชื้อโควิดเสมอไป
ย้ำให้ฟังชัดๆ อีกสักรอบ เข้าใจแหละว่าจากข่าวสารที่เราเห็นกันตามสื่อต่างๆ ทุกวันนี้ ทำให้เราแตกตื่นกันง่ายเอามากๆ ซึ่งจริงๆ แล้วอาการมีไข้ไม่ได้แปลว่าเราจะติดเชื้อโควิดเสมอไป อย่างที่เราพอจะเคยได้ยินมาบ้างว่าอาการของโควิดมีความคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่อยู่มาก ดังนั้นถ้ามีไข้จริงๆ จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น อาการหืดหอบ หายใจลำบาก หายใจเร็ว จะต้องมีประวัติเคยใกล้ชิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ความแตกต่างอย่างนึงของผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้คือมักจะแสดงอาการช้ากว่าไข้หวัดธรรมดา ในบางรายอาจมีระยะฟักตัวนานถึง 14 วันเลยก็ได้
ปันโปรสรุปให้
• เรื่องของอุณหภูมิในร่างกาย อย่างที่เราอ่านกันไปจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยมาประกอบร่วมด้วยเยอะมาก ตั้งแต่เพศ, อายุ, ตำแหน่งที่วัด ล้วนส่งผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายของคนเราไม่เท่ากัน ถ้าจะให้ประมาณการคร่าวๆ อุณหภูมิโดยปกติของผู้ใหญ่ ควรมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 36.1 - 37.2 องศาเซลเซียส เด็กหรือทารกควรมีอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ที่ระหว่าง 36.6 - 37.2 องศาเซลเซียส และผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรมีอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส
• อุณหภูมิที่สูงเกินไปก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มาประกอบด้วยเช่นกัน บางคนอาจจะทำงานตากแดดทั้งวันจึงไม่แปลกว่าทำไมร่างกายถึงมีอุณหภูมิที่สูงกว่าคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ แต่การที่ทำงานอยู่กลางแจ้งทั้งวันก็ไม่ใช่ว่าจะดี เพราะมันอาจส่งผลทำให้ร่างกายของเราเกิดภาวะฉุกเฉินจากความร้อน หรือ Heatstroke ที่อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
• สำหรับใครที่กังวลว่าถ้าร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงเกินไปเราจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโควิด-19 ได้มากกว่าจริงหรอ? อันนี้ต้องดูทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้วัดอุณหภูมิด้วยว่ามีการใช้งาน รวมถึงระยะห่างที่เหมาะสมหรือเปล่า ไหนจะมีเรื่องของสถานที่ที่ทำการวัดที่อาจส่งผลทำให้อุณหภูมิผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีไข้ การมีไข้ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะติดเชื้อโควิดเสมอไป เพราะอาการของคนที่เป็นไข้หวัดกับคนที่ได้รับเชื้อโควิดมานั้นค่อนข้างเหมือนกัน แต่ต่างกันนิดหน่อยตรงที่ ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิดจะมีระยะของการแสดงอาการที่ช้ากว่าคนที่เป็นไข้หวัด และจะต้องมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการหายใจลำบาก เหนื่อย หอบ รวมถึงมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย เป็นต้น
- ขอบคุณแหล่งที่มาจาก พบแพทย์ (1) (2), See Doctor Now, Med. Mahidol, Thai PBS และ Thairath -
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)