หนังสือชีวิตเล่มสุดท้ายของ 'แตงโม นิดา' ที่สังคมไทยต้องอ่าน

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer2 มี.ค. 2565 avatar writer1.3 K
หนังสือชีวิตเล่มสุดท้ายของ 'แตงโม นิดา' ที่สังคมไทยต้องอ่าน

 

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นที่กลายเป็น Talk of the Town กรณีที่ 'แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์' นักแสดงสาวพลัดตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และสังคมต่างภาวนาให้เธอปลอดภัยจน #แตงโม ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ติดต่อกันหลายวัน แม้สุดท้ายจะไม่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นและกลายเป็นข่าวเศร้าของวงการบันเทิง ก่อนอื่น 'เปย์เป้' ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและแฟนคลับในการสูญเสียครั้งนี้ และเราจะมาถอดบทเรียนพร้อมเรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ อย่างที่ดาราสาวเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการคุยแซ่บShow ว่า...

 

"ถ้ามองโม เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ถ้าอ่านและวิเคราะห์ได้ดี เขาจะได้อะไรดี ๆ ไปเยอะมาก"

 


 

เรือสปีดโบ๊ต

 

ถอดบทเรียนที่ 1 ข้อเท็จจริงกรณีสปีดโบ๊ต เรือลำสุดท้ายของ 'แตงโม นิดา'

 

สปีดโบ๊ต (Speed Boat) คือเรือลำเล็กที่จดทะเบียนประเภทการใช้งานโดยสารเพื่อความสำราญและกีฬา ภายในสปีดโบ๊ตถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับการสังสรรค์ต่าง ๆ ทั้งการทานอาหาร หรือจิบเครื่องดื่ม จึงเป็นเรือที่นิยมใช้ท่องเที่ยวแบบเช่าเหมาลำ เพื่อล่องแม่น้ำหรือข้ามเกาะ เช่นเดียวกับเรือที่ 'แตงโม' ดาราสาวโดยสารไป เป็นเรือยี่ห้อ Cobalt รุ่น 25SC ที่มีการตกแต่งและฟังก์ชั่นรองรับการพักผ่อน และมีห้องน้ำอยู่ทางด้านซ้าย หน้าเบาะของผู้โดยสารด้วย 🚤 

 

รู้ก่อนซื้อ 'สปีดโบ๊ต' ไว้ครอบครอง

 

  • ผู้ที่จะครอบครองเรือสปีดโบ๊ตต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้อง
  • ผู้ขับเรือจะต้องสอบใบอนุญาตอบรมทำใบขับขี่เรือ (ใบ ปก.)
  • เอกสารจดทะเบียนเรือสปีดโบ๊ต จะต้องมีการตั้งชื่อเรือ มีใบซื้อขาย หรือเอกสารการได้มาของตัวเรืออย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้ บนเรือจะต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย และผู้ควบคุมเรือจะต้องแจ้งผู้โดยสารให้สวมใส่ชูชีพตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือที่มีขนาดเล็กและมีดาดฟ้าเปิด เพราะการออกมาจากตัวเรืออาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากพบผู้โดยสารไม่สวมใส่ชูชีพ กรมเจ้าท่าสามารถเอาผิดกับผู้ควบคุมเรือในฐานะที่ปล่อยปละละเลยผู้โดยสาร ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ตามมาตรา 291 ฐานะนายเรือไม่ปฏิบัติหรือหย่อนความสามารถ หรือประพฤติไม่สมควรแก่หน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน กรมเจ้าท่ามีอำนาจงดใช้ หรือยึดใบอนุญาตใช้เรือตามกฎหมายที่กรมเจ้าท่ากำหนด

 


 

แตงโม นิดา

 

ถอดบทเรียนที่ 2 ข้อเท็จจริงกรณี 'แตงโม นิดา' กับเสื้อชูชีพ 

 

จากอุบัติเหตุการพลัดตกเรือของ 'แตงโม นิดา' ทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเสื้อชูชีพที่ควรสวมใส่ขณะโดยสารเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือข้ามฟาก เรือข้ามเกาะ รวมถึงเรือสปีดโบ๊ต เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดจะเกิดขึ้นเมื่อไร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของชีวิตก็ต้องคำนึกถึงการสวมชูชีพให้มาก

 

เคล็ดไม่ลับใส่ 'เสื้อชูชีพ' ให้ถูกวิธีและปลอดภัย

 

