Cycle Syncing เรื่องสำคัญ...ที่มนุษย์เมนส์ต้องรู้ไว้!
โดย : monosunday🐢

สาว ๆ เคยสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองกันบ้างมั้ย ว่าทำไมตัวเราวีคนี้...กับเราวีคที่แล้ว บางครั้งแทบจะเป็นคนละคนกันเลย ? ถ้าใครเป็นแบบนี้ไม่ต้องแปลกใจ เพราะทั้งหมดนี้คือเรื่องปกติของ “มนุษย์เมนส์” ที่มีเรื่องฮอร์โมนมาเกี่ยวด้วย วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกคน มารู้จัก “Cycle Syncing” ที่จะทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตแบบเข้าใจตัวเอง ในแต่ละรอบเดือนได้มากขึ้น ลองมาอ่านกัน
มนุษย์เมนส์...ที่อยากให้คนเข้าใจมากขึ้น
ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนเข้าใจอาการที่ใคร ๆ ก็ให้นิยามว่า “มนุษย์เมนส์” กันก่อน คือปกติแล้วรอบเดือนจะมีทุก 28-35 วัน และมาประมาณ 5-7 วัน ส่วนอาการที่สาว ๆ หลายคนเป็นก็คือ เศร้าร้องไห้ง่าย, เหวี่ยงวีนมากขึ้น, กินเยอะพุงป่อง สิวขึ้น, เหนื่อยเพลียง่าย, ปวดท้อง ฯลฯ (อาการเป็นเยอะ / น้อย แล้วแต่คนนะ) ซึ่งอาการทั้งหมดนี้เรียกว่า “PMS หรือ Premenstrual Syndrome” ที่จะเกิดขึ้นก่อนเมนส์มาประมาณ 1-2 วีค แล้วที่เรามีอาการแบบนี้ ก็เพราะฮอร์โมนหลัก ๆ อย่างเอสโตรเจน, ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และเซโรโทนิน มีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งจะวนเป็นแบบนี้อยู่ทุกรอบเดือน จนกลายเป็นเรื่องเคยชิน
Cycle Syncing สำคัญยังไง ?
แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าเรารู้จักร่างกายและอารมณ์ตัวเองมากขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตแบบ “Cycle Syncing” เพื่อให้เราเข้าใจว่าแต่ละวีคจะใช้ชีวิตยังไง กินอะไร ทำกิจกรรมอะไร ให้ตรงกับฮอร์โมนในแต่ละช่วงเวลา ที่มีการเปลี่ยนแปลง จำง่าย ๆ แบ่งออกเป็น 4 เฟสนะ
- มาเริ่มเข้าใจเฟสแรกกันก่อน ‘Menstrual Phase’ (วันที่ 1-7 ช่วงเมนส์มา) : ช่วงเวลานี้ให้นับวันที่เมนส์มาวันแรกนะ ไม่ว่าจะมาเยอะหรือน้อย ซึ่งช่วงนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงที่สุด ทำให้รู้สึกเหนื่อยเศร้า ไม่จอย ไม่อยากไปไหน ไม่มีเอนเนอร์จี้ อยากอยู่เฉย ๆ ฟีลคนจำศีลอะ เพราะงั้นอาจจะต้องกินอาหารบำรุงเลือด พวกที่มีธาตุเหล็ก วิตามินซี ผักและผลไม้ โอเมก้า 3 หรือแมกนีเซียมเพื่อลดอาการปวดท้องเมนส์ ส่วนพวก Activity ต่าง ๆ อย่าเพิ่งใช้พลังร่างกายเยอะ ออกกำลังกายอย่าหนักเกิน เป็นช่วงที่ควรใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เพื่อให้เราใจเย็นขึ้น
- ต่อมาเป็น ‘Follicular Phase’ (วันที่ 8-14 ช่วงเมนส์หมด) : ช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นสร้างไข่ใหม่อีกครั้ง ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเริ่มกลับมาเยอะขึ้น ทำให้เราอารมณ์ดี ไม่เหวี่ยงวีนละ ผิวก็จะกลับมาแข็งแรง ตัวไม่บวมการเผาผลาญก็ดีขึ้น ไหนจะฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าสังเกตช่วงนี้เราจะมีความมั่นใจเป็นพิเศษ พร้อมลุยมาก ออกกำลังกายได้เต็มที่เลย ส่วนอาหารแนะนำกินพวกโปรตีน ไขมันดี เนื้อสัตว์ และพวกธาตุเหล็กกับวิตามิน B
- ‘Ovulation Phase’ (วันที่ 15-17 ช่วงไข่ตก) : ช่วงนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนกับ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนพุ่งสูง ทำให้สาว ๆ จะมีออร่ามากที่สุด แล้วก็มีความมั่นใจมากแอคทีฟสุด ๆ อยากพูดคุยเป็นสาวสังคมขึ้นมาเลย และช่วงนี้ไข่ตกด้วยนะ ใครอยากมีเบบี้ต้องระยะเลยนี้เหมาะสุด แนะนำให้กินพวก Zinc แมกนีเซียม จะดีกับร่างกายในช่วงนี้ด้วย และออกกำลังกายหนัก ๆ ได้เลย
- และเฟสสุดท้าย ‘Luteal Phase’ (วันที่ 18-28 ช่วงก่อนเมนส์มา) : ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะสูง แต่ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะต่ำลง ตรงนี้แหละที่จะทำให้หลายคนมีอาการ “PMS” แล้วก็จะรู้สึกนอยง่าย อารมณ์สวิง ผิวจะบอบบางสิวขึ้น ตัวบวมน้ำหนักขึ้นง่าย เพราะงั้นช่วงนี้อาจจะต้องงดกินเยอะหน่อย ลดคาเฟอีนลงบ้าง และออกกำลังกายก็ไม่ควรหนักมาก
มาสรุปกันสักนิด
และทั้งหมดนี้คือ 4 ช่วงเวลาที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เมนส์ ที่เราว่าหลาย ๆ คนต้องรู้ไว้ จะได้เข้าใจร่างกายของตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญทำให้เราและคนรอบข้าง รู้จักอารมณ์ของเรามากขึ้นด้วย แต่นี่ก็ไม่ใช่จะเอามาเป็นข้ออ้าง ในการนอยวีนไปเรื่อยนะ รู้แบบนี้เรายิ่งจะต้องควบคุมอารมณ์ และพร้อมรับมือกับแต่ละช่วงเวลาของรอบเดือนด้วย
👉🏻 อ้างอิงข้อมูล : https://ppro.pro/41UaEi8 , https://ppro.pro/4ld4OQp , https://ppro.pro/426MRKx , https://ppro.pro/4c8Tv7C , https://ppro.pro/4jiafff , https://ppro.pro/4ldSe3e
โดย monosunday🐢
ชอบกิน รักการเขียน เลิฟเฟื่องฟ้า อยากดูหนังสืบสวน ดูอนิเมะทั้งวัน อิอิ
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