ราคานี้มีที่มา ! ไขข้อสงสัย "ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าถึงแพง ?"

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer19 ก.ย. 2565 avatar writer1.6 K
ราคานี้มีที่มา ! ไขข้อสงสัย "ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าถึงแพง ?"

 

"รถยนต์ไฟฟ้า = แพง"

 

เชื่อว่าประชากรเกินกว่าครึ่ง ที่ตัดสินใจไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ นอกจากเหตุผลอย่าง จุดชาร์จไฟที่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศแล้ว ยังมีเรื่องของตัวระบบ ที่ก้ำกึ่งว่าจะดี กับก้ำกึ่งว่าจะไม่ดี หรือเอาง่าย ๆ ว่ายังไม่ค่อยเชื่อใจในความเสถียรของตัวรถยนต์ไฟฟ้ากันสักเท่าไหร่

 

แล้วไหนจะ ราคา ที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ บางคนโอเคหมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นระบบขับเคลื่อน การลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แถมจุดชาร์จไฟใกล้บ้านก็มีด้วย แต่มักจะจบเห่ที่ราคากันทุกครั้งไป  อย่างใครที่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดัง ๆ มาใช้ พอเห็นราคาไทยปุ๊บ ก็รีบพับโครงการเก็บปั๊บ เอ้า อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะต้องเท่ากับคำว่าแพงเสมอไป แต่คำว่าแพงนี้เค้าก็มีที่มานะเออ ส่วนที่มา-ที่ไปของราคานั้นคืออะไร เดี๋ยวบทความนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน !

 


 

 

"รถยนต์ไฟฟ้าราคาแรงขนาดนี้ แล้วใครจะกล้าซื้อ ?"

 

รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ปกติแล้วมักจะเปิดตัวด้วยราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่าการที่ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าแรงแบบนี้ เป็นเพราะว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้า จัดว่าเป็นเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ ที่เพิ่งตีตลาดในบ้านเรากันหรือเปล่า ถ้าหากเราคิดกันแบบนั้น ก็นับว่าไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกไปซะทีเดียว จริงอยู่ที่การมาของรถยนต์ไฟฟ้านับได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในบ้านเรา รวมถึงในต่างประเทศเองก็ตาม ซึ่งเราเองก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้น เป็นรถยนต์ทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาก แถมค่าใช้จ่ายในการชาร์จไฟแต่ละครั้ง ยังประหยัดกว่าการเติมน้ำมันหลายเท่า

 

ส่วนถ้าว่ากันด้วยเรื่องของข้อเสียที่อิมแพคต่อการตัดสินใจซื้อของคน ๆ นึงได้ เราว่าส่วนนึงก็มาจากค่าตัวที่แรงมากของมัน แรงกว่ารถยนต์กินน้ำมันทั่วไปหลายเท่า เลยทำให้คนส่วนใหญ่ที่กำลังให้ความสนใจ เริ่มที่จะลังเล แต่บอกได้เลยว่านั่นไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ส่งผลกระทบต่อราคาที่ทำให้หลายคนให้คำจำกัดความว่า แพงมาก  ซึ่งแล้วอะไรล่ะที่เป็นองค์ประกอบทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าแพงหูฉี่แบบทุกวันนี้ได้ ?

 


 

ไขข้อสงสัย "ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าถึงแพง ?"

 

 

สำหรับการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน จะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ แบตเตอรี อุปกรณ์แปลงไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำงานร่วมกัน จนกลายเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

 

และจากองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ แบตเตอรี จัดว่าเป็นองค์ประกอบที่มีราคาค่าตัวสูงที่สุด แถมยังคิดเป็น 30-40% ของต้นทุนราคารถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน นั่นจึงแปลว่า สาเหตุสำคัญที่มีผลมาก ๆ ต่อการกำหนดราคารถยนต์ไฟฟ้า ก็มาจากตัวแบตเตอรีนี่แหละ ซึ่งถ้าไม่มีก็ไม่ได้อีก เพราะหน้าที่ของมันดันสำคัญต่อการจัดเก็บพลังงานของรถยนต์ไฟฟ้าเสียด้วย

 

| แบตเตอรีตัวนี้มีดียังไง ทำไมถึงได้แพ๊งแพง ?

