เกิดกันทันมั้ย ? WIMPY (วิมปี้) ต้นกำเนิดร้านอาหาร Fast Food เจ้าแรกในไทย !
โดย : imnat
จักรวาลร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในบ้านเราทุกวันนี้
มีเยอะจนผู้บริโภคอย่างเราเลือกเข้าร้านกันไม่ถูก !
ไหนจะ KFC, McDonald's, Burger King ฯลฯ ซึ่งบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 'เจ้าแรก' ที่มาเปิดตัวในบ้านเรากันนะ แต่เชนที่ทำให้คนไทยได้รู้จักกับวัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นครั้งแรกนั้นได้แก่ WIMPY ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดตัวในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 ก่อนหน้าที่คนไทยจะได้รู้จักกับ KFC และ McDonald's กันเสียอีก !
และนอกจาก WIMPY จะเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดในบ้านเราแล้ว WIMPY ยังเป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 'อเมริกันสไตล์' เจ้าแรก ๆ ที่บุกตลาดในประเทศอื่น ๆ ด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย โคลอมเบีย สกอตแลนด์ รวมไปถึงเมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งบทความนี้ เราจะพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลา กลับไปหาต้นกำเนิดของเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเจ้าแรกที่เปิดตัวในบ้านเราอย่าง WIMPY นี้กัน !
ไหน มีใครเกิดทันร้านนี้ที่ไทยกันบ้าง ขอเสียงคนคิดถึง 'วิมปี้' กันหน่อยเร็ววว~ 🙋🏽
เกิดกันทันมั้ย ? WIMPY ต้นกำเนิดร้านอาหาร Fast Food เจ้าแรกในไทย !
สำหรับสาขาแรก (และสาขาเดียว) ของ WIMPY ที่มาเปิดตัวในบ้านเรานั้นตั้งอยู่ที่ ศูนย์การค้าราชประสงค์ โดย 'วิมปี้' เป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสไตล์อเมริกัน ที่วางจำหน่ายอาหารประเภทเบอร์เกอร์ มิลค์เชค และน้ำส้มคั้น ซึ่งจะบอกว่าต้นกำเนิดของ WIMPY จริง ๆ แล้วเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะกำกวม ชวนให้งงกันหน่อย ๆ เพราะมันเป็น แบรนด์ที่เอาดีในต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิดของตัวเอง) เลยทำให้ผู้บริโภคหลายคนสับสน ว่าสรุปแล้ว WIMPY มีต้นกำเนิดมาจากที่ไหนกันแน่ ?
WIMPY เป็นแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้แรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจาก ตัวละครจากการ์ตูนเรื่อง Popeye อย่าง J. Wellington Wimpy ตัวละครเพื่อนสนิทของป๊อปอาย ที่ชอบกินแฮมเบอร์เกอร์เอามาก ๆ ซึ่งช่วงแรกนั้นถือว่าเป็นการเปิดตัวที่น่าสนใจ และสร้างความตื่นเต้นให้กับคนในละแวกนั้นได้ดี จนทำให้ Wimpy Grills (ชื่อที่ใช้ในตอนนั้น) สามารถขยายสาขามาได้ถึง 26 สาขา ภายในระยะเวลา 13 ปี โดยการดูแลของ Edward Gold ผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว
โดยจุดเด่นของร้าน WIMPY ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนในยุคนั้นได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการให้บริการแบบ Table Service หรือการให้บริการถึงโต๊ะ เหมือนที่เราอาจจะเคยเห็นเวลาดูหนัง หรือซีรีส์ยุค 90 ที่จะมี พนักงานเสิร์ฟเดินมารับออเดอร์ และเสิร์ฟอาหารให้เรากันถึงโต๊ะ โดยที่เราแทบจะไม่ต้องขยับตัวไปไหน ที่สำคัญหลาย ๆ เมนูของ WIMPY ก็มีคนชื่นชอบมาก อันดับแรกที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ ก็ได้แก่ เมนูเบอร์เกอร์ รองลงมาก็จะเป็น มิลค์เชค ซึ่งมีความเป็นอเมริกันจ๋ามาก ๆ เลยไม่แปลกใจ ถ้าร้านวิมปี้จะได้รับความนิยมจากกลุ่มลูกค้าในช่วงนั้นเป็นอย่างดี
