กลางวันไม่ตื่น กลางคืนไม่นอน พฤติกรรมของเหล่า Night Owl ที่ชอบทำงานตอนกลางคืนเป็นชีวิตจิตใจ
โดย : waranggg
ช่วงดึกๆ มันคึก การนอนคืออะไรไม่รู้จัก
ต้องเปิดงานขึ้นมาทำเท่านั้น !
เพราะรู้สึกว่ามีสมาธิมากกว่า แถมไอเดียยังหลั่งไหลเป็นสายน้ำ ถ้าหากว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมแบบนี้ เปย์เป้ขอเรียกพวกคุณว่า มนุษย์นกฮูก หรือ Night Owl
การที่เราชอบนั่งทำงานกันในเวลาดึกดื่น นั่นเป็นเรื่องที่พบได้มากในวัยเรียนและวัยทำงาน แถมยังทำกันเป็นเรื่องปกติ ไม่เชื่อลองหันไปถามเพื่อนที่นั่งข้างๆ ตอนนี้ดูว่า เคยนั่งปั่นงานหรืออ่านหนังสือสอบจนถึงรุ่งเช้ามั้ย เปย์เป้เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยก็ต้องตอบว่า เคย !
แล้วทำไมตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการหลับใหล ถึงกลายเป็นช่วงเวลาอันครึกครื้นของมนุษย์นกฮูกกันไปได้นะ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเล้ย~
ทำไมเหล่ามนุษย์นกฮูก ถึงชอบมีสมาธิ หรือรู้สึกหัวแล่นตอนกลางคืน
สภาพแวดล้อมที่ต่างจากตอนกลางวันอย่างสิ้นเชิง
ยามค่ำคืนเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบ ไร้สิ่งรบกวนใจ ไร้เสียงรบกวน และการเคลื่อนไหวใดๆ ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์พรั่งพรูแบบไม่หยุดหย่อนนั่นเอง นักเขียนชื่อดังอย่าง Stephanie Meyer ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Twilight ก็มักจะชอบนั่งเขียนหนังสือในตอนกลางคืน เพราะเมื่อลูกๆ ของเขาเข้านอนก็จะทำให้บรรยากาศเงียบสงบ มีสมาธิจมอยู่กับงานเขียนได้มากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากความเงียบสงบของยามค่ำคืนแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น
- งานส่วนใหญ่มักจะทำเสร็จในตอนเย็น ดังนั้นเราจึงมีเวลานั่งไตร่ตรอง ตกผลึก หรือหาแรงบันดาลใจใหม่ หลังจากช่วงที่ทำงานเสร็จแล้ว
- เวลากลางคืนนี่แหละเวลาของเรา ! เราไม่ได้รู้สึกผิดเวลาที่ต้องนั่งทำงานตอนกลางคืน เพราะว่ามันไม่มีอะไรให้ทำอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่ามีเรื่องของเวลาหรืองานอื่นๆ มากดดันว่าต้องรีบทำให้เสร็จด้วย
- ช่วงเวลาค่ำคืนเป็นช่วงที่เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เพราะแสงจะนุ่มนวลขึ้น เราใช้โทรศัพท์มือถือ และโซเชียลมีเดียน้อยลง บวกกับความเงียบสงบในตอนกลางคืน จึงทำให้มีสมาธิจดจ่อกับงานได้ดีกว่า
สารเคมีในสมองของเราก็มีส่วนอยู่เช่นกัน
หัวแล่นหรือมีสมาธิในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่เรารู้สึกไปเอง แต่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้วสมองของเราจะทำงานตามเวลาที่เรานอนหลับ และในขณะหลับจะมีสมองบางส่วนที่ทำงานน้อยลง เช่น สมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
และที่เหล่า Night Owl ชอบมีความคิดสร้างสรรค์บรรเจิดในตอนกลางคืน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองซีกขวาที่เป็นศูนย์รวมความคิด ความสร้างสรรค์ต่างๆ และยังเกี่ยวข้องกับอารมณ์ และสัญชาตญาณไปจนถึงความฝันของเรานั่น เมื่อตกกลางคืนสมองซีกนี้จะเกิดความกระตือรือร้น เพราะว่าใช้พลังงานน้อยลงในการเป็นแหล่งพลังงานให้กับสมองส่วนอื่นๆ เป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์นกฮูกทั้งหลายเกิดอาการหัวแล่นในยามค่ำคืนมากกว่านั่นเอง
