เข้าใจหัวอกคนรักรองเท้า ผ่านซีรีส์ "Sneakerheads" ซีรีส์ที่จะทำให้เรากล้าต่อสู้เพื่อเสียงหัวใจของตัวเอง !
โดย : imnat
Sneakerhead [snee-ker-hed]
(n.) a person who collects and trades sneakers as a hobby
and who typically is knowledgeable about the history of sneakers.
ใครที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสนีกเกอร์ น่าจะคุ้นกับศัพท์แสลงที่ใช้เรียกคนที่คลั่งสนีกเกอร์ (เป็นเอามาก) อย่าง Sneakerhead กันอย่างแน่นอน ซึ่งความหมายของคำว่าสนีกเกอร์เฮดที่ว่านี้สามารถ ใช้แทนบุคคลได้หลากหลาย จะเป็นสายที่รักการสะสมรองเท้าเป็นชีวิตจิตใจ หรือจะเป็นสายที่มีงานอดิเรกอย่างการแสวงหารองเท้าหายาก ก่อนจะทำการส่งมอบให้คนอื่นอีกที หรือจะเป็นสายที่ไม่ได้เน้นการครอบครองอะไร แต่ถ้าถามถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับรองเท้าคู่นั้น ๆ เมื่อไหร่ บอกได้คำเดียวว่า "เป๊ะ"
ซึ่งถ้าพูดถึงอิทธิพลของรองเท้าสนีกเกอร์ในทุกวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะมี "ภาพตัวอย่าง" จากหลายสถานการณ์โผล่ขึ้นมาในหัว ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์ที่สนีกเกอร์เฮดหลายคนแห่กันไปกดซื้อรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นดังในราคาป้าย จนทำให้หน้าเว็บขึ้น Sold Out ภายในไม่กี่วินาที หรือจะเป็นสถานการณ์ที่สนีกเกอร์เฮดหลายคนแห่กันไปตามหารองเท้ารุ่นหายาก จนทำให้ราคารีเซลพุ่งกระฉูดเหมือนเลือดกำเดา ซึ่งเราเชื่อว่าใครก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ หรือเพิ่งได้ลงชื่อเข้าสู่วงการนี้กันได้ไม่นาน คงจะเคยมีความคิดผุดขึ้นมาในหัวประมาณที่ว่า
"กะอีแค่รองเท้า มันถึงกับต้องแย่งชิงขนาดนี้เชียวหรอ"
หรือบ้างก็ว่า... "จะซื้อรองเท้ามาสะสมอะไรนักหนา
ปล่อยทิ้งไว้นานเดี๋ยวปลวกก็พากันมารับประทานเอาหรอก"
ถ้าความคิดแนว ๆ นี้เคยปรากฏขึ้นมาในหัวของทุกคน นั่นแปลว่าพวกคุณอาจจะยังเข้าไม่ถึง "แก่นแท้" ของวงการสนีกเกอร์กันมากพอ Sneakerheads คือ ออริจินอลคอนเทนต์ซีรีส์ ที่ถูกบรรจุไว้ใน Netflix ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ซึ่งเราค่อนข้างมั่นใจมากว่า กว่า 90% ของคนที่กำลังอ่านอยู่ น่าจะยังไม่เคยดู หรือไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามีซีรีส์เรื่องนี้อยู่ ซึ่งเราบอกได้เลยว่า ถ้าคุณอยากจะเข้าใจวัฒนธรรมของชาวสนีกเกอร์เฮด หรือเป็นคนที่อยู่ในวงการสนีกเกอร์กันอยู่แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่เราอยากจะให้ทุกคน "เปิดใจดู" กันสักครั้งในชีวิต !
จาก Moment สำคัญของชีวิต สู่ซีรีส์ที่คน "คลั่ง" รองเท้าควรดู !
Sneakerheads คือ ออริจินอลคอนเทนต์ซีรีส์จากทาง Netflix ที่ถูกนำมาออกอากาศครั้งแรกในปี 2020 มีจำนวนทั้งหมด 6 ตอน แต่ละตอนไม่ยาวมาก เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 20 นาที โดยตัวเนื้อหาของซีรีส์ ว่าด้วยชีวิตของ เดวิน อดีตสนีกเกอร์เฮดตัวพ่อที่ยอมสละทิ้งตัวตนทุกอย่าง ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อบ้านแบบ 100%
โดยชีวิตของเขาถึงแม้ว่าจะหันหลังให้กับวงการสนีกเกอร์ไปแล้วกว่า 5 ปี แต่ทว่าวันหนึ่งเขากลับได้หลวมตัว กลับเข้าไปในวงการสนีกเกอร์อีกครั้ง ซึ่งการหลวมตัวกลับมาในครั้งนี้ มันได้ปลุกให้ตัวตนในอดีตของเขา กลับมาโลดแล่นและมีชีวิตชีวา มากกว่าที่เคยเป็น !