หน้าร้าน WIMPY สาขาแรกที่ประเทศอังกฤษ ภาพจาก WIMPY
หลังจากนั้น WIMPY ก็ได้ตกไปอยู่ในความสนใจของ J. Lyons and Co. เครือข่ายร้านอาหารในประเทศอังกฤษ ที่มีความสนใจ อยากจะซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสไตล์อเมริกันอย่าง WIMPY ไปเปิดที่ประเทศของตัวเองบ้าง ซึ่งในปี ค.ศ. 1954 Edward Gold ก็ได้ตัดสินใจขายแฟรนไชส์ให้ J. Lyons and Co. โดยทาง J. Lyons and Co. ก็ได้นำไปดัดแปลงชื่อร้านใหม่ จาก Wimpy Grills เดิม ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น Wimpy Bar เพื่อให้เข้ากับกลิ่นอายของประเทศอังกฤษแทน
สำหรับทำเลที่ตั้งของ Wimpy Bar ถ้าไม่ใช้คำว่า 'ทำเลทอง' ก็คงจะผิด เพราะหน้าร้านแห่งแรกของ WIMPY ที่ประเทศอังกฤษ นั้นตั้งอยู่ที่ Lyon's Corner House ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ของเมือง โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งการปรากฏตัวครั้งแรกของ Wimpy Bar นี้ ได้ถูกให้คำนิยามเอาไว้ว่า The First to Serve Hamburger Based Meals in the UK เลยทีเดียว !
ภาพโฆษณาโปรโมทร้าน WIMPY ในตอนนั้น ภาพจาก WIMPY
หลังจากเปิดตัวสาขาลูกที่ประเทศอังกฤษกันไปแล้ว ในช่วงปี ค.ศ. 1970 เรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของ WIMPY เลยก็ว่าได้ เพราะมากกว่า 1,000 สาขาของวิมปี้ได้ถูกเปิดตัวกระจายกันไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ (รวมถึงในบ้านเราด้วย) จนทำให้ WIMPY ขึ้นแท่นกลายเป็นแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เป็น Global Favorites ไปในที่สุด
ซึ่งความแตกต่างของร้านอาหารเชนลูกต่าง ๆ ก็จะอยู่ที่คำต่อท้ายชื่อร้าน กับเมนูอาหารที่ปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น Wimpy Grills ของสหรัฐอเมริกา Wimpy Bar ของอังกฤษ Wimpy Diner ของแคนาดา อย่างบางสาขาก็จะมีเมนูที่ Exclusive เฉพาะที่นั้นด้วย อ่านกันมาจนถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าเส้นทางของร้าน WIMPY แลดูจะไปได้สวย
แต่ตัดภาพมาที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น !
ในปี ค.ศ. 1977 มีรายงานว่า หน้าร้านของ WIMPY ที่หลงเหลืออยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 7 สาขา (จากเดิม 26 สาขา) ถูกพับโครงการเก็บ เนื่องจากการเสียชีวิตของ Edward Gold บวกกับไม่มีใครมารับช่วงดูแลต่อ เลยทำให้ WIMPY กลายเป็นเพียง ภาพความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเชนร้านอาหารของ WIMPY ในประเทศอื่น ๆ ก็ถูกยุบ และขายเปลี่ยนมือมาเรื่อย ๆ หลังจากการมาของ McDonald's เลยทำให้บรรดาเจ้าของร้าน WIMPY ทั้งหลาย ณ ตอนนั้น เริ่มที่จะไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ ว่าแบรนด์ ๆ นี้ จะสามารถทำเงินให้พวกเขา เทียบเท่ากับร้าน McDonald's ได้จริงไหม ?
'มีของดี แต่กลับอยู่ยาก' อะไรที่ทำให้ WIMPY ไม่ได้รับความนิยมเท่าแบรนด์อื่น ๆ ?
