คำนี้แปลว่าอะไร ? "เปิดคลังศัพท์วงการสนีกเกอร์" ที่ชาว SNEAKERHEAD ทั้งหลายควรรู้ !
โดย : imnat
สนีกเกอร์เฮดมือใหม่หลายคนน่าจะเคยเจอ อักษรย่อประหลาด ๆ ต่อท้ายชื่อรองเท้า หรือจะเป็น คำศัพท์แปลก ๆ ที่นิยมใช้กันเฉพาะในกลุ่มของคนรักสนีกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็น Beater, OG, Retro, PRM, Colorways, BIN, QS บลา บลา บลา ซึ่งทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า มันมีความหมายว่าอะไร และเป็นตัวย่อที่มาจากคำไหน ใครเคยสงสัย หรือทุกวันนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้สักที คอนเทนต์นี้เราจะพาทุกคนไปเปิดคลังศัพท์ของวงการสนีกเกอร์กัน !
เปิดคลังศัพท์วงการสนีกเกอร์ ที่ชาว SNEAKERHEAD ทั้งหลายควรรู้ !
ในโลกของสนีกเกอร์ มักจะมีอะไรที่น่าตื่นตา ตื่นใจ (รวมไปถึงตื่นเต้น) มาให้เราได้สัมผัสกันอยู่ตลอด แต่หนึ่งในปัญหาของมือใหม่ หรือต่อให้อยู่ในวงการสนีกเกอร์มาได้สักพัก ก็ไม่วายที่จะเจอกับเรื่องราวอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่นพวก คำศัพท์ประหลาด ๆ ที่โผล่มาให้ได้ฉงนสงสัยกันอยู่ตลอด ซึ่งใครที่ไม่รู้ก็อาจจะงงเป็นไก่ตาแตกได้
และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเข้าถึงวงการสนีกเกอร์กันมากขึ้น เราได้ทำการรวบรวมคำศัพท์ที่มักจะเจอบ่อย ๆ เวลาซื้อรองเท้า รวมไปถึงศัพท์สแลงที่มักจะนิยมใช้กันในหมู่ของสนีกเกอร์เฮด ไปจนถึงวงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสนีกเกอร์ในต่างประเทศ ที่เราคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ และน่าจะช่วยเพิ่มความกระจ่างให้กับสนีกเกอร์เฮดมือใหม่อย่างเรา ๆ กันได้บ้าง (ไม่มากก็น้อย)
👟 ศัพท์เกี่ยวกับรองเท้าทั่วไป ที่มีโอกาส "เจอได้บ่อย"
- Sneakerhead = คำศัพท์ที่ใช้อธิบายถึงคนที่มีลมหายใจเข้า-ออก เป็นรองเท้าสนีกเกอร์ รักมาก ชอบมาก สนีกเกอร์คือความภูมิใจของพวกเขา
- OG (Original) = กลุ่มของรองเท้าสนีกเกอร์ที่ถูกทำออกมา เป็นครั้งแรก รุ่นดั้งเดิม โทนสีดั้งเดิม เป็นแม่แบบของสนีกเกอร์ที่ถูกนำออกมาวางขายหลังจากนั้น โดยปกติแล้วมักจะมีตัวอักษร OG ต่อท้ายชื่อรุ่น
- Retro = กลุ่มของรองเท้าสนีกเกอร์ที่ถูก ผลิตซ้ำ โดยนำโมเดลตัวเก่าหรือ OG ออกมาวางขายใหม่ โดยปกติแล้วมักจะมีตัวอักษร Retro ต่อท้ายชื่อรุ่น
- LE (Limited Edition) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นพิเศษมาก ๆ อาจจะทำออกมารอบเดียวแล้วจบ หมดแล้วหมดเลย
- GR (General Release) = กลุ่มของรองเท้าสนีกเกอร์ที่มีวางจำหน่ายทั่วไป สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องฟาดฟันกับใคร ในราคาขายปลีกทั่วไป
- SE (Special Edition) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นพิเศษ อาจจะเป็นคู่สีที่ถูกทำออกมาใหม่ โดยสามารถหาซื้อง่าย ไม่ต้องแย่งชิงเหมือน SP
