อ่านให้ได้เรื่อง! ฉายสูตรการทำงานแบบฉบับ "เสด็จพ่อโนแลน"
โดย : Ying
คริสโตเฟอร์ โนแลน
ชายผู้นี้ดุจสวรรค์บรรจงสร้าง
📽️
Oppenheimer / Dunkirk / Tenet / Interstellar / Inception / The Dark Knight Rises /
The Dark Knight /Batman Begins / Following / Memento / Insomnia / The Prestige
: 12 ผลงานผ่านมือ คริสโตเฟอร์ โนแลน
คริสโตเฟอร์ โนแลน หรือในวงการหนังเรียกเขาว่า เสด็จพ่อโนแลน เขาคือผู้กำกับผู้อยู่เบื้องหลังหนังทำเงินระดับพันล้านเหรียญสหรัฐถึง 2 เรื่อง และผลงานล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาอย่าง Oppenheimer ก็มีรายได้แตะ 800 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว (รายได้ ณ วันที่ 30/08/66) หนังทุกเรื่องที่ผ่านมือเสด็จพ่อโนแลนมักจะสร้างกระแสได้เสมอ ทุกฉาก ทุกตอน ทุกการกระทำล้วนถูกหยิบมาเป็นประเด็น หยิบมาวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง อีกทั้งเขายังเป็นผู้กำกับที่นักแสดงเบอร์ต้นของวงการอยากร่วมงานด้วย ถึงขั้นยอมลดเงินค่าตัวกันเลยทีเดียว
ด้วยความเป็นคนฝีมือขั้นเทพดุจพระเจ้าสร้างของโนแลนนั้นไปสะดุดใจทำให้ Tom Shone (ทอม โชน) นักเขียน/นักวิจารณ์ภาพยนตร์ประจำหนังสือพิมพ์หลายฉบับ และเขายังเขียนบทวิจารณ์หนังลงนิตยสารอีกหลายฉบับ อยากจะขอสัมภาษณ์รวมถึงเขียนหนังสือถึงเขาสักเล่ม ทอม โชน พยายามจะขอสัมภาษณ์โนแลนอยู่หลายปี จนในที่สุดโนแลนก็ยอมให้สัมภาษณ์ ซึ่งทอม โซน ก็ใช้เวลาติดตามเขาอยู่นานถึง 3 ปี และหนังสือ The Nolan Variations: The Movies, Mysteries, and Marvels of Christopher Nolan ก็วางแผงได้สักที
ภาพกระบวนการทำงานของโนแลน และทีมงาน
The Nolan Variations
ฉายสูตรวิถีการทำงานแบบคนเลิศๆ
📽️
หลังจากที่ได้นั่งอ่าน นอนอ่านไปได้เพียง 30 หน้า ก็ได้ข้อสรุปแล้ว 1 ข้อว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติ แต่เป็นหนังสือที่พูดถึงความคิด แรงบันดาลใจ การทำงานของโนแลนซะมากกว่า และหลังจากที่ได้อ่านไปจนจบเล่ม ต้องบอกเลยว่าทึ่งในตัวผู้กำกับคนนี้เป็นอย่างมาก ทึ่งในความคิดความอ่าน ไอเดียสุดบรรเจิด ความเป็นคนช่างจำ และยิ่งไปกว่านั้นถ้าเรามองโนแลนแบบพนักงานทั่วไป เราจะค้นพบว่าวิธีการทำงานของเขานั้นน่าสนใจ และเป็นวิธีการทำงานที่น่านำมาปรับใช้กับชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งบทความนี้ก็ได้รวบรวมการทำงานตามวิถีโนแลนไว้ 7 ข้อดังนี้
- แหวกทุกความเคยชิน ถีบตัวเองออกจาก safe zone ลุยกับงานที่ยากกว่า
โนแลนได้เล่าไว้ในหนังสือ The Nolan Variations ในตอนต้นๆ ถึงช่วงของการเสนอไอเดียให้กับค่ายหนัง ในช่วงที่เขายังเป็นผู้กำกับหน้าใหม่อยู่ ซึ่งปกติแล้วหนังที่ผู้กำกับหน้าใหม่มักจะหยิบขึ้นมาทำก็จะเป็นหนังแฟรนไชส์ หนังภาคต่อ ที่เคยมีออกฉายผ่านจอมาแล้วซะมากกว่า เหตุผลก็ไม่พ้นเรื่องของความกลัว แต่สำหรับโนแลนเขาไม่คิดแบบนั้นเลย เขาแหวก safe zone ของผู้กำกับหน้าใหม่ แล้วนำเสนอหนังที่เขาอยากจะทำ หนังที่เขามั่นใจว่าจะออกมาดีแทน