ถึงแม้ว่าภาพจำของร้าน WIMPY จะสามารถสร้างความทรงจำ และความประทับใจให้กับผู้บริโภคในยุคนั้นได้ก็จริง และต่อให้จะมีของดีอยู่ในตัวมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่ปรับตัว โอกาสที่จะอยู่รอดในสังคมแห่งการแข่งขัน ก็ย่อมที่จะลดลงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ร้าน WIMPY เอง ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะถึงแม้ว่า WIMPY จะเป็นเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ที่ปลุกกระแสของวัฒนธรรมการกินฟาสต์ฟู้ดในหลาย ๆ ประเทศได้ แต่กาวที่ใช้ในการยึดเกาะขาเก้าอี้ของวิมปี้ นับวันมันก็ค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง (ถ้าวิมปี้ยังไม่คิดที่จะปรับตัว)
เราคงจะพอเห็นภาพตัวอย่างเบื้องต้นกันไปแล้วว่า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นมา WIMPY สามารถเปิดตัวสาขาได้เป็นพัน ๆ แต่ทว่าบรรดาสาขาต่าง ๆ เหล่านั้น ยิ่งนับวัน มันก็ยิ่งน้อยลง แม้แต่ในประเทศที่มี Loyalty ให้กับแบรนด์นี้อยู่มากก็ตาม แต่ผู้บริโภคที่เป็นแฟนร้านอาหาร WIMPY ทั้งหลาย ย่อมมีความรู้สึกตะหงิดใจ กลัวว่าสถานการณ์ที่ WIMPY กำลังเผชิญอยู่ จะทำให้ WIMPY ใกล้จะถึงเวลาโบกมือลาพวกเขากันแล้วหรือเปล่า
แต่อย่างที่เราบอก ว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับ 'การปรับตัว'
หลังจากถูกขายเปลี่ยนมือมาเรื่อย ๆ ในที่สุดเส้นทางชีวิตของร้าน WIMPY ก็ได้เปลี่ยนไป หลังตกไปอยู่ในมือของ Famous Brand บริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศแอฟริกาใต้ ที่ทำหน้าที่ดูแลแบรนด์สินค้าหลากหลายตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ WIMPY
ตัวอย่างเมนูอาหารของ WIMPY
โดยในตอนนั้นทาง WIMPY ก็ได้มีหน้าร้านอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้เป็นที่เรียบร้อย แถมยังประสบความสำเร็จไม่แพ้ที่ประเทศอังกฤษเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญผู้คนที่ประเทศแอฟริกาใต้ ได้มี Loyalty ให้กับแบรนด์ ๆ นี้เป็นอย่างมาก เลยไม่แปลกใจที่ทาง Famous Brand มีความตั้งใจอยากจะขุนแบรนด์รุ่นเดอะอย่าง WIMPY ให้กลับมาได้รับความนิยมเหมือนในอดีตกันอีกครั้ง ด้วยความหมายมั่นปั้นมือไว้ว่า เราจะได้เห็น 'The Modern Face of Wimpy' ในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
ซึ่งถ้าถามว่าเพราะอะไร ที่ทำให้ WIMPY ไม่ได้รับความนิยมเท่าแบรนด์อื่น ๆ ส่วนตัวเราคิดว่ามันสามารถมองได้ 2 แง่ คือจะมองว่าดีก็ได้ หรือจะมองว่า 'เชย' ก็ได้เช่นกัน
- อย่างแรกเลยก็ได้แก่ รูปแบบการให้บริการ ที่ WIMPY ยังคงยึดรูปแบบการบริการเก่า ๆ อย่าง Table Service ในการให้บริการกันอยู่ ทั้ง ๆ ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเจ้าอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น McDonald's ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการบริการให้ง่ายต่อตัวพนักงานและลูกค้ามากขึ้น โดยให้ลูกค้าทำการสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ และมารอรับอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ เมื่อกินเสร็จก็ให้นำไปเก็บด้วยตัวเอง ฯลฯ ซึ่งมันจะช่วยลดค่าเสียเวลาของทั้งพนักงาน และตัวลูกค้าได้เป็นอย่างดี