 

สำหรับแบตเตอรีที่อยู่ในรถยนต์ไฟฟ้านี้มีชื่อว่า แบตเตอรีลิเธียม ไอออน ซึ่งเป็นแบตเตอรีชนิดเดียวในตอนนี้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แถมยังมีราคาดีที่สุด ในการทำหน้าที่เป็นแบตเตอรีของรถยนต์ไฟฟ้า โดยแบตเตอรีชนิดนี้ เป็นชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในมือถือ แล็ปท็อป และแท็บเล็ต ที่เราใช้งานกันเป็นประจำ โดยข้อดีของแบตเตอรีตัวนี้ คือ มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่นาน เก็บประจุไฟฟ้าได้นาน ให้พลังงานสูง มีความเสถียร แถมยังชาร์จได้เร็ว และที่สำคัญคือไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดขายของรถยนต์ไฟฟ้าเลยก็ว่าได้

 

แต่ข้อเสียของแบตเตอรีตัวนี้มีเพียงอย่างเดียวเลย คือ มีความหายากมาก ซึ่งนั่นก็ได้ส่งผลกระทบทำให้ราคาค่าตัวของแบตเตอรีตัวนี้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน แถมพอเป็นแบตเตอรีที่จะต้องเข้าไปอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้า เห็น ๆ กันอยู่แล้วว่ามันจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าแบตเตอรีที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของเราแน่นอน เมื่อต้องใช้จำนวนแบตเตอรีที่มีขนาดใหญ่มากแบบนี้ ก็ยิ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาของแบตเตอรีจากเดิมที่แพงอยู่แล้ว ก็ยิ่งแพงเข้าไปอีก

 

 

แบตเตอรีลิเธียม ไอออน ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1973 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Crisis) ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั้งโลก โดยในช่วงแรกที่แบตเตอรีตัวนี้ถูกผลิตออกมา มักจะมีปัญหาระเบิดง่าย แต่หลังจากนั้นเมื่อได้ถูกพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มที่จะเสถียรขึ้น แต่ช่วงแรกมักจะนิยมใช้กันในอุตสาหกรรมทหาร ท่าอากาศยาน จนถึงการมาของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้นำแบตเตอรีตัวนี้มาใช้ เพราะข้อดีของมันคือไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตรงคอนเซ็ปต์ของรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

 

โดยวัสดุที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรีลิเธียม ไอออนนี้จะประกอบไปด้วย นิเกิล โคบอลต์ และลิเธียม ซึ่งแทบจะไม่ต้องเดาก็น่าจะรู้ว่าวัสดุที่หายากที่สุดได้แก่อะไร ก็คงจะหนีไม่พ้น ลิเธียม นั่นเอง

 

 

แร่ลิเธียม จัดว่าเป็นแร่หายาก พบได้มากที่สุดที่ประเทศจีน ดังนั้นประเทศจีนนอกจากจะเป็นตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้แล้ว จีน ยังเป็นประเทศผู้ผลิตแบตเตอรีลิเธียม ไอออน อันดับ 1 ของโลกด้วย และตั้งแต่กระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มจะตีตลาดหนัก ๆ ในปี 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ความต้องการแบตเตอรีลิเธียม ไอออนสูงตามไปด้วย ซึ่งนั่นก็แปลว่าจากเดิมที่หายากอยู่แล้ว ก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก เลยทำให้ราคาของแร่ลิเธียมนี้ปรับเพิ่มขึ้น 240% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกด้วย รวมถึงความหายาก บวกกับความต้องการที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

 

| นอกจากแบตเตอรีแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่มีผลต่อราคารถยนต์ไฟฟ้าอีก !

 

  • การวิจัยและพัฒนา หรือเรียกสั้น ๆ ว่าค่ามันสมองในการคิดค้นและพัฒนากว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ซึ่งบอกเลยว่ากระบวนการในการคิดค้นและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาแต่ละคันนั้น ไม่ใช่แค่คิดออกมาเท่านั้นจบ แต่มันยังมีในส่วนของการพัฒนาระบบ การออกแบบสเปกของรถยนต์ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน แล้วไหนจะเป็นการออกแบบภาพลักษณ์ การตกแต่ง ระบบภายใน-ภายนอก ยังไม่รวมไปถึงการทดสอบระบบก่อนจะวางขายจริงอีก ทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยเงินทุนในการทำงานทั้งนั้น