- SP (Special Project) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นพิเศษ ที่มักจะถูกทำออกมาในเทศกาลต่าง ๆ ไม่ได้วางขายถาวร เหมือนมาแค่ช่วงนี้ช่วงเดียว หรือบางทีอาจจะไม่ได้ผูกติดกับเทศกาลเสมอไป แต่อาจจะเป็นวัสดุที่ใช้ การคอลแลปส์กับคนดัง หรือ Colorways ที่แปลกตาไปจากเดิมก็ได้เหมือนกัน
- Colorways หรือ Colourways = คำจำกัดความของคู่สี หรือสีที่ใช้บนรองเท้าคู่นั้น ๆ คือแทนที่เราจะบอกเป็นชื่อสีธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น แดง-ขาว-ดำ เราก็เปลี่ยนไปเรียกมันว่า Chicago แทน อารมณ์แบบถ้าพูดถึง Chicago ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวของสนีกเกอร์เฮดคนนั้นจะไม่ใช่เมือง แต่จะเป็นโทนสีแดง-ขาว-ดำของรองเท้าแทนนั่นเอง
- PRM (Premium) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์ที่ใช้วัสดุที่ดีกว่ารุ่นปกติ แต่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ไม่ต้องตามหา หรือแย่งชิงกันแต่อย่างใด
ภาพเปรียบเทียบความสูงของข้อรองเท้าทั้ง 3 รุ่น
- Low / Mid / High = ความสูงของข้อรองเท้า ที่ไล่เรียงกันไปตั้งแต่ ต่ำ กลาง และสูง
- GS (Grade School) = กลุ่มรองเท้าสำหรับเด็ก รวมไปถึงผู้หญิงเท้าเล็ก โดยราคาของรองเท้าในกลุ่ม GS นี้ ปกติมักจะมีราคาที่ถูกกว่ารุ่นปกติ
- W (Women) = กลุ่มรองเท้าของผู้หญิง
- PS (Preschool) = กลุ่มรองเท้าสำหรับเด็ก (ไซซ์อนุบาล) โดยจะเล็กกว่า Grade School ลงมาอีก
- TD (Toddler) = กลุ่มรองเท้าไซซ์เด็กทารก ที่จะจิ๋วมาก จะเล็กสุดในบรรดารองเท้าสำหรับเด็กทั้งหมด
- LS (Lifestyle) = กลุ่มรองเท้าทั่วไป ไม่เน้น Performance การใช้งานเท่าไหร่
- Upper = ชิ้นส่วนบนของรองเท้า
- Outsole = ชิ้นส่วนพื้นด้านล่างของรองเท้า
- Midsole = ชิ้นส่วนตรงกลางของรองเท้า
- Insole = ชิ้นส่วนพื้นด้านในของรองเท้า
- Restock = กลุ่มของสนีกเกอร์ที่ Sold out ไปนาน กลับมาวางขายใหม่อีกครั้ง
- StockX = ตลาดซื้อขายสินค้ารีเซลยอดนิยมของชาวสนีกเกอร์เฮด
- AF1 = กลุ่มของรองเท้า Nike Air Force 1
👟 ศัพท์เฉพาะที่ใช้กันเฉพาะ "บางแบรนด์" เท่านั้น
- SB (Skateboarding) = เป็นศัพท์เฉพาะที่ทาง Nike ใช้ โดยจะเป็นอีกหนึ่งไลน์ของ Nike Dunk ที่แรกเริ่มถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับกีฬาสเก็ตบอร์ด
- ACG (All Condition Gear) = เป็นศัพท์เฉพาะที่ทาง Nike ใช้ โดยจะใช้อธิบายถึงสินค้าในไลน์ Outdoor Adventure ของแบรนด์ ที่จะโฟกัสสินค้าเกี่ยวกับกีฬาเฉพาะกลุ่มไป
- NSW (Nike Sportwear) = ศัพท์เฉพาะของทาง Nike โดยสื่อถึงไลน์สินค้าประเภท Sportwear ที่ได้ดีไซน์มาจากรุ่นเก่า ๆ ในตำนาน
