Misophonia ภาวะเกลียดเสียง มีอยู่จริงไม่จ้อจี้! และเราเป็นอยู่มั้ยนะ?
โดย : ncp
ภาวะเกลียดเสียง จริงๆ แล้วมีอาการอย่างไร
แล้วถ้าเป็นขึ้นมาล่ะ จะสามารถรักษาได้ไหม ?
เชื่อได้ว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะเคยได้ยินในเรื่องของภาวะอาการเกลียดเสียงหรือที่เรียกอีกอย่างว่า Misophonia ซึ่งผู้ที่เป็นจะมีลักษณะที่ว่าพอได้เสียงกระตุ้นที่มาจากการกระทำของผู้อื่น อย่างเช่น เคี้ยวอาหาร คนกดปากกาหรือเสียงกดแป้นพิมพ์ ฯลฯ จะทำให้รู้สึกไม่ดีและอารมณ์เสีย ซึ่งอาการเหล่านี้ถือได้ว่ากระทบต่อการดำเนินชีวิตไม่ใช่น้อย แต่อย่างไรนี่เป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้น และเพื่อให้เรื่องนี้กระจ่างและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราไปทำความรู้จักกับอาการนี้ให้ลึกยิ่งขึ้นกันเลยดีกว่า
Misophonia ภาวะเกลียดเสียง
Misophonia ภาวะเกลียดเสียง ผู้ที่เป็นจะมีอาการไวต่อเสียงที่เกิดมาจากผู้อื่น อย่างเช่น เสียงลมหายใจ, เสียงคนกดแป้นพิมพ์, เสียงเคี้ยวอาหาร, เสียงเคี้ยวหมากฝรั่ง, เสียงกดปากกา, เสียงเหรียญกระทบเหรียญ เป็นต้น ซึ่งเสียงที่ได้ยินจะทำให้ผู้รับฟังเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ขุ่นเคือง หงุดหงิด รวมไปถึงต้องการให้ตนเองหลุดพ้นออกไปจากพื้นที่ที่มีเสียงรบกวนดังกล่าว
ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ค้นพบว่า Misophonia ภาวะเกลียดเสียง เป็นภาวะอาการที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสมองส่วนหน้าและสมองกลีบอินซูลาส่วนหน้า โดยเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่มีภาวะเกลียดเสียงมีความไวในการตอบสนองกับเสียงที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเรียกว่า "Trigger sound"
การทดสอบจากทีมนักวิจัย
ทีมนักวิจัยได้มีการทดสอบโดยการวัดการทำงานของสมองจากผู้ที่มีอาการและไม่มีอาการด้วยการใช้เครื่องตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งในการทดสอบจะมีเสียงต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งแบ่งออกเป็นหมวดดังนี้
• เสียงทั่วไป : เสียงฝนตก, เสียงน้ำเดือด รวมไปถึงเสียงในคาเฟ่
• เสียงรบกวน : เสียงเด็กร้องไห้, เสียงกรีดร้อง
• เสียงกระตุ้น : เสียงลมหายใจ, เสียงเคี้ยวอาหาร
และจากการทดสอบเมื่อผู้ที่ทำการทดลองได้ยินเสียงกระตุ้น ภาพในสมองของผู้ที่มีอาการเกลียดเสียงจะแสดงให้เห็นทันทีว่ามีการทำงานที่สูงขึ้นของสมองส่วนหน้าและสมองกลีบอินซูลาส่วนหน้า โดยเฉพาะในส่วนของการรับผิดชอบต่อความกลัว ความทรงจำระยะยาว รวมไปถึงอารมณ์ต่างๆ ซึ่งจะสวนทางกับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติ เพราะสมองกลีบอินซูลาส่วนหน้าจะทำงานสูงขึ้นแต่สมองส่วนหน้าจะลดลง ซึ่งจะแตกต่างกันในส่วนนี้นั่นเอง
สำหรับคนที่มีอาการเกลียดเสียง แม้ว่าอาการเหล่านี้จะยังไม่มีวิธีการวินิจฉัยจากแพทย์ แต่ผลจากการศึกษาและการทดสอบก็ทำให้ได้ทราบว่า Misophonia เป็นอาการเกลียดเสียง ซึ่งเสียงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเลยก็คือ เสียงลมหายใจและเสียงของคนเคี้ยวอาหาร และข้อมูลต่างๆ ในส่วนนี้ทำให้นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการใช้ประเมินทางเลือกในการรักษาให้แก่ผู้ที่มีอาการดังกล่าวได้
ถ้ามีอาการเกลียดเสียง เราจะรักษาได้อย่างไรบ้าง
ถ้าหากเรารู้สึกว่าตัวเองมีภาวะ Misophonia การรักษาภาวะอาการนี้จะสามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่ การบำบัดจิตและการรับประทานยา ซึ่งในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคลรวมไปถึงการพิจารณาของคุณหมอที่ดูแลในเคสนั้นๆ ด้วย
• บำบัดทางจิต วิธีการรักษานี้จะเป็นการปรับทัศนคติ พูดคุย ฝึกให้ผู้ป่วยฝึกฟังเสียงต่างๆ ที่จะทำให้รู้สึกหงุดหงิด โดยจะค่อยๆ ฝึกผู้ป่วยไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับเสียงแวดล้อมรอบๆ ข้าง ควบคู่ไปกับการควบคุมอารมณ์ของตนเอง
• ทานยา ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตหรือกระตุ้นให้เกิดความเครียดจนอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยอื่นๆ การทานยาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเครียด ความกังวลต่างๆ เมื่อมีเสียงแวดล้อมรอบข้างเข้ามารบกวน
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
• ผู้ที่มีอาการเกลียดเสียงจะไวต่อเสียงที่มาจากผู้อื่น อย่างเช่น เสียงลมหายใจ, เสียงคนกดแป้นพิมพ์, เสียงเคี้ยวอาหาร, เสียงเคี้ยวหมากฝรั่ง, เสียงกดปากกา, เสียงเหรียญกระทบเหรียญ เป็นต้น
• ผู้มีอาการเกลียดเสียงเมื่อมีเสียงมารบกวนจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี หงุดหงิด รวมไปถึงต้องการให้ตนเองหลุดพ้นออกไปจากพื้นที่ที่มีเสียงดังกล่าว
• การรักษาภาวะอาการเกลียดเสียงมี 2 วิธี ได้แก่ การบำบัดทางจิตและการทานยา แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอาการของตัวบุคคลและการพิจารณาของคุณหมอ
• สำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าวบางคนสามารถทนต่อเสียงรบกวนได้ แต่ทนไม่ได้ต่อเสียงกระตุ้นอย่างชัดเจน และในขณะเดียวกันคนทั่วไปอาจจะทนไม่ได้ต่อเสียงรบกวน แต่กลับรู้สึกเฉยๆ กับเสียงกระตุ้น
- ขอบคุณที่มาจาก SciMath -
โดย ncp
^^