นอกจากนี้ในตอนกลางคืนยังมีการหลั่งของโปรแลคติน นอกจากจะเป็นสารที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการสร้างน้ำนมของคุณแม่ลูกอ่อนแล้ว โปรแลคตินยังช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายในช่วงเวลาที่เงียบสงัดยามค่ำคืนด้วย
ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์กลางคืน อาจจะส่งผลต่อสุขภาพ แถมเสี่ยงตายไวขึ้น
อ่านแล้วก็ตกใจอยู่นะ ทำไมแค่ชอบทำงานตอนกลางคืนถึงได้ดูร้ายแรงขนาดนี้ ! ก็แหงล่ะ การเบียดเบียนเวลานอนมานั่งทำงานงกๆ หามรุ่งหามค่ำจนร่างกายไม่ได้พักผ่อน ย่อมมีผลเสียอยู่แล้ว จากผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสารของ Chronobiology International ได้ระบุไว้ว่า การใช้ชีวิตแบบนกฮูก กลางวันไม่ตื่น กลางคืนไม่นอน อาจส่งผลต่อนาฬิกาชีวภาพของเราแบบเต็มๆ
นาฬิกาชีวภาพของเราจะตอบสนองกับแสงอาทิตย์ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเวลานี้เราต้องตื่นมาใช้ชีวิตนะ และในตอนที่พระอาทิตย์ตกดิน แสงอาทิตย์หมดลงเหลือเพียงความมืดนั่นบ่งบอกว่าเราต้องเข้านอนแล้ว แต่เมื่อถึงเวลานอนแล้วเรายังไม่ยอมนอน ทำให้นาฬิกาชีวภาพเสียสมดุล จึงทำให้สุขภาพแย่ลงนั่นเอง
และจากงานวิจัยยังพบอีกด้วยว่า คนที่นอนดึกมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวาน และเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทและจิตใจได้ นอกจากนี้การศึกษายังค้นพบอีกด้วยว่า เหล่า Night Owl ทั้งหลายที่ชอบใช้ชีวิตตอนกลางคืนมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากถึง 10% ด้วย
ตายไวขึ้นมั้ย ตอนนี้ยังไม่รู้ แต่เสี่ยงเป็นโรคร่าเริงคือของจริง
โรคเบาหวานหรืออาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้เร็วขึ้นอาจจะฟังดูไกลตัวเกินไปหน่อย แต่ถ้าหากนอนไม่เป็นเวลาจนนาฬิกาชีวภาพรวนไปหมดคือเสี่ยงเป็น โรคร่าเริง แน่ๆ แล้ว 1
โรคร่าเริง จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นชื่อโรคทางการแพทย์แต่อย่างใดนะ เป็นชื่อเรียกของพฤติกรรมที่รู้สึกคึกคัก กระปรี้กระเปร่าในตอนกลางคืน กลับกันในตอนกลางวันกลับนั่งหาวแล้วหาวอีก รู้สึกเซื่องซึมไม่อยากทำอะไรเลย ในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Delayed Sleep Phase Syndrome หรือกลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา
สำหรับสาเหตุของโรคร่าเริงหรืออาการนอนหลับผิดเวลาก็มาจากการที่อดนอนจนติดเป็นนิสัย ทำให้เวลานอนผิดเพี้ยนไปหมด เวลาเข้านอนก็เลื่อนออกไปเรื่อยๆ จากนอนดึกเป็นนอนเช้า ก็จะทำให้กลายเป็นโรคร่าเริงแบบไม่รู้ตัว
อาการหลักๆ ของโรคร่าเริง
- ช่วงกลางวัน รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น และง่วงนอนตลอดเวลา ไม่มีสมาธิในการทำงาน และในบางครั้งก็รู้สึกหงุดหงิดง่ายกว่าเดิมด้วย
- ช่วงกลางคืน รู้สึกว่าสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า มีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน และอาจจะมีอาการหลงวันลืมคืนร่วมด้วย
นอกจากอาการเหล่านี้แล้วโรคร่าเริงยังส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ เช่น การหลั่งของโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ลดลง ฮอร์โมนนี้จะหลั่งในช่วงเวลา 22.00-02.00 น. ถ้าหากเราเข้านอนหลังจากช่วงเวลานี้ โกรทฮอร์โมนจะหลั่งน้อยลง ส่งผลให้เวลาตื่นนอนไม่สดชื่น ผิวพรรณไม่สดใส และส่งผลไปถึงเรื่องการเผาผลาญพลังงานของร่างกายด้วย