    และไม่ใช่แค่นั้นนะ หลังจากที่รถยนต์ไฟฟ้าถูกวางจำหน่ายออกมาแล้ว ทางทีมวิจัยและพัฒนาจะต้องรอรับฟีดแบคจากผู้ใช้งานจริง ก่อนจะนำไปพัฒนาระบบของรถยนต์ไฟฟ้าให้เสถียรมากขึ้นในรุ่นต่อ ๆ ไป คือมันไม่ใช่งานที่ทำออกมาแล้วจะจบเลย แต่มันยังมีการติดตามผล และพัฒนาอยู่ตลอด ดังนั้นในส่วนนี้เลยต้องมีค่าใช้จ่ายที่รองรับมันอยู่มากด้วยเช่นกัน

  • การออกแบบเทคโนโลยี แม้ว่าหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าจะมีหลัก ๆ อยู่แค่ 3 ส่วน แต่การทำงานที่จะต้องเชื่อมโยงกันของทั้ง 3 ส่วนนี้ เป็นอะไรที่มีความสลับซับซ้อนเอามาก ๆ และนอกจากเทคโนโลยีพื้นฐานแล้ว บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็มักจะเอาใจเหล่าลูกค้าด้วยเทคโนโลยีการช่วยเหลือผู้ขับขี่ต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการออกแบบมันขึ้นมาด้วยเช่นกัน

  • ค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า บางคนอาจจะสงสัย ทำไมรถยนต์ไฟฟ้าที่วางขายในต่างประเทศ เมื่อตีเป็นเงินไทยแล้วราคาต่างกันลิบลับกับราคาที่วางขายในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเราจะบอกว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาขาย 1 คัน ล้วนจะต้องมีค่าใช้จ่าย (ที่ควบคุมไม่ได้) รอรับอยู่เพียบ อาทิ อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งค่าภาษีต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวเพิ่มราคาขายของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ถ้าเอาง่าย ๆ เหมือนเวลาที่เราสั่งสินค้าจากต่างประเทศแล้วต้องมาเสียภาษีตามหลังนี่แหละ เพียงแต่ค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน มันไม่ได้จบที่ภาษีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

 

 

| ค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคัน มีอะไรบ้าง ?

 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศมายังบ้านเราในตอนนี้ ถูกคำนวนโดยยึดจากราคา CIF (Cost + Insurance + Freight) เป็นหลัก โดยปัจจุบันนี้ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่าย 4 ส่วน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันจะมีเงื่อนไขในการคำนวนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ประเทศต้นทาง รวมไปถึงความจุ สเปกการใช้งานต่าง ๆ โดยค่าใช้จ่าย 4 ส่วนที่ว่านี้ ได้แก่

 

  • อากรนำเข้า คิดเป็น 80% ของราคา CIF
  • ภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับสเปกรถยนต์ โดยจะเก็บต่างกันตามประเภทของรถยนต์ ซึ่งก็มีตั้งแต่ 8-40% ของราคา CIF
  • ภาษีมหาดไทย คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยคิดจากการนำเอา CIF + อากรนำเข้า + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีมหาดไทย มารวมกัน

 

แต่สำหรับรถยนต์ที่นำเข้าจากบางประเทศ เช่น จีน ที่ประเทศไทยของเราได้ทำข้อตกลงการค้าร่วมกันไว้ ทำให้จากอากรนำเข้าที่ต้องจ่าย 80% ก็ไม่ต้องจ่ายเลย นั่นเลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมาวางขายในบ้านเราตอนนี้ มีราคาที่ดีกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากยุโรป หรือประเทศอื่น ๆ นั่นเอง

 

และนอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ด้วยการให้เงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท / คัน ลดภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8%  ให้เหลือ 2% แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข รวมถึงรถยนต์ที่เข้าร่วมด้วยว่าจะใช่รุ่นที่อยู่ในใจของเรากันไหม เพราะถ้าไม่ใช่ก็ต้องจ่ายแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือจนกว่าจะมีการปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้านั่นแหละ ถึงตอนนั้นค่อยมานั่งวางแผนกันใหม่อีกที

 


 

เมื่อไหร่หนอ... ราคารถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราถึงจะถูกลง ?

