รู้จัก Sadou พิธีกรรมทรงคุณค่า เมื่อ "การชงชา" เกี่ยวข้องกับทุกวิถีชีวิตของญี่ปุ่น

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer27 ม.ค. 2566 avatar writer1.2 K
รู้จัก Sadou พิธีกรรมทรงคุณค่า เมื่อ "การชงชา" เกี่ยวข้องกับทุกวิถีชีวิตของญี่ปุ่น

 

ชาเขียว กับ ประเทศญี่ปุ่นเป็นของคู่กัน

 

ชาเขียว เครื่องดื่มในใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นแบบร้อนหรือเย็น ใส่นมหรือไม่ใส่นม จะแบบชงสดหรือพร้อมดื่ม ความนิยมของชาเขียวก็ล้นหลามในทุกรูปแบบ และเมื่อเรานึกถึงชาเขียว เรามักจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรกเสมอ เห็นได้จากโฆษณาชาเขียวพร้อมดื่มตามสื่อต่างๆ ที่มักจะใช้คำว่า  “ชาเขียวแท้ต้นตำรับจากญี่ปุ่น”  หรือ  “ผลิตจากผงมัทฉะแท้นำเข้าจากญี่ปุ่น” เป็นต้น

 

คำโฆษณาที่มาคู่กันกับชาเขียวแบบอัตโนมัตินี้ ทำให้เราเข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นคือต้นกำเนิดของชาเขียว แต่จากที่เราได้พาย้อนประวัติศาสตร์ ไปดูความเป็นมาของชา ในบทความเรื่อง  Tea Time การเดินทางของ "ชา” เครื่องดื่มยอดฮิต แท้จริงแล้วเริ่มต้นมาจากไหนกันนะ ?  เราจะทราบกันดีว่าจุดกำเนิดของชาเขียว เริ่มต้นมาจากประเทศจีน


แล้วญี่ปุ่นเริ่มมีวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ ? 

 

 


จุดกำเนิดพิธีชงชาในแบบฉบับของญี่ปุ่น 
🍵

 

ประเทศญี่ปุ่นเริ่มรู้จักและดื่มชากันมากขึ้นตั้งแต่สมัยเฮอัน ถึงแม้จะเพียงแค่ในหมู่พระสงฆ์และขุนนางก็ตาม การดื่มชาในช่วงแรกๆ ญี่ปุ่นยังคงได้รับอิทธิพลมากจากจีนโดยตรง  จนกระทั่งในช่วงหนึ่ง ความสัมพันธ์ด้านการฑูตของจีนและญี่ปุ่นเกิดปัญหา ทำให้ความสัมพันธ์ของจีนและญี่ปุ่นสั่นคลอน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ญี่ปุ่นพยายามสร้างรูปแบบวัฒนธรรมการดื่มชาในแบบฉบับของตนเองขึ้นมา 

 

ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังพัฒนาวัฒนธรรมการชงชาเป็นของตัวเองนั้น พระเอไซผู้ที่สร้างศาสนาพุทธนิกายเซน ได้นำชามาปลูกและได้เขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่มชื่อว่า Kissa Yojoki ซึ่งเป็น หนังสือเกี่ยวกับวิธีการดื่มชาที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น  หลังจากนั้นชาก็เริ่มแพร่หลายออกไปในท้องถิ่นอื่นๆ นอกเหนือจากเขต Uji เกียวโต จนกระทั่งมีการปลูกชาไปทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

 

หนังสือ Kissa Yojoki

 

ในปี ค.ศ. 1500 การดื่มชาก็ได้พัฒนามากขึ้น จนเกิดเป็นมารยาทในการดื่มชาที่เรียกว่า Sadou (ซะโด) หรือจะเรียกว่า Chadou (ชะโด) ก็ได้เช่นกัน โดย Sadou มีการแฝงเรื่องการฝึกสมาธิ ปรัชญา จรรยามารยาท ในแบบของศาสนาพุทธนิกายเซนเพิ่มเข้ามาด้วย ด้วยความที่ Sadou ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามรวมประเทศของญี่ปุ่น วิถีชาในช่วงนั้นจึงเกี่ยวข้องกับทั้งทางการทูตและการเมือง  แถมยังนิยมกันแค่ในเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง ซามูไร และราชสำนักเท่านั้น

