ลับ (ที่สุด) กฎทรงผมนักเรียน 'เกรียน ติ่งหู' ยกเลิกที่ไม่ยกเลิกในศตวรรษที่ 21
โดย : wacheese
โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน
เด็ก ๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคน ชอบมาโรงเรียน
ชอบมาชอบมาโรงเรียน ชอบมาชอบมาโรงเรียน
ต้อนรับเปิดเทอมด้วยเสียงหัวเราะ เสียงพูดคุยจอแจเหมือนนกกระจิบแตกรัง หลังจากนั่งตรากตรำเรียนออนไลน์คนเดียวมานานนับปี เลยเพิ่มอรรถรสความนัว ความสนุกของเรื่องเล่ายิ่งขึ้นไปอีก วันเปิดเทอมครั้งนี้พิเศษมากกว่าทุกครั้ง เพราะโหยหาการทำกิจกรรมหน้าเสาธง คิดถึงแสงแดดอุ่น ๆ ยามเช้าขณะ ผอ. จับไมค์พูดสัพเพเหระจนเลยเวลาเข้าเรียนคาบแรก แต่ความสนุกทั้งหมดนี้ต้องปิดฉากลง เมื่อคุณครูฝ่ายปกครองโบกสะบัดกรรไกรและปัตตาเลี่ยน ตามจังหวะเสียงเพลงมาร์ชโรงเรียน สำหรับกิจกรรมตรวจ 'ทรงผมนักเรียน' ✂️
เปิดประวัติทรงผมนักเรียน 'เกรียน ติ่งหู' ที่ยังอยู่ยั้งยืนยงกว่า 50 ปี
จุดเริ่มต้นของทรงผมนักเรียน เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในรัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร ตาม "กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2515) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132" ระบุว่า
"ข้อ 1 การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ตามความในข้อ 4 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 (1) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้า และกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใด อนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย"
โดยให้เหตุผลว่า นักเรียนและนักศึกษาเป็นเยาวชนที่กำลังสร้างสมคุณสมบัติทั้งในด้านความรู้ ความคิดและคุณธรรม พร้อมที่จะรับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติในอนาคต นักเรียนและนักศึกษาควรจะได้รับการอบรมดูแลใกล้ชิดจากบิดามารดา ผู้ปกครอง และครูอาจารย์ เพื่อเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครู อยู่ในโอวาทคำสั่งสอน รวมทั้งอยู่ในระเบียบประเพณีและกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการสมควรจะส่งเสริมและคุ้มครองความประพฤติ การแต่งกาย และจรรยามารยาท ให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
📌 ลับ (ที่สุด) กฎทรงผมนักเรียน 'เกรียน ติ่งหู' ยกเลิกที่ไม่ยกเลิก
จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 14 ต.ค. กระทรวงศึกษาธิการได้มีการออก "กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132" แก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 1 เรื่องทรงผมนักเรียนที่ไม่เหมาะสม เป็นข้อความว่า
"(1) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้าง และด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวดไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใด อนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย"
ปิดฉากกฎระเบียบทรงผมนักเรียน 'ขาวสามด้าน' หรือ 'สั้นเสมอ (ติ่ง) หู' ในปี พ.ศ. 2518 แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมากว่า 47 ปี โรงเรียนเกือบทั้งประเทศยังคงพร้อมใจกันใช้กฎที่ยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นบางสถานศึกษาถึงขั้นบูชายกย่องกฎคร่ำครึนี้ เสมือนเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ที่ต้องสืบทอดและสานต่อรุ่นสู่รุ่น
เมื่อทรงผมนักเรียน 'เกรียน ติ่งหู' ยังคงตามหลอกหลอนในศตวรรษที่ 21
