SALOMON อดีต Local Brand จากประเทศฝรั่งเศส สู่แบรนด์ "แถวหน้า" ที่น่าจับตาในปี 2023
โดย : imnat

หากใครที่ได้อ่านคอนเทนต์รวมสนีกเกอร์ "ตัวเต็ง" ประจำปี 2023 ก่อนหน้านี้ของเรากันไปแล้ว (หรือถ้ายังไม่ได้อ่าน ก็สามารถกดเข้าไปอ่านได้ที่นี่) ซึ่งเนื้อหาของคอนเทนต์นั้น เราได้รวบรวมเอาบรรดารองเท้าสนีกเกอร์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในปี 2023 มาป้ายยาให้กับชาวสนีกเกอร์เฮดกันไปถึง 5 คู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่รองเท้าสนีกเกอร์จากแบรนด์ SALOMON แบรนด์เก่าแก่จากประเทศฝรั่งเศส
และสำหรับใครที่ยังไม่คุ้นชินกับแบรนด์ SALOMON หรือเคยเห็นหน้าค่าตาผ่านไป-ผ่านมาตามหน้าฟีด Instagram กันอย่างเดียว คอนเทนต์นี้ของเราจะพาทุกคนไปบุก เทือกเขาแอลป์ ดินแดนที่ให้กำเนิด Local Brand อย่าง SALOMON ที่กลายมาเป็นแบรนด์แถวหน้า ที่น่าจับตาในปี 2023 นี้
"จากลานสกี สู่แคตวอล์ก"
การบรรจบกันของ 2 โลกขั้วตรงข้าม
ย้อนกลับไปในปี 1947 ณ เมือง Annecy (อานซี) เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมืองเล็ก ๆ ที่ได้รับสมญานามว่า The Pearl of the French Alps หรือแปลเป็นไทยว่า ไข่มุกแห่งเทือกเขาแอลป์ เป็นที่ตั้งของกิจการขนาดเล็กที่รับผลิตใบเลื่อยและขอบสกี ของนาย Franςois Salomon (ฟร็องชัว ซาโลมอน) โดยมีผู้ช่วยทั้งหมด 2 คน ได้แก่ ภรรยา และลูกชาย
Georges Salomon ภาพจาก Salomon
Georges Salomon (ฌอร์ฌ ซาโลมอน) ลูกชายเพียงคนเดียวของฟร็องชัว ที่ตอนนั้นอยู่ในระหว่างการค้นหาตัวเอง ก็ได้เกิดความสนใจอยากจะพัฒนาสิ่งที่พ่อของเขาทำอยู่ทุกวี่ทุกวันให้ออกมาจริงจัง อีกทั้งยังต้องสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้มากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขา ปฏิเสธความฝันของพ่อ ที่อยากจะให้เขาเป็นครู ด้วยการตัดสินใจลงเรียนภาคค่ำในสาขาวิศวกรรม ก่อนจะได้ไอเดียในการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับการทำขอบสกีขึ้นมา แทนการที่พ่อของเขาจะต้องมา นั่งทำมือทีละชิ้น
จากไอเดียที่ผุดขึ้นมาในหัว ก็ได้เกิดเป็น Passion อันแรงกล้า
ที่ทำให้เขาอยากหันมาเอาจริงเอาจังกับอุปกรณ์การเล่นสกีมากขึ้น !
