ไขคำตอบ ทำไมกลัวผีขึ้นสมอง แต่ยังดันทุรันดู 'หนังผี' ไม่จบไม่สิ้น
โดย : wacheese
💀
คุณกำลังรับชม รับฟัง คลิปหลอน ๆ จาก The Ghost Radio
คลื่นสยองของคนรุ่นใหม่ กับผม แจ๊ค วัชรผล ฝึกใจดี ต่อไปเป็นสายของ...
ประโยคคุ้นหูเคล้าคลอไปกับเสียง Sound Effect หลอน ๆ ชวนขนหัวลุกที่ The Ghoster คุ้นเคย ล่าสุดรายการทำลายทุกสถิติตั้งแต่ออกอากาศมา เพราะออนแอร์ลากยาวกว่า 10 ชั่วโมง ตั้งแต่ 21.45 น. จนถึง 07.00 น. ของอีกวัน เรียกได้ว่าสู้ทั้งคนฟัง ทั้งคนเล่า ยอมอดตาหลับขับตานอนกันยันหว่าง แต่เชื่อไหมว่า The Ghoster จำนวนหนึ่ง เป็นคนกลัวผีเอามาก ๆ เหมือนกันกับพี่แจ๊คเจ้าของรายการเด๊ะ แต่ไหนยังชอบฟังหรือชอบดูหนังผี ? บางคนถึงขั้นฟังเป็น ASMR กล่อมนอนกันไปอีก ความย้อนแย้งนี้มันคืออะไรกันแน่ ?
ทำไมกลัวผีขึ้นสมอง แต่ยังดันทุรังดูหนังผี ?
หลายปีมานี้รายการประเภทล่าท้าผีได้รับความนิยมมาก จนเกิดช่องเล็กช่องน้อยขึ้นมานับร้อย อย่างวลี "ไอ้โอม ตาลือตกบ้าน" ที่ทั้งหลอนทั้งขำก็มาจาก 'คืนปลุกผี' รายการถ่ายทอดสดล่าท้าผีตามบ้านร้าง หรือสถานที่หลอน ๆ ในยามวิกาล ความสนุกของการดูไลฟ์คงหนีไม่พ้นการได้ลุ้นไปกับภาพที่ปรากฎบนหน้าจอ และยังได้ขบขันจาก Reaction วินาทีที่ตกใจของผู้ดำเนินรายการด้วย แต่สงสัยกันไหม ทำไมคนกลัวผีจนขึ้นสมองกลับชอบดู ชอบเสพเรื่องราวผี ๆ มากกว่าคนอื่น 🤔
💀 เสพติดความกลัว ความตื่นเต้น
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ บอดี้...ศพ#19 ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า เรื่องผีเป็นเรื่องเล่าไม่รู้จบ มีมานมนานตั้งแต่สมัยคนเริ่มก่อกองไฟแล้ว มนุษย์เดินทางผ่านประวัติศาสตร์โลกมาด้วยความกลัว เรื่องผีจึงอยู่ในดีเอ็นเอของเรา เราชอบความตื่นเต้น ความน่าสะพรึงกลัว เพื่อทำให้เรารู้สึกต้องทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง นี่เป็นเหตุผลที่ตอบคำถามว่า ทำไมถึงยังมีคนสร้างหนังผี และทำไมเราถึงยอมเสียเงินเพื่อเข้าไปดูหนังผีในโรงหนัง
💀 ความสยองขวัญอยู่ในสายเลือด
Darryl Jones แพทย์ด้านปรัชญา และศาสตราจารย์ด้านนิยายเหนือธรรมชาติ และสยองขวัญ วิทยาลัย Trinity College ประเทศไอร์แลนด์ กล่าวว่า มนุษย์ชอบความสยองขวัญมานานแล้ว เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสยองขวัญ ผู้คนในอดีตมักจะเสาะหาความตื่นเต้น เช่น การเล่นสไลเดอร์น้ำแข็ง ประเทศรัสเซีย หรือการเข้าชมคณะละครสัตว์ Barnum ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ครั้งหนึ่งเคยพาคู่แฝดสยาม อิน-จัน ไปโชว์ตัวด้วย รวมถึงกลุ่มคนที่มีรูปลักษณ์ผิดปกติ ทั้งมนุษย์เท้ายักษ์ หรือมีสี่ขา หรือพิพิธภัณฑ์ Mütter ที่จัดแสดงความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคประหลาด และเต็มไปด้วยความสยดสยองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1859
ประโยชน์ของการดูหนังผี ที่แลกมากับความหลอน !
