ก่อนจะมู รู้มั้ย ? "ปีชงคืออะไร" มาจากไหน แล้วทำไมถึงได้ชง !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer17 ม.ค. 2565 avatar writer12.9 K
ก่อนจะมู รู้มั้ย ? "ปีชงคืออะไร" มาจากไหน แล้วทำไมถึงได้ชง !

 

เมื่อพูดถึง 'ความเชื่อ' จริง ๆ แล้วเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเชื่อของคนเรานั้นมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม, บาปบุญคุณโทษ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, ภูติผีปีศาจ, วัยเบญจเพส, อาถรรพ์ 7 ปี, ความเชื่อเกี่ยวกับเลข 13 หรือแม้แต่การเสริมดวง แก้ชงต่าง ๆ

 

ซึ่งเอาดี ๆ บรรดาความเชื่อเหล่านี้มีอยู่จริง หรือเป็นแค่เรื่องที่ถูกพูดถึงต่อ ๆ กันมา จนเป็นการฝังเอาความเชื่อ ที่อาจจะมีหรือไม่มีอยู่จริง  เหล่านั้นใส่ลงไปในหัวของเรากันแน่ ?

 


 

 

มี "วิทยาศาสตร์" ก็ต้องมี "ไสยศาสตร์" เป็นเรื่องธรรมดา

 

ไสยศาสตร์ ก็คือ ความเชื่อรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่มันยังเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้น ๆ จะมีความเชื่อเรื่องอะไรกันบ้าง ซึ่งความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์นี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว เผลอ ๆ อาจจะมาพร้อมกับการเกิดของสิ่งมีชีวิต รวมถึงโลกนี้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเรื่องของความเชื่อ เรื่องไสยศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ แต่ทว่ามันมีมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้วต่างหาก

 

แต่อย่างที่บอกไปว่าความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ก็ต้องมาคู่กันกับเหตุผลด้านวิทยาศาสตร์ ในเรื่องของการพิสูจน์หาหลักฐานและค้นหาความจริง แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตบนโลก ยังต้องอาศัยหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์ รวมถึงวิทยาศาสตร์มาประกอบไปด้วยเลย แต่อย่าว่างั้นงี้เลยนะ วิทยาศาสตร์ก็ถือได้ว่าเป็นความเชื่ออีกประเภทนึงเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างของมันจะอยู่ตรงที่ว่า วิทยาศาสตร์ จะเป็นความเชื่อที่สามารถหาเหตุผลมาประกอบได้  มีที่มาที่ไป มีหลักฐานชัดเจน

 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราพูดถึงเรื่องผี ถ้าเป็นคนที่เชื่อในไสยศาสตร์มากก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องของพลังงานเหนือธรรมชาติ, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้าอะไรทำนองนั้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถามว่าแล้วเราจะพิสูจน์ได้ยังไงว่าผีมีจริง คนที่มีความเชื่อด้านไสยศาสตร์นี้ก็อาจจะให้คำตอบที่แน่ชัดกับเราไม่ได้ แต่ถ้าถามคนที่เชื่อเรื่องวิทยาศาสตร์ พวกเค้าอาจจะตอบได้ว่า ผีไม่มีอยู่จริง  แต่มันเป็นปฏิกริยาทางร่างกายอย่างนึงที่เกี่ยวข้องกับค่าแม่เหล็กไฟฟ้าในสมอง ทำให้เกิดปฏิกริยาหรือการกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้เรามองเห็นภาพ ได้ยินเสียง แล้วมโนภาพว่านั่นคือผี แต่ใดใดทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ยังอยู่ภายในกรอบของ ความเชื่อ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองแบบไหนเท่านั้นเอง

 


 

 

ปีชง พลังแห่งความเชื่อ หรือเป็นแค่ อุปทานหมู่

 

กลายเป็นธรรมเนียมกันไปแล้วว่าในช่วงรอยต่อระหว่างปีเก่า กับปีใหม่ เรื่องที่หลายคนให้ความสนใจก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของ การทำบุญแก้ชง โดยเฉพาะคนที่เกิดในปีนักษัตรที่ชง ก็ยิ่งเร่งทำบุญแก้กรรมให้ตัวเองกันยกใหญ่ 