 

เชื่อว่าเป็นคำถามที่คนที่สนใจในรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังกัดฟันซื้อไม่ได้ในตอนนี้ ต้องการอยากจะรู้เป็นที่สุด ซึ่งถ้าถามว่ามีแนวโน้มไหมที่ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีเกณฑ์จะปรับลดลง เราตอบให้ก่อนเลยว่า มีแน่นอน เพียงแต่ราคาที่ดีที่สุด อาจจะไม่ใช่ราคาที่กำลังวางขายอยู่ในตอนนี้ หรือในอีก 1-2 ปีหลังจากนี้ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้ด้วยราคาของแบตเตอรีลิเธียม ไอออนล้วน ๆ ซึ่งเราก็วางใจได้เปราะนึง เพราะในตอนนี้นักวิจัยและพัฒนาหลาย ๆ คนก็กำลังแปลงโฉมแบตเตอรีลิเธียม ไอออนนี้อยู่ว่าจะสามารถปรับลดอะไรตรงไหน เพื่อที่จะได้มาด้วยราคาของแบตที่ถูกลง หรืออาจจะแหวกแนวไปกว่านั้น กับแบตเตอรีทางเลือกใหม่เลย ซึ่งก็มีความเป็นไปได้มากพอ ๆ กัน 

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยตัวควบคุมสำคัญอย่างระยะเวลา และนอกจากแบตเตอรีแล้ว ถ้าบ้านเรามีการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริง ๆ จัง ๆ ขึ้นมา เราเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีกฏหมายอะไรมารองรับ และเอื้อประโยชน์ในแง่ของค่าใช้จ่ายให้กับเราได้มากกว่านี้ เพราะถ้ามองภาพตามความจริง ตอนนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ใหม่มาก ๆ ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา ถ้าในอนาคตมีเทคโนโลยี รวมถึงทางออกใหม่ ๆ เข้ามา ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าก็สามารถเป็นราคาที่จับต้องได้มากกว่าในตอนนี้อย่างแน่นอน 

 

 

เพราะถ้าตัดเรื่องราคาออกไป นับว่ารถยนต์ไฟฟ้าถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือทั้งตัวเรา ที่จากเดิมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับน้ำมันที่สูงมาก ก็ปรับลดลงเพราะราคาของการชาร์จไฟแต่ละครั้งนั้นถูกมาก ยิ่งถ้าชาร์จตามบ้าน ก็ถูกกว่ากันเหลือ ๆ รวมถึงการออกแบบมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฝุ่น มลภาวะ หรือ PM 2.5 ตัวร้ายให้ลดน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ในตอนนี้มักจะมองข้ามข้อดี เลยไปหาข้อเสียเลย นั่นเลยทำให้รถยนต์ไฟฟ้าถูกมองในด้านลบมากกว่าด้านบวก ไหนจะความเคลือบแคลงใจของทางผู้ขับขี่เอง อาทิ ถ้าขับรถยนต์ไฟฟ้าลุยน้ำ ไฟจะดูดไหม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการทำการบ้านในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าของเรากันล้วน ๆ 

 

ยังไงก็หวังว่าในอนาคตเราคงจะได้เห็นคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึงกันได้มากขึ้น มีจุดชาร์จไฟที่ครอบคลุมทั้งประเทศมากขึ้น รวมถึงศูนย์บริการ มาตรการการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น หรือใครที่มีกำลังทรัพย์พร้อม ติดอยู่ที่ความลังเลก็ไม่ต้องลังเลกันอีกต่อไป เพราะข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้านี้มีเยอะมาก ถ้ามั่นใจแล้วก็ลุย อย่าให้อะไรมารั้งเราไว้อีกเลย

 


 

💭  จริงอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา นับได้ว่าเป็นอะไรที่ใหม่ นั่นเลยส่งผลทำให้ราคาค่าตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรามีราคาเริ่มต้นที่สูงมาก ไหนจะค่าต้นทุน ภาษีนำเข้า ฯลฯ สำหรับใครที่สนใจ แต่อาจจะยังไม่ใช่ตอนนี้ ก็ขอให้ยึดมั่นในความต้องการของตัวเองกันเอาไว้ เพราะยังไงราคารถยนต์ไฟฟ้าก็มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงแน่นอน แต่ต้องทำใจไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้

 

หรือใครที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ หรือเล็งรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาอยู่ในระดับที่พอจะเอื้อมถึง ก็สามารถลุยได้เลย จริงอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะมีความล้ำกว่ารถยนต์ปกติอยู่เยอะ แต่ทว่าเงื่อนไขความจุกจิกของมันมีน้อย ขอแค่ทำความเข้าใจเท่านั้น เราเชื่อว่าทุกคนจะเข้าถึงน้องใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้านี้ได้ไม่ยาก

 

อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : auto.hindustantimes, ackodrive, forbesthailand, tipauto, nissan และประกาศกรมสรรพสามิต

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น