คู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ฝ่ายชายมีสิทธิ์ในตัวบุตรไหม
โดย : น้องหลุมดำ
สิทธิการเลี้ยงดูลูกจะอยู่ที่ใคร
เมื่อพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
ใครที่มีครอบครัวควรรู้ไว้!
จากกรณีข่าวของ “ไมค์ พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล” และ “ซาร่า คาซิงกินี” ที่เป็นข่าวในกระแสตอนนี้ เรียกว่าใครหลาย ๆ คนกำลังเถียงกันหนักมากกก ร้อนแรงกระทู้เดือสุด ๆ ประเด็นนี้เกิดจาก “ไมค์” ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขออำนาจปกครองบุตรร่วมกับ “ซาร่า” เพราะช่วงหลังมานี้ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเมื่ออยู่กับพ่อ บวกกับที่มีข่าวหลุดว่าฝ่ายหญิงนั้นอาจะมีชายคนใหม่ และเริ่มกันไม่ให้ “น้องแม็กซ์เวลล์” มาพบไมค์ ในที่นี้หลายคนน่าจะมีคำถามเรื่องนี้กันพสมควร ว่าทำไมลูกถึงอยู่กับแม่ แล้วพ่อล่ะ? วันนี้ปันโปรขอแชร์กฎหมายสิทธิการเลี้ยงดูบุตรที่เราควรรู้ค่ะ
พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกจะอยู่กับใคร
กรณีที่พ่อแม่แยกทางกัน สิทธิการเลี้ยงดูบุตรจะอยู่ที่ใครกัน? มันจะแบ่งเป็น 2 กรณีค่ะ คือ พ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรส กับพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
พ่อแม่ที่จดทะเบียนสมรส
ในกรณีที่พ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน หากพ่อแม่จะแยกทางกัน ก็ให้ตกลงกันเอง เช่น จ-ศ อยู่กับแม่ ส-อา อยู่กับพ่อ หรือถ้ามีลูก 2 คน ก็แบ่งกันเลี้ยงไปเลย แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ต้องไปฟ้องให้ศาลตัดสิน ถ้าอยากชนะ ก็ให้หาทนายเก่ง ๆ ไปสู้คดีโล้ดดด
พ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกเป็นของใคร?
กฎหมายที่นำมาบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการดูแลบุตรได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้ สิทธิของมารดา กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 1546 ว่า
“เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น หมายความว่า ในกรณีที่หญิงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชายแต่เกิดตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกมา เด็กที่เกิดนี้ถือว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ถือเป็นหลักที่ว่าบุตรเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม”
สรุป : คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เมื่อแยกทางกัน ลูกจะตกเป็นสิทธิแก่ฝ่ายแม่เพียงคนเดียว
การจะทำให้เด็กที่เกิดนอกสมรส กลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพ่อนั้น ตามมาตรา 1547 กำหนดว่า
“เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้สมรสกันในภายหลัง หรือผู้เป็นพ่อได้จดทะเบียนว่าเป็นลูก หรือศาลพิพากษาว่าเป็นลูกของตน หมายความว่า เด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้สมรสกับพ่อนั้นให้ถือว่า เป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นแม่แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แม้พ่อจะมาอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับแม่โดยเปิดเผยก็ไม่ถือว่าเป็นพ่อโดยชอบด้วยกฎหมาย”