 

เนื่องด้วยพระที่นำพิธีการชงชามาเผยแพร่เป็นพระนิกายเซน รูปแบบของ Sadou จึงเป็นแบบเซน 
จะมีการสอดแทรกเรื่องของสมาธิเข้าไปด้วย

 

ในช่วง ค.ศ. 1522 - ค.ศ. 1591 เซน ริคิว ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญมากในเรื่อง Sadou ของญี่ปุ่น  โดยเซน ริคิว ได้วางแนวทางในวิถีชาใหม่  ซึ่งวิถีชาใหม่นี้จะแสดงออกถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน โดยมีรูปแบบที่เรียกว่า “การคืบคลานเข้าไป ในห้องชาอย่างช้าๆ” หลักการพื้นฐานของเซน ริคิว ถ่ายทอดผ่านตัวอักษร 4 ตัว  

 

  • Wa (和) ความกลมกลืนระหว่างคนกับคน และความเป็นมนุษย์กับธรรมชาติ สิ่งที่เจ้าของบ้านเลือกสรรมาอย่างดี ทุกอย่างล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติและฤดูกาล
  • Kei (敬) การเคารพ  เมื่อเข้าสู่บริเวณที่ชงชา แขกทุกคน ต้องก้มตัว เพื่อผ่านเข้าประตู  ภายในห้องชงชาทุกคนต้องนั่งคุกเข่า และโค้งคำนับให้กันและกัน
  • Sei (清) ความสะอาดบริสุทธิ์  ในการที่จะเข้าไปในห้องชงชาผู้เข้าร่วมจะต้องทำจิตใจให้ผ่องใส ลืมเรื่องกังวลทั้งหลายไว้เบื้องหลัง
  • Jaku (寂) ความสงบ ความสมถะ หลังจากที่ได้สัมผัสกับความกลมกลืนกับธรรมชาติ การให้ความเคารพต่อทุกสิ่งที่พบเจอในห้องชงชา การทำจิตใจให้ผ่องใส  แล้วผู้ร่วมในพิธีชงชาจะเกิดความสงบในจิตใจ

 

สำนักชงชาส่วนมากของญี่ปุ่น ล้วนเป็นลูกศิษย์ที่สืบทอดวิชามาจาก เซน ริคิว ทั้งนั้น

 


 

รู้จัก Sadou พิธีการสุดเป๊ะ แต่แฝงด้วยความหมายมากมาย

 

สำหรับองค์ประกอบของ Sadou จะประกอบด้วย เรือนชงชา และอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีชงชา แต่ละองค์ประกอบก็จะมีส่วนประกอบแยกย่อยออกไป ดังนี้

 

 ✨  เรือนชงชา

  • ห้องชา 
  • ห้องเตรียมชา
  • ห้องนั่งรอ

  อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีชงชา

  • คะมะ (Kama) กาน้ำสำหรับใช้ต้มน้ำใส่ชา
  • นัทสึเมะ (Natsume) โถสำหรับใส่ผงชามัทฉะ
  • ชะอิเระ (Chaire) โถใส่ชา
  • ชะฉะคุ (Chashaku) ช้อนตักผงชา มีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก ทำจากไม้ไผ่
  • ชะเซน (Chasen) อุปกรณ์สำหรับคนชา ทำจากไม้ไผ่
  • ชะวัง (Chawan) ถ้วยชาขนาดใหญ่ แตกต่างไปตามฤดูกาล
  • ชะคิง (Chakin) ผ้าสำหรับเช็ดทำความสะอาดถ้วยชา ทำจากป่าน
  • ฮิชะคุ (Hishaku) กระบวยสำหรับตักน้ำชงชา

