เปิดประวัติ พร้อมไขคำตอบชื่อเรียกที่ถูกต้องของ "ชาสีส้ม" ไปกับ History of THAI TEA

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer10 ก.ย. 2564 avatar writer26.0 K
เปิดประวัติ พร้อมไขคำตอบชื่อเรียกที่ถูกต้องของ "ชาสีส้ม" ไปกับ History of THAI TEA

 

ชาเย็น ชานมเย็น ชาไทย ชาส้ม ไม่ว่าจะเรียกเค้าด้วยชื่ออะไร

แต่จงรู้ไว้ว่านี่ คือ เครื่องดื่มไทยที่ติดอันดับเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลกมาแล้ว !

 

“ชาเย็น หรือ ชาไทย” ไม่ใช่แค่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก จน CNNGO จัดให้ชาเย็น หรือ ชาไทยเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 50 อันดับ ในปี 2018  แหม ฮิตติดอันดับโลกขนาดนี้มาดูกันหน่อยซิว่า ชาเย็น หรือ ชาไทย เค้ามีที่มายังไง ?!

 

ชาเย็น

 

เปิดหน้าประวัติศาสตร์ ที่มาของ ชาไทย หรือ ชาเย็น

 

ความจริงแล้วประเทศไทยเองก็ดื่มชากันมานานนม บ้างก็ว่าคนไทยรู้จักการดื่มชากันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ถ้าจะเอาให้แน่ชัด มีหลักฐานชัวร์ 100% ก็ต้องตามจดหมายเหตุลาลูแบร์ ที่บอกไว้ว่า

 

คนไทยรู้จักการดื่มชาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช

และที่ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการดื่มชาของไทยอาจจะแหวกแนวไปซักหน่อย คือ จะอมน้ำตาลกรวดไว้ในปากก่อน แล้วค่อยจิบชาร้อนตาม

 

และการดื่มชาร้อนในสมัยนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะสภาพอากาศบ้านเราอยู่ในเขตร้อน การดื่มชาจึงนิยมดื่มกันในงานราชการ หรือในการต้อนรับแขกบ้านแขกเรือนซะมากกว่า

 

แรกเริ่มเดิมที เราก็ดื่มชาร้อน เทใส่จอก แล้วยกจิบกันเป็นปกติ
แต่เอ แล้วใครเป็นคนใส่น้ำแข็งในชาเป็นคนแรกล่ะ ?

 

คำตอบ คือ Richard Blechynden เจ้าของไร่ชาชาวอังกฤษ ได้เดินทางมาที่งานแสดงสินค้า World’s Fair ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาได้เตรียมชาร้อนรสชาติดีจากไร่ชาของตัวเองเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้คนในงานได้ลิ้มลอง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนเกินจะทน คนที่เดินเข้ามาเยี่ยมชมบูธของเค้า กลับต้องการหาเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อดับร้อน เขาจึงตัดสินเอาน้ำแข็งมาใส่ชาร้อนที่ชงไว้แล้วซะเลย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาใส่น้ำแข็งเริ่มเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก

 

จากชาใส่น้ำแข็งแสนธรรมดา สู่ชาไทยเย็น รสชาติติดปากในปัจจุบัน 

 

ชาไทย

 

ว่ากันว่าไทยได้รับอิทธิพลการดื่มชาใส่นม ใส่น้ำตาล มาจากประเทศอินเดีย เพราะในตอนนั้นไทยเราค้าขายเครื่องเทศกับอินเดียเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง

 

ซึ่งในปี 2436 บริษัทเนสท์เล่ ได้เปิดตัวนมข้นหวานยี่ห้อแรกในไทย ที่ชื่อว่า นมข้นหวานแหม่มทูนหัว จึงทำให้การดื่มชาแบบใส่นม ใส่น้ำตาลเป็นที่แพร่หลายในไทยมากยิ่งขึ้น

 

และในอีก 10 ปีต่อมา ไทยมีโรงงานน้ำแข็งเกิดขึ้นแห่งแรก สามารถผลิตน้ำแข็งกินได้เองแล้ว ประกอบกับในยุคนั้นเริ่มมีร้านกาแฟโบราณเกิดขึ้นในตัวพระนครอย่างแพร่หลาย จึงทำให้ชาเย็น หรือ ชาไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็นเมนูที่ทุกร้านต้องมี !