  • เมื่อสวมเสื้อชูชีพให้ใส่ตัวล็อคให้ครบทุกจุด
  • ใส่ 'หางปลา' หรือตัวล็อคที่รั้งขา โดยการลอดใต้ระหว่างขาแล้วมาล็อคที่ด้านหน้า เพื่อไม่ให้เสื้อชูชีพลอยขึ้น และหลุดออกจากตัวได้
  • ปรับสายให้แน่นพอดี โดยไม่หลวม หรือไม่แน่นจนเกินไป หากทำถูกต้องจะรู้สึกมีน้ำหนักถูกกดลงที่บริเวณไหล่ หรือบ่า
  • เก็บปลายสายให้เรียบร้อย ด้วยการสอดแนบไปกับเส้นเดิมตามลำตัว เพื่อป้องกันการไปเกี่ยวพันกับสิ่งรอบตัวได้
  • ในกรณีฉุกเฉินและต้องการขอความช่วยเหลือสามารถเป่า 'นกหวีด' ที่อยู่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย หรือกระเป๋าเสื้อชูชีพได้

 


 

แชร์ภาพศพ

 

ถอดบทเรียนที่ 3 ข้อเท็จจริงกรณี ‘แตงโม นิดา' กับกฎหมายแชร์ภาพและการให้เกียรติ

 

แม้ก่อนหน้านี้ เพื่อนสนิทของนักแสดงสาว 'แตงโม นิดา' จะออกมาให้สัมภาษณ์พร้อมขอร้องกับสื่อเรื่องการเผยแพร่ภาพว่า "โม เคยพูดไว้ว่า ไม่อยากให้ใครเจอโมตอนไม่สวย ฮิปโปขอ หากเจอโม อย่าถ่ายหน้าโมนะ เพราะอยากให้ทุกคนจดจำโมในภาพที่สวยงามแบบนี้" แต่ก็ยังมีกลุ่มคนในโซเชี่ยลที่ไม่น่ารักพยายามแชร์ภาพร่างลงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า การถ่ายหรือแชร์ภาพของบุคคลที่จากไปอย่างไม่ให้เกียรติและไม่ได้รับอนุญาต ผิดกฎหมายร้ายแรงถึงขั้นติดคุกได้ 😱 

 

แชร์ภาพศพผิดกฎหมายหรือไม่ ?

 

ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/4 ระบุว่า "ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ"

 

ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่เข้าลักษณะหรือองค์ประกอบการดูหมิ่นศพ ต้องถือว่ามีความผิดทางอาญาที่จะต้องรับโทษ แม้ว่าศาลฎีกาให้ความหมายของคำว่า "ดูหมิ่น" หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4327/2540 หรือแนววินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2498 การดูหมิ่นเหยียดหยามศพ

 

เมื่อไม่มีองค์ประกอบคำว่า "ซึ่งหน้า" เหมือนเช่นมาตรา 393 ก็ตาม การดูหมิ่นเหยียดหยามศพลับหลังก็เป็นความผิดได้หรือถ่ายรูปศพประจานออกสื่อสาธารณะ หรือแชร์ภาพศพแล้วเขียนข้อความดูหมิ่น ก็อาจผิดฐานนี้ได้ การกระทำใด ๆ ยังรวมถึงการกระทำทางกายภาพอื่น ๆ เช่น เจตนาวางศพในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ก็น่าจะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพเช่นกัน

แม้ว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีคำพิพากษาของศาลวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า การแชร์ภาพศพผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้การแชร์ภาพจะเป็นการกระทำ แต่จะเข้าข่ายดูหมิ่นศพหรือไม่ก็ตามนั้นยังไม่มีแนวคำวินิจฉัยศาลออกมาเป็นบรรทัดฐาน แต่ก็สุ่มเสี่ยงในการแชร์หรือโพสต์ และหากมีการฟ้องร้องและศาลมีคำพิพากษาออกมาว่าการแชร์ภาพศพ เข้าข่ายดูหมิ่นแล้ว ก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย ญาติผู้ตายสามารถฟ้องร้องได้ โดยอาศัย มาตรา 366/4 ตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว หากการแชร์ออกไปมีลักษณะเข้าข่ายการดูหมิ่นศพ ก็มีความผิดและต้องรับโทษ

 


 

การจากไปของ 'แตงโม นิดา' อาจยังไม่ได้ข้อสรุปถึงสาเหตุของการพลัดตกเรือที่แน่ชัด แต่ก็ทำให้สังคมได้รับรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากตัวเธอ ทั้งการเป็นแบบอย่างการแสดงในวงการบันเทิง หรือความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ หรือการไม่เกี่ยงงานหนักเอาเบาสู้ แต่เธอก็สามารถทำออกมาได้ดีที่สุดในทุกด้าน วันนี้ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่คอยแบกรับภาระหน้าที่หลายอย่างจะไม่ต้องเหนื่อยอีกต่อไปแล้ว 'เปย์เป้' ขอแสดงความไว้อาลัยอีกครั้ง ขอให้เธอได้พักผ่อนอย่างสงบ Rest In Peace 🖤 

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์springnewsMahidol Channeltrekkingthai

แสดงความคิดเห็น