 

ห้องเตรียมชา และห้องชงชา ถ้าในยุคสมัยก่อนจะมีสวนด้วย โดยเจ้าของบ้านจะพาแขกเดินผ่านสวนก่อนเข้าห้องชงชา

อุปกรณ์ในการชงชา และกาน้ำร้อน บางที่อาจใช้เป็นกาเซรามิกเล็กๆ ก็ได้เช่นกัน

 

สำหรับพิธีชงชาในแบบฉบับของญี่ปุ่น แน่นอนว่าทุกอย่างจะมีลำดับขั้นตอนเป๊ะๆ ถึงแม้ในปัจจุบันบางขั้นตอนอย่าง การเดินผ่านสวน อาจจะหายไปในบางสำนึก แต่ลำดับขั้นตอนในการชงชาก็ยังคงเป๊ะเช่นเดิม ดังนี้  

 

 ลำดับในพิธีชงชา

  • เสิร์ฟขนมและทานขนมให้หมดก่อนเริ่มเสิร์ฟชา
  • ผู้ชงชาใช้ช้อนตักผงชาหรือชะฉะคุ (Chashaku) ตักชาจากโถใส่ลงในถ้วยชา
  • ผู้ชงชาใช้กระบวยตักน้ำหรือฮิชะคุ (Hishaku) ตักน้ำร้อนใส่ถ้วยชา
  • ผู้ชงชาใช้อุปกรณ์สำหรับคนชาหรือชะเซน (Chasen) คนชาให้เข้ากันจนชาแตกฟอง
  • ผู้ดื่มชายกถ้วยชาขึ้นมาด้วยมือขวา แล้ววางลงบนฝ่ามือซ้าย
  • หมุนถ้วยชาตามเข็มนาฬิกา เพื่อให้ส่วนหน้าของถ้วยชาที่มีลวดลาย หันออกด้านที่ผู้อื่นมองเห็น แล้วค่อยดื่มด่ำกับชา
  • หลังจากดื่มชาแล้ว เช็ดขอบถ้วยตรงบริเวณที่ดื่ม แล้วหมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกา 3 ครั้ง
  • วางถ้วยชาลงที่เดิมพร้อมคำนับเพื่อเป็นการขอบคุณ

 

ชาเขียวที่ใช้ชงในพิธี คือชาเขียวแบบมัทฉะ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ 
Usucha (ซ้าย) ชาที่นิยมกันทั่วไป และ Koicha (ขวา) ชาแบบเข้มข้น โดยจะใส่ผงชามากกว่าแบบแรก

ด้วยชาในพิธีมีรสขม ทำให้ขนมที่นำมารับแขกนั้น มักจะมีรสหวาน 
และขนมที่ใช้ในการรับแขก จะเป็นขนมตามฤดูกาล ซึ่งตรงนี้ทำให้การดื่มชามีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากเข้าไปอีก

 

ในแต่ละขั้นตอนของการชงชา ผู้ชงชาจะลงรายละเอียดไปอีก เช่น ก่อนจะเริ่มชงชาผู้ชงชาจะใช้ ผ้าชะคิง เช็ดถ้วยชาก่อนทุกครั้ง เมื่อชงชาเสร็จผู้ชงชาจะหันถ้วยชาด้านที่มีลวดลายสวยงามให้กับผู้ดื่มชา หลังจากดื่มชาเสร็จแล้ว ผู้ชงชาจะนำโถใส่ผงชาหรือนัทสึเมะ มาให้ผู้ดื่มชาดู

 

ก่อนที่เจ้าของบ้านจะชงชาให้แขก เจ้าของบ้านจะอุ่นชามมัทฉะ และแช่แปรงตีมัทฉะ 
รวมถึงใช้ผ้าคะชิงเช็ดถ้วยชาก่อนทุกครั้ง

