รวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 67 วางแผนไว้รอยื่นต้นปีหน้า!

avatar writer
โดย : JINFEB
avatar writer5 ต.ค. 2567 avatar writer384
รวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 67 วางแผนไว้รอยื่นต้นปีหน้า!

ยื่นภาษีทั้งที ก็ต้องมีรายการไว้ลดหย่อนภาษีกันหน่อย~

 

💬 พอพูดถึงเรื่องยื่นภาษีทีไร คล้ายจะเป็นลมทุกที รู้เลยว่าเพื่อน ๆ หลายคนคงกำลังมองหาตัวช่วยต่าง ๆ ในการลดหย่อนภาษีแน่นอน ซึ่งในวันนี้เราเลยไปรวบรวมเอารายการต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้ ต้นปีหน้าจะได้พร้อมยื่นกัน ตามมาดูกันเลย~


 

การลดหย่อนภาษี คืออะไร? 🤔

 

ก่อนจะไปดูรายการลดหย่อนภาษี มาทำความรู้จักกันอีกสักหน่อย “รายการลดหย่อนภาษี” เป็นรายการที่กฎหมายกำหนดให้หักการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ เอาไปหักออกจากเงินได้ หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งก็จะมีหลากหลายหมวดให้เราเลือกมาลดหย่อนภาษีเลยทีเดียวแหละ

 

ดูต่อที่ วิธีการคำนวณ อีกสักนิด คือ รายได้ต่อปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่เราต้องจ่ายนั่นเอง


 

รวมรายการลดหย่อนภาษี ปี 67

 

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว💖 

 

 

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000.- : เอาไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ซึ่งหากยื่นภาษีทางออนไลน์จะมีรายการลดหย่อนส่วนตัวให้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000.- : สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้
  • ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000.- (ถ้าลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) : ถ้าสามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ จะให้สิทธิลดหย่อนนี้กับภรรยาเท่านั้น แต่สามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
  • ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000.- : ที่เป็นบุตรโดยกฎหมาย ซึ่งถ้ามีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดในปี 2561 เป็นต้นไป ใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000.- แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน และบุตรจะต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนบุตรที่มีอายุตั้งแต่ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป และบุตรต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000.- /ปี ยกเว้นกรณีที่ได้รับเงินปันผล
  • ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000.- สูงสุดไม่เกิน 4 คน : ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 .- (ต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาต้องอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000.- (ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้อง)
  • ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ คนละ 60,000 .- : ผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000.- /ปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ กับหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสองส่วนร่วมกันได้

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน🤑 

 

 

  • เบี้ยประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุไม่เกิน 25,000.-
  • เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและสะสมทรัพย์ รวมกันไม่เกิน 100,000.-
  • ประกันสังคม 9,000.-
  • ประกันสุขภาพพ่อแม่ ไม่เกิน 15,000.-
  • กองทุน RMF ลดหย่อนภาษีได้ 30% แต่ไม่เกิน 500,000.-
  • กองทุน SSF ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 200,000.- แต่ถ้ารวมกับกองทุนอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000.-
  • เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม สูงสุดไม่เกิน 100,000.-
  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 300,000.-
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ไม่เกิน 500,000.-
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ ลดหย่อนภาษีได้ 30% ไม่เกิน 500,000.-
  • กองทุนการออมแห่งชาติ สูงสุดไม่เกิน 30,000.-
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ไม่เกิน 200,000.-

 

ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค💰 

 

 

  • เงินบริจาคทั่วไป : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคเพื่อการศึกษา, การกีฬา, การพัฒนาสังคม, เพื่อประโยชน์สาธารณะและบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ : เอามาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
  • เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง : เอามาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 .-

 

ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ🛍️ 

 

 

  • Easy e-Receipt 2567 : ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000.- ตามที่จ่ายจริง สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 67
  • ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 : ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000.- ตามที่จ่ายจริง ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 67
  • ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย : ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000.-
  • ค่าสร้างบ้านใหม่ ปีพ.ศ. 2567 - 2568 : ลดหย่อนได้ 10,000.- ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท (รวม VAT แล้ว) ไม่เกิน 100,000.- (จำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท) เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 67 – 31 ธ.ค. 68

เป็นยังไงกันบ้างกับ รายการลดหย่อนภาษี ปี 67 บอกเลยว่าถ้าเรารู้จักศึกษาวางแผนและเตรียมตัวจัดการยื่นภาษีกันไว้แต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นและสะดวกขึ้นอีกระดับนึงเลยแหละ~


👇🏻อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่👇🏻

 

แสดงความคิดเห็น