การเป็นคนมี safe zone ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับการทำงานแล้วการอยู่ใน safe zone ตลอดไปอาจส่งผลให้ไม่เกิดการพัฒนา ด้วยโลกใบนี้ไม่เคยย่ำอยู่กับที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ผุดขึ้นมาแบบตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นการเป็นคนรู้จักปรับรู้จักเปลี่ยนแบบที่โนแลนทำ จะส่งผลให้สกิลการทำงานเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจะเป็นคนที่มีฝีมือด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น และเราจะวิ่งตามทันโลกทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
ภาพบรรยากาศการถ่ายทำของโนแลน และทีมงาน
- จัดหนัก ใส่เต็ม เก็บทุกรายละเอียด ตรวจเช็กทุกขั้นตอน
โนแลนเป็นคนเต็มที่กับทุกงานจริงๆ มีหลายตอนในหนังสือที่เขาเล่าถึงการทำงานของเขา มันทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่ใส่ใจทุกรายละเอียด โดยปกติแล้วผู้กำกับจะมีผู้ช่วย แบ่งเบางานในกองถ่าย หรือจะเรียกว่ากองถ่ายหลัก และกองถ่ายรอง แบบผู้กำกับดูแลฉากใหญ่ รองผู้กำกับดูแลฉากเล็กๆ อะไรก็ว่าไป แต่สำหรับโนแลนคือไม่ ทุกขั้นตอนที่ถ่ายทำต้องผ่านตาเขาทั้งหมด เขาจะลงไปเทรนนักแสดงเอง ลงไปดูแลทุกฉากเอง ดูมุมกล้องเอง รวมไปถึงบรีฟตัวประกอบเองด้วย สิ่งที่โนแลนเป็นไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ แต่เพื่องานที่ดีทุกรายละเอียดล้วนสำคัญเสมอ และโนแลนไม่เคยปล่อยผ่านเลย
ในการทำงานหากเราเป็นคนใส่เต็มกับทุกขั้นตอน เก็บรายละเอียดงานทุกเม็ด และที่สำคัญลงไปคลุกคลีกับแต่ละขั้นตอนด้วยตัวเอง แน่นอนว่าจะส่งผลให้งานออกมาดี และก็ยังทำให้เราเข้าใจตัวงานอย่างถ่องแท้ด้วย หากงานมีปัญหาจนต้องมีการแก้ไขในอนาคต เรานี่แหละที่จะมองออกว่าควรแก้และปรับตรงไหน อีกทั้งยังนับเป็นการฝึกฝนฝีมือ ฝึกสมองให้จดจำประสบการณ์เหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในงานอื่นๆ ได้อีกด้วย
- เคารพเวลา เคารพระเบียบ เคารพวิถีของตัวเอง
บางส่วนในหนังสือบ่งบอกว่าโนแลนเป็นคนที่ตรงต่อเวลา เป็นคนมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน เขาไม่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปแบบเปล่าประโยชน์ เขาจะคิดมาแล้วว่าวันนี้ถ่ายฉากนี้ก็คือต้องถ่ายฉากนี้ ซึ่งตรงนี้มันทำให้ทีมงาน นักแสดง รู้สโคปงานที่แน่ชัดและเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ได้ถูก อีกทั้งวิถีการทำงานที่ชัดเจนแบบนี้ถือเป็นการรักษาเวลา รักษาระเบียบ และแสดงออกถึงความเคารพที่ผู้นำมีให้กับทีมงานทุกคนไปในตัว
การที่ทีมมี To do list ที่ชัดเจน และทำตามลิสต์อย่างเคร่งครัด ถือเป็นวิถีการทำงานที่ช่วยให้งานออกมาสมดั่งใจ ทุกฝ่ายต่างรู้หน้าที่ของตัวเองไม่ต้องคอยตามจี้ ตามจิก หรือเสียวสันหลังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันไหม ไม่ต้องคอยระแวงว่าอยู่ดีๆ จะมีเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝันเกิดขึ้นหรือไม่ และการมี To do list ทำให้เกิดการใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ขาด ไม่เกิน เมื่อเลิกงานแล้วทุกคนก็แยกย้ายกลับบ้านไปหาครอบครัว นอนหลับฝันดี พรุ่งนี้ก็ตื่นมาลุยกันใหม่
ภาพบรรยากาศการถ่ายทำของโนแลน และทีมงาน