"Your guardian angel" คือสโลแกนที่ฌอร์ฌใช้ในการโปรโมท Binding หรือตัวล็อกรองเท้าสกีแบบหัว-ท้าย ที่เขาออกแบบขึ้นมาในปี 1957 โดยจุดประสงค์ของ Binding คือการเสริมความปลอดภัยในขณะที่เล่นสกี แถมความพิเศษของ Binding ที่เขาออกแบบนี้ คือ เมื่อเกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรง หรือเกิดการทรงตัวที่ ผิดท่า ตัว Binding จะทำการสะบัดหลุดออกจากรองเท้า เพื่อเซฟไม่ให้ข้อเท้าของเราเกิดพลิกหรือว่าหักขึ้นมา
หน้าตาของ Binding หรือตัวล็อกรองเท้าที่ฌอร์ฌออกแบบ ภาพจาก Salomon
ในช่วงแรกนั้น ตัว Binding ที่ฌอร์ฌออกแบบ ถูกนำมาวางขายเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศสกับสวีเดน แต่ทว่าภายในปีเดียว อุปกรณ์ที่เรียกว่า Binding จากยี่ห้อ SALOMON ก็ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จนทำให้แบรนด์สามารถทะยานขึ้นสู่ อันดับ 1 ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์สกี ที่สำคัญแม่แบบที่ใช้ในการออกแบบตัว Binding ณ ตอนนั้น ยังได้ถูกนำมาใช้กันจนถึงทุกวันนี้
รองเท้าเดินป่ารุ่นแรกของ SALOMON ภาพจาก Salomon
หลังจากผลักดันตัวเองจนกลายมาเป็นที่ 1 ในฐานะแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีเป็นที่เรียบร้อย ฌอร์ฌก็ได้พา SALOMON เดินหน้าต่อด้วยการ เปิดตัวรองเท้าเดินป่า ในปี 1992 ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าตัวแรกที่ แหกคอก ออกมาจากบรรดาอุปกรณ์การเล่นสกีที่เขาเคยทำ ซึ่งเจ้ารองเท้าเดินป่าคู่นี้ก็ได้ทำกระแสตอนเปิดตัวเอาไว้อย่างดี จนทาง The New York Times ถึงขั้นเขียนอวยไว้เลยว่า
Hiking Into the Future With a Lighter Boot.
ก้าวไปสู่อนาคต กับรองเท้าบูตที่เบากว่า
ความปังยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น ในปีเดียวกัน SALOMON ยังรับหน้าที่เป็น ผู้สนับสนุนหลัก ให้กับการแข่งขันกีฬา The Albertville Olympic Games หรืองานโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งหน้าที่ของ SALOMON นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ในการแข่งขันแล้ว SALOMON ยังรับหน้าที่ในการออกแบบรองเท้าให้กับ Edgar Grospiron (เอ็ดการ์ กรอสปิรง) นักสกีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาก็ได้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ด้วย !
ในปี 1997 ทาง SALOMON ได้จับอุปกรณ์กีฬาฤดูหนาว ชนิดใหม่ อย่างกีฬา Snowboard ซึ่งการแตกไลน์ใหม่ในครั้งนี้ SALOMON ก็ได้มาพร้อมกับชื่อแบรนด์ใหม่อย่าง Bonfire เพื่อที่จะได้แยกตัวออกจากกีฬาสกีแบบชัดเจน หลังจากเปิดตัว Bonfire ไปได้ไม่นาน ก็มีสินค้ารวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับการเล่นกีฬาสโนว์บอร์ดถูกปล่อยออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าบูต แผ่นสโนว์บอร์ด รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย
🔍 Did you know ?
ต่อให้กีฬาสโนว์บอร์ดกับสกีจะเป็นกีฬาที่นิยมเล่นในช่วงหน้าหนาวเหมือนกัน แต่ทว่ากีฬาทั้งสองชนิดนี้ มี ความแตกต่างกัน อยู่นะ สำหรับความแตกต่างระหว่างกีฬาสโนว์บอร์ด กับสกี จะวัดกันตรงที่ "แผ่นกระดาน" ที่ใช้ในการเล่น
- ถ้าเป็น กีฬาสกี ผู้เล่นจะทรงตัวอยู่บนกระดาน 2 แผ่น คือเท้าขวา 1 แผ่น และเท้าซ้าย 1 แผ่น ซึ่งการทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานที่แยกออกจากกันนี้ ทำให้กีฬาประเภทสกีจะมีความ "ง่ายกว่า" ทั้งในแง่ของการเล่นและการทรงตัว
- ตัดภาพมาที่ กีฬาสโนว์บอร์ด ต่อให้จะเป็นการทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานเหมือนกัน แต่ทางด้านของสโนว์บอร์ดนั้น ผู้เล่นจะต้องทรงตัวอยู่บนกระดานแผ่นเดียว การควบคุมทั้งการทรงตัวและทิศทางเลยจะ "ยากกว่า" กีฬาประเภทสกี เอาง่าย ๆ คือ ต่างกันที่จำนวนแผ่นของกระดาน จบปึ้ง !