เนื้อหาของซีรีส์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ชีวิตจริงของ Jay Longino คนเขียนบท ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีโอกาสได้ทำงานที่ NBA แถมยังเคยได้พบกับนักบาสที่เก่งที่สุดในยุคนั้นอย่าง Michael Jordan ที่สำคัญการพบกันของทั้งสองคน ก็ได้สร้างความประทับใจให้กับ Jay Longino เป็นอย่างมาก เพราะ Jay ได้รับของขวัญชิ้นสำคัญจาก Michael Jordan อย่างรองเท้า Nike รุ่น Air Jordan 4 พร้อมลายเซ็น
จาก Moment สำคัญของชีวิต
ก็ได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขา "ก้าวขา" เข้าสู่วงการสนีกเกอร์อย่างจริงจัง
แถมยังเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทซีรีส์เรื่องนี้ด้วย !
ความเข้มข้นของเนื้อหาในซีรีส์ Sneakerheads ได้ปะทุขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรก ถึงแม้ว่าการจัดประเภทของซีรีส์เรื่องนี้จะอยู่ในหมวดของ Comedy ก็ตาม แต่คนดูอย่างเราจะสัมผัสได้ถึง ความสับสนในตัวเองของเดวิน ตัวละครหลักของเรื่อง ที่จะต้องยับยั้งชั่งใจไม่ให้ตัวเองกลับไปอยู่ในจุดเดิมที่เคยอยู่เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
เพราะตอนนี้เขามีสถานะอย่างการเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภรรยาและลูก ๆ ที่ต้องดูแลถึง 2 คน อีกทั้งตัวภรรยาของเขา ก็ไม่สนับสนุนให้เขากลับไปอยู่ในจุดเดิมที่เคยอยู่โดยเด็ดขาด ถึงแม้ว่าเขาจะปฏิเสธการกลับไปอยู่ ณ จุดเดิมมากแค่ไหน แต่ลึก ๆ แล้ว เขากลับโหยหาตัวตนในอดีตของตัวเองเอามาก ๆ ซึ่งในตอนท้ายของตอนที่ 1 นั้น ทำให้คนดูอย่างเรารวมถึงตัวของเดวินเอง ได้รู้จักกับความหมายของคำว่า "การตัดสินใจผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่" ที่นำไปสู่ทางแยกที่จะต้องตัดสินใจ เพียงเพราะการ "เผลอ" ก้าวขากลับเข้าไปในวงการสนีกเกอร์ แค่เพียงชั่ววินาทีเท่านั้น
"4 คน 4 ตัวละคร 1 วัฒนธรรมของชาวสนีกเกอร์เฮด"
นอกจากแก่นหลักของเรื่องที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความสับสนในตัวเองของเดวินแล้ว จะบอกว่าในซีรีส์เรื่อง Sneakerheads นี้ ซ่อนสัญลักษณ์ และนัยยะสำคัญเกี่ยวกับวงการสนีกเกอร์เอาไว้มากมาย ที่ Jay Longino ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า วัฒนธรรมของชาวสนีกเกอร์เฮดนั้นมีหลากหลายมาก ๆ โดย Sneakerheads เรื่องนี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวสนีกเกอร์เฮดที่ได้อ้างอิงมาจากตัวของเขา รวมถึงคนใกล้ชิดของเขาเท่านั้น
โดยตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง ก็มีหลากหลายตัวละครมาก ๆ แต่ถ้าจะให้พูดถึงตัวละครหลัก ที่มีบทบาทปรากฏอยู่แทบจะทุกตอน เราก็ขอยกให้ 4 ตัวละครที่เป็นตัวแทนของสนีกเกอร์เฮดที่แตกต่างกัน 4 แบบ ได้แก่
เดวิน อดีตสนีกเกอร์เฮดตัวพ่อ
ที่ยอมละทิ้งทุกอย่าง เพื่อแลกกับการสร้างครอบครัวกับผู้หญิงที่เขารัก
บ็อบบี้ สนีกเกอร์เฮดสายร้อนวิชา
อินกับรองเท้าสนีกเกอร์มาก ถึงขั้นยอมลงเรียนวิชาทำรองเท้า
เพื่อที่จะได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของสนีกเกอร์ทั้งหมด !
