Vivienne Westwood หญิงสาวจากชนชั้นแรงงานสู่ท่านผู้หญิงหัวขบถแห่งวงการแฟชั่น
โดย : waranggg
'ฉันไม่รู้ว่าชนชั้นแรงงานแบบฉันจะทำมาหากินในโลกของศิลปะได้อย่างไร'
- Vivienne Westwood -
ก่อนที่วิเวียน เวสต์วูดจะสร้างแบรนด์มาจนถึงทุกวันนี้ ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีมากมายเหมือนกับคนอื่น จึงทำให้เธอล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน แต่ด้วยพรสวรรค์และความชื่นชอบในงานออกแบบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอจึงตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนศิลปะและการออกแบบเพื่อทำตามความฝัน แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ค้นพบว่าคนที่มาจากชนชั้นแรงงานแบบตัวเอง จะทำมาหากินในโลกของศิลปะได้อย่างไร เลยทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเอาเสียกลางทาง
เธอจึงตัดสินใจเบนเข็มชีวิตมาในทางที่จะสามารถเอาตัวรอดได้ในโลกทุนนิยม โดยการสมัครเข้าเรียนครูและประกอบอาชีพครูระดับชั้นประถมเป็นอาชีพหลัก แต่ถึงอย่างนั้นวิเวียนก็ไม่ละทิ้งสิ่งที่รัก อย่างการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับ แต่เธอเลือกที่จะทำมันเป็นงานอดิเรก และสร้างรายได้จากสิ่งที่รักเป็นงานเสริมแทน จนกระทั่งการได้พบเจอกับ Malcolm McLaren จึงทำให้ชีวิตในโลกของศิลปะและแฟชั่นของวิเวียนดูมีความหวังขึ้นมา
Malcolm McLaren ผู้บุกเบิกเส้นทางในวงการแฟชั่นให้ Vivienne Westwood
ภาพถ่ายมัลคอล์ม แม็คลาเรน (ซ้าย) และ วิเวียน เวสต์วูด (ขวา)
Malcolm McLaren คนนี้คือใครหลายคนอาจจะสงสัย แต่ถ้าหากว่าใครที่อยู่ในแวดวงของดนตรี โดยเฉพาะดนตรีแนวพังก์แล้วล่ะก็ คงไม่มีใครไม่รู้จักชายคนนี้อย่างแน่นอน เพราะ เขาคือตัวพ่อแห่งวงการพังก์ แนวดนตรีที่ถูกตราหน้าว่าเป็นขบถของสังคม ยากที่จะเข้าถึงและเข้าใจ เขาคนนี้คือผู้จัดการวงพังก์ชื่อดังหลายๆ วง และยังเป็นผู้ปั้นวง Sex Pistrols วงดนตรีพังก์ร็อกชื่อดังในยุค 80's และวิเวียนก็ได้รับหน้าที่เป็นสไตลิสต์ให้กับวงนี้อีกด้วย
หลังจากที่วิเวียนได้พบรักใหม่ในครั้งนี้ เธอก็ได้ค้นพบแล้วว่านี่แหละคือวิถีชีวิตในแบบที่โหยหามาตลอด จึงได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู และหันมาเดินทางสายออกแบบและแฟชั่นอยากเต็มตัว ซึ่งในช่วงปี 1960 เป็นยุคของแฟชั่นแนวฮิปปี้ แต่ทั้งมัลคอล์มและวิเวียนคือผู้แหวกขนบแหกกฎ ทลายกรอบของสังคมด้วยแฟชั่นพังก์ จนเรียกได้ว่าเป็น คู่รักทรงอิทธิพลต่อวงการพังก์ เป็นอย่างมาก
