ธรรมศาสตร์เปิดโครงการใหม่ เรียนต่อมหาวิทยาลัย ยังไม่ต้องเลือกคณะ
โดย : MilD
Thammasat Frontier School
ม.ธรรมศาสตร์ เปิดโครงการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี แบบไม่สังกัดหลักสูตร
เรียนวิชาศึกษาทั่วไปและพื้นฐานก่อน ค่อยเลือกหลักสูตรที่จะเรียนภายหลัง
Highlight ของโครงการ Thammasat Frontier School
- ถือเป็นโครงการแรกของประเทศที่ให้นักเรียนหรือผู้ที่กำลังจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้ลองเข้ามาเรียนในช่วงแรกโดยที่ยังไม่ต้องเลือกคณะหรือหลักสูตรที่จะเรียน เพื่อที่จะทำให้สามารถค้นพบตัวเองให้เจอ และก่อให้เกิดสมรรถนะแห่งอนาคต (Future Competency) กับตัวนักศึกษาเอง
- เริ่มต้นด้วยการเรียนวิชาศึกษาทั่วไปและพื้นฐานของมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ จากนั้นก็ต้องเลือกหลักสูตรที่จะเรียนจาก 9 คณะ (11 หลักสูตร) ในภาคเรียนที่ 3 เพื่อเริ่มเรียนตามหลักสูตรที่เลือก ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 4 เป็นต้นไป
- ในช่วงแรกจะเปิดรับทั้งหมด 120 คน แบ่งเป็นการรับสมัครผ่าน TCAS รอบที่ 3 และ 4 อย่างละ 60 คน
ที่มาของโครงการ Thammasat Frontier School
ช่วงที่กำลังจะก้าวผ่านจากระดับมัธยมศึกษา ไปสู่ระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กคนนึงที่กำลังจะโตกลายเป็นผู้ใหญ่ และเลือกว่าในอนาคตจะประกอบอาชีพอะไรก็ต้องเลือกเรียนตามสิ่งที่วาดฝันเอาไว้ บางคนอาจจะฝันว่าอยากเป็นวิศวกร ก็เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือโตขึ้นหนูอยากจะเป็นหมอค่ะ ก็มุ่งตรงไปที่คณะแพทยศาสตร์ได้เลย แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่กำลังยังงงกับตัวเองอยู่ว่าเราจะเรียนคณะอะไรดีล่ะ โน่นก็ชอบ นี่ก็ชอบเหมือนกัน ยังตัดสินใจกับตัวเองไม่ได้ ถ้าคุณเป็นคนนึงที่ยังไม่รู้ว่าจะไปต่อทางไหนดี ต้องศึกษาโครงการใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "Thammasat Frontier School" เลยจ้า เรียกว่าตอบโจทย์มากๆ
โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้กับนักเรียนหรือคนที่สนใจจะเข้าเรียนต่อที่ยังไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเรียนคณะใด ให้มาลองเรียนดูก่อนเพื่อจะได้ค้นหาตัวเองให้เจอ สามารถออกแบบการเรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายของชีวิตได้ โครงการนี้จะทำให้สมรรถนะแห่งอนาคต หรือ Future Competency จะได้เรียนตามศักยภาพและความถนัดที่มี ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เห็นชอบโครงการนี้แล้ว ลงวันที่ 29 ต.ค. 61
ถ้าหากเปรียบเทียบกระบวนการเรียนระหว่าง 'โครงการปกติ' กับ 'โครงการไม่สังกัดหลักสูตร' จะพบว่าวิชาศึกษาทั่วไปที่เรียนจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก แต่จะแตกต่างกันในส่วนของวิชาพื้นฐาน เพราะหลักสูตรปกติจะเรียนวิชาพื้นฐานของคณะตัวเองเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าเลือกเรียนบริหารธุรกิจบัณฑิต ก็จะเรียน AC201, FN201, MK201 ประมาณนี้ ไม่ได้เรียนวิชาของคณะอื่น แต่ถ้าเราอยู่ในโครงการ Thammasat Frontier School สามารถเลือกเรียนของคณะไหนก็ได้ เหมือนเป็นการทดลองว่าสิ่งไหนที่ใช่กับตัวเอง แต่ก็ต้องตั้งใจเรียนด้วยนะ เพราะว่าเกรดของทุกวิชาที่เรียนก็จะถูกนำมาคำนวณเกรดเฉลี่ยสะสมด้วยนะ
Timeline ของโครงการนี้เป็นยังไง?