ภาพเปรียบเทียบชนิดกีฬาระหว่าง "สกี และสโนว์บอร์ด"
หลังจากเปิดตัวรองเท้าเดินป่าในปี 1992 สิบปีต่อมา SALOMON ก็ได้เดินหน้าขยายไลน์อุปกรณ์กีฬาประเภท Adventure Outdoor ต่อ ด้วยการเปิดตัวรองเท้าสำหรับ Trail-Running หรือการวิ่งในลักษณะผจญภัย ซึ่งลักษณะของตัวรองเท้าที่ออกมา ต่อให้จะมีกลิ่นอายของรองเท้าวิ่งแบบจ๋า ๆ แต่มันก็มีความแตกต่างจากรองเท้าวิ่งธรรมดาอยู่
XA PRO หรือรองเท้าวิ่งเทรลรุ่นแรกของ SALOMON ถูกออกแบบมาให้ซัปพอร์ตกับการวิ่งในลักษณะผจญภัย มากกว่า การวิ่งบนพื้นราบธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นตัวดอกยางของพื้นรองเท้าที่มีลักษณะนูนออกมา แทนที่จะมีการสโลปเข้าไปเหมือนดอกยางของรองเท้าวิ่งทั่วไป การใช้ตัวผ้าที่มีคุณสมบัติในการระบายเหงื่อที่มากกว่า รวมไปถึงหลักการออกแบบตัวรองเท้า พื้นรองเท้า รวมไปถึงองศาของรองเท้าต่าง ๆ ที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์และซัปพอร์ตสำหรับการวิ่งเทรลที่แท้ทรู
โฉมหน้าของรองเท้ารุ่น XA PRO ภาพจาก Salomon
อ่านกันมาจนถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะจับสังเกตกันได้อย่างหนึ่งแล้วว่า พักหลัง ๆ มานี้ SALOMON ดูเหมือนจะถอยห่างจากอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีออกไปเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าใกล้จะวางมือแล้วหรือเปล่า ? แต่เรากลับไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะถ้าเทียบกระแสความนิยมในหมู่ของคนที่เล่นสกีแล้ว SALOMON ยังคงเป็นที่ 1 ของแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์สกี แถมยังมีการผลิตสินค้าออกมาขายให้กับหมู่ของคนที่เล่นสกีอยู่เรื่อย ๆ
แต่ที่เราเห็น SALOMON เริ่มมีการเปิดตัวรองเท้าสำหรับใส่ทำกิจกรรม Outdoor ออกมามากขึ้นในพักหลัง ๆ นี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ตั้งแต่ที่ Adidas ทำการขายกิจการ SALOMON ให้กับ Amer Sports ไปในปี 2005 ทางเจ้าของคนใหม่ก็ได้มีความมุ่งมั่น และอยากจะปั้นให้ SALOMON เป็นที่ 1 ของแบรนด์รองเท้าประเภท Outdoor ด้วยเช่นกัน
SALOMON XT-6
หลังจากทำการบ้านมาอย่างหนักหน่วง ไลน์รองเท้าเทรลของ SALOMON ก็ได้งอกรุ่นใหม่ออกมาในปี 2013 โดยมาในชื่อรุ่นว่า XT-6 ที่ทาง SALOMON ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า XT-6 เป็นรองเท้าสำหรับการวิ่งเทรล "ในระยะทางยาว" ซึ่งภาพลักษณ์ของรองเท้ารุ่นนี้ก็ยังคง เอกลักษณ์เฉพาะตัว ของ SALOMON ไว้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ตัวเชือกรองเท้า แล้วไหนจะโทนสีต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับลูกเล่นประหลาดตา เป็น Signature ที่เห็นปุ๊บ ก็รู้ปั๊บว่านี่คือรองเท้าของ SALOMON
โดยความสำเร็จของรองเท้ารุ่นนี้ ก็ได้ทำให้ SALOMON ขึ้นแท่นเป็น มาสเตอร์ของวงการรองเท้ากีฬาประเภท Outdoor ไปในทันที แถมยังถูกพูดถึงมากกว่าอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีไปในที่สุด
เราจะเห็นได้ว่าชื่อเสียงของ SALOMON ณ ตอนนั้น
แทบไม่ต่างอะไรจากน้ำหอมประเภท Niche
ที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม ยังไม่สามารถเข้าถึงคนได้ "ทั่วถึง" เหมือนอย่างเช่นปัจจุบัน แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ 2 ขั้วตรงข้ามโคจรมาบรรจบกันเข้า คำตอบนั้นอยู่นี่แล้ว...
