จากโรคลมพิษ สู่ลมพิษเรื้อรัง ! ขั้นกว่าของ 'ความคัน' ที่กวนใจใครหลายคน
โดย : wacheese

คันผิวไม่รู้เป็นอะไร เอาคาลาไมน์มาทาก็ไม่หาย
คันจริง! คันอยู่ข้างใน คันผิวทีไรขนลุกทุกที
'ลมพิษ' ที่มาพร้อมอาการคันและผื่นนูนแดงที่เป็น ๆ หาย ๆ แถมยิ่งเกา ยิ่งมัน(ส์) ยิ่งคัน ก็ยิ่งลุกลามไปกันใหญ่ บางครั้งผื่นคันกวนใจก็ดันกำเริบกลางดึก ทำเอาไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะต้องลุกมาทาคาลาไมน์กับอัดยาแก้แพ้ กว่าอาการคันจะบรรเทาก็ใกล้สว่าง แล้วช่วงหลังมานี้เจ้าลมพิษแวะเวียนมาหาบ่อยมาก จะอดทนไม่เกาก็ห้ามใจไม่ได้ แถมสร้างความโมโห ความน่ารำคาญ บวกกับทำให้นอนไม่เต็มอิ่ม พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ผลเสียคงจะถามหา ถ้าโชคร้ายอาจพัฒนาเป็นโรคลมพิษเรื้อรัง แค่นึกก็กลัวจะแย่แล้ว 😢
รู้จัก 'โรคลมพิษ' สัญญาณอันตรายจากผื่นนูนแดง กับความคันที่หยุดเกาไม่ได้
โรคลมพิษ (Urticaria, Hives) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มีลักษณะเป็นผื่นคันและรอยนูนแดงทั่วร่างกาย กระจายไปตามผิวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างรวดเร็ว และมักมีอาการคัน หรือแสบร่วมด้วย แต่ลมพิษทั่วไปจะเกิดขึ้นสักพักแล้วหายภายใน 24 ชม.
แต่รู้หรือไม่ว่า ? ลมพิษมีหลายประเภท และมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคร้ายนี้ด้วย อย่างนั้นรีบมาเช็กกันก่อนที่ปื้นแดงคันคะเยอนี้จะลุกลาม และขยายวงกว้างกว่าเดิม เริ่ม !
รู้จักชนิดของ 'โรคลมพิษ'
🚨 ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) เกิดจากการแพ้อาหาร ยา หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย โดยจะมีผื่นขึ้นติดต่อกัน แต่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ มักพบบ่อยในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
🚨 ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) อาจเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของร่างกายโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด และมีผื่นขึ้นติดต่อกันนานกว่า 6 สัปดาห์
🚨 ลมพิษขึ้นตามรอยขีดข่วน (Dermographism) เกิดขึ้นกับผู้ที่ผิวหนังเกิดปฏิกิริยาไวต่อรอยขีดข่วน มีลักษณะเป็นรอยนูนบริเวณที่เกิดแรงขีดข่วนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และจะมีอาการคันร่วมด้วย แถมยิ่งเกา ก็ยิ่งคัน ยิ่งเป็นรอยนูนเพิ่ม
🚨 ลมพิษจากความเย็น (Cold Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดเมื่อผิวสัมผัสกับน้ำเย็นหรืออากาศเย็น
🚨 ลมพิษจากการกดทับ (Delayed Pressure Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดขึ้นเมื่อผิวถูกกดทับเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสะโพกเมื่อนั่งนาน ๆ หรือบริเวณเท้าเมื่อยืนหรือเดินเป็นเวลานาน อาการจะไม่คันมาก แต่จะมีอาการบวม ปวดเมื่อย และเป็นไข้
🚨 ลมพิษจากการสัมผัส (Contact Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดจากผิวหนังไปสัมผัสกับสารบางชนิด โดยสารส่งผลต่อหลอดเลือดในชั้นหนังแท้ ทำให้เซลล์ผิวหนังทำการหลั่งสารสื่อกลางออกมา และเกิดเป็นลมพิษขึ้นมา
🚨 ลมพิษจากแสงแดด (Solar Urticaria) จะเกิดขึ้นบนผิวหนังทันที หรือภายใน 1 ชม. หลังจากที่ผิวสัมผัสกับแสงแดด พบมากในผู้หญิงที่มีอายุไม่มาก
🚨 ลมพิษเกิดจากความร้อน (Heat Urticaria) เป็นลมพิษที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เช่น เวลาที่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีรสชาติเผ็ด สัมผัสกับความร้อน โดยจะเกิดเป็นตุ่มนูนและรอยแดงขึ้นมา