💀 ปลดปล่อยตัวตนด้านมืด
Erin Hadley นักจิตวิทยาคลินิก เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ทุกคนล้วนมีด้านมืดอีกมุมที่ไม่รู้จัก และเป็นอันตรายต่อคนรอบตัว การดูหนังผีจะช่วยให้เราได้สำรวจตัวตนที่ซ่อนไว้ เช่น การที่ตัวละครหลักโดนรุมแกล้ง รุมทำร้าย รุมทรมาณจนสาหัสสากรรจ์ และความคิด 'แค้นนี้ต้องชำระ' มักผุดขึ้นมาในหัว ตามด้วยวิธีล้างแค้นต่าง ๆ ตามที่จิตใต้สำนึกด้านมืดของเราจะนึกได้
💀 หนังผีช่วยให้ตกหลุมรัก
หนังผียังช่วยให้มนุษย์ตกหลุมรักกันง่ายขึ้น เพราะมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมน Oxytocin ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพัน เช่นเดียวกับการกอด การสัมผัส หรือแม้กระทั่งการมี Sex จนได้ชื่อเรียกมากมายว่า Love Hormone, Hug Hormone หรือ Trust Hormone
💀 หนังผีเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ
การดูหนังผียังเกี่ยวข้องกับ Gross Domestic Product หรือ GDP ที่เป็นดัชนีชี้วัดการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยประเทศที่มี GDP สูง จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตวิทยา ทำให้จุดประสงค์ในการดูหนังสยองขวัญ เป็นไปเพื่อความบันเทิงมากกว่าประเทศ GDP ต่ำ ที่แวดล้อมไปด้วยเรื่องราวชวนขนหัวลุก และจะแสวงหาความบันเทิงจากหนังรักโรแมนติกมากกว่า
💀 ฝึกทักษะการเอาตัวรอด
Coltan Scrivner มหาวิทยาลัยชิคาโก้ เปิดเผยว่า เรามักคิดแทนตัวละครว่า หากตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายแบบในหนังสยองขวัญ จะเอาตัวรอดอย่างไร ถือว่าเป็นการได้ฝึกกลยุทธ์ ฝึกทักษะการเอาตัวรอด จนถึงการรับมือกับความไม่แน่นอน ความสงสัย และความวิตกกังวล นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่ชอบดูหนังสยองขวัญ สามารถรับมือกับความวิตกจากการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ได้ดีกว่า คนที่ไม่ชอบดู อาจจะเป็นเพราะมีทักษะการเผชิญปัญหาจากการดูหนังสยองขวัญบ่อย ๆ เพราะเมื่อเราดูหนังผีหรือหนังสยองขวัญ จะทำให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ เหมือนอยู่ในจุดที่รู้สึกกลัว แต่ก็สนุกไปด้วย
Erin Hadley นักจิตวิทยาคลินิก เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า อีกหนึ่งความสนุกและความตื่นเต้นของการดูหนังผี ที่ทำให้เราลุ้นตามไปกับตัวละคร เพราะเรามักคิดว่า จะสามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่านี้ หรือเหตุการณ์เลวร้ายนี้จะไม่เกิดขึ้นกับเรา ซึ่งความคิดเหล่านี้ถือเป็นการป้องกันตัว ที่ทำให้เราแยกตัวออกจากความกลัวกับสิ่งย่ำแย่ที่จะเกิดขึ้น
💀 ความสุขอย่างน่าเหลือเชื่อ
Krista Jordan นักจิตวิทยาคลินิก เมืองออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สมองไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างจินตนาการ และความเป็นจริงอย่างมีประสิทธิภาพได้เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น การได้ฟังบรรยายการกัดมะนาว จนทำให้เรารู้สึกเข็ดฟันหรือน้ำลายสอ เช่นเดียวกับการดูหนังสยองขวัญ ที่สมองจะลืมไปชั่วขณะว่า ภาพที่เห็นตรงหน้าไม่ได้นำไปสู่อันตรายจริง แล้วเพิ่มการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่เหมาะสม และหลั่งสาร Adrenaline รวมถึงสารเคมีในสมอง ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสบาย และโล่งอก
เช่นเดียวกับที่ Margee Kerr นักสังคมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในวารสาร Emotion ว่า ในระหว่างที่เราเผชิญความกลัวกับการดูหนังผี มีหลายอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย แต่หลังจากที่เราสามารถหนีจากเหตุการณ์น่าหวาดเสียวหรือน่ากลัวได้แล้ว ร่างกายจะรู้สึกดีขึ้น เพราะแผลหรือความรู้สึกเจ็บปวดได้หายไปแล้ว สรุปแล้วมันคือความสุข และความสนุกสนานนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลที่ชี้ชัดว่า ความเครียดจะลดลงหลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์น่ากลัวไปแล้ว
ประโยชน์ของการดูหนังผีหรือหนังสยองขวัญ คงช่วยให้บรรดา The Ghoster ที่ยังขี้ขลาดตาขาวสนุกสนานกับการเสพเรื่องราวผี ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก แต่อย่าเผลอตัวเผลอใจฟังสดโต้รุ่งจนไปทำงานสาย หรือแอบฟังแห้งในเวลาทำงานก็สุ่มเสี่ยงโดนเจ้านายจับได้ ทางที่ดีควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเรื่องราวสยองขวัญมักต้องใช้สมาธิจดจ่อกับเนื้อหาเป็นพิเศษ หรือจะเพิ่มบรรยากาศชวนหลอนด้วยการดูช่วงกลางคืนก็เพิ่มความสนุกไม่น้อย และยิ่งชวนเพื่อนมาหลั่ง Oxytocin ฮอร์โมนสร้างความผูกพัน กระชับมิตรให้แน่นแฟ้น ก็ยิ่งเพิ่มอรรถรสเข้าไปอีก ⚠️ แต่ระวังแขกไม่ได้รับเชิญมาร่วมนั่งดู นั่งฟังอยู่ข้าง ๆ
👉🏼 บทความที่เกี่ยวข้อง
- รวม 15 เรื่องผีจากคุณเจน นิวซีแลนด์ (The Ghost Radio) ต้อนรับฮาโลวีน มานอนฟังเรื่องผีกัน ! คลิก
- เปิดที่มาคืนหลอนวันปล่อยผี "ฮาโลวีน" และว่าด้วยเรื่องทำไมเราถึงกลัวผีจนขนหัวลุก ? คลิก
- ขายด่วน ! บ้านหลังใหญ่ ทำเลดี จากหนังดัง 8 เรื่อง ซื้อวันนี้ แถมฟรี 'แขกที่ไม่ได้รับเชิญ' หลายรายการ คลิก
แหล่งอ้างอิง : muttermuseum, postjung, bangkokhospital, wongnai, themomentum, nylonthailand
โดย wacheese
[email protected] :)