โนริ สนีกเกอร์เฮดสายเทรด
ไม่ว่าสนีกเกอร์คู่นั้นจะหายากแค่ไหน
แต่เธอก็จะไป "ตามล่า" หามันมาให้กับลูกค้าของเธอจนได้ !
สตีวี สนีกเกอร์เฮดสายใช้เงินแก้ปัญหา
มีเงินอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับสนีกเกอร์เท่าไหร่
เลยทำให้เขามักจะถูกหลอกให้ซื้อของปลอมอยู่บ่อย ๆ
นอกจากนี้ อย่างที่บอกไปว่าในซีรีส์เรื่องนี้ได้ซ่อนสัญลักษณ์เอาไว้มากมาย ยกตัวอย่างฉากเปิด ที่ตัวของเดวินได้ก้าวเท้ากลับเข้าไปสู่วงการสนีกเกอร์อีกครั้ง ในระยะเวลาเพียงแค่ 5 ปี แต่โลกของสนีกเกอร์ในมุมมองของเขา ถือว่าพัฒนาไปมาก โดยซีรีส์เรื่องนี้พยายามจะใช้สัญลักษณ์หลายอย่าง มาแทนความรู้สึกของการ "พัฒนาไปมาก" ที่ว่านี้ นับตั้งแต่อายุเฉลี่ยของสนีกเกอร์เฮด ที่เด็กลง ๆ เรื่อย ๆ จากฉากที่เดวินไปต่อแถวซื้อรองเท้า Nike Air Jordan 3 Retro White Cement ที่เขาบังเอิญไปเห็นกลุ่มของลูกค้าที่เป็นเด็กประถมมาต่อแถวซื้อรองเท้ากับเขาด้วย
รวมไปถึงคำพูดของนักแสดงประกอบที่พูดลอย ๆ ออกมาว่า ฉันยอมตัดนิ้วโป้งเพื่อมันเลยนะ ที่มันสามารถสื่อนัยยะได้ว่า อิทธิพลของสนีกเกอร์ทุกวันนี้ มีผลกระทบกับคนทั่วไปมากกว่าที่คิด สนีกเกอร์กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก มีอิทธิพลกับคนมาก และเป็นสินค้าที่เราสามารถใช้ในการต่อรองกับคนได้มาก เพราะความต้องการ "อยากจะครอบครอง" สนีกเกอร์คู่นั้น ๆ นั่นเอง
และไม่ใช่แค่สายสนีกเกอร์เฮดเท่านั้น อีกหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นอีกหนึ่ง ขั้วตรงข้าม ของชาวสนีกเกอร์เฮดเลยก็ว่าได้ ก็ได้แก่ คริสติน หรือภรรยาของเดวิน ผู้ที่ไม่เข้าใจและไม่เปิดใจให้กับวงการสนีกเกอร์เลยแม้แต่นิดเดียว เธอมองสนีกเกอร์ว่าเป็นแค่เพียงสินค้าชิ้นหนึ่ง สำหรับคนที่ "ยังไม่โต" และไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราถึงจะต้องให้ความสำคัญกับรองเท้าสนีกเกอร์อะไรขนาดนั้น
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้เหมือนเป็นการรวมตัวขององค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่มีทั้งขั้วตรงข้ามและขั้วเดียวกัน และต่อให้เป็นขั้วเดียวกันก็จริง แต่มันก็จะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาแต่ละคนแตกต่างกันอยู่ดี ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของซีรีส์เรื่อง Sneakerheads เลยก็ว่าได้ มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงอยากให้ทุกคนเปิดใจดูกันสักครั้ง เพราะต่อให้เรื่องราวของมันจะเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน หรือเต็มไปด้วยปัญหาวายป่วงทั้งหลาย แต่เชื่อเถอะว่าในตอนท้ายที่สุดแล้ว เราจะได้อะไรจากซีรีส์เรื่องนี้กลับไปอย่างแน่นอน
ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่
และเมื่อเวลานั้นมาถึง ต่อให้เราจะปฏิเสธมันแค่ไหน
แต่ยังไงเราก็หนีเสียงหัวใจกันไม่พ้น !
ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ตั้งต้นของผู้สร้าง อยากจะสร้างซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อมาตอบโจทย์หัวอกคนประเภทเดียวกัน แต่ในมุมของเราถือว่าซีรีส์เรื่องนี้สามารถให้อะไรกับคนที่อาจจะไม่ได้เป็นสายสนีกเกอร์ "ตัวพ่อ-ตัวแม่" ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของ การตามหาตัวตน หรือการสละทิ้งตัวตนของเดวิน ที่ส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นประเด็นที่โคตรจะเรียล และโคตรจะเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตของใครหลายคน
เหมือนกับชีวิตของเราได้ดำเนินมาถึงทางแยก ที่เราจะต้องยอมแลกด้วยอะไรสักอย่าง เพื่อที่ชีวิตของเราจะได้ก้าวไปสู่เส้นทางที่ชัดเจนมากกว่าเดิม ก็เหมือนกับตัวของเดวิน ที่เขายอมทิ้งสิ่งที่เขารักเพื่อภรรยา และเพื่อที่จะได้เริ่มต้นการเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งหลายคนอาจจะมีความคิดที่ว่า แล้วทำไมเราถึงต้องเลือก ในเมื่อเราสามารถคว้าทั้งสองสิ่งที่เรารักได้ มันก็จริงอยู่ที่ในชีวิตของใครบางคนอาจจะมีความสามารถในการคว้าทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิตได้ทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มอาจจะไม่ได้มีความสามารถ หรือไม่ได้มีโอกาสในการคว้าทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตได้ขนาดนั้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขา ต้องตัดสินใจเลือก นั่นเอง
แต่ก็ใช่ว่าถ้าเราตัดสินใจเลือกอะไรลงไปแล้ว เราจะไม่มีโอกาสได้โคจรกลับไปหาสิ่งที่เรา "ไม่ได้เลือก" ตลอดไปเลยหรือเปล่า ชีวิตของตัวละครเดวินได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ต่อให้ ณ ตอนนั้นเราจะไม่ได้เลือกมัน แต่ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ใช่ และเป็นสิ่งที่หัวใจเรียกร้องหามาโดยตลอด ไม่ช้าก็เร็ว เราจะได้โคจรกลับไปหามันอยู่ดี
และนอกจากเรื่องราวของ Passion แล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่าง ๆ ของชีวิตที่กว้างขึ้น ได้เห็นความสำคัญของคำว่ามิตรภาพ การเปิดใจยอมรับความต่าง การไว้วางใจกันของสามีและภรรยา ไปจนถึงวัฒนธรรมของวงการสนีกเกอร์ที่มีอะไรตื่นตาตื่นใจให้เราได้เห็นกันอยู่ตลอด อย่างใครที่เป็นสายสนีกเกอร์น่าจะตื่นเต้นกับบรรดารองเท้ารุ่นดัง ๆ รวมไปถึงรุ่นหายาก ที่โผล่มาให้ได้ชมกันอยู่ตลอดผ่านซีรีส์เรื่องนี้
ที่สำคัญ ต่อให้คุณจะมีอุปนิสัยเหมือนตัวละครของ คริสติน ผู้ที่ไม่เปิดใจ และไม่เคยเข้าใจวงการสนีกเกอร์มาก่อน แต่เราค่อนข้างมั่นใจว่า ทุกคนจะสามารถเข้าถึงซีรีส์เรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน
สุดท้ายนี้ขอลาไปด้วย Quote ที่เราชอบมากที่สุดจากซีรีส์เรื่องนี้ เป็นประโยคที่ตัวละครอย่างบ็อบบี้ บอกกับเดวินเพื่อนของเขาในตอนที่ 5 ของเรื่องว่า
If I didn't believe in us, then who the hell else would ?
ถ้าฉันไม่เชื่อมั่นในพวกเรา แล้วใครหน้าไหนจะมาเชื่อล่ะ ?
ดังนั้นขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ สิ่งไหนที่เป็นของเรา เกิดมาเพื่อเรา และเป็นตัวตนที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบของเรา ไม่ช้าก็เร็ว ยังไงมันก็จะวนกลับมาหาเราอยู่ดี ขอเพียงแค่อย่าหมดศรัทธาในตัวเองก็พอ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- เปิดโพล "5 สนีกเกอร์ตัวเต็ง 2023" แต่ละคู่จัดว่าเด็ด !
- Nike Dunk "ผ้าใบตัวตึง" รีเซลแต่ละที ทำไมถึงได้แพ๊ง...แพง ?
- SALOMON "จากลานสกี สู่แคตวอล์ก" การบรรจบกันของ 2 โลกขั้วตรงข้าม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : dictionary และ inverse
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)