 

ซึ่งปีชงก็เป็นอีกตัวอย่างนึงของความเชื่อ ที่มีทั้งคนเชื่อ และคนที่ไม่เชื่อ  (ก็จะอารมณ์เหมือนกับคนที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ กับคนที่เชื่อในไสยศาสตร์นั่นแหละ) อย่างบางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าปีชงมีความหมายว่าอะไร มีที่มาที่ไปยังไง แล้วทำไมถึงต้องแก้ชง แต่เมื่อได้ยิน ได้เห็นคนรอบข้างอินกันหนักมาก บวกกับคำว่า ไม่เห็นจะเสียหายอะไรเลย มันเลยกลายเป็นว่าพวกเค้าได้ซึมซับเอาความเชื่อเหล่านั้นไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่ใจจริงอาจจะไม่ได้รู้ความหมายของคำว่าปีชงกันเลยด้วยซ้ำ

 

| ปีชง คือ ปีอะไร ?

 

ถ้าเอาตามภาษาบ้านเรา ปีชง ก็เหมือนกับปีที่เราดวงตก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องดวงตกเหมือนกันหมดนะ แต่จะดวงตกเฉพาะคนที่เกิดในบางปีนักษัตรเท่านั้น โดยความเชื่อเรื่องปีชงนี้มีที่มาจากประเทศจีน ที่นับถือองค์ไท้ส่วยเอี๊ย หรือเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา เชื่อกันว่าองค์ไท้ส่วยเอี๊ยจริง ๆ แล้วมีทั้งหมด 60 ตน แต่ละตนจะทำหน้าที่เหมือนเป็นแม่ทัพสวรรค์คอยพิทักษ์เง็กเซียนฮ่องเต้ และจำนวน 60 ตนนั้นมีความสอดคล้องกันกับวัฏจักร 60 ปีตามปฏิทินจีนโบราณ ซึ่งหลักการนับเวลาและปีตามปฏิทินจีนโบราณจริง ๆ เค้าจะนับวนเป็นรอบ ๆ รอบละ 60 ปี ดังนั้นองค์ไท้ส่วยเอี๊ยนอกจากจะทำหน้าที่พิทักษ์เง็กเซียนฮ่องเต้แล้ว ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับวัฏจักรการเกิดของคนจีนอีกด้วย

 

ซึ่งวัฏจักรการเกิดตามหลักโหราศาสตร์จีนนั้น 1 คนจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับปีนักษัตร (Ben Ming Nian) หรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนปีเกิดของตัวเอง 1 ตัว ถ้าเป็นตามความเชื่อของฝั่งตะวันตกเค้าจะอิงตามการเดินทางของดวงดาวเป็นหลัก แต่ตามความเชื่อของจีนนั้นเค้าจะใช้สัญลักษณ์ของสัตว์ 1 ตัว แทนปีหนึ่งปีนั่นเอง

 

 

| แล้วทำไมถึงชง ?

 

อย่างที่บอกไปว่าหน้าที่ขององค์ไท้ส่วยเอี๊ย ก็คือ การคุ้มครองดวงชะตาของผู้ที่เกิดในนักษัตรต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปี องค์ไท้ส่วยเอี๊ยก็จะสถิตอยู่ในปีนักษัตรใด นักษัตรหนึ่งเป็นหลัก มันเลยกลายเป็นที่มาของคำว่า ปีชง ที่หมายถึง คู่ปีที่อยู่ตรงข้ามกันกับปีนักษัตรที่องค์ไท้ส่วยเอี๊ยสถิตอยู่ (หรือนับง่าย ๆ ก็คือ ปีนักษัตรที่อยู่ถัดไปจากปีนักษัตรนั้น ๆ 6 ปี นั่นแหละคือปีขั้วตรงข้าม หรือปีชงนั่นเอง) ตามปกติแล้ว เวลาจะระบุปีชง มักจะมีปีที่เกี่ยวข้องกับปีชงอยู่ 4 ปี ได้แก่

 