ภาพบรรยากาศหน้าร้าน The Broken Arm ภาพจาก The Broken Arm
มีอยู่วันหนึ่งได้มีลูกค้าเดินเข้าไปถามหารองเท้าเดินป่ายี่ห้อ SALOMON ที่ร้าน The Broken Arm ร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นแห่งหนึ่ง ในประเทศฝรั่งเศส วินาทีนั้นเป็นครั้งแรกที่ทาง The Broken Arm รับรู้ถึงการมีอยู่ของ SALOMON ส่วนทางด้านของ SALOMON ที่ไม่เคยคิดว่าสินค้าของตัวเองจะมีอิทธิพลในสายแฟชั่น ก็ได้ทำให้ทาง SALOMON เห็นถึงความสำคัญของแบรนด์ รวมไปถึง "ความเป็นไปได้" ของแบรนด์ในวงการอื่น ๆ มากขึ้น
นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ในปี 2016 ทาง SALOMON ตัดสินใจว่าจ้างพนักงานในตำแหน่ง ผู้จัดการรองเท้าไลฟ์สไตล์ เข้ามาช่วยออกแบบและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรองเท้า SALOMON ให้ออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น โดยนำจุดแข็งเดิมอย่าง Performance และ Design มาผนวกเข้ากับโลกใบใหม่อย่าง Fashion จนกลายเป็นส่วนผสมใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมา
Sarah Dahl และ Josefine Lynderup สองนางแบบที่สวมรองเท้า SALOMON ระหว่างการไปเดินแฟชั่นโชว์ ภาพจาก Vogue
SALOMON ได้เดบิวต์ตัวเองบนเส้นทางสายแฟชั่นในฐานะ The Best Sneaker Street Style จากงาน New York Fashion Week ประจำปี 2019 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปูพรมให้ SALOMON สามารถเดินเข้าสู่แคตวอล์กได้แบบภาคภูมิใจ ซึ่งหลังจากนั้นทางแบรนด์ก็ได้มีโอกาสปล่อยคอลเล็กชันพิเศษที่ทำร่วมกันกับแบรนด์ดังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Broken Arm, And Wander, Palace, Maison Margiela ไปจนถึง COMME DES GARÇONS ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ออกไปเรื่อย ๆ
แต่เห็นแบบนี้ ทาง SALOMON ก็มี กฏในการคอลแลปส์ อยู่นะ โดยแบรนด์ หรือร้านค้าที่ต้องการจะร่วมงานกับ SALOMON จะต้องรับให้ได้ กับตัวตนของแบรนด์ เพราะ SALOMON จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อใคร ซึ่งนั่นถือว่าเป็นแนวคิดที่ทางแบรนด์ต้องการจะซื่อสัตย์กับตัวเองนั่นเอง
ต่อให้จะดูจุกจิก หรือมีความเป็นตัวของตัวเองมากแค่ไหน แต่ฐานความนิยมของ SALOMON ก็ไม่ได้ลดหลั่นลงเลย ถึงแม้ว่ากระแสการขยับขยายจากแบรนด์ Outdoor มาสู่สินค้าประเภท Lifestyle และ Luxury ในตอนนี้จะมีตัวอย่างมาให้เห็นกันเรื่อย ๆ ซึ่งบางแบรนด์ก็อาจจะขึ้นสุด แล้วลงสุดไปเลยทันที แต่ความแตกต่างของ SALOMON นี้คืออะไร ทำไมถึงสามารถซื้อใจคนได้เรื่อย ๆ นี่แทบไม่ต้องพูดถึงทุกวันนี้เลยด้วยซ้ำ ถ้าถึงขั้นเป็นแบรนด์แถวหน้าที่น่าจับตาของปี 2023 ได้ SALOMON จะต้อง "มีของดี" ที่มากกว่าภาพลักษณ์ที่ดูแตกต่างนี้อย่างแน่นอน
คอลเล็กชัน MM6 Maison Margiela จากเวที Milan Fashion Week SS23
การคอลแลปส์ด้วยกันครั้งที่ 2 ระหว่าง Maison Margiela และ SALOMON ภาพจาก hypebeast
ถ้ามีดีแค่สไตล์ นานไปคนอาจเบื่อ
แต่โทษที SALOMON ดัน "มีดี" มากกว่านั้น !