แขกหรือผู้ดื่มชาจะพูดกับแขกอีกคนว่า Osakini หมายถึง ขออนุญาตแขกอีกท่านดื่มก่อน  
หลังจากนั้นจะคำนับ และพูดกับเจ้าบ้านว่า Otemae choudai itashimasu ขอรับชาที่ท่านกรุณาชงให้  

 

สำหรับผ้าที่ใช้ในพิธีชงชานอกจากจะมีชะคิง ผ้าที่ใช้เช็ดถ้วยชาแล้ว ยังมี ผ้าฟุกุสะ ใช้สำหรับเช็ดโถใส่ผงชาและช้อนตักชาด้วย สำหรับผ้าฟุกุสะก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างวิธีการพับ การเหน็บ การถือ การวาง ในแบบเฉพาะ นับเป็นพิธีที่ใช้ทั้งสมาธิและความปราณีตทุกขั้นตอนจริงๆ 

 

ผ้าฟุกุสะคือผ้าที่ชาวญี่ปุ่นจะพกติดตัวกัน  ถ้าเป็นแบบดั้งเดิมผู้หญิงจะใช้สีแดง ผู้ชายจะใช้สีม่วง 
และผ้าฟุกุสะเองก็มีขั้นตอนในการพับ ที่ทั้งจริงจัง และเป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน จัดเป็นอีกหนึ่งศิลปะของญี่ปุ่นเช่นกัน


▶ ชมคลิปขั้นตอนการชงชาฉบับเต็ม คลิก

 


 

ขั้นตอนก็ยุ่งยาก แถมยังเคร่งครัดขนาดนี้ 

แต่ทำไม Sadou ไม่เคยสูญหายไปตามเวลา

 

สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมองว่า Sadou คือพิธีการที่ยุ่งยากมากความ ถึงแม้เราเข้าบ้านเขาในฐานะแขก แต่ก็ยังไม่วายเต็มไปด้วยพิธีรีตอง และข้อปฏิบัติมากมายเช่น การคืบคลานเข้าบ้าน การนั่งรออย่างสงบนิ่ง การจิบชาโดยต้องคำนึงถึงถ้วยชาตลอดเวลา ซึ่งถ้าเราไม่ทำตาม เราจะกลายเป็นคนไม่มีมารยาท และไม่เคารพเจ้าของบ้านในทันที 

 

แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว พิธีการที่ยุ่งยากนี้เป็นพิธีที่น่านับถือ และมีค่ามาก ถ้าย้อนไปถึงหลักคิดของ เซน ริคิว ที่ตั้งใจจะให้พิธีชงชาแสดงออกถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน เมื่อเราได้เข้าร่วมในพิธีชงชา เราก็จะเข้าใจเป้าหมายของ เซน ริคิว ได้อย่างถ่องแท้ นั่นก็เพราะ 

 

ในขณะที่เจ้าของบ้านเคารพ แขกก็เคารพ 

ในขณะที่เจ้าของบ้านชงชาอย่างสงบ แขกก็รออย่างสงบ 

ในขณะที่เจ้าของบ้านทำตามข้อปฏิบัติ แขกเองก็ทำตามข้อปฏิบัติเช่นกัน

 

ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าแขกจะเป็นขุนนางคนละตำแหน่ง หรือจะเป็นวัยสูงอายุกับเด็กวัยรุ่น แต่เมื่ออยู่ในพิธีชงชาแล้ว ทุกคนล้วนอยู่ภายใต้ข้อปฏิบัติเท่ากัน อารมณ์ก็คล้ายๆ คนรวยกับคนจนที่ใช้กฎหมายเดียวกัน บทลงโทษเดียวกันนั่นเอง

 

ไม่ว่าจะเป็นตอนเข้าห้องชา รับขนม รับถ้วยชา คืนถ้วยชา ไปจนการบอกลา 
ทั้งแขกและเจ้าของบ้าน ล้วนแสดงความเคารพกันทุกครั้ง

 


 

มีหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า Every day a good day ชื่อไทยว่า หัวใจ ใบชา ความรัก หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับพิธีชงชาแบบเต็มๆ โดยเนื้อเรื่องจะพูดถึงหญิงสาว 2 คน ได้ไปลงเรียนพิธีชงชากับอาจารย์ท่านหนึ่ง แน่นอนว่าสาวๆ ของเราไม่เข้าใจเลยว่า การชงชาคืออะไร ทำไมต้องพิธีรีตองมากมายขนาดนี้  ในช่วงแรกทั้งคู่มักจะทำผิด จำขั้นตอนต่างๆ ไม่เคยได้ แต่พอได้เรียนหลายครั้งเข้า หญิงสาวทั้งสองก็ได้ค้นพบว่า 

 

เมื่อผ่านการฝึกไปเรื่อยๆ มือของเราจะเป็นไปตามขั้นตอนเองโดยอัตโนมัติ สมองแทบจะไม่ได้ทำงานเลย

 

ตรงนี้ก็เหมือนบทเรียนชีวิตอย่างหนึ่ง ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ก็จะประมาณว่า  พิธีชงชาก็เหมือนชีวิตในวัยทำงาน ช่วงแรกๆ แค่ตื่นนอนให้ทันรถไฟก็ว่ายากแล้ว ยังต้องคอยมองป้ายอีก ไหนจะเรื่องปรับตัวให้เข้ากับสังคมวัยทำงาน ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายเกิดการจดจำ ทุกอย่างก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เดินไปรอรถไฟโดยไม่ต้องอ่านป้าย ลงจากรถไฟถูกป้าย แม้ในวันนั้นจะมองไม่เห็นข้างทางเลย รวมถึงสามารถปรับโหมดอารมณ์ได้ทันที เมื่อเดินเข้าที่ทำงาน

 

ซึ่งก็ไม่ต่างจากตัวละครในช่วงแรกๆ ที่พวกเธอจะท่องจำทุกขั้นตอน จนวันที่พวกเธอทำได้ สอบผ่าน เธอถึงเข้าใจที่อาจารย์บอกว่า สมองแทบจะไม่ได้ทำงานเลย  นั้นหมายความว่าอย่างไร และหนังเรื่องนี้ยังตอกย้ำชีวิตจริงเข้าไปอีก เพราะต่อให้สามารถทำพิธีชงชาได้อย่างดีแล้ว แต่วิถีแห่งชาก็จะมีบทเรียนอื่นๆ ให้ได้ศึกษาต่อเสมอ ชีวิตก็เช่นกัน 

 

 

 

หนังนำพิธีชงชามาประกอบกับจังหวะชีวิตของแต่ละตัวละคร ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
และที่สำคัญพิธีชงชาเป็นแบบดั้งเดิม 100%

 

 

อีกทั้ง Sadou ยังมีหลักคิดที่น่าสนใจอยู่อีก 1 อย่างคือ อาจจะเจอแบบนี้แค่ครั้งเดียว ต้องต้อนรับอย่างดี หมายความว่า การที่เราได้มาเจอกัน ได้มาดื่มชากันในวันนี้ มันอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว พรุ่งนี้อาจจะมีใครคนใดล้มหายตายจากไป เพราะฉะนั้นพิธีชงชาในตอนนี้ ต้องทำให้ออกมาดีที่สุด


สิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่นเหล่านี้ ล้วนเชื่อมโยงกับพิธีชงชาสุดเนี๊ยบนี้ทั้งนั้น นั่นทำให้เราเข้าใจถึงความลึกซึ้งของแต่ละขั้นตอน รวมถึงความ
ทรงคุณค่าที่แอบแฝงอยู่ใน Sadou  และยังทำให้เราเห็นว่า วัฒนธรรมการชงชามีความสำคัญกับชาวญี่ปุ่นอย่างมากจริงๆ

 

🍵


 


💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่ 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mai-ko.com / https://www.jnto.or.th/ / ภาพยนตร์เรื่อง Every day a good day / https://krua.co/ / TEALEAVES

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น