  • ปีชง : คือ ปีที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับปีนักษัตรนั้น ๆ ถือว่าชง 100% สำหรับปี 65 นี้ ได้แก่ ปีวอก
  • ปีคัก : คือ ปีนักษัตรของปีนั้น ๆ (เหมือนเป็นปีครบรอบของตัวเอง ถือว่าชง) สำหรับปี 65 นี้ ได้แก่ ปีเสือ
  • ปีเฮ้ง : คือ ปีที่ได้รับผลกระทบด้านเคราะห์กรรม สำหรับปี 65 นี้ ได้แก่ ปีมะเส็ง
  • ปีผั่ว : คือ ปีที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ สำหรับปี 65 นี้ ได้แก่ ปีกุน

 

ซึ่งถ้าลองมองภาพวงล้อปีนักษัตรด้านบนประกอบไปด้วย เราจะสังเกตได้ว่า บรรดาปีชงทั้ง 4  มีลักษณะเหมือนเป็นเครื่องหมายบวกอยู่ในวงล้อ หรือใครจะมองเป็นด้านก็ได้ ก็คือชงครบทั้ง 4 ด้าน (บน ล่าง ซ้าย ขวา) แต่ด้านที่หนักที่สุดจะเป็นด้านที่อยู่ตรงข้าม ก็คือ เจอแรงปะทะจากปีชงไปเต็ม ๆ 

 

ในขณะเดียวกันคนที่เกิดในปีคัก, ปีเฮ้ง และปีผั่วจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เหมือนเป็นปีที่อยู่ในองศาที่ถือว่า โดนลูกหลง  จากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีนักษัตรใหม่ แต่ตามความเชื่อของจีนแล้ว ไม่ว่าจะเกิดในปีไหน ถ้าเกิด 1 ใน 4 ปีนักษัตรที่ชงในปีนั้น ก็จะต้องเฝ้าระวังกันทั้งหมด ห้ามใช้ชีวิตโดยประมาทเด็ดขาด ยิ่งใครที่ชงเต็ม ๆ ในปีนั้น ยิ่งจะต้องทำตัวให้เงียบมากที่สุด อย่าออกตัวแรง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดกิจการ ประกาศแต่งงาน หรือซื้อทรัพย์สินอะไรชิ้นใหญ่ ๆ ถ้าเคยมีความคิดเหล่านี้อยู่ในหัว เห็นทีจะต้องพับโครงการเก็บไปก่อน แล้วค่อยว่ากันใหม่ในปีถัดไป หากใครยอมเสี่ยง แล้วดันเกิดแจ็คพอตขึ้นมา ก็อาจจะพลิกดวงชะตาจากหน้ามือเป็นหลังมือกันได้เลย

 


 

 

อิทธิพลทางความเชื่อจากจีน แล้วทำไมคนไทยถึงอิน ?

 

ตอบง่าย ๆ เลย เพราะคนไทยเราเชื่อเรื่องดวง (หนักมาก)  แล้วไม่ใช่เฉพาะเรื่องดวงอย่างเดียวนะ เรื่องหวยเราก็ไม่แพ้ใครเหมือนกัน 😅  เรามองว่าคนไทยเป็นชนชาติที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง ถ้าถามว่าแล้วประเทศอื่นเค้าไม่อยู่ด้วยความหวังเหมือนกันหรอกหรอ เอาจริง ๆ มนุษย์เราอยู่ด้วยความหวังเหมือนกันหมดนั่นแหละ แต่คนไทยเราโตมาพร้อมกับศาสนา ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบนบานศาลกล่าว ภูติผีปีศาจ กฏแห่งกรรมอะไรต่อมิอะไรมาตั้งแต่เกิด คือมันได้แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนไปแบบเนียน ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระก่อนเข้าเรียน หรือการเรียนวิชาพุทธศาสนาก็ตาม ดังนั้นโอกาสของการรับเอาความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา หรือแม้แต่ศาสตร์อื่น ๆ เลยดูเหมือนว่าจะง่ายกว่าคนอื่นเค้า

 