- รับฟัง ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน จะตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ ทุกคนคือคนทำงานเท่ากัน
โนแลนมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องการให้เกียรติคน ในหนังสือเขาบอกเล่าสถานการณ์ในการทำงาน ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเขาสังเกตและลงไปคลุกคลีกับทีมงานเสมอ สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อที่จะรับฟัง เข้าใจปัญหา รวมถึงแชร์ความคิดกันด้วย โนแลนเป็นคนที่ไม่ใส่หัวโขนของผู้กำกับให้หนักจนต้องเชิดหน้าตลอดเวลา เมื่อครั้งที่เขาเอาบทไปให้ ไมเคิล เคน ที่มารับบทเป็นพ่อบ้านคู่ใจของ บรูซ เวย์น เขานำบทไปให้ด้วยตนเองเลย และเคยมีนักแสดงจากหนังเรื่อง Oppenheimer ท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์แบบเดียวกันนี้ออกสื่อ นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาให้เกียรติกับเพื่อนร่วมงานทุกคนจริงๆ
เช่นเดียวกันกับการทำงานปกติ การให้เกียรติเพื่อนร่วมงานเป็นอีก 1 ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้บรรยากาศการทำงานออกมาดี และเมื่อบรรยากาศออกมาดีผลงานก็ออกมาดีด้วยเช่นกัน การมีทักษะการในการให้เกียรติคนอยู่ในตัว จะทำให้เราเป็นสุดยอดเพื่อนร่วมงานที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย
- เพื่องานที่ดีดังใจหวัง อย่ายอมแพ้ จงพยายามแม้หลายคนจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้
โนแลนเป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ มีหลายจุดที่เขาเล่าให้ ทอม โซน ฟังแล้วมันแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนดื้อ แต่เป็นความดื้อที่น่าชื่นชม อย่างเมื่อครั้งที่เขาพยายามจะใช้ CGI ในหนังให้น้อยที่สุดอย่าง ฉากระเบิดเครื่องบินโบอิง 747 ใน Tenet ซึ่งเป็นการระเบิดจริงๆ ถึงแม้ว่าความเป็นจริงจะใช้ CGI ก็ได้ แต่เพื่อให้ได้งานที่สมจริงและสมใจโนแลนจึงหาเครื่องบินมาระเบิดจริงๆ อีกความไม่ยอมแพ้ของโนแลนก็คือการตามหาฟิล์ม I-MAX แบบขาวดำมาใช้กับเรื่อง Oppenheimer ในตอนนั้นเพื่อนร่วมงานของเขาต่างบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ฟิล์มแบบนี้มันไม่มีแล้ว แต่ก็นั่นแหละโนแลนก็คือโนแลน และในที่สุดเราก็ได้ชมบางฉากใน Oppenheimer ที่มาจากฟิล์ม I-MAX สีขาวดำ
ความพยายามคือสกิลที่ทุกคนต้องมี เพราะไม่มีงานไหนที่ไหลลื่นแบบ 100% ต่อให้เป็นงานที่ง่ายที่สุดก็ต้องมีอะไรสักอย่างอยากจะกระเด็นออกมาเป็นอุปสรรคให้เราต้องแก้ไขเสมอ ซึ่งถ้าเราไม่มีสกิลนี้ติดตัวเลย เจอนั่นนิดก็ล้มเลิก เจอนี่หน่อยก็ยอมแพ้ มันจะส่งผลให้งานไม่เสร็จแต่ถึงจะเสร็จก็อาจจะไม่ดีพอดังที่ใจหวัง
- จำนั่นมานิด จดนี่มาหน่อย เมื่อความช่างสังเกตเป็นเหมือนคอนเนกชันในการทำงาน
