MRT หัวลำโพง-หลักสอง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 29 ก.ย. 62
โดย : MilD
รถไฟฟ้า MRT ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง
ขบวนรถพร้อมแล้ว เตรียมเปิดให้บริการจริง 29 ก.ย. 62
ไม่ว่าเส้นทางจะยาวขึ้นแค่ไหน แต่ค่าโดยสารก็ยังเท่าเดิมนะจ๊ะ
ขอเกริ่นทำความเข้าใจก่อนกับคำพูดที่ว่า "BTS เป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้า" และ "MRT เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน" เป็นคำเรียกที่ผิดนะ เพราะทั้ง BTS และ MRT เป็นชื่อของผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าในปัจจุบันของไทย ซึ่ง BTS จะมีเฉพาะส่วนที่เป็นลอยฟ้า แต่ MRT มีทั้งส่วนลอยฟ้าและใต้ดินด้วย เวลาเรียกชื่อก็ต้องเรียกให้ถูกต้องตามผู้ให้บริการเดินรถด้วย เช่น สายสีเขียว คือ BTS ส่วนสายสีน้ำเงิน/สีม่วง คือ MRT นั่นเองงงงง~
ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนคงกำลังรอกัรอย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะชาวฝั่งธนบุรี กับโครงการ "รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน" หลังจากที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนานกว่า 10 ปีทีเดียว ซึ่งขณะนี้ในส่วนของโครงสร้างสถานี และระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณต่างๆ แล้วเสร็จเกือบ 100% เหลือเพียงการทดลองเดินรถแบบเสมือนจริง เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค. นี้ และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง เรียกว่าอดใจอีกนิดเดียวก็จะนั่งรถไฟฟ้า MRT กันแล้วจ้าาา
เส้นทางเดินรถ เป็นยังไงนะ?
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือชื่อเต็มว่า "รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล" ปัจจุบันให้บริการตั้งแต่สถานีหัวลำโพง และไปสิ้นสุดที่สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมระยะทางทั้งหมด 21.2 กิโลเมตร และในอนาคตอีกไม่นานนี้ ก็จะเปิดให้บริการส่วนต่อขยายทั้งด้านเหนือ และด้านใต้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
- หัวลำโพง-หลักสอง (ระยะทางประมาณ 13.8 กิโลเมตร)
เริ่มโครงการโดยเชื่อมต่อกับสถานีหัวลำโพงในปัจจุบัน โครงสร้างเป็นแบบใต้ดิน ผ่านสถานีวัดมังกร, สถานีวังบูรพา, สถานีสนามไชย ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังฝั่งธนบุรี สถานีอิสรภาพ และเชื่อมต่อเป็นโครงสร้างยกระดับที่สถานีท่าพระ ไปตามถนนเพชรเกษม จนสิ้นสุดการเดินรถที่สถานีหลักสอง จุดตัดกับถนนกาญจนาภิเษก - เตาปูน-ท่าพระ (ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร)
เป็นโครงสร้างแบบยกระดับทั้งหมด โดยเริ่มจากสถานีบางซื่อ ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ วิ่งไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์ จนสิ้นสุดไปบรรจบกับส่วนต่อขยายหัวลำโพง- หลักสอง ที่สถานีท่าพระ
เมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินครบทั้งเส้นทางแล้ว จะมีรูปแบบคล้ายกับตัว q เริ่มต้นจากสถานีหลักสอง-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางซื่อ-เตาปูน-ท่าพระ และเที่ยวกลับในรูปแบบเดียวกันเริ่มต้นจากสถานีท่าพระ ไปจนถึงสถานีหลักสอง
ค่าโดยสารจะเป็นเท่าไหร่
เมื่อเปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้งหมดแล้ว ค่าโดยสารจะยังเป็นอัตราเดิมเริ่มต้นที่ 16-42 บาท เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าสายเดิมที่มีการขยายเส้นทางออกไป จึงทำให้เพดานการเก็บค่าโดยสารยังเป็นไปตามสัมปทานเดิมนั่นเอง เรียกว่านั่งยาวๆ จากหลักสอง ไปบางซื่อ ก็เสียแค่ 42.- เหมือนเดิมเลย
- สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อใช้บัตรโดยสารประเภทผู้สูงอายุ ก็จะได้ส่วนลดค่าโดยสาร 50% จากอัตราปกติ
- สำหรับนักเรียน-นักศึกษา เมื่อใช้บัตรโดยสารประเภทนักเรียน-นักศึกษา ก็จะได้ส่วนลดค่าโดยสาร 10% จากอัตราปกติ
สรุป Timeline ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย
ตามรายละเอียดที่ทางรฟม. แจ้งข้อมูลให้กับประชาชนรับทราบนั้น จะเป็นไปตามนี้เลยจ้าาาา
- เดือน เม.ย. 62 : เริ่มทดลองเดินรถทดสอบระบบ ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง อาจจะเห็นรถวิ่งเป็นช่วงๆ บ้าง นั่นแหละเค้ากำลังทดสอบเดินรถอยู่นั่นเองจ้า
- เดือน ก.ค. - ก.ย. 62 : ทดลองเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง
- วันที่ 29 ก.ย. 62 เป็นต้นไป : เปิดให้บริการจริง สำหรับส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง
- ภายในเดือน มี.ค. 63 : เปิดให้บริการจริง สำหรับส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ที่เปิดช้ากว่าอีกเส้นทาง เพราะมีความล่าช้าในก่อสร้างในบางสถานีนั่นเอง ก็ต้องอดใจกันอีกนิดนึงเนอะ!