อีกทั้งคนไทยเรายังเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใครว่าดี ก็พร้อมพุ่งตัวเข้าหา  ไม่ว่าจะคิด จะทำอะไร ก่อนจะเริ่มทำก็ต้องถามสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันก่อนว่าทำได้ไหม ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่ามันไม่มีอะไรจะเสีย แล้วยิ่งถ้าได้เจอเรื่องฟลุก ๆ ที่เป็นการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง ก็จะยิ่งทำให้เราเชื่อกันเข้าไปใหญ่ แล้วเดี๋ยวนี้มีการเข้าถึงรีวิวได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นหมอดู, เครื่องรางของขลัง, คาถาบูชาทั้งหลาย ก็ยิ่งจะเป็นการรับเอาความเชื่อบวกกับความหวังใส่เข้าไปในหัวได้เร็ว และได้อยู่เรื่อย ๆ อีกทั้งบ้านเรายังเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางศาสนา ไม่ว่าจะเทพไทย เทพจีน หรือเทพฮินดู มันเลยทำให้นอกจากความเชื่อของบ้านเราเองแล้ว ความเชื่อของบ้านเค้าเราก็ยังรับมาด้วยอีก ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถามว่าแล้วทำไมเราถึงเชื่อ คำตอบลึก ๆ ในใจของหลายคนอาจจะตอบว่า เพราะความเชื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ความเชื่อทำให้เรารู้สึกสบายใจ และความเชื่อทำให้เรามีความหวัง

 

ง่าย ๆ ลองยกตัวอย่างสถานการณ์นึงดู ถ้าสมมุติมีเพื่อนของเราทักมาว่าปีนี้เราเป็นปีชงนะ อย่าลืมหาเวลาไปทำบุญแก้ชงด้วยล่ะ ถ้าเรารู้ล่วงหน้าว่า (อาจจะ) มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น และเราก็รู้ว่าการเข้าวัดไปทำบุญแก้ชงมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าเป็นเรา เราจะไม่ทำกันหรอ หรือบางคนอาจจะกำลังตกอยู่ในช่วงเวลาที่แย่จริง ๆ อยากหาอะไรมายึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งแรกที่เราจะถามหานั่นก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการเติมแต้มบุญทั้งหลาย เพราะลึก ๆ แล้ว เราก็แอบมีความคาดหวังว่าถ้าเราได้ทำบุญแล้ว ชีวิตของเราอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมไม่มากก็น้อย ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่ามันจะดีขึ้น หรือแย่ลง แต่เราก็ยังยืนยันเหตุผลเดิมว่า ก็เพราะเราสบายใจ  และมันก็ ไม่ได้เสียหายตรงไหน กับการเข้าวัดไปทำบุญ หรือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าไหนมาบูชา นี่เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมอิทธิพลทางความเชื่อจากจีน หรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ เองก็ตาม ถึงได้มีผลต่อคนไทยขนาดนี้

 


 

 

เบญจเพส ตัวอย่างปีชง ตามแบบฉบับไทย

 

มาดูตัวอย่างปีชงแบบไทย ๆ กันบ้าง อย่างที่บอกว่าถ้าพูดถึงเรื่องดวง คนไทยเราก็ไม่แพ้ชาติไหนในโลก และที่สำคัญเรื่องดวงนั้นเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลในบ้านเรามาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฤกษ์งามยามดี, ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์, การนับถือผี, การเวียนไหว้ตายเกิด, การทำบุญต่ออายุ เสริมดวงชะตา, ความเชื่อในธรรมชาติ ไปจนถึงปีชงแบบไทย ๆ อย่าง เบญจเพส ที่เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่หลายคน รวมถึงคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และเชื่อกันว่ามันมีอยู่จริง !

 

| เบญจเพส คืออะไร ?