- HTM (Hiroshi, Tinker & Mark) = ศัพท์เฉพาะของทาง Nike ที่สื่อถึงโปรเจกต์พิเศษของทาง Nike ที่สร้างสรรค์โดย 3 ดีไซน์เนอร์ระดับตำนานของแบรนด์ ที่อยู่เบื้องหลังรองเท้ารุ่นดัง ๆ เช่น Air Max, Jordan โดยโปรเจกต์นี้จะเน้นไปที่การออกแบบรองเท้าโดยใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีการออกแบบรองเท้าใหม่ ๆ เป็นต้น
- ID (Individually Design) = ศัพท์เฉพาะของ Nike ที่สื่อถึงรองเท้าคอลเลกชันพิเศษ ที่อนุญาตให้เรา ทำการ Customise รองเท้าของตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้ได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า Nike By You แทนเรียบร้อยแล้ว
HTM x Air Force 1 Low รองเท้ารุ่นแรกในโปรเจกต์พิเศษ ที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2002
- EQT (Equipment) = ศัพท์เฉพาะของทาง Adidas ที่สื่อถึงเสื้อผ้าและรองเท้าในไลน์แรก ๆ ของ Adidas ที่ผลิตขึ้นในปี 1991 ถ้าเป็นในเวย์ของสนีกเกอร์จะสังเกตง่าย ๆ ผ่านเส้นแถบ 3 เส้นที่อยู่ด้านข้างของตัวรองเท้า ซึ่งโดยปกติแล้ว EQT มักจะตามหลังด้วยคุณสมบัติเด่นของสินค้ารุ่นนั้น ๆ เช่น EQT Support เป็นต้น
- V (Version) = ศัพท์เฉพาะของ Adidas (แต่หลัง ๆ มาก็ถูกใช้ในแบรนด์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน) โดยจะสื่อความหมายถึงเวอร์ชันของรองเท้ารุ่นนั้น ๆ V1 = เวอร์ชันแรกของรองเท้า เป็นต้น
- RNNR / RNR (Runner) = ศัพท์เฉพาะของ Adidas ที่หมายถึงกลุ่มรองเท้าวิ่ง
- SPLY (Supply หรือบ้างก็ว่า Saint Pablo Loves You) = ศัพท์เฉพาะของ Adidas ที่เป็นตัวอักษรย่อปริศนา ที่มีให้เห็นเฉพาะรองเท้าในตระกูล Yeezy เท่านั้น
👟 ศัพท์แปลก ๆ เกี่ยวกับ "วงการซื้อขาย"
- DS (Deadstock) = เป็นศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย โดยก่อนหน้านี้มันเคยมีความหมายว่า เลิกผลิตแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ คำว่า DS ถูกนำมาใช้แทนการให้ความหมายของคำว่า สภาพมือ 1 ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน หรือรองเท้าที่ถูกเก็บไว้เหมือนตาย ไม่เคยผ่านการใช้แทน
- VNDS (Very Near Deadstock) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย แทนความหมายว่า มือสอง แต่สภาพดีเหมือนใหม่มาก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 99% ทำนองนั้น
- NDS (Near Deadstock) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย แทนความหมายว่า มือสอง แต่สภาพค่อนข้างดีเหมือนใหม่ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 90-95%
- BIN (Buy It Now) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการสื่อถึงคนที่ไม่อยากจะแข่งราคากับใคร หรืออาจจะเป็นคนขายเองที่ฟันราคามาให้แล้ว ไม่มีการต่อรอง ถ้าพร้อมก็สามารถซื้อที่ราคานี้ได้เลย ฟีลแบบ เคาะแล้ว พร้อมโอน !