สรุป : พ่อจะมีสิทธิเลี้ยงดูลูกได้ มี 3 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ไปจดทะเบียนรับรองบุตร (การที่บิดาไปแจ้งเกิดมีชื่อเป็นพ่อในใบเกิด อันนั้นไม่ใช่การจดทะเบียนรับรองบุตร) การจดทะเบียนรับรองบุตร จะต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ โดยความยินยอมของแม่ และลูก แต่ถ้าลูกยังเล็กเกินจะตัดสินใจได้ ศาลจะเป็นคนตัดสิน โดยดูว่าลูกจะได้รับประโยชน์สูงสุดหรือเปล่าค่ะ
กรณีที่ 2 พ่อแม่สมรสกันในภายหลัง เช่น ลูกเกิดมาก่อนแล้วค่อยก็ไปจดทะเบียนสมรสกัน แบบนี้พ่อจะมีสิทธิเลี้ยงดูลูก
กรณีที่ 3 เมื่อมีคำพิพากษาของศาลในทำนองที่ให้มีสิทธิเลี้ยงดูลูก ซึ่งพ่อก็อาจจะไปฟ้องศาลเพื่อขอให้ตนมีสิทธิเลี้ยงดูบุตรได้
จากกรณีข่าวดัง “ไมค์” กับ “ซาร่า” ไม่ได้จดทะเบียนกัน และซาร่าได้ชี้แจงกับสื่อว่า “ไมค์ไม่สมควรเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไมค์ยังก็จ่ายค่าเลี้ยงดูต่าง ๆ ลูกมากว่า 6 ปี ดังนั้นตามข่าว ไมค์จะอยู่ในกรณีที่ 3 คือ “ไปฟ้องศาลเพื่อขอให้ตนมีสิทธิเลี้ยงดูบุตรได้” นั่นเองค่ะ
เมื่อแม่อยากฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ทำยังไงดี เลี้ยงลูกคนเดียว สามีไม่ช่วยส่งเสียอะไรเลย ภาระตกที่ผู้หญิงเต็ม ๆ
แต่! ปัญหาคือเราไม่ได้จดทะเบียนสมรส ฟ้องได้ไหม?
ในกรณีที่แม่เป็น แม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นแม่ที่ได้สิทธิในเลี้ยงดูบุตรโดยชอบธรรม ถ้าต้องการฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากผู้เป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ ในกรณีนี้ ฝั่งพ่อจะต้องเป็น “บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย” คือ ต้องมีการจดทะเบียนสมรส หรือมีการเซ็นรับรองบุตรก่อน ซึ่งถ้าบิดาหรือมารดาไม่อนุญาติให้จดทะเบียน ก็ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลค่ะ และเมื่อเซ็นรับรองบุตรกันเสร็จเรียบร้อย แม่สามารถเรียกค่าอุปการะบุตรได้ทันที ถ้าฝั่งพ่อไม่ยอมจ่าย ก็ให้ไปขอคำบังคับคดีจากศาล ให้มาอายัดเงินเดือนหรือทรัพย์สินของพ่อมาจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรได้เลย
ค่าเลี้ยงดูบุตร คิดยังไง?
พ่อแม่บางท่านที่หย่ากันแล้ว อาจจะคิดเรื่องค่าเลี้ยงดูอยู่ว่า เดือน ๆ หนึ่งเราเรียกเงินจากอีกฝ่ายได้มากเท่าไรกันแน่? ตรงนี้ตามกฎหมายมาตรา 1522 ได้เขียนว่า
"ถ้าสามีภริยาหย่าโดยความยินยอม ให้ทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด
ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ให้ศาลเป็นผู้กำหนด"
สรุป : เมื่อหย่ากัน พ่อแม่ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายลูกเองได้เลย แต่ถ้าตอนหย่าไม่ได้เขียนในบันทึกเรื่องค่าเลี้ยงดูลูก หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ ศาลจะกำหนดให้ โดยดูพิจารณาจากความสามรถทางการเงินของทั้งสองฝ่ายค่ะ (อิงข้อมูลจาก lawphin)
👦🏻 สรุปปมปัญหาเรื่องสิทธิ์ในตัวบุตร 👶🏻
- หากพ่อต้องการมีสิทธิ์ในตัวลูก กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ควรจดทะเบียนรับรองบุตรค่ะ เพราะถ้าไม่ทำ ลูกจะตกเป็นของแม่แต่เพียงผู้เดียว พ่อไม่มีสิทธิ์ในตัวลูก
- การที่ลูกมีพ่อที่ชอบด้วยกฎหมาย คือข้อดี เพราะอนาคตเมื่อมาพูดถึงเรื่องพินัยกรรม หรือมรดก เด็กที่พ่อไม่ได้รับรองบุตรจะกลายเป็นลูกนอกสมรส และจะกลายเป็นปัญหายุ่งยากในชั้นศาล
โดย น้องหลุมดำ
I'm coming when food's coming
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