 

คำว่าเบญจเพสมาจากการรวมกันระหว่างคำสองคำ  คือ คำว่า เบญจ ที่แปลว่า ห้า กับเพส ที่แปลว่า ยี่สิบ เมื่อมารวมกันเลยมีความหมายว่า ยี่สิบห้า ซึ่งก็ตรงกับความเชื่อที่ถูกบอกต่อกันมา ว่าช่วงอายุ 25 ย่างเข้า 26 จะเป็นช่วงอายุที่เราจะต้องพบเจอกับเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิต

 

ซึ่งความเชื่อนี้มีที่มาตั้งแต่สมัยโบราณกันแล้ว โดยในสมัยโบราณนั้นเชื่อกันว่าช่วงอายุ 25 จะเป็นช่วงเวลาที่ ผลของการกระทำที่ผ่านมาจะปรากฏ ซึ่งผลของการกระทำที่ว่านี้จะส่งผลทำให้เราต้องเผชิญกับเรื่องเคราะห์กรรม โดยจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคน ๆ นั้น ว่าที่ผ่านมาใช้ชีวิตกันมายังไง ส่วนวิธีแก้เคล็ด หรือปฏิบัติตัวในช่วงเบญจเพสนั้นก็เหมือนกับปีชงของจีนเลย ก็คือเน้นทำในสิ่งที่ดี เพราะถ้ายิ่งทำเรื่องไม่ดี ผลของกรรมจะยิ่งมาไวแบบติดจรวด 

 

 

อย่างบางตำราก็ว่ากันว่า จริง ๆ แล้วเบญจเพสไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 25 ปี แต่คำว่าเบญจเพส อาจจะเป็นคำที่ใช้แทนความหมายถึงปีที่เราเจอเรื่องหนัก ๆ ในชีวิต (แต่ไม่ได้ตรงกับปีที่เราอายุครบ 25 ปี) ก็ได้เช่นกัน อันนี้เราขอยกตัวอย่างตัวเอง คือมีอยู่ช่วงนึงตอนนั้นเราอายุ 23 หรือ 24 ปีนี่แหละ แล้วช่วงนั้นมีโอกาสได้ไปดูดวงกับหมอดูเจ้านึง แล้วยิงคำถามไปว่า เบญจเพสของเราที่กำลังจะมาถึง มันจะเป็นยังไงบ้างหรอคะ มีอะไรที่ต้องระวังไหม  โดยหมอดูท่านนั้นตอบว่า เบญจเพสของเรามันได้ผ่านไปแล้ว หลังจากนี้ไม่มีอะไรน่าห่วงแล้ว ซึ่งผลปรากฏว่า ชีวิตในวัย 25 ปี ของเราก็ไม่ได้เลวร้าย เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เราเคยเจอมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นเราเลยคิดว่าเบญจเพสของแต่ละคนอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  

 

ที่สำคัญ ความเชื่อเรื่องเบญจเพสกับปีชงมีความแอบคล้ายกันอยู่ ตรงที่ว่า เบญจเพสสำหรับบางคนแทนที่จะเกิดเรื่องไม่ดี อาจจะกลายเป็นว่ามีสิ่งดี ๆ เข้ามาตลอดทั้งปีก็ได้ (เหมือนปีชง ที่มีทั้งชงดี และชงไม่ดี) ดังนั้นอย่ามองว่าถ้าถึงวัยเบญจเพส หรือปีชงปุ๊บ เราจะต้องเตรียมตัวเจอกับเหตุการณ์ที่แย่สุดในชีวิต เพราะนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะบางทีเหตุการณ์ที่แย่สุดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่เราอยู่ในวัยเบญจเพส หรือปีชง แต่อาจจะเป็นก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นก็ได้ ดังนั้นจะทำอะไรควรมีสติ ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงเวลาใด ช่วงเวลาหนึ่งอย่างเดียว

 


 

 

จะปีชง หรือเบญจเพส อันนี้ก็ล้วนแล้วแต่ "ความเชื่อ"

 

