เช็ก! เอกสารขอรับ เงินสงเคราะห์บุตร พร้อมวิธีการยื่นคำขอแบบออนไลน์ และออฟไลน์

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer8 มี.ค. 2566 avatar writer57.0 K
เช็ก! เอกสารขอรับ เงินสงเคราะห์บุตร พร้อมวิธีการยื่นคำขอแบบออนไลน์ และออฟไลน์

 

👶🏻

พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้! กับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน "เงินสงเคราะห์บุตร" สำหรับผู้ที่มีบุตรอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปี สามารถยื่นคำขอได้ทั้งพ่อและแม่ โดยจะได้รับเงินเงินสงเคราะห์เดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน 

 


 

สิทธิประกันสังคม

 

| การยื่นคำขอรับ เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท |

 

เงินสงเคราะห์บุตร คือ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน โดยสามารถยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตร ตั้งแต่บุตรอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน  และยื่นคำขอได้ทุกเมื่อ เพราะเป็นสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่ผู้ประกันตกสามารถยื่นขอได้

 

" สิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย
เดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน "

 

โดยสามารถยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่กรุงเทพมหานคร / จังหวัด / สาขา ⚠️ ยกเว้นสำนักงานใหญ่ บริเวณกระทรวงสาธารณสุข สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือ 📞 โทร 1506 เปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

| หลักเกณฑ์และเงื่อนไข เงินสงเคราะห์บุตร

 

1. ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39

 

2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน

 

3. ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 🚫 ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น

 

4. อายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

 

" หากบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์, บุตรเสียชีวิต, ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
รวมถึงความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ❌ จะหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร "

 


 

สงเคราะห์บุตร

 

| เอกสารประกอบ การขอเงินสงเคราะห์บุตร

 

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01) คลิก

 

2. กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้วและประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ

 

👶🏻 กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ

  • สำเนาสูติบัตรบุตร จำนวน 1 ชุด
  • กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย

 

เงินสงเคราะห์บุตร

 

👶🏻 กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ

  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่า พร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตน หรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝด ให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย จำนวน 1 ชุด)

 

3. กรณีเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด

 

4. กรณีผู้ประกันตนต่างชาติ ขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือพาสปอร์ต หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราว หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1 ชุด

 

5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อ และเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน

  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารกรุงเทพ
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารทหารไทย
  • ธนาคารธนชาต
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

 

" ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม ได้สนับสนุนให้ผู้ประกันตนรับเงินสงเคราะห์บุตร
ผ่านบริการพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่ผูกกับบัญชีเงินฝากไว้ "

 

โดยไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคาร กับสำนักงานประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทน สำหรับผู้ที่ต้องการแจ้งเปลี่ยนวิธีรับเงินผ่านพร้อมเพย์ สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา

 

6. เอกสารประกอบการยื่นคำขอที่เป็นสำเนา ให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศ ให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย และรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

 


 

| ขั้นตอน การขอเงินสงเคราะห์บุตร

 

1. ผู้ประกันตนต้องกรอก แบบฟอร์ม สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ และนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่กรุงเทพมหานคร / จังหวัด / สาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกัน สามารถใช้แบบคำขอชุดเดียวกันได้

 

นอกจากนี้ผู้ประกันตน ยังสามารถลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร ผ่านช่องทาง e-Self Service ของเว็บไซต์ประกันสังคมได้ง่าย ๆ เพียง 6 ขั้นตอนเท่านั้น

  • เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม
  • กด "เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน"
  • เลือกระบบ "e-Self Service"
  • เลือก "ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม"
  • เลือก "สงเคราะห์บุตร"
  • กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วอัปโหลดเอกสารได้เลย

 

ประกันสังคม

 

2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ

 

3. สำนักงานประกันสังคม มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา

 

4. พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือน โดยจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน โดยปกติเงินจะเข้าทุกสิ้นเดือน แต่หากวันสิ้นเดือนตรงกับเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเลื่อนมาจ่ายในวันศุกร์ก่อนวันสิ้นเดือนแทน

 

" ผู้ประกันตนจะได้รับเงินเข้าบัญชี หลังได้รับสิทธิผ่านไปแล้ว 3 เดือน "

 


 

แอปพลิเคชัน SSO Connect

 

| ช่องทางตรวจสอบ การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร

 

ผู้ประกันตน สามารถเช็กการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางแอปพลิเคชัน SSO Connect และเว็บไซต์ของประกันสังคม รวมถึงแอปพลิเคชันธนาคารที่ใช้ยื่นรับสิทธิ

 

1. เว็บไซต์ประกันสังคม

  • ล็อกอินเข้าสู่ระบบสมาชิก
  • จากนั้นไปที่เมนู "การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน"
  • จะพบหน้าจอแสดงรายการ การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร

 

2. แอปพลิเคชัน SSO Connect

  • เข้าสู่ระบบประกันสังคม
  • ไปที่เมนู "เบิกสิทธิประโยชน์"
  • หน้าจอจะแสดงรายการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร

 

📱 ดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน SSO Connect

 

3. แอปพลิเคชันธนาคาร

  • เช็กเงินเข้าจากแอปพลิเคชันธนาคารที่แจ้งไว้ เมื่อเงินสงเคราะห์บุตรเข้าก็จะได้รับแจ้งเตือนทันที

 


 

กองทุนประกันสังคม

 

| ดาวน์โหลด แบบฟอร์ม เงินสงเคราะห์บุตร

 

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส.2-01) คลิก

 

2. หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม กรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน (กรณีสงเคราะห์บุตร) คลิก

 

3. หนังสือรับรองของบุคคล ซึ่งอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับผู้ประกันตนโดยเปิดเผย กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย (เฉพาะกรณีสงเคราะห์บุตร) คลิก

 

4. หนังสือรับรองแสดงการมีชีวิตอยู่ของบุตรผู้ประกันตน ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร คลิก

 

🔗 ข้อมูลอ้างอิง สำนักงานประกันสังคม

แสดงความคิดเห็น