มนุษย์เงินเดือนต้องรู้! ยื่นภาษีไม่ทัน-จ่ายภาษีไม่ครบ ต้องเจอกับอะไรบ้าง ?
โดย : waranggg
โดยปกติกรมสรรพากรจะกำหนดให้ยื่นภาษีเงินได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี แต่ในบางปีจะมีการขยายระยะเวลาการยื่นภาษีให้ด้วย อย่างของปี 2564 ที่ผ่านมาก็มีการขยายระยะเวลาเพิ่มให้ถึง 3 เดือน ถึงแม้ว่าจะขยายระยะเวลาการยื่นภาษีแล้ว บางคนก็ยังคงยื่นภาษีไม่ทัน อาจจะด้วยเอกสารที่ไม่พร้อม หรืออาจเกิดเหตุสุดวิสัย
ในเมื่อไหนๆ ก็ยื่นภาษีไม่ทันแล้ว สเต็ปต่อไปมาดูกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง สามารถยื่นภาษีย้อนหลังได้ไหม ต้องเสียค่าปรับหรือไม่ ปันโปรมีคำตอบ !
หากยื่นภาษีไม่ทันตามที่กำหนดก็ไม่ต้องตกใจไป
ให้รีบเตรียมเอกสารไปยื่นภาษีที่ "กรมสรรพากรพื้นที่สาขา" เลย จะไม่สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกแล้ว
เอกสารที่ต้องเตรียมประกอบการยื่นภาษี
สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมจะคล้ายๆ กับเอกสารที่ใช้ยื่นผ่านทางออนไลน์ แต่ในกรณีนี้เราต้องปริ้นท์เอกสารพร้อมกรอกข้อมูลให้เรียบร้อย โดยต้องใช้เอกสาร ตามนี้เลย
- หนังสือ ภ.ง.ด 91 หรือ ภ.ง.ด 90 สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ : https://ppro.onl/dw564u4d
- หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย หรือหนังสือ ทวิ 50 ที่ได้รับจากนายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง
- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการใช้ลดหย่อนภาษี ต้องดูจากรายการลดหย่อนที่ผู้ยื่นภาษีต้องการใช้ด้วย เช่น จะใช้รายการลดหย่อนจากการซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ ต้องเตรียมใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองการชำระค่าเบี้ย หรือหากต้องการใช้รายการลดหย่อนกับคู่สมรส อาจจะต้องเตรียมทะเบียนสมรสเพื่อเป็นหลักฐานด้วย เป็นต้น
ยื่นภาษีไม่ทัน หรือชำระภาษีไม่ทัน ต้องเสียค่าปรับมั้ย ?
💬 ถ้าไม่ยื่นภาษี หรือ ยื่นไม่ทันตามที่กำหนด
ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
💬 ถ้ายื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต และมีภาษีที่ต้องจ่ายแต่ไม่จ่ายภายในเวลาที่กำหนด
ถึงแม้ว่าจะยื่นภาษีในเวลาที่กำหนด แต่ไม่ชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าไม่ได้มีการยื่นภาษี
เราต้องยื่นไปภาษีใหม่อีกครั้งที่กรมสรรพากรพื้นที่ พร้อมกับจ่ายภาษีและเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมค่าปรับกรณีชำระเงินภาษีล่าช้า เพิ่มอีก 1.5% ของเดือนต่อเงินภาษีที่ต้องจ่าย
💬 ถ้ายื่นภาษีไปแล้ว กรมสรรพากรมีขอเอกสารเพิ่มเติม แต่ไม่ยื่นเอกสารเพิ่มเติมในเวลาที่กำหนด
- ในกรณีที่มีภาษีต้องชำระ ต้องจ่ายภาษีและเสียค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมค่าปรับกรณีชำระเงินภาษีล่าช้า เพิ่มอีก 1.5% ของเดือนต่อเงินภาษีที่ต้องจ่าย
- ในกรณีที่ไม่มีภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ
การขอลดค่าปรับ กรณียื่นภาษีไม่ทัน ต้องทำยังไง ?
ในกรณีที่ต้องการยื่นขอลดค่าเบี้ยปรับ สามารถขอยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพื้นที่สาขาที่เราเข้าไปยื่นภาษีได้เลย โดยต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุผล พร้อมเขียนระบุว่าจำนวนเงินที่ต้องการขอลดเบี้ยปรับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิจารณาและอนุมัติลดค่าปรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณาลดให้แล้วแต่กรณี
ในการยื่นภาษีและชำระภาษีล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากเราจะต้องเสียเวลาไปยื่นเอกสารเองที่กรมสรรพากรแล้ว เรายังจะต้องโดนเสียค่าปรับอีกด้วย ฉะนั้น ทางที่ดี คือ ควรเตรียมเอกสารต่างๆ และเตรียมเงินให้พร้อม (ในกรณีที่ต้องเสียภาษี) ปันโปรแนะนำว่าเมื่อได้เอกสารรายได้จากนายจ้างครบหมดแล้วให้รีบยื่นทันที เราจะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลในภายหลังนั่นเอง
ขอบคุณที่มา : กรมสรรพากร, accountpro.co.th
โดย waranggg
thaitealism
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