‘เสื้อชูชีพ’ ใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น จะช่วย Save ชีวิตคน

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer2 มี.ค. 2565 avatar writer3.3 K
‘เสื้อชูชีพ’ ใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น จะช่วย Save ชีวิตคน

 

เราทุกคนล้วนเคยมีกิจกรรมทางน้ำกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำในสระ การเล่นน้ำทะเล การเดินทางทางน้ำ รวมไปถึงกีฬาทางน้ำด้วย ในกรณีของการโดยสารทางน้ำเรามักจะได้รับคำเตือนว่า “ให้ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งขณะที่เรือกำลังแล่น ”  ซึ่งเป็นทั้งคำเตือนและคำสั่งที่เราทุกคนในขณะนั้นต้องปฏิบัติตาม

 

ตามในเอกสารข้อบังคับกรมเจ้าท่า ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกใบสําคัญรับรองมาตรฐานเสื้อชูชีพสําหรับเรือเดินภายในประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ ระบุว่า  “เสื้อชูชีพ”  หมายถึง ชุดหรืออุปกรณ์ที่เพิ่มแรงลอยตัวตามขนาดที่ระบุไว้ให้กับผู้สวม ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเมื่อสวมอย่างถูกต้อง สามารถทําให้เกิดการลอยตัวในลักษณะหงายหน้าขึ้น โดยมีการยกตัวที่เพียงพอสําหรับการใช้ในน่านน้ำซึ่งมีคลื่นลม โดยจะต้องมีการกระจายแรงลอยตัวเพียงพอที่ผู้สวมพลิกไปอยู่ในตําแหน่งที่ปากสูงพ้นจากผิวน้ำ แม้แต่กรณีที่ผู้สวมหมดสติ

 


 

เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต เมื่อสวมใส่เสื้อชูชีพและเสื้อพยุงตัว อย่างถูกต้อง

 

หลายๆ ครั้งเปย์เป้และหลายๆ คนก็มักจะสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับเสื้อชูชีพ เพราะไม่ใช่ว่าเสื้อสีส้มๆ ที่ใช้สวมใส่ ทำจากโฟม แล้วลอยน้ำได้ตามสระว่ายน้ำ ตามเรือ หรือตามร้านค้าทุกตัวจะเป็นเสื้อชูชีพ และก็ไม่ใช่ทุกตัวที่จะช่วยชีวิตคนได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน นอกจากเสื้อชูชีพที่เราเรียกกันติดปากแล้ว จริงๆ ก็ยังมีเสื้อพยุงตัวอีกด้วยนะฮะ วันนี้เปย์เป้ก็เลยจะพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักกับ เสื้อชูชีพ และ เสื้อพยุงตัว กันว่ามีความต่างกันอย่างไร  ทำไมเราถึงไม่ควรใช้ผิดประเภท

 

⚠️ เสื้อชูชีพ 

 

เสื้อชูชีพจะถูกใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ซึ่งใช้ได้กับทั้งคนที่มีสติและไม่มีสติ  เสื้อชูชีพที่ได้มาตรฐานจะได้รับการรับรองจากกรมเจ้าท่าและจะสามารถใช้ได้กับน้ำทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นทะเล น้ำเชี่ยว หรือน้ำไหล อีกทั้งยังทนความร้อน ทนน้ำมัน และทนแรงดึงอีกด้วย

 

 

แล้วเสื้อชูชีพที่ได้มาตฐานเป็นอย่างไร ?

 

ตามข้อมูลจากคู่มือเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำโดยกรมเจ้าท่า ระบุเกี่ยวกับมาตฐานของเสื้อชูชีพไว้ ดังนี้

 

ขอบคุณรูปและข้อมูลจากคู่มือเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำโดย กรมเจ้าท่า

 

  • สีของเสื้อจะถูกกำหนดเป็นสีส้มหรือแดงเท่านั้นเพื่อความสะดวกต่อการค้นหา
  • แถบสะท้อนแสงจะมีขนาด 100 ตารางเซนติเมตร ตามข้อกำหนดของกรมเจ้าท่า และต้องผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล IMO
  • ในส่วนของฉลากรับรองจะแสดงถึงเลขที่อนุมัติ ผู้ผลิต รุ่น หมายเลขผลิตภัณฑ์ และปีที่ผลิต
  • แรงลอยตัว เสื้อชูชีพจะสามารถยกตัวผู้สวมใส่ให้ปากลอยเหนือระดับน้ำได้
  • ความสามารถในการพลิกตัว กรมเจ้าท่ากำหนดว่าเสื้อชูชีพจะต้องพลิกตัวผู้สวมใส่ได้ในกรณีที่ผู้สวมใส่หมดสติ
  • นกหวีดถูกกำหนดให้มีความดังถึง 100 เดซิเบลเพื่อใช้ในการบอกตำแหน่งของผู้สวมใส่ และนกหวีดก็ยังเป็นแบบมีเสียงปกติแม้เปียกน้ำด้วยนะ
  • สัญลักษณ์  ตรงนี้ก็เพื่อแสดงระดับการลอยตัวของเสื้อชูชีพ 

  เลข 50 = หมายถึงแรงลอยตัว 50 นิวตัน ไม่จัดเป็นเสื้อชูชีพ เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่สามารถช่วยเหลือได้ทันที

  เลข 100 = หมายถึงแรงลอยตัว 100 นิวต้น สำหรับทะเลเปิด คลื่นลมสงบ ภายในประเทศ

  เลข 150 = หมายถึงแรงลอยตัว 150 นิวตัน สำหรับทะเลเปิดนอกชายฝั่ง ที่คลื่นลมแปรปรวน

  เลข 275 = หมายถึงแรงลอยตัว 275 นิวตัน สำหรับทะเลเปิดนอกชายฝั่ง ที่คลื่นลมแรงมากๆ

 