การมาของ ‘ชาตรามือ’ ทำให้ชาเย็น หรือ ชาไทย ฮอตปรอทแตกยิ่งกว่าเดิม

 

ชาตรามือ

 

ถ้าจะพูดถึงยุครุ่งเรืองที่แท้จริงของเครื่องดื่มชาส้ม จะไม่พูดถึง ชาตรามือ ไม่ได้เลย จากร้านที่เคยรับใบชาจากประเทศจีนมาขาย กลายมาเป็นร้านขายชาเย็น หรือ ชาไทยสุดฮิตของพระนคร เพราะทางร้านเอา ชาแดงมาใส่นมและน้ำตาล และนำชาดำเย็นมาใส่นมและน้ำแข็ง เป็นเมนูชาเย็น หรือ ชาไทยที่รสชาติอร่อยถูกปากคนไทยในสมัยนั้น แถมยังขายในราคาถูก ใครได้ลองดื่มก็เป็นอันต้องติดใจ จนทำให้ชาตรามือก็ยังคงครองใจคนไทยมาถึงทุกวันนี้ด้วย


ไขคำตอบชื่อเรียกที่ถูกต้องของ "ชาสีส้ม"

 

ชาไทยเย็น

 

เดิมทีชาเย็น หรือ ชาไทย ไม่ได้มีสีส้มจากธรรมชาติอย่างที่เข้าใจกัน  เพราะเมื่อก่อนชาเย็น หรือ ชาไทยจะใช้ชาซีลอนในการชง และสีของชาซีลอนนั้นเป็นสีเบจใกล้เคียงกับสีของกาแฟมาก จึงต้องใช้การผสมสีชาให้เข้มขึ้นด้วยสีผสมอาหาร ดอกโป๊ยกั๊ก หรือเครื่องเทศเข้าไปด้วยเพื่อให้ได้สีส้มที่สวยงาม ต่อมาเมื่อร้านชาตรามือได้เอาชาแดงหรือชาดำมาชงใส่นม น้ำตาลและน้ำแข็ง จึงกลายมาเป็นชาเย็น หรือ ชาไทยที่ใช้ใบชาแดงเป็นเบสในการชงนั่นเอง

 

สรุปแล้วเจ้า ‘ชาสีส้ม’ นี้ มีชื่อเรียกว่าอะไรกันแน่ ?

 

สำหรับชื่อเรียกของชาสีส้ม ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมาจนถึงทุกวันนี้ ว่าสรุปแล้วเราควรจะเรียกว่าอะไรกันแน่ และเพื่อป้องกันความสับสน ปันโปรแยกให้ง่ายๆ ตามนี้เลย

 

• ชาร้อน =  ชาร้อน ใส่นม ใส่น้ำตาล

• ชาเย็น  = ชาร้อน ใส่นม ใส่น้ำตาล และน้ำแข็ง

• ชาดำเย็น = ชาร้อน ใส่น้ำตาล และน้ำแข็ง

• ชานม = ชาซีลอน ใส่นม ใส่น้ำตาล หรือแบบที่เข้าใจง่ายที่สุด คือ ชาที่ใช้กับเมนูชาไช่มุกนั่นเอง

 

ส่วนชาไทย (Thai Tea) หรือ ชาไทยเย็น (Thai ice Tea) คือ ชื่อเครื่องดื่มที่ต่างชาติใช้เรียก ชาร้อนชงใส่นม ใส่น้ำตาลและน้ำแข็ง เพราะเป็นเครื่องดื่มที่หาดื่มได้ที่ประเทศไทยเท่านั้น

 

แต่ไม่ว่าเราจะเรียกด้วยชื่อไหนก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่า เจ้าชาสีส้มนี้ได้เป็นเครื่องดื่มดับร้อนที่โปรดปรานของใครหลายๆ คน และยังเป็นเครื่องดื่มที่ผสมผสานหลายๆ วัฒนธรรมเข้าด้วยกันจนลงตัวเป็นเครื่องดื่มประจำชาติที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติด้วย


ขอขอบคุณที่มา : lionbrand.com, foodandwind.com , lib.ru.ac.th, teaclass.com

แสดงความคิดเห็น