โกรทฮอร์โมนไม่ได้มีผลเฉพาะกับการเจริญเติบโตของเด็กๆ วัยรุ่น หรือวัยเรียนหรอกนะ แต่ในวัยทำงานและวัยผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็ยังต้องการโกรทฮอร์โมนอยู่ดี เพื่อใช้ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูร่างกายในยามที่เรานอนหลับนั่นเอง
โรคร่าเริงรักษาได้ แค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ และการนอน
ก่อนที่โรคร่าเริงตัวร้ายจะกัดกินสุขภาพของเราไปมากกว่านี้ เราต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบนกฮูกให้กลับมาเป็นคนปกติกันซักหน่อยแล้ว ในขั้นแรกอาจจะเร่ิมปรับด้วยตัวเองก่อน ด้วยวิธีการสร้างสมาธิในการทำงานหรือการเรียนให้กลับมาเป็นปกติในช่วงกลางวัน เช่น
- การเลือกใช้ไฟโทนส้ม หรือไฟสีอ่อน เพื่อสร้างบรรยากาศให้ใกล้เคียงกับการทำงานในตอนกลางคืน
- ปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์มือถือ หรือแยกมานั่งทำงานคนเดียวในที่เงียบๆ และบอกให้คนอื่นรู้ว่า ชั้นกำลังใช้สมาธิจดจ่อกับงานหรือกระทำการบางสิ่งซักครู่ ถ้าหายไปไม่ต้องตกใจ !
- การเปิดเพลงคลอเบาๆ ระหว่างทำงานจะช่วยให้มีสมาธิมากขึ้นได้ โดยเฉพาะเพลงที่ไม่มีเนื้อเพลงให้ร้องตาม จะยิ่งพาเราดำดิ่งไปกับงานได้มากยิ่งขึ้น
เมื่อเราสามารถกลับมามีสมาธิจดจ่อกับงานในช่วงกลางวันได้แล้ว ขั้นตอนถัดมา คือ ปรับเวลานอนใหม่ พยายามเข้านอนให้เร็วกว่าเดิมในทุกๆ วัน เมื่อร่างกายเริ่มชินเราจะหลับได้เองในที่สุด หรือถ้าหากพยายามจะหลับเองแล้วยังไม่ได้ผล เปย์เป้แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดการใช้พลังงานและช่วยหลับสบายมากขึ้นด้วย
ถ้าหากว่าลองพยายามทุกวิถีทางจนท้อแล้วแม่ ทำไมถึงยังไม่สามารถปรับเวลานอนให้กลับมาเป็นปกติได้ เปย์เป้แนะนำให้หาหมอจะดีกว่า และเมื่อได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงๆ เพราะการรักษาโรคร่าเริงหรือภาวะการนอนหลับผิดเวลานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไข้เป็นอย่างสูงจึงจะได้ผลดีที่สุดนะ
หนักกว่าโรคร่าเริง ก็ภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้านี่แหละ
การอดหลับอดนอนจนเวลานอนเพี้ยน นอกจากจะทำให้เป็นโรคร่าเริงแล้ว ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้าด้วย ซึ่งทั้ง 2 โรคนั้นช่างมีอาการละม้ายคล้ายคลึงกันเหลือเกิน นั่นก็คือ กลางวันจะอ่อนเพลีย แต่ในช่วงกลางคืนจะรู้สึกยิ่งดึกยิ่งคึก
แม้ว่าจะอาการคล้ายกันแต่สาเหตุนั้นแตกต่าง ภาวะต่อมหมวกไตล้าหลักๆ แล้วเกิดจากความเครียด ไม่ว่าจะความเครียดเกี่ยวกับเรื่องงาน เรื่องเรียนหรือเรื่องส่วนตัวที่สร้างความหัวจะปวด ต่างก็ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนักจนหลั่งสารที่มีชื่อว่า 'คอร์ติซอล' ยิ่งเครียดมากเท่าไหร่ ต่อมหมวกไตก็จะหลั่งสารชนิดนี้มาต่อสู้กับความเครียดมากเท่านั้น จนทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตอ่อนล้าในที่สุด
บอกเลยว่าโรคนี้คือภัยเงียบที่น่ากลัวมากทีเดียว ถ้าหากรู้ตัวว่าเข้าข่าย เปย์เป้แนะนำให้รีบพบแพทย์จะดีที่สุด เพราะหลายคนอาจจะเป็นแล้วแบบไม่รู้ตัว !