403 King's Road สถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางดีไซน์เนอร์ ก่อนจะเข้าวงการแฟชั่นอย่างเต็มตัว
จุดเริ่มต้นงานออกแบบเสื้อผ้าของวิเวียนคือการออกแบบเสื้อผ้าแนว Teddy Boys ให้กับมัลคอล์มได้สวมใส่ก่อน ด้วยความที่ทั้งคู่มีเซนส์แฟชั่นที่ดีมากพอตัว ในปี 1971 ทั้งคู่จึงได้ตัดสินใจเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเองร้านแรกที่มีชื่อ Let it Rock ที่ 403 King's Road ในประเทศอังกฤษ
เสื้อผ้าจากร้าน Let it Rock บนปกอัลบั้ม Golden Hour of Rock n' Roll
ในปี 1972 วิเวียนเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับเสื้อผ้าแนวเดิมๆ ที่เคยทำอยู่ประกอบกับความสนใจในด้านแฟชั่นของวิเวียนได้เปลี่ยนไป เธอเริ่มหันไปสนใจเสื้อผ้าสไตล์เสื้อหนัง และเสื้อผ้าสำหรับ Biker แทน และในท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจรีแบรนด์ใหม่ เปลี่ยนโลโก้ร้านเป็นรูปหัวกะโหลกไขว้ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อร้านเป็น Too Fast to Live, Too Young to Die โดยที่ตั้งของร้านก็ยังคงตั้งอยู่ที่ถนน 403 King's Road เช่นเดิม
ภาพหน้าร้าน Too Fast to Live, Too Young to Die
ด้วยความหลงใหลในการต่อต้านกระแสสังคม ความเป็นหัวขบถแบบสุดโต่ง ทั้งคู่มักจะเสียดสีสังคมผ่านศิลปะและเสื้อผ้าที่พวกเขาออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อยืดที่สกรีนคำหรือสโลแกนในลักษณะยั่วยุทางเพศแบบสุดขั้ว จนถึงขั้นถูกฟ้องร้องภายใต้พระราชบัญญัติสิ่งพิมพ์ลามกอนาจารมาแล้ว แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้หยุดเรียกร้องหรือแสดงจุดยืนทางสังคมเพียงเพราะถูกฟ้อง แต่ยังคงยึดมั่นในจุดยืนอย่างหนักแน่น โดยโต้ตอบกลับด้วยการรีแบรนด์ร้านใหม่อีกครั้งและออกแบบเสื้อผ้าที่แสดงถึงจุดยืนและตัวตนของทั้งคู่อย่างฮาร์ดคอร์ขึ้นเรื่อยๆ
ภาพหน้าร้านและธีมเสื้อผ้าของร้าน SEX
และหนึ่งในคอลเลกชันที่เป็นอีกหนึ่งตำนานของคู่รักสาวกพังก์ นั้นก็คือ ร้าน SEX ที่ถูกรีแบรนด์ใหม่อีกครั้ง (ในที่ตั้งร้านเดิม) ในปี 1974 กับธีมเสื้อผ้าแนวเฟติชที่มีความยั่วยุทางเพศ ซึ่งเป็นแนวแฟชั่นที่ได้รับการต่อต้านเป็นอย่างมากในสังคมผู้ดีเก่าอย่างประเทศอังกฤษ ด้วยวัฒนธรรมการแสดงออกทางเพศที่ยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก จึงทำให้วิเวียนและมัลคอล์มต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างหนัก แต่ตัวแม่ก็ด้อนท์แคร์อยู่แล้ว!