รถไฟฟ้าขบวนใหม่มาแล้วววว!
เมื่อขยายเส้นทางไกลขึ้นแล้ว ก็ยังมีรถไฟฟ้าขบวนใหม่มาเสริมทัพด้วยแหละ และนี่ก็คือหน้าตาของรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่จะนำมาวิ่งจริงในเส้นทางเพิ่มเติมจากรถขบวนเดิมที่มีอยู่ ชื่อรุ่นว่า "ซีเมนส์ อินสไปโร" ผลิตจากโรงงานที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย มีรูปแบบที่ทันสมัย ตัวรถผลิตจากวัสดุ Stainless steel ซึ่งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และมีอายุการใช้งานที่มากกว่า 30 ปี มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยมากขึ้น
สำหรับรถรุ่นนี้เป็นรุ่นเดียวกับที่ทาง BTS สั่งซื้อขบวนใหม่มา แต่หน้าตาและรูปลักษณ์จะมีความแตกต่างกันนิดหน่อย ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ได้ส่งมาถึงเมืองไทยแล้วขบวนแรกในช่วงเดือน เม.ย. 62 และจะทยอยส่งมอบจนครบทั้ง 35 ขบวน ภายในเดือน ก.พ. 63 ทำให้ทั้งระบบของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมีขบวนรถทั้งหมด 19 ขบวน (เดิม) + 35 ขบวน (ใหม่) รวมเป็น 54 ขบวน เพื่อรองรับกับประชาชนที่ใช้ในเส้นทางที่เปิดเพิ่มเติมต่อไปจ้าาาา
พาชมความสวยงามของสถานีส่วนต่อขยาย
- สถานีวัดมังกร (รหัสสถานี BL29) อยู่ใกล้ชุมชนชาวจีน แถมใกล้เยาวราชอีก ก็ต้องจัดเต็มหน่อย เห็นการตกแต่งปุ๊บก็รู้ทันทีเลยว่านี่คือสถานีวัดมังกร เน้นสีแดงเป็นหลัก ถือว่าสวยงาม
- สถานีสามยอด (รหัสสถานี BL30) ตอนแรกเหมือนจะตั้งชื่อสถานีวังบูรพา แต่สุดท้ายก็ใช้ชื่อสถานีสามยอดนี่แหละ สถาปัตยกรรมด้านนอกสถานี ก็ยังคงเหมือนก่อนหน้าเลยนะ สวยเริ่ดไม่เบาเลยจริงๆ
- สถานีสนามไชย (รหัสสถานี BL31) ถือเป็นสถานีที่สวยที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้ รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ออกแบบโดย รศ.ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เหมือนเป็นท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ มีความงดงามอย่างมาก เรียกว่าเมื่อเปิดบริการจริงแล้ว จะต้องมีนักท่องเที่ยวมาแวะถ่ายรูปกันเยอะแน่นอน แถมยังใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีก เช่น วัดพระแก้ว, วัดโพธิ์, พระบรมมหาราชวัง
- สถานีอิสรภาพ (รหัสสถานี BL32) ถือเป็นสถานีใต้ดินแห่งเดียวในฝั่งธนบุรีเลย ใช้สีทองเป็นหลักในการตกแต่ง และมีการนำรูปหงส์ ที่เป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร มาปรับใช้ในการออกแบบ เพื่อสื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่
- สถานีท่าพระ (รหัสสถานี BL01) เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ ถือว่าเป็นสถานีที่มีความสำคัญอย่างมาก มีความซับซ้อนของโครงสร้างสถานี ชานชาลาซ้อนกัน 2 ชั้น ของ 2 เส้นทาง ถือเป็นสถานีรหัสแรกของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเลยแหละ และอีกหนึ่งความพิเศษของส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินในช่วงลอยฟ้า คือ ตัวกั้นรางจะเป็นแบบใส
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
- ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง จะทดลองวิ่งแบบเสมือนจริง ในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. 62 และเริ่มเปิดให้บริการจริงตั้งแต่เดือน ก.ย. 62 เป็นต้นไป
- อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดส่วนต่อขยายแล้ว จะยังเท่าเดิมอยู่ เริ่มต้น 16-42 บาท เพราะเป็นทางสัมปทานเดิม
- รอติดตามข่าวสารแบบอัปเดตลาสุดได้ทางปันโปร หรือเพจ MRT Bangkok Metro
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) [BEM]
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3