จริงๆ แล้ว เราเหมาะกับการทำงานช่วงเวลาไหนกันแน่นะ ?
ถ้าหากใครที่อยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่อยากเป็นมนุษย์นกฮูกแล้ว อยากกลับมานั่งทำงานในตอนกลางวันได้เป็นปกติ วันนี้เปย์เป้มีบททดสอบด้วยว่าแท้จริงแล้วเราเหมาะกับการทำงานในช่วงเวลาไหน เพื่อที่จะช่วยให้เราปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานได้มากขึ้น ซึ่งแบบทดสอบและทฤษฎีนี้เป็นของนักจิตวิทยาด้านการนอนหลับชื่อว่า ไมเคิล เบรอัส (Dr.Michael Breus) หรือรู้จักกันในชื่อ The Sleep Doctor โดยผลของการทดสอบจะแบ่งสัตว์ออกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน คือ หมี , หมาป่า, สิงโต และโลมา
- หมี : ผู้คนส่วนใหญ่มากถึง 55% ใช้ชีวิตแบบเจ้าหมี ใช้ชีวิต และเวลาตามการขึ้นลงของพระอาทิตย์อย่างแท้จริง
- หมาป่า : ปกติแล้วหมาป่าชอบล่าเหยื่อในตอนกลางคืน คนที่ได้ผลทดสอบว่าเป็นหมาป่าก็เช่นกัน พวกเขารักชีวิตกลางคืนมากกว่าสิ่งอื่นใด
- สิงโต : รักการตื่นเช้าและเข้านอนไว ไม่ชอบใช้ชีวิตในยามค่ำคืน
- โลมา : มีคนเพียง 10% เท่านั้นที่ทำผลทดสอบแล้วได้เป็นปลาโลมา และแน่นอนว่าคนที่ได้ผลการทดสอบนี้มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
ถ้าหากว่ารู้แล้วว่าแท้จริงแล้ว เราเหมาะกับใช้ชีวิตช่วงไหนของวัน เพื่อนๆ อย่าลืมนำไปปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานและการนอนกันนะ
สามารถทำแบบทดสอบได้ที่นี่ : The Power of When
แม้ว่าข้อดีของการที่ชอบหัวแล่นในตอนกลางคืน จะทำให้เรามีสมาธิกับงานได้มากกว่า ได้ไอเดียดีๆ ความคิดใหม่ๆ สุดเจ๋ง แต่ก็อย่าลืมว่าสุขภาพเองก็สำคัญ ถ้าจะต้องแลกด้วยสุขภาพในระยะยาวก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่ ถ้ารู้ตัวว่าเริ่มใช้ชีวิตแบบนกฮูก นอนดึกทุกวันๆ ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่า
ขอบคุณข้อมูล : medium.com, medicalnewstoday.com, stanfordhealthcare.org, phyathai.com, sleepfoundation.org
โดย waranggg
thaitealism
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