ต่อให้คนส่วนใหญ่จะมองว่า SALOMON คือแบรนด์ที่เน้นขายแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทางแบรนด์คำนึงถึงกลับเป็น Benefit ในแง่ของการใช้งาน มากกว่าภาพลักษณ์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเราลองตัดเรื่องของภาพลักษณ์ออกไป เราจะเห็นได้ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ SALOMON โดดเด่นและพัฒนามาได้อยู่ตลอด สิ่งนั้นก็คือ นวัตกรรม และไอเดียอันชาญฉลาด ในการออกแบบตัวสินค้า ที่ได้ผ่านการทำการบ้านมาอย่างหนัก เพื่อที่จะหาทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้าประเภทนั้นจริง ๆ
นับตั้งแต่แรกเริ่มเลยก็คือ อุปกรณ์การเล่นสกี อย่างที่เรารู้กันไปแล้วกับไอเดียในการออกแบบ Binding ที่เมื่อเกิดแรงกระแทกปุ๊บ ตัว Binding จะทำการสะบัดออกจากรองเท้าของผู้เล่นทันที ซึ่งความตั้งใจในการแก้ปัญหาตรงนี้ ทำให้คนเล่นสกี สามารถมีความสุขกับกิจกรรมนั้น ๆ ได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บและเกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งยังทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ กล้าเปิดใจและเข้าถึงกีฬาประเภทสกีได้ง่ายขึ้นด้วย
รวมไปถึง รองเท้าวิ่งเทรลและเดินป่า ที่เมื่อเทียบสัดส่วนกับรองเท้าประเภทที่ใส่ได้ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ แล้ว โอกาสในการซื้อมาใช้งานซ้ำ ๆ นับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก บางคนอาจจะซื้อมาไว้แค่คู่ - สองคู่เท่านั้นจบ แต่สิ่งที่ทำให้ฐานลูกค้าเดิมมีการวนกลับมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อย ๆ รวมไปถึงฐานลูกค้าใหม่ที่มีความตื่นตาตื่นใจให้กับสินค้าประเภทรองเท้าวิ่งเทรลและเดินป่าจาก SALOMON ได้ตลอด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ นวัตกรรมการออกแบบรองเท้าที่มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
ยกตัวอย่างรองเท้า SALOMON ไลน์ Predict ที่ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล ทำวิจัย และพัฒนา จนกลายมาเป็น รองเท้าที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวเข่า ขณะใส่ทำกิจกรรมไม่ว่าจะเดินป่า ปีนเขา หรือว่าวิ่งเทรล ที่หลายคนคงจะพอรู้กันดีอยู่แล้วว่า ลักษณะของกิจกรรมประเภท Outdoor Adventure ไม่ใช่แค่การเดินหรือวิ่งอยู่บนพื้นราบเฉย ๆ แต่มันเป็นกิจกรรมในลักษณะผจญภัยที่เราจะต้องเจอกับแรงกระแทก การกระโดด หรือการสไลด์ตัวอะไรต่อมิอะไรเป็นธรรมดา
ซึ่งรองเท้าไลน์ Predict นี้ เป็นการนำเอาปัญหาที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เจอเวลาที่สวมรองเท้าที่ไม่ตอบโจทย์กับกิจกรรมนั้น ๆ อย่างอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณเข่า อาการข้อเท้าพลิก หรืออาการปวดเมื่อยเรื้อรังทั้งหลาย มาทำการวิจัย ก่อนที่จะเกิดเป็น เทคโนโลยีในการออกแบบพื้นรองเท้าตามสรีระอย่าง Anatomical Decoupling ของ SALOMON ที่จะช่วยลดอาการปวดเข่า หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสะสมในขณะที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ นี้ได้
SALOMON Predict Hike Gore-Tex ตัวอย่างรองเท้าไลน์ Predict ของ SALOMON
ซึ่งนี่เป็นเหมือนการ Stay in touch กับกลุ่มลูกค้าของ SALOMON อยู่เสมอ เมื่อมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ออกมา มันเลยทำให้เราตัดสินใจ ซื้อซ้ำ ได้ไม่ยาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะจุดแข็งในเรื่อง Performance นี่แหละ ที่เป็นเหมือนการเชื่อมโยงกันระหว่างรองเท้ากับคนใส่ จนกลายเป็นแรงส่งทำให้ SALOMON ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะถ้ามีดีแค่สไตล์ แต่รองเท้าสวมไม่สบาย ไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรกับการใช้งาน นานวันไปกระแสของมันก็หดหาย แต่เพราะจุดแข็งตรงนี้เลยทำให้ SALOMON ถูกพูดถึง และได้รับความนิยมอยู่เรื่อย ๆ แม้จะไม่หวือหวามาก แต่ทว่ามั่นคงอย่างแน่นอน !