ตลอดการอ่านหนังสือความหนาเกือบ 500 หน้านี้ ความช่างสังเกต ช่างจด ช่างจำ ของโนแลนได้กระเด็นทิ่มตามาหลายครั้ง โนแลนเป็นคนที่มักจะนำความทรงจำและความรู้สึกระหว่างทางมาใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างหนัง เขาจำบรรยากาศของห้องนอนสมัยอยู่โรงเรียนประจำได้ และเขาก็นำมาใส่ในหนังเรื่อง Inception หรือดาดฟ้าของตึกสูงที่เขาเคยไปยืนก็ถูกนำมาใช้เป็นฉากในเรื่องแบทแมน ซึ่งพอฉากฉายออกมาก็ให้บรรยากาศและความรู้สึกในแบบที่เขาต้องการจะสื่อสารกับคนดูแบบ เป๊ะๆ การเป็นคนช่างสังเกต ช่างจำ มักจะส่งผลดีกับการทำงานเสมอ มันเหมือนมีต้นทุนที่ช่วยให้งานของเราราบรื่นมากขึ้น
ภาพโลเคชั่นในความทรงจำที่โนแลน นำมาใช้เป็นฉากในหนัง
- บ้างาน! ไม่ได้การันตีความสำเร็จ สุขภาพเสีย ความสัมพันธ์เสีย ทุกอย่างก็จะจบลง
เชื่อว่าหลายคนมีความคิดว่าการที่โนแลนประสบความสำเร็จขนาดนี้ เขาต้องเป็นคนที่บ้างานมากๆ เขาจะต้องเอาเวลาทั้งหมดในชีวิตไปคลุกอยู่กับงานเหมือนเงา แต่โนแลนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า " ผมไม่เอาแล้ว ไอ้การทำหนังแบบที่รู้สึกว่าทำ เพราะแค่อยากให้มีหนังเรื่องใหม่เร็วๆ มันทำให้เราหลุดเข้าไปอยู่กับมัน มันดึงเอาเวลาครอบครัวของผมไปมาก ทำให้ผมมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้ผมสุขภาพแย่ลงด้วย "
เป็นไปได้ที่หลายคนจะคิดว่ายิ่งทุ่มเวลาให้กับงานเยอะ ความสำเร็จก็จะทวีคูณขึ้นมามากตามไปด้วย และก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น การใช้เวลากับงานแบบหาความพอดีไม่เจอเป็นเพียงความสำเร็จระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่การรักษาความบาลานซ์ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานให้ดีต่างหากคือความสำเร็จระยะยาว เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราบริหารเวลาได้ ซึ่งมันก็จะไปตรงกับข้อคิดที่ว่า เคารพเวลาพาชีวาเจริญรุ่งเรือง นั่นเอง
ถ้าเราจะบอกว่าความลงตัวของภาพยนตร์ประกอบไปด้วย นักแสดง บทบาท โลเคชัน และขั้นตอนการถ่ายทำ ในมุมของการทำงานด้านอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันเลย กว่างานแต่ละชิ้นจะออกมาได้ต้องอาศัยทั้ง คน ความคิด และแบบแผนทำงานที่มีประสิทธิภาพ และทั้ง 7 ข้อนี้เป็นสูตรในการทำงานของโนแลน ที่เราทุกคนสามารถลอกเลียนแบบกันได้โดยไม่ติดลิขสิทธิ์
ในส่วนหนังสือ The nolan variations: the movies, mysteries, and marvels of christopher nolan ของ ทอม โซน เล่มนี้ถือเป็นหนังสือเล่าเรื่อย ที่จะทำให้แฟนคลับของโนแลนที่มีความหลงใหลยิ่งเกิดหลงรักมากขึ้น หรือถ้าไม่ใช่แฟนคลับตัวยงก็ต้องได้ทั้งสาระ ข้อคิด กลับไปใช้ในชีวิตกันบ้าง และหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกอยากจะไปหาผลงานเก่าๆ ของโนแลนอย่าง Following / Memento / Insomnia / The Prestige มาชื่นชมในเวลาว่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลย
ภาพจากหนังสือ : The nolan variations
💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่
- ' อ่านหนังสือกันเถอะ ' รวมหนังสือน่าอ่าน แก้เบื่อ สำหรับคนอยู่บ้าน ในช่วงวันหยุดยาวนี้
- รวมหนังสือ Made My Day เล่มจิ๋ว เนื้อหาแจ๋ว อ่านสนุก พกไปอ่านได้ทุกที่
- ป้ายยา "20 หนังสือที่ควรอ่านก่อนตาย" เกิดมาทั้งที ต้องได้อ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม !
โดย Ying
ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