มีคำกล่าวว่า “เสื้อจะไม่ชูชีพหากเราไม่สวมใส่ ”

 

จากข้อมูลของกรมเจ้าท่าข้างต้นเราก็จะเห็นถึงความสำคัญและความสามารถในการช่วยชีวิตของเสื้อชูชีพกันแล้ว เปย์เป้ก็อยากจะให้ทุกท่านใส่ไว้ตลอดการเดินทางทางน้ำนะฮะ ไหนจะช่วยพลิกตัวให้หน้าและปากพ้นน้ำ ไหนจะช่วยให้ลอยได้ยาวนานมากกว่า 6 ชม. จนไปถึงสามารถลอยได้เป็นวันๆ เลยทีเดียว แล้วตัวเสื้อที่ได้มาตฐานยังสามารถส่งแสงและส่งเสียงระบุตำแหน่งเราได้อีกด้วย

 

 

นอกจากเสื้อชูชีพสีส้มๆ ตามมาตฐานกรมเจ้าท่าแล้ว ก็ยังมีเสื้อชูชีพที่เราคุ้นเคยกันดีเวลาขึ้นเครื่องบิน นั่นก็คือ “ เสื้อชูชีพบนเครื่องบิน ” เราจะเห็นพี่ๆ แอร์โฮสเตส-สจ๊วต สาธิตให้ชมก่อนเครื่องขึ้นทุกครั้ง เห็นน้องแบนๆ แบบนี้ประสิทธิภาพก็สูงใช่ย่อยนะฮะ เพราะเมื่อเรากระตุกเชือกทั้ง 2 ข้างแล้ว แก๊สที่ติดกับเสื้อจะทำงานทำให้เสื้อพองขึ้นและช่วยให้เราลอยตัวเหนือน้ำได้ หรือหากน้องไม่พองก็จะมีท่อให้เราสามารถเป่าลมได้เอง อีกทั้งยังมีไฟที่เสื้อคอยกระพริบบอกตำแหน่งด้วย เรียกว่าสามารถช่วยชีวิตเราได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราควรให้ความสนใจเวลาพี่ๆ สาธิตให้ชมกันนะ

 

 

⚠️ เสื้อพยุงตัว


สำหรับเสื้อพยุงตัวนั้นจะแตกต่างออกไปกับเสื้อชูชีพตรงที่ว่าแรงลอยตัวจะไม่ได้เยอะมาก เสื้อพยุงตัวจะเพียงแค่ช่วยให้เราลอยตัวได้แต่จะไม่สามารถพลิกตัวเราให้หงายขึ้นได้ เสื้อพยุงตัวจึง ไม่เหมาะกับผู้ที่หมดสติ และผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในทุกๆ กรณี

 

แล้วเสื้อพยุงตัวเหมาะจะใช้แบบไหน ?

 

 

เสื้อพยุงตัวนั้นมักจะถูกใช้ในกีฬาและกิจกรรมทางน้ำซะส่วนใหญ่ เช่น แข่งเจ็ทสกี แข่งเรือคายัค หรือแข่งเรือแคนู เป็นต้น ที่กีฬาเหล่านี้ใช้เสื้อพยุงตัวแบบนี้ก็เพราะว่าเสื้อพยุงตัวนั้นใส่สบายกว่า ให้ความคล่องตัวสูงกว่า  และยังเคลื่อนไหวได้สะดวก นักกีฬาจึงนิยมใส่กันเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับการแข่งขันนั่นเอง

 

 

แต่ถ้าสถานการณ์จำเป็นที่เราลงเล่นน้ำ ต้องช่วยเหลือคนตกน้ำ หรือเรากำลังจะตกน้ำ และของใกล้ตัวก็มีเพียงเสื้อพยุงตัว จริงๆ ก็สามารถนำไปใช้งานได้จ้า เพียงแต่เราต้องออกแรงตีขาเพิ่มเพื่อให้เราสามารถลอยตัวอยู่ในน้ำได้ และข้อสำคัญพยายามอย่าให้หน้าคว่ำและก็ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพราะถ้าเราตีขาไปนานๆ เราก็มีอาการอ่อนเพลียได้เช่นกัน

 


อย่าลืมที่จะใส่เสื้อชูชีพอย่างถูกต้องทุกครั้งที่ต้องเดินทางทางน้ำ

 

เมื่อเราเดินทางทางน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำต่างๆ อย่าลืมที่จะสวมใส่เสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวทุกครั้ง และทุกครั้งก่อนจะใส่ก็อย่าลืมที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไหม มีตรงไหนชำรุดเสียหายหรือเปล่า หากมีเปย์เป้แนะนำให้เปลี่ยนเนื่องจากประสิทธิภาพที่ได้จะลดลง และที่สำคัญอย่าลืมที่จะใส่อย่างถูกต้อง ล็อคตัวล็อคให้ครบทุกจุดที่เสื้อมีมาให้ รวมถึงสายคาดตรงหว่างขาด้วยนะจ๊ะ

 


 

ท้ายนี้เปย์เป้มีคลิปมาให้ชม เป็นคลิปที่แสดงตัวอย่างความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของเสื้อชูชีพและเสื้อพยุงตัวในขณะที่เราใส่ลงน้ำ เพื่อนๆ จะได้เห็นภาพกันอย่างชัดเจนไปเลยจ้าาา

 

Link :  แนะนำการใช้เสื้อชูชีพ LV-125

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น