- UA (Unauthorised หรือ Un-Authentic) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการสื่อถึงสนีกเกอร์ที่ไม่ใช่ของแท้ หรือ Copy นั่นเอง
- WTB (Want to Buy) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย แปลตรงตัวว่า ต้องการซื้อ / อยากได้
- WTS (Want to Sell) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย แปลตรงตัวว่า ต้องการขาย
- WTT (Want to Trade) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ไม่ได้ต้องการซื้อ หรือขาย แต่ต้องการ "แลก" แทน โดยปกติแล้วคนที่ตั้งกฏนี้มักจะระบุรุ่นรองเท้าที่ต้องการแลกมาให้เลย ซึ่งใครที่รับเงื่อนไขได้ ก็แลกกันได้เลย จอบอ 😝
- BNIB / NIB (Brand New in Box) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการจะสื่อว่า สินค้าใหม่ ยังคาอยู่ในกล่องอยู่เลยจ้า ส่งพร้อมกล่อง บางเจ้าอาจจะมีใบเสร็จที่ซื้อแนบไปให้ด้วย ความหมายจะเหมือน DS ก่อนหน้านี้เลย ไม่ต่างกัน
- NWT (New with Tags) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการจะสื่อว่า สินค้าใหม่ ยังไม่แกะป้าย
- NWOT (New without Tags) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการจะสื่อว่า สินค้าใหม่ แต่ไม่มีป้ายนะ
- TTS (True to Size) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย ที่ต้องการจะสื่อว่า รองเท้าตรงไซซ์ ไม่ต้องบวกเพิ่ม หรือว่าลดเพิ่ม
- NDC (Nike Dot Com) = ศัพท์เฉพาะของวงการซื้อขาย แทนการพูดถึงเว็บไซต์ Nike แบบเต็ม ๆ 😅
- Reseller = ศัพท์ของวงการซื้อขาย หมายถึงพวกที่ซื้อรองเท้ามาเพื่อขายต่อ ปกติจะซื้อเป็นจำนวนมาก ๆ โดยเฉพาะรุ่นหายาก เลิกผลิตไปแล้ว รวมถึงสินค้ามีจำนวนจำกัด จะเป็นเป้าหมายแรกของพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้
- LPU (Lastest Pick Up) = ศัพท์เฉพาะที่พูดกันในหมู่ของวงการซื้อขาย ที่หมายถึงสนีกเกอร์คู่ล่าสุดที่เพิ่งซื้อไป
👟 ศัพท์ที่น่าสนใจ รู้ไว้ ช่วยอัปสกิลความเป็นสนีกเกอร์เฮดในตัวได้ 300%
- HS (Hyperstrike) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์รุ่น Limited ที่ถูกทำออกมาแค่ไม่กี่คู่ บ้างก็วางขาย บ้างก็ทำออกมาเพื่อแจกให้กับกลุ่ม F&F ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป
- F&F (Friends & Family) = คำที่ใช้เรียกแทนอินฟลู, นักกีฬา หรือว่าคนดังที่เคยคอลแลปส์ หรือเป็นคนพิเศษของแบรนด์ ที่ทางแบรนด์จะมอบสนีกเกอร์รุ่นพิเศษให้ใส่ก่อนเป็นคนแรก ๆ หรือบางทีอาจจะไม่ได้วางขายสนีกเกอร์รุ่นนั้นเลยก็เป็นได้
- QS (Quickstrike) = กลุ่มรองเท้าสนีกเกอร์ที่วางขายเฉพาะร้าน ไม่ได้วางขายทั่วไป ความแสบกว่านั้นคือส่วนใหญ่จะไม่มีการประกาศวันขายล่วงหน้าด้วย ส่วนร้านที่วาง ปกติจะเป็นร้านค้าชั้นนำ หรือที่เรียกกันว่าร้านค้า Tier 0 ยกตัวอย่างร้านที่คนไทยเรารู้จักกันดีก็เช่น ร้าน Atmos และ Carnival เป็นต้น
- NRG (Energy) = กลุ่มรองเท้าที่ Exclusive มาก ๆ ทำออกมาน้อย หรือบางทีก็มีกติกาในการซื้อ ที่สำคัญคือราคาจะสูงกว่ารุ่นอื่น ๆ
Air Jordan 1 x Off White NRG ตัวอย่างสนีกเกอร์ในกลุ่ม NRG ที่ตอนนี้ราคาพุ่งสูงถึง 140,000 บาทเป็นที่เรียบร้อย
- PE (Player Exclusive) = กลุ่มรองเท้าคอลเลกชันพิเศษที่ทำออกมาให้นักกีฬาใส่เท่านั้น ไม่ได้เป็นรองเท้าที่นำออกมาวางจำหน่ายทั่วไป เป็นรองเท้าหายาก แต่บางครั้งก็อาจจะมีการนำออกมาวางจำหน่ายหลังจากนั้นไปแล้วก็ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะมีตัวอักษร PE ต่อท้ายชื่อรุ่น
- Beater = คำที่ใช้เรียกแทนสนีกเกอร์เฮดที่เป็นสายสมบุกสมบัน ใส่รองเท้าแบบไม่ต้องถนอม ต่อให้รองเท้าจะเลอะหรือสกปรกแค่ไหนก็ไม่ซี
- FSR (Full Size Run) = กลุ่มรองเท้าที่มีวางจำหน่ายครบทุกไซซ์ ตั้งแต่ไซซ์เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่
- Fufu (Fake) = ศัพท์สแลงที่ไว้ใช้เรียกรองเท้าของปลอม
- GOAT (Greatest of All Time) = สแลงที่ไว้ใช้เรียกรองเท้าที่ดีกว่าทุกรุ่นที่เคยมีมาทั้งหมด
- Grail = สแลงที่ไว้ใช้เรียกรองเท้าที่เราพยายามจะซื้อมัน ฟีลแบบอดอยากมานานเพื่อรองเท้าคู่นี้คู่เดียว !