รุ่นเดอะวัย 75 ที่ยังคงตื่นเต้นกับ "วันพรุ่งนี้" ของตัวเองเสมอ
แม้ว่าหน้าตาของรองเท้า SALOMON แต่ละคู่ จะคงเอกลักษณ์ไว้ที่ Pattern คล้าย ๆ เดิม แต่ปู่วัย 75 ย่าง 76 อย่าง SALOMON นี้ยังมีความตื่นเต้น และต้องการจะนำเสนออะไรที่มั่นคง และสามารถให้ประโยชน์กับผู้สวมใส่ในระยะยาวต่อไป
และต่อให้หลายคนอาจจะมองว่า SALOMON เป็นแบรนด์ที่ดังได้เพราะความฟลุกก็ตาม แต่ถ้ามานั่งไล่ดูกันจริง ๆ เราจะเห็นได้ว่าต่อให้จะมีการคอลแลปส์กับแบรนด์ดังต่าง ๆ ก็จริง แต่บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำให้ SALOMON เป็นกระแสขึ้นมาได้ขนาดนั้น และต่อให้ ณ ตอนนี้ SALOMON เป็นแบรนด์ที่สามารถทำกระแสได้ดีในวงการสตรีทแฟชั่น แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว รากฐานของ SALOMON คือแบรนด์กีฬา ที่สำคัญคือ SALOMON ไม่เคยทิ้งตัวตนเดิมที่มีรากฐานมั่นคงอยู่แล้ว มาโฟกัสกับกระแสที่มีเข้ามาแล้วก็ผ่านไป เพราะสิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป คือตัวตนของ SALOMON ในฐานะแบรนด์กีฬาที่มีรากฐานอย่างมั่นคงมากกว่า
ดังนั้นสิ่งที่ปู่วัย 75 ย่าง 76 กำลังให้ความสนใจอยู่ในตอนนี้และหลังจากนี้ ก็คือคุณภาพ และความพยายามที่จะทำให้สินค้าต่าง ๆ ของตัวเองดีขึ้นในทุกวัน สิ่งที่ SALOMON ทำ ไม่ใช่การเดินเข้าหา แต่ SALOMON พยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนหันมาสนใจ และพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ว่าทำไม มันถึงควรค่าแก่การมี
💭 เหตุผลที่ทำให้ SALOMON เป็นแบรนด์ที่อยู่ในความสนใจของคนตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ รวมไปถึงหลังจากนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ผลกระทบที่มาจากโควิด ที่เป็นธรรมดาหลังจากเราเป็นอิสระจากมันแล้ว การออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ก็เป็นอีกหนึ่งความ โหยหา ที่หลายคนรอคอยเวลานี้กันมานาน
ซึ่งในอุตสาหกรรมอย่างรองเท้าสนีกเกอร์ รวมไปถึงเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ล้วนก็ได้รับอานิสงค์จากอิสระในครั้งนี้ไปแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าประเภท Outdoor รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นที่อยู่นอกกระแสก็ได้รับผลพลอยได้ไปกับเขาด้วย เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ เริ่มเบื่อกับความซ้ำซากและจำเจ ถ้ามองในมุมของรองเท้า นับได้ว่ามีหลายแบรนด์มาก ๆ ที่แจ้งเกิดหลังจากช่วงโควิดผ่านพ้นไป อาทิ Hoka, Crocs, Keen, New Balance รวมไปถึง SALOMON
ถ้าถามเหตุผลของเรานะ ส่วนตัวเราว่าการที่ SALOMON ตกคนได้มากขนาดนี้ น่าจะมาจากกลุ่มคนประเภทที่ชอบเปิดใจให้กับอะไรใหม่ ๆ ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ หรือที่เรียกว่า Tastemaker ทำให้อะไรที่ไม่คิดว่าจะอยู่ในความสนใจ ก็สามารถดึงดูดทำให้พวกเขาสนใจขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ แบรนด์แถวหน้าที่น่าจับตาในปี 2023 อย่าง SALOMON นี่เอง
"What fascinates me,
is what I will do TOMORROW."
อะไรที่ทำให้ฉันตื่นเต้นกับมันมากที่สุด
ก็สิ่งที่ฉันจะทำมันในวันพรุ่งนี้ยังไงล่ะ !
- Georges Salomon
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- เปิดโพล "5 สนีกเกอร์ตัวเต็ง" ประจำปี 2023
- "Nike Dunk" ผ้าใบตัวตึง รีเซลแต่ละที ทำไมถึงได้แพ๊งแพง ?
- "Sneakerheads" จากโมเมนต์สำคัญของชีวิต สู่ซีรีส์ที่คน "คลั่ง" สนีกเกอร์ไม่ควรพลาด !
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mailchimp, salomon, mastershoe, highnoblety, complex และ ssense
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)