- อย่างต่อมาก็จะเป็น หน้าตาของร้านและอาหาร ที่อาจจะยังดึงดูดใจไม่มากพอ ยังคงติดภาพความเป็น Retro อยู่ ทั้ง ๆ ที่ยุคสมัยมันได้เปลี่ยนไปแล้ว กลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ที่เข้าร้านก็จะมีแต่ Gen X ไม่ค่อยมีฐานลูกค้าใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z
แต่ต่อให้ WIMPY จะมีจุดด้อยในแง่ของความทันสมัย แต่ข้อดีของ WIMPY ก็คือ ความแตกต่าง ซึ่งถ้ามองในทางกลับกัน ท่ามกลางรูปแบบการบริการที่เน้น Self Service มากขึ้นในปัจจุบัน แต่ WIMPY กลับ 'สร้างความแตกต่าง' ด้วยรูปแบบการบริการแบบ Table Service ที่แทบจะหาไม่ได้แล้วในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทุกวันนี้ ซึ่งถ้าใครอยากได้ประสบการณ์ในลักษณะนี้ ก็ต้องมาที่นี่เท่านั้น
แต่ทั้งนี้ WIMPY เอง ก็ควรจะ ปรับตัวในเรื่องของความทันสมัยให้มากขึ้น เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และเพื่อที่จะได้ดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ ๆ ของตัวเอง นี่เลยเป็นหนึ่งใน การบ้านข้อใหญ่ ของทาง Famous Brand ว่าจะทำยังไง ให้รูปแบบการบริการอันเป็นเอกลักษณ์ของ WIMPY ได้รับความสนใจ และได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่กันมากขึ้น
เพราะถ้าขืนปล่อยแบรนด์ที่ 'มีของดีอยู่กับตัว' แบบนี้ให้หายไป โดยที่ไม่พยายามเลยสักครั้ง มันก็แลดูจะเป็นการทอดทิ้งเขาเกินไป เพราะอย่างน้อยก็ยังมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังจงรักภักดีต่อแบรนด์นี้อยู่ และถ้ามีโอกาสอีกครั้ง เราก็อยากจะเห็นร้าน WIMPY กลับมาเปิดที่บ้านเรากันอีก เชื่อว่าถ้ากลับมาเปิดใหม่ในรอบนี้ น่าจะเรียกความสนใจจากผู้คนได้ดี โดยเฉพาะวัยรุ่น Gen X ทั้งหลาย ที่น่าจะคิดถึงรสชาติ และบรรยากาศของร้าน WIMPY กันอยู่ไม่น้อย...
💭 ถ้ามองในภาพของคนรุ่นใหม่อย่างเรา ๆ หลายคนคงจะจินตนาการภาพกันไม่ออก ว่า WIMPY ร้านนี้ ควรค่าแก่การถูกเก็บรักษาเอาไว้ไหม แต่ถ้าให้เราลองนึกถึงอะไรสักอย่างที่เราโตมาพร้อมกับมัน ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับมัน มีความทรงจำอะไรบางอย่างร่วมกันกับมัน แล้วทุกวันนี้สิ่ง ๆ นั้นมันแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ถ้ามีโอกาส เราจะอยากได้มันกลับคืนมากันไหม ?
ซึ่งความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่เหล่าลูกค้าที่โตมาพร้อมกับ WIMPY อยากจะให้แบรนด์ ๆ นี้ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง บางคนอาจจะพยายามสุดกำลัง ในการทำยังไงก็ได้ ให้สาขาของ WIMPY ที่เราไปบ่อย ๆ สามารถคงอยู่ต่อไปได้ เพราะนั่นมันเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ ที่พวกเขาอยากจะเก็บรักษามันเอาไว้ ซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไงต่อไป แต่เรา (และอีกหลาย ๆ คน) ก็ยังคงมีความหวัง ว่าจะได้เห็น The Modern Face of Wimpy นี้กันอยู่ ❤️
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- ยืนหนึ่งทุกสมัย ! McDonald's French Fries ของกินเล่นยอดขายทะลุฟ้า ชนิดที่ว่าใครก็เอาไม่ลง !
- อัปเดต เชนร้าน Fast Food อิมพอร์ตจากญี่ปุ่น ตอนนี้ในไทยมีร้านไหนบ้าง ?
- แจก 50 โค้ดสีจากอาหาร Fast Food เพิ่มสีสันให้อาร์ตเวิร์ก แบบไม่ต้องคิดเยอะ !
- หมัดชนหมัด ! ศึก 2 น้ำดำ "Coke Zero vs Coke Light" ต่างกันยังไง เรามีคำตอบ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : wimpy, wikipedia, vice, chroniclelive และ businessinsider
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