- Holy Grail = ขั้นกว่าของ Grail เป็นสแลงที่ไว้ใช้เรียกรองเท้าที่กว่าจะได้มันมานั้นยากลำบาก (แต่ก็อยากได้มาก) เพ้อหาทุกวันจนถึงขั้นเก็บไปฝัน ! 😂
- Hyperbeast = ศัพท์สแลงไว้ใช้เรียกสนีกเกอร์เฮดประเภทที่ชอบไหลตามน้ำ ไม่มี Taste ที่ชอบเป็นของตัวเอง อาศัยซื้อเอาจากสิ่งที่มัน Popular อยู่แล้ว
Michael Jordan ภาพจาก NBA
- Jumpman = ศัพท์สแลงไว้ใช้อธิบายถึงไลน์เสื้อผ้า และรองเท้าของ Michael Jordan
- Uptowns = ศัพท์สแลงที่ใช้เรียกรองเท้า Nike Air Force 1 โดยมาจากความนิยมของรองเท้ารุ่นนี้ ที่ในอดีตเคยได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กตอนบน
- WDYWT (What do you wear today) = ศัพท์สแลงของชาวสนีกเกอร์เฮด ที่เอาไว้ถามถึงรองเท้าที่สวมในวันนี้
- Bred / Bread = ศัพท์สแลงที่หมายถึง Black and Red Colorways
- Heat = ศัพท์สแลงที่หมายถึงรองเท้าที่ได้รับความนิยมมาก เป็นไอเทมฮิต ไอเทมดัง ไอเทมที่คนพูดถึงและกำลังตามหาอยู่
- On Ice = ศัพท์สแลงที่หมายถึงรองเท้าที่ยังไม่ได้ใส่ ถูกเก็บไว้ในกล่องอย่างดี ฟีลเหมือนเนื้อที่ถูกแช่ฟรีซไว้ในตู้เย็น
💭 การรู้ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับวงการสนีกเกอร์ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของวงการสนีกเกอร์เพิ่มขึ้นแล้ว ข้อดีอีกอย่างของมันก็ไม่ต่างอะไรจากการ อัปเกรดเลเวล ของตัวเอง อย่างพวกคำศัพท์สแลงต่าง ๆ ที่บางคำ ก่อนหน้านี้อาจจะเคยถูกตีความหมายออกมาอย่างหนึ่ง แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นคำที่มีอีกความหมายหนึ่ง มันเลยทำให้ใครที่สนใจ หรืออยู่ในวงการนี้ต้องตามกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ให้ทัน เพื่อที่จะได้คุยกับคนที่มีหัวอกเดียวกันได้รู้เรื่อง และจะได้พัฒนาสกิลของตัวเองในวงการนี้ด้วย
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- เข้าใจหัวอกคนรักรองเท้า ผ่านซีรีส์ "Sneakerheads" ซีรีส์ที่จะทำให้เรากล้าทำตามเสียงหัวใจของตัวเอง !
- เปิดโพล "5 สนีกเกอร์ตัวเต็ง" ประจำปี 2023 แต่ละคู่บอกได้คำเดียวว่าเด็ด !
- ตัวตึงอยู่นี่แล้ว ! "Nike Dunk" ผ้าใบแห่งปี 2022 มีดียังไง ทำไมคนถึงตามล่าหาตัวกันนัก !
- คิดอะไรไม่ออก บอกคอนเวิร์ส ตำนานรองเท้าผ้าใบ ใส่ยังไงก็ไม่มีเอ้าท์ !
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