ภาพสมาชิกวง Sex Pistrols
ในระหว่างที่ออกแบบและทำร้านเสื้อผ้าไปด้วยนั้น มัลคอล์มก็ได้หันไปปั้นวงพังก์และพ่วงตำแหน่งผู้จัดการวง Sex Pistrols จนโด่งดังเป็นพลุแตกจากเพลง God Save The Queen จนสามารถ ผลักดันแฟชั่นพังก์ให้เข้าสู่กระแสเมนสตรีมได้สำเร็จ เสื้อผ้าของศิลปินที่ได้รับการออกแบบโดยวิเวียน ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนสร้างชื่อเสียงให้ทุกคนได้รู้จักกับวิเวียน เวสต์วูดในฐานะตัวแม่ของแฟชั่นพังก์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ภาพหน้าร้าน Worlds End ที่ 403 King Road
ในปี 1980 ทั้งคู่ได้ตัดสินใจรีแบรนด์ใหม่อีกครั้งและตั้งชื่อร้านว่า Worlds End เป็นครั้งแรกที่วิเวียนและมัลคอล์มเริ่มพาตัวเองออกจากกรอบของแฟชั่นพังก์ และเริ่มมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ อย่างศิลปะเก่าแก่และประวัติศาสตร์มากขึ้น จนในที่สุดก็ได้เปิดตัว คอลเลกชันแรกที่ชื่อว่า Pirate ด้วยเสื้อผ้าแบบ Ready to Wear ที่มีความเป็นยูนิเซ็กส์ ซึ่งทั้งคู่แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายของโจรสลัด ไม่ว่าจะเป็นหมวกโจรสลัด เสื้อแบบนโปเลียน และรองเท้าบูทข้อสูง นำมาผสมผสานกับแนวนีโอ-โรแมนติก ทำให้เราได้เห็นเสื้อผ้าโจรสลัดที่มีสีสันจัดจ้านและลายกราฟิกที่ดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี
ภาพชุดจากคอลเลกชัน Pirate
คอลเลกชัน Pirate นี้ยังเรียกได้ว่าเป็นคอลเลกชันที่พามัลคอล์มและวิเวียนเข้าสู่วงการแฟชั่นได้อย่างเต็มตัว และยังได้ขึ้นแสดงเสื้อผ้าใน London Fashion Week ปี 1981 ด้วย นับเป็นครั้งแรกที่เสื้อผ้าวิเวียน เวสต์วูด ได้มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ภายใต้การใช้ชื่อแบรนด์ Worlds End และในปัจจุบันก็ยังคงมีจำหน่ายคอลเลกชันภายใต้แบรนด์ Worlds End นี่อยู่ ซึ่งงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนำผลงานเก่าๆ จากคอลเลกชันเดิมมา Remake ใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะนั่นเอง
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา... จุดเปลี่ยนของความรักกับความก้าวหน้าในวงการแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
เส้นทางในวงการแฟชั่นของวิเวียนดูเหมือนจะไปได้สวยงาม แต่ทว่าเส้นทางของความรักระหว่างเธอและมัลคอล์มกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าทั้งคู่ดูเหมือนจะทำงานแฟชั่นเข้าขากันได้เป็นอย่างดี แต่ความจริงแล้ววิเวียนนั้นมักถูกกดขี่จากมัลคอล์มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของการทำงานที่มัลคอล์มมักจะเอาแต่พูดว่า วิเวียนก็แค่ช่างเย็บผ้า ที่มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะมัลคอล์มทั้งนั้น
ไหนจะเรื่องที่ต้องการให้วิเวียนไปทำแท้งขณะที่กำลังตั้งท้องลูกของตัวเอง แต่เธอก็คัดค้านและเลือกที่จะเก็บลูกในท้องไว้ และแก้แค้นด้วยการนำนามสกุลของแม่มัลคอล์มมาตั้งชื่อลูกซะเลย กว่าจะถึงขั้นเลิกราวิเวียนเองก็เป็นฝ่ายยื้อความสัมพันธ์ที่แสนจะ Toxic นี้อยู่หลายครั้ง จนท้ายที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจแยกทางกัน มัลคอล์มเลือกเดินต่อในเส้นทางดนตรี และวิเวียนก็เลือกที่เดินต่อในเส้นทางสายแฟชั่นดังเดิม
ภาพถ่ายวิเวียน เวสต์วูดและ Elio Fiorucci