เช็ก! ปัจจัยที่ทำให้เกิด 'โรคลมพิษ'
⚠️ อาหาร
- อาหารทะเล ไข่ ถั่ว นม
- สารปรุงแต่งอาหารหรือขนม โดยเฉพาะ 'สีผสมอาหาร' สีเหลืองและสีเขียว ที่มักใช้สีประเภท Tartrazine ที่อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดลมพิษ
- ผักและผลไม้บางชนิดที่มีสารประเภท Salicylate ซึ่งเป็นตัวก่อให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน เช่น แอปเปิ้ล แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะนาว พริกไทย ส้ม
- ยีสต์ เช่น ขนมปัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
⚠️ ยา ยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะกลุ่ม Penicillin ยาแก้ปวด ยานอนหลับ วิตามินบางชนิด รวมถึงสารทึบแสงที่ใช้สำหรับการเอกซเรย์
⚠️ ความเครียด วิตกกังวล หรืออารมณ์แปรปรวนอื่น ๆ อาจเป็นสาเหตุของลมพิษ และนำไปสู่การเป็น 'โรคลมพิษเรื้อรัง' ได้อีกด้วย
⚠️ สภาพอากาศ ทั้งแสงแดด ความเย็น และสารในอากาศ เช่น ฝุ่น เชื้อรา เกสรดอกไม้ ขนสัตว์
⚠️ โรคติดเชื้อต่าง ๆ จากพยาธิในลำไส้ เชื้อบิด เชื้อราในช่องคลอด ฟันผุ รวมถึงโรคร่วมอื่น ๆ อย่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ไขข้อสงสัย 'โรคลมพิษ' รักษาได้ไหม ?
โรคลมพิษสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการรับประทาน 'ยาต้านฮิสตามีน' หรือที่เรารู้จักกันในชื่อยาแก้แพ้นั่นเอง โดยจะมีทั้งยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วงนอน เช่น Hydroxyzine, Diphenhydramine และยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วงนอน เช่น Loratadine, Cetirizine นอกจากนี้อาจใช้ยาทาแก้คันอย่าง 'คาลาไมน์' ควบคู่กันไปด้วย แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการหาสาเหตุและรักษาต่อไป
เพราะหากปล่อยไว้นานอาจเกิด ภาวะแทรกซ้อนของการบวมของเนื้อเยื่อในชั้นลึกของผิว (Angioedema) และเป็นภูมิแพ้รุนแรงแบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรต่ำ และส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ 😨
ด้วย 'โรคลมพิษ' เกิดจากสิ่งกระตุ้นหลากหลายปัจจัย ทั้งอาหาร ยา สภาพอากาศ และอื่น ๆ ที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน แต่หากเป็นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการลมพิษเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กร่างกายโดยละเอียด อาจตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือตรวจสารเคมีในเลือด รวมถึง การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นการทดสอบโดยหยดน้ำยาลงบนผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลัง เพื่อตรวจหาว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง และยังสามารถวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ การแพ้ยา การแพ้อาหาร รวมถึงภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคลมพิษด้วย
👉🏼 บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคแปลกใกล้ตัว! อาการตึกเป็นพิษ หรือ Sick Building Syndrome คลิก
- ส่อง " 3 พฤติกรรมแก้เครียดที่ดูเหมือนธรรมดา " แต่รู้หรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวช ! คลิก
อ้างอิง: doctorraksa, phyathai, siphhospital
โดย wacheese
[email protected] :)










บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