สะเทือนทุกวงการ! กับ 'PDPA' พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ห้ามเปิดเผยกระทั่งศาสนา

avatar writer
โดย : wacheese
avatar writer31 พ.ค. 2565 avatar writer947
สะเทือนทุกวงการ! กับ 'PDPA' พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ห้ามเปิดเผยกระทั่งศาสนา

 

📸

โพสต์ แชะ แชร์ รูปชาวบ้านสุ่มสี่สุ่มห้า ระวังตัวไว้ให้ดี !

 

เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะมี 'PDPA' หรือ 'พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562' ที่จะช่วยกำราบนิสัยชอบเมาธ์ ชอบประจานชาวบ้านด้วยการโพสต์คลิปหรือรูปโดยที่เจ้าตัวไม่อนุญาต แต่ถ้าเป็นการถ่ายติดบุคคลอื่นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจแบบนี้จะถูกนับรวมในข้อกำหนดของ PDPA ด้วยไหม แล้วอย่างนี้ พ.ร.บ. ที่กำลังจะเริ่มใช้ในเร็ววันนี้จะมีประโยชน์ต่อเรามากน้อยแค่ไหน ? คำถามหลากหลายที่ผุดเป็นดอกเห็ดของทุกคนและชาวโซเชียล สามารถมาไขข้อสงสัยกับ 'เปย์เป้' ได้ที่นี่เลย 👇🏼 

 


 

พ.ร.บ. คุ้มครอง

 

รู้จัก 'PDPA' พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 แบบละเอียดยิบ

 

PDPA (Personal Data Protection Act) คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายว่าด้วยการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้  ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งชื่อ-สกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์ติดต่อ ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ลายนิ้วมือ ศาสนา พฤติกรรมทางเพศ หรือข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ โดยในการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กล่าวถึงนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรภายในองค์กร ลูกจ้าง และ Partner อีกด้วย

 

แต่ ข้อมูลผู้เสียชีวิต ข้อมูลนิติบุคล ไม่นับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายนี้

 

PDPA

 

ข้อควรรู้ 'PDPA' กับสิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ระบุว่า เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องได้รับการเคารพในสิทธิทั้งหมด 6 ด้านด้วยกัน คือ

  • สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังผู้ควบคุมข้อมูลอื่น
  • สิทธิคัดค้านการประมวลผลข้อมูล
  • สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
  • สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
  • สิทธิขอให้ดำเนินการให้ข้อมูลถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

 

ประโยชน์ PDPA

 

เช็คลิสต์! ข้อดีของ 'PDPA' กฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสำหรับทุกคน

 

📌 ระดับประชาชน 

  • รับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแจ้งชัด
  • ขอให้ลบ ทําลาย หรือขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้
  • สามารถร้องเรียนและขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากมีการใช้ข้อมูลนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้แต่แรก
  • ลดความเดือดร้อนรําคาญ หรือความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

 

📌 ระดับหน่วยงานรัฐและเอกชน 

  • ยกระดับความเชื่อมั่นในมาตรฐานการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ในระดับนานาชาติ
  • มีขอบเขตในการจัดเก็บ ใช้ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน
  • มีการดําเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลมีความโปร่งใส รับผิดชอบต่อสังคม ตรวจสอบได้ 

 

📌 ระดับประเทศ 

  • มีมาตรการในการกํากับดูแลการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
  • มีเครื่องมือในการกํากับการดําเนินงานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • สามารถตรวจสอบการดําเนินงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความถูกต้องเหมาะสม

 

กฎหมาย PDPA

 

4 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 'PDPA'

 

❌ การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่น โดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA ?

 

กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่น แต่ผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่ได้เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าว ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

 

ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่น ไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA ?

 

เราสามารถโพสต์ได้ ถ้าเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

 

ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA ?

 

การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน

 

เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ ?

 

ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม ถ้าการใช้ข้อมูลดังกล่าว

  • เป็นการทำตามสัญญา
  • เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
  • เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
  • เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
  • เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
 
ทั้งนี้ หลักการข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป
 

 

สำหรับ 'PDPA' หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 65 นี้ (พรุ่งนี้) ถือเป็นอีกเรื่องราวดี ๆ ในประเทศไทยที่มีการให้ความสำคัญ และลงมือคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนตัว ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ส่วนใครที่มีนิสัยชอบ 'โพสต์ แชะ แชร์' รูปชาวบ้าน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแขวะ เมาธ์มอย และประจานจนได้รับฉายา 'มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า' คงต้องตั้งสติในการโพสต์ลงโซเชียลทุกครั้ง เพราะถ้ายังโพสต์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ก็เตรียมตัวรับโทษทางกฎหมายได้เลย แล้วอย่าหาว่า 'เปย์เป้' ไม่เตือนนะ

 

ที่มา: PDPA Thailand, กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น
Freedom
Freedom
รบกวนสอบถามครับ ถ้าผมแคปรูปคนเข้ามาในบริเวณบ้านแต่เห็นด้านหลังและรูปเล็กและเบลอ โดยโพสประจานลงเฟสว่าเข้ามาเที่ยวในบ้านผมทุกวันๆละ2-3ครั้ง บางครั้งมาขอผัก ขอยืมนั่นยืมนี่กับแม่ จนผมเห็นจากมือถือแล้วสร้างความหงุดหงิดรำคาญอย่างมาก แบบนี้เข้าข่ายละเมิดไหมครับ
ตอบกลับ | 1 ปีที่แล้ว 0