หลังจากที่เลิกรากับมัลคอม วิเวียนเลือกที่จะเดินทางไปยังอิตาลีและได้มีโอกาสร่วมงานกับ Elio Fiorucci ดีไซน์เนอร์ชาวอิตาลี เจ้าของแบรนด์ Fiorucci และเริ่มออกแบบคอลเลกชันใหม่ พร้อมกับเริ่มสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และช่วงเวลาของ Vivienne Westwood ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ช่วงเวลาหลังจากนี้เรียกได้ว่าเป็น ยุคทองของผู้หญิงที่ชื่อวิเวียน เวสต์วูดอย่างแท้จริง
Vivienne Westwood ยุครุ่งเรืองของดีไซน์เนอร์หัวขบถแต่ไม่ไร้เหตุผล
วิเวียน เวสต์วูดขณะเข้ารับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากควีนอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1992
ช่วงปี 1988 – 1993 นับว่าเป็นยุคทองของวิเวียนเป็นอย่างมาก เธอสามารถคว้ารางวัล Fashion Designer of the Year จาก British Fashion Council ในปี 1990 และ ปี 1991 นับเป็นดีไซน์เนอร์คนแรกของอังกฤษที่คว้ารางวัลนี้ติดกันได้ถึง 2 ปีซ้อน และที่ยิ่งใหญ่ ไปกว่านั้นคือ ในปี 1992 วิเวียน เวสต์วูด ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น OBE (Order of the British Empire) จากควีนอลิซาเบธที่ 2
วิเวียน เวสต์วูดขณะเข้ารับพระราชทานบรรดาศักดิ์
เป็น Dame Vivienne Westwoosd จากควีนอลิซาเบธที่ 2ในปี 2006
ในปี 2006 วิเวียนได้มีโอกาสกลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮมอีกครั้ง เพื่อรับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากอดีตหญิงสาวชนชั้นแรงงานธรรมดาคนหนึ่งขึ้นเป็นดีไซน์เนอร์ผู้มียศถาบรรดาศักดิ๋ เป็น Dame Vivienne Westwoosd หรือ ท่านผู้หญิงวิเวียน เวสต์วูด
ในช่วงยุคทองของแบรนด์ ต้องบอกเลยว่า Vivienne Westwood เป็นแบรนด์ที่สร้างตำนานไว้บนเวทีแฟชั่นโชว์มากมาย ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องความสวยงามของเสื้อผ้าที่เธอออกแบบเท่านั้น แต่วิเวียนก็คือวิเวียน ดีไซน์เนอร์หัวขบถที่ไม่ได้ต่อต้านสังคมเพราะความก้าวร้าว เอาแต่ใจ แต่ต่อต้านเพราะต้องการที่จะ ขับเคลื่อนสังคมโลกให้ดีขึ้น โดยใช้ศิลปะ เสื้อผ้า และแฟชั่นโชว์เป็นพื้นแสดงจุดยืนของตัวเองเสมอมา
คอลเลกชันในตำนานของ Vivienne Westwood
Vivienne Westwood FW 1990-91 - 'Portrait'
ภาพเสื้อ Boucher Corset
คอลเลกชันที่วิเวียนได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลและความชอบส่วนตัวในงานภาพวาด งานเซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ของฝรั่งเศสในช่วงสมัยศตวรรษที่ 19 ที่ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ The Wallace House จุดเด่นของคอลเลกชันนี้คือเสื้อคอร์เซ็ทที่ชื่อว่า Boucher Corset ที่ปรินต์ลายภาพวาดชื่อดัง Daphnis and Chloe ภาพวาดศิลปะแบบ Rococo ของ François Boucher และที่สำคัญคอลเลกชันนี้ยังทำให้สร้อยไข่มุกหรือ Pearl Necklace ของ Vivienne Westwood กลายเป็นเครื่องประดับสุดฮิตแห่งยุคอีกด้วย
Vivienne Westwood FW 1993-94 - "Anglomania"
Naomi Campbell หกล้มบนเวทีขณะเดินแบบด้วยรองเท้า Super Elevated Gillie
คอลเลกชันนี้เป็น การร่วมออกแบบระหว่างวิเวียน เวสต์วูด และ Andreas Konthaler สามีคนปัจจุบันพ่วงตำแหน่งดีไซน์เนอร์คู่หูของวิเวียน จุดเด่นของคอลเลกชันนี้คือการผสมผสานระหว่างการตัดเย็บแบบอังกฤษเข้ากับแฟชั่นสไตล์ฝรั่งเศส วิเวียนยังคงนำคอร์เซ็ทมาประยุกต์กับลุคต่างๆ และลุคที่เป็นตำนานของคอลนี้ต้องยกให้ลุคเสื้อสูท กระโปรงลายตาราง และเฟอร์ขนสัตว์สีม่วง และรองเท้า Super Elevated Gillie รองเท้าส้นสูง 9 นิ้ว ที่แม้แต่ Naomi Campbell นางแบบแถวหน้าของวงการแฟชั่นก็ไม่สามารถทรงตัวบนรองเท้าส้นสูงคู่นี้ได้ จนเดินหกล้มบนเวทีแฟชั่นวีคมาแล้ว
Vivienne Westwood SS 1994 - "Café Society"
ภาพ Kate Moss ที่สวมใส่กระโปรง mini-crini
คอลเลกชันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายของควีนอลิซาเบธที่ 1 ในสมัยวิคตอเรียหรือช่วงศตวรรษที่ 19 ผสานเข้ากับเสื้อ Rococo แบบฝรั่งเศสในผ้า Tulle หลากหลายสีสัน และลุคที่เป็น Iconic ของคอลเลกชันนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือลุคของ Kate Moss ที่เดินกินไอศกรีมในชุดเปลือยท่อนบนและสวมเพียงกระโปรง mini-crini กระโปรงที่มีความยาวเพียงแค่คืบ เห็นความสั้นเพียงแค่นั้นแต่กลับซ้อนเรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง Crinolin หรือกระโปรงสุ่มที่สื่อถึงกรอบการแต่งกายของผู้หญิงที่มีอย่างจำกัด และกระโปรง Miniskirt ที่หมายถึงการปลดปล่อยตัวเองสู่อิสระ
Vivienne Westwood FW 2015-16 - "Unisex : Time to Act"
ภาพเสื้อผ้าจากคอลเลกชัน Time To Act
การดีไซน์และการตัดเย็บชุดของคอลเลกชันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก คนเลี้ยงแกะและชาวซูเมเรียน และคอลเลกชันนี้เรียกได้ว่าเป็นการ ทลายกำแพงของคำว่า For Men และ For Women อย่างแท้จริง ลุคต่างๆ ในคอลเลกชันนี้ล้วนเป็นเสื้อผ้า Unisex ไม่ว่าจะเป็นชุดสูท คอร์เซ็ทเปลือยอก กระโปรงแบบชาวเกาะ หรือเดรสลายดอกไม้ที่สามารถสวมใส่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศสภาพ
Vivienne Westwood นักขับเคลื่อนสังคมตัวยง
ภาพวิเวียน เวสต์วูด ขณะร่วมเดินขบวนรณรงค์
นอกจากการเป็นดีไซน์เนอร์ที่กล้าฉีกทุกขนบของวงการแฟชั่นแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงคือวิเวียนยังเป็นนักรณรงค์และนักกิจกรรมตัวยง อย่างที่เรารู้กันมาตลอดว่าวิเวียนนั้นเป็นหัวขบถมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นเธอก็ยังคงใช้ชื่อเสียงของตัวเองเป็นกระบอกเสียงในทางที่เป็นประโยชน์กับสังคมด้วย ทั้งเรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
ดีไซน์เนอร์และวงการแฟชั่นที่เป็นอุตสาหกรรมหลักทำลายสิ่งแวดล้อม กลายมาเป็นนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนดูเป็นเรื่องย้อนแย้งไม่ใช่น้อย แต่วิเวียนก็ได้ทำให้ประจักษ์ด้วยสายตาของทุกคน ว่าตัวเธอนั้นมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อจะช่วยเซฟโลกอย่างแท้จริง และไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกผ่านทางแฟชั่นตามแบบที่เธอถนัดเท่านั้น แต่ยังมีการไปร่วมเดินขบวนรณรงค์กับกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่เสมอ แถมยังเคยโกนหัวเพื่อเป็นการแสดงออกอย่างเงียบๆ เกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนมาแล้ว นอกจากนี้ยัง วิเวียนยังได้รับตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ และทำโครงการ Save The Arctic รวมกับ GreenPeace อีกด้วย
นอกจากการร่วมรณรงค์ต่างๆ แล้ว วิเวียนยังได้นำแนวคิดการอนุรักษ์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้กับแบรนด์ Vivienne Westwood อย่างจริงจัง เพราะวิเวียนก็เชื่อมั่นว่าเสื้อผ้าที่เธอดีไซน์นั้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เสื้อผ้าของเธอก็ยังหยิบมาใส่ได้อยู่เสมอ นี่จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของแคมเปญ BUY LESS, CHOOSE WELL, MAKE IT LAST แคมเปญจากแบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่บอกให้ทุกคนหยุดซื้อเสื้อผ้า หรืออีกนัยหนึ่งคือการซื้อให้น้อยลง เลือกซื้อเสื้อผ้าที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน สมแล้วที่เหมาะกับฉายาหัวขบถแห่งวงการแฟชั่นของจริง!