บรรยากาศวันเปิดเทอมวันแรกของนักเรียนชั้นอนุบาล สร้างความประทับใจและรอยยิ้มให้กับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะภาพของผู้ปกครองที่เกาะกำแพงรั้ว หรือแฝงตัวเข้าไปปะปนในหมู่คุณครูและนักเรียน เพื่อแอบสอดส่องดูความเรียบร้อยของบุตรหลานด้วยความเป็นห่วง แต่เมื่อตัดภาพมาที่สถานศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษา กลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความอับอายจากกิจกรรม 'กล้อนผม' หน้าเสาธง โดยมีสายตาของคุณครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ และเพื่อนนักเรียนผู้ร่วมชะตากรรมจับจ้องไม่ละสายตา 👀
📝 จงอธิบาย 'ทำไมต้องไว้ทรงผมนักเรียน' (10 คะแนน)
'ทรงผมนักเรียน' เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แม้กฎระเบียบนี้จะมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 หรือผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ทำไมต้องไว้ทรงผมนักเรียนได้อย่างสมเหตุสมผล แม้รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะออกมาอธิบายถึง ความสำคัญของทรงผมนักเรียน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ว่า "สมมุติว่าถ้าน้องจะทำผมยาวสักศอกหนึ่ง คนที่เดือดร้อนคือพ่อแม่ ต้อง ซื้อยาสระผม มาสระให้นักเรียน เวลาเรามานั่งในห้องเรียนผมเราที่ยาวเป็นศอกก็ บังเพื่อน อยู่ด้านหลัง นี่คือความรู้สึกของคนอื่น แต่ความรู้สึกของเรา กำหนดแค่สิทธิของเรา แต่ไม่รู้ว่าหน้าที่ที่เราต้องอยู่ในสังคม"
นอกจากจะไม่ได้คำตอบที่ทำให้หายสงสัยแล้ว ยังทำให้เกิดกระแส #ทรงผมบังเพื่อน ในโลกโซเชียลอีกด้วย ขณะที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อตอบคำถาม 'ทำไมต้องไว้ทรงผมนักเรียน' ด้านสังคมในศตวรรษที่ 21 ก็เริ่มตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ บนหลักความสมเหตุสมผลเช่นเดียวกัน
✂️ LetHerGrow
'โดฟ' จัดทำแคมเปญ #LetHerGrow เพื่อหยุดกฎบังคับตัดผมในโรงเรียน เพราะเชื่อว่ากฎการตัดผม ได้ตัดไปมากกว่าผมของนักเรียน ทั้งตัดความมั่นใจ และพัฒนาการในช่วงวัยสำคัญแห่งการค้นหาตัวตน พร้อมได้ริเริ่มกองทุน The Growth Fund เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของกฎบังคับทรงผมนักเรียน ที่ส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองของเด็ก และการนับถือตนเองของคนรุ่นต่อไป
✂️ ฉายแสงทุกการเติบโต
'MISTINE' มาแล้วค่ะ แบรนด์เครื่องสำอางระดับตำนานที่อยู่คู่ประเทศไทย มากับแคมเปญ #ฉายแสงทุกการเติบโต ด้วยเชื่อว่า โรงเรียนคือสถานที่แห่งการเรียนรู้ แม้กฏระเบียบบางอย่างในโรงเรียนไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ MISTINE เชื่อว่า ทุกคนสามารถดูดีได้ในแบบของตัวเอง และสนับสนุนให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง
✂️ ตามความเหมาะสม
สร้างความฮือฮาในโลกโซเชียล เมื่อโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองออกมาโพสต์ถึง "ทรงผมนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง งานกิจการนักเรียน กลุ่มบริหารทั่วไป โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง" พร้อมภาพประกอบที่สัมผัสได้ถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง 'ทรงผมนักเรียน' ว่า
นักเรียนหญิง "สั้น" หรือ "ยาว" ก็ได้ ถ้ายาวตาม "ความเหมาะสม" รวบให้เรียบร้อย ติดโบว์โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
นักเรียนชาย "สั้น" หรือ "ยาว" ก็ได้ ถ้ายาวด้านข้าง ด้านหลังไม่เลยตีนผม ด้านหน้า และกลางศีรษะ ให้เป็นไปตาม "ความเหมาะสม"
บัดนี้อาจได้เวลาอันสมควรแล้ว จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านประธานทั้งหลายที่อาบน้ำร้อนมาก่อน กลับไปทบทวนคำถามและหาคำตอบ 'ทำไมต้องไว้ทรงผมนักเรียน' ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เด็กเมื่อวานซืนปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ได้กระจ่างแจ้งและหมดทุกข้อสงสัย ขอกราบเรียนเชิญ 👏🏼
ที่มา: องค์กรต่อต้านทรงผมนักเรียนไทย, ประชาไท
โดย wacheese
[email protected] :)