- ภาคเรียนที่ 1-3 : จะเลือกเรียนเฉพาะวิชาศึกษาทั่วไป (เช่น TU100, TU120) และวิชาพื้นฐานที่แต่ละหลักสูตรกำหนด โดยจะมีระบบช่วยมาออกแบบการเรียน ควบคู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ เช่น ถ้าจะเลือกเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต เอกการเงิน จะต้องเรียนวิชา FN201 ให้ได้เกรด B ขึ้นไป แต่จะเรียนวิชา FN201 ได้ ก็ต้องผ่านวิชา AC201 ให้ได้เกรด C ขึ้นไปก่อนด้วย แสดงว่าจะต้องเรียนทั้ง AC201 และ FN201 นั่นเอง
- เมื่อเข้าสู่ช่วงภาคเรียนที่ 3 ก็จะต้องเลือกหลักสูตรที่จะเรียนแล้ว โดยจะใช้เกรดของวิชาใน 2 ภาคเรียนแรก ซึ่งในแต่ละหลักสูตรจะมีกำหนดโควต้ารับได้สูงสุดไว้ ถ้าหากมีคนเลือกเรียนมากกว่าที่กำหนดก็จะเลือกลำดับเรียงตามเกรดเฉลี่ยสะสม 2 ภาคเรียนแรก
- ภาคเรียนที่ 4-8 : แต่ละคนก็จะแยกย้ายกันไปเรียนตามหลักสูตรที่เลือกเรียนเอาไว้นั่นเอง
"11 หลักสูตร" เลือกเรียนได้เองตามความชอบ
หลังจากที่เราได้ศึกษาวิชาศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานของแต่ละคณะที่เราอยากเรียนแล้ว ก็จะต้องทำการเลือกว่าอยากเรียนคณะอะไร หลักสูตรอะไร เพื่อจะได้เรียนวิชาเฉพาะจนจบหลักสูตรที่ได้เลือกเอาไว้ ซึ่งสามารถเลือกได้จากทั้งหมด 9 คณะ 11 หลักสูตร จะต้องเลือกเพียงอันเดียวเท่านั้นนะ จะหลายใจเลือกหลายอันไม่ได้แล้ว เพราะเรียนมาเกือบจะ 2 ปี ก็ต้องรู้แล้วว่าตัวเองอยากจะมุ่งไปในทางไหน ซึ่งจะมีหลักสูตรทั้งหมดให้เลือกตามนี้เล้ยยย~
- คณะนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- คณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
- คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต
- คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ
- คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา
- คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต
- คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้
- วิทยาลัยสหวิทยาการ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โครงการพิเศษ
- คณะสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสร้างเสริมสุขภาพเชิงนวัตกรรม
ค่าธรรมเนียมการศึกษา ไม่แตกต่างจากโครงการปกติ
- ในช่วงภาคเรียนที่ 1-3 ซึ่งเรียนวิชาศึกษาทั่วไปหรือวิชาพื้นฐาน จะเสียค่าธรรมเนียมแบบเหมาในอัตรา 13,000.- ต่อภาคการศึกษาเท่ากันหมดทุกคน
- เมื่อเลือกหลักสูตรที่จะเรียนแล้ว ช่วงภาคเรียนที่ 4-8 จะเสียค่าธรรมเนียมการศึกษาตามหลักสูตรที่เลือก เริ่มต้น 13,000.- จนถึง 50,000.- ต่อภาคการศึกษา แล้วแต่ละคณะต้องจ่ายเท่าไหร่?
- คณะนิติศาสตร์ = 13,800.-/ภาคเรียน
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี = 14.200.-/ภาคเรียน
- คณะรัฐศาสตร์ = 13,000.-/ภาคเรียน
- คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ = 13,800.-/ภาคเรียน
- คณะศิลปศาสตร์ = 15,300.-/ภาคเรียน
- คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน = 14,800.-/ภาคเรียน
- คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ = 15,000.-/ภาคเรียน
- วิทยาลัยสหวิทยาการ : ภาคเรียนที่ 1 = 50,000.- / ภาคเรียนที่ 2 = 31,000.-
- คณะสาธารณสุขศาสตร์ = 16,500.-/ภาคเรียน
วิธีการสมัครเข้าเรียนโครงการ ผ่าน TCAS รอบที่ 3 และ 4
1) สมัครผ่านระบบ TCAS รอบที่ 3 (จำนวน 60 คน) รับสมัครและชำระเงินวันที่ 17-27 เม.ย. 63 โดยจะเลือกรับจากรูปแบบที่ 1 จำนวน 30 คน และรูปแบบที่ 2 อีก 30 คน ประกอบด้วย
- GPAX ขั้นต่ำ 2.75 ขึ้นไป
- O-NET รวม 5 วิชา คะแนนขั้นต่ำ 30%
- GAT คะแนนขั้นต่ำ 30%
- วิชาสามัญภาษาไทย
- รูปแบบที่ 1 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 25%
- รูปแบบที่ 2 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 15% - วิชาสามัญสังคมศึกษา
- รูปแบบที่ 1 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 25%
- รูปแบบที่ 2 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 15% - วิชาสามัญภาษาอังกฤษ
- รูปแบบที่ 1 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 30%
- รูปแบบที่ 2 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 15% - วิชาสามัญคณิต
- รูปแบบที่ 1 ใช้วิชาสามัญคณิต 2 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 20%
- รูปแบบที่ 2 ใช้วิชาสามัญคณิต 1 คะแนนขั้นต่ำ 30% สัดส่วน 40%
2) สมัครผ่านระบบ TCAS รอบที่ 4 (จำนวน 60 คน) รับสมัครและชำระเงินวันที่ 7-20 พ.ค. 63 โดยจะเลือกรับจากรูปแบบที่ 1 จำนวน 30 คน และรูปแบบที่ 2+3 อย่างละ 15 คน ประกอบด้วย
- GPAX ค่าน้ำหนัก 20%
- O-NET ค่าน้ำหนัก 30%
- GAT ค่าน้ำหนักแต่ละรูปแบบจะไม่เท่ากัน รูปแบบที่ 1,3 ใช้ค่าน้ำหนัก 30% ส่วนรูปแบบที่ 2 ใช้ค่าน้ำหนัก 50%
- PAT 1 เฉพาะรูปแบบที่ 1 ใช้ค่าน้ำหนัก 20%
- PAT 7 เลือก 1 วิชา (ยกเว้นภาษาบาลี) เฉพาะรูปแบบที่ 3 ใช้ค่าน้ำหนัก 20%
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.tuadmissions.in.th/img/2020012114581538.pdf
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3