ถึงแม้ว่า Vivienne Westwood จะเลิกผลิตเสื้อผ้าไม่ได้ แต่แบรนด์เลือกที่จะพิถีพิถันมากขึ้นกับการเลือกใช้วัสดุที่นำมาใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยการคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เลือกใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด หรือแม้กระทั่งการนำวัสดุต่างๆ มารีไซเคิล เช่น โพลีเอสเตอร์รีไซเคิล, กระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลแทนการใช้หนังแท้ ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะถึงจัดอยู่ในแคมเปญ BUY LESS, CHOOSE WELL, MAKE IT LAST และถูกเรียกว่า สินค้า Heart Tags เป็นเหมือนสินค้าที่ให้ความรักและเอาใจใส่กับโลกมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากสินค้าต่างๆ ที่ผ่านการเลือกสรรวัสดุที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว แม้แต่แพ็กเกจอย่างกล่องสำหรับใส่กระเป๋า เครื่องประดับ และถุงสำหรับใส่เสื้อผ้า ก็ยังเลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิลด้วยเช่นกัน และยังสนับสนุนช่างฝีมือ แบรนด์เล็กๆ รวมไปถึงการนำผ้าพื้นเมืองท้องถิ่นมาใช้ด้วย เช่น การนำผ้า Harris Tweed ผ้าพื้นเมืองของสกอตแลนด์มาเป็นวัสดุในการตัดเย็บเสื้อผ้า และกระเป๋าในหลายๆ คอลเลกชันอีกด้วย
ต้องยอมรับเลยจริงๆ ว่า วิเวียน เวสต์วูด น่าจะเป็นดีไซน์เนอร์คนแรกๆ ในวงการแฟชั่นที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ตั้งใจและมุ่งมั่น และเธอก็ยังคงทำมันอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต วิเวียนก็ยังคงเขียนบล็อกแสดงทัศนะเกี่ยวกับข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านเว็บไซต์ของเธอที่ชื่อว่า No man's Land และเป็นบทความสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 29 ธ.ค. 2022 ที่ผ่านมา
สุดท้ายนี้เราต้องขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของดีไซน์เนอร์สุดเจ๋งอีกหนึ่งคนของโลก เรื่องราวและผลงานต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตของเธอ ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ทั้งหมดแล้วว่า ผู้หญิงที่ชื่อว่า 'Vivienne Westwood' ควรค่าแก่คำว่าวีรสตรีแห่งวงการแฟชั่นอย่างแท้จริง ❤️
💖 บทความที่เกี่ยวข้อง
- Vivienne Westwood Orb จากไอเดียสุดล้ำสู่อัตลักษณ์และจิตวิญญาณของแบรนด์
- เรื่องมุกๆ ของ Vivienne Westwood จิวเวลรี่ที่ครองใจตัวแม่สายแฟตลอดกาล
- Vivienne Westwood ชุดแต่งงานของเจ้าแม่แฟชั่นพังก์ ฉีกทุกกฏของชุดเจ้าสาว !
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : viviennewestwood.com, nssgclub.com, irishmirror.ie, Satayai
โดย waranggg
thaitealism