เรื่องของความเชื่อเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะแต่ละคนก็โตมาพร้อมกับความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป และอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าไสยศาสตร์มักจะมาคู่กันกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็เป็นความเชื่ออย่างนึงเหมือนกัน ดังนั้นถ้ามีคนเชื่อในไสยศาสตร์ ก็จะต้องมีคนเชื่อในวิทยาศาสตร์  ไม่เชื่อลองสังเกตคนใกล้ตัวดู อย่างคนใกล้ตัวเรา บางคนก็คือเชื่อเรื่องดวงหนักมาก มูมันหมดทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ก็รู้สึกสบายใจกับการที่ได้มู ส่วนอีกคนเมื่อเอ่ยถึงเรื่องดวงขึ้นมาทีไร ก็มักจะสวนกลับมาทันทีว่า ไร้สาระ มันไม่มีอยู่จริงหรอก เราทำตัวเองกันทั้งนั้นแหละ

 

ดังนั้นส่วนตัวเราเลยมองว่ามันก็ขึ้นอยู่กับความพอใจและความสบายใจของแต่ละคน เหมือนเป็นทัศนคติที่เรามีต่อสิ่ง ๆ นึงนั่นแหละ ถ้าสบายใจที่จะเชื่อก็เชื่อ สมมุติอย่างเรื่องปีชง ถ้าเป็นคนที่ไม่มีเชื้อสายจีน ไม่ได้มีความรู้ รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับองค์ไท้ส่วยเอี๊ยเลย ก็อาจจะไม่ได้เชื่อในปีชงขนาดนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเพื่อน ๆ ได้รับการปลูกฝังให้เชื่อเรื่องเบญจเพสกันมาตั้งแต่จำความได้ หรือมีคนใกล้ตัวเคยผ่านเหตุการณ์ร้าย ๆ เกี่ยวกับเบญจเพสมา เพื่อน ๆ ก็อาจจะมีความเชื่อในเรื่องของเบญจเพสมากกว่าปีชงก็ได้ 

 

 

| และถ้าถามหาข้อพิสูจน์เรื่องที่มา-ที่ไปของปีชง รวมถึงเบญจเพสแบบ 100% ...

 

บอกได้ตรงนี้เลยว่า ยาก หนึ่งคือ แค่ให้ระบุต้นกำเนิดแบบเป๊ะ ๆ เราอาจจะระบุกันไม่ได้ด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าจะเอาแบบถูกต้อง 100% มันก็จะต้องผ่านการพิสูจน์และค้นหาคำตอบที่ต้องใช้ความละเอียดสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลยืนยันจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นจริง ๆ มีหลักฐานยืนยันชัดเจนจริง ๆ รวมถึงอีกหลายสิ่งมากกับการพิสูจน์หาความจริงในความเชื่อเรื่องต่าง ๆ ดังนั้นทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับความสบายใจ ถ้าสบายใจที่จะเชื่อก็เชื่อ ถ้าไม่สบายใจก็ไม่ต้องเชื่อ 

 

เพราะสิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับความเชื่อ เรามองว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลที่พิสูจน์หาความจริงได้ยาก และเราก็ไม่ควรดูถูกความเชื่อของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชาติกำเนิด หรืออะไรก็ตามที่มันละเอียดอ่อน แต่เราควรมองว่ามันเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล ต่อให้เราไม่เชื่อ หรือมองว่ามันไร้สาระ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา แต่อย่าตัดสินคนอื่นเพราะความที่เราไม่เชื่อเหมือนเค้า เอาง่าย ๆ แค่ทัศนคติที่อยู่ในหัวของเราตอนนี้ ก็เหมือนกับเป็นความเชื่ออย่างนึงแล้วนะ ซึ่งถ้าถามว่าแล้วคนที่จะมาพิสูจน์หาความจริงว่าสิ่งที่เราคิดอยู่ตอนนี้มันถูก หรือผิด คำตอบก็คือ มันไม่มี ยังไงละ

 

ดังนั้น ความเชื่อ เลยเป็นเรื่องของความสบายใจ

เพราะเรื่องบางอย่าง วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบไม่ได้

แล้วเพื่อน ๆ ละ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ 'ความเชื่อเรื่องปีชง' ยังไงกันบ้าง ?

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : ChinaHighlights.com, Thairath.com, pptvhd36.com, sanook.com, ธรรมะอกาลิโก และ Thaijo.com

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น
Yuk Rini
Yuk Rini
<img>aaaa</img>
ตอบกลับ | 2 ปีที่แล้ว 0