ภาระหนี้สินระหว่างสามีภรรยา หนี้ส่วนไหนที่เราต้องชดใช้ร่วมกันนะ?
โดย : น้องหลุมดำ
หนี้แบบไหนที่เราต้องใช้แทนคู่ของเรานะ
จดทะเบียนแต่งงานกันแล้วเจอปัญหาคาใจ
เรื่อง “หนี้” เรื่องใหญ่ แต่เข้าใจได้ไม่ยาก
“ถ้าคุณติดหนี้ ฉันต้องใช้แทนมั้ยเนี่ย” คำถามนี้ปันโปรคาดว่าน่าจะเจอบ่อยในคู่ที่แต่งงานแล้วค่ะ ก็ในเมื่อคนที่ติดหนี้มันดันไม่ใช่เรา แล้วเราต้องไปรับผิดชอบด้วยเหรอ? แล้วถ้าสมมติว่า เราไม่ได้จดทะเบียนกัน แบบนี้ยังต้องจ่ายแทนกันไหม ปัญหานี้เรียกได้ว่าค่อนข้างซับซ้อนอยู่พอควร แต่ก็โชคดีที่มีกฎหมายรองรับชัดเจน วันนี้ปันโปรหาคำตอบมาให้พร้อมแล้วค่ะ
สินส่วนตัว VS สินสมรส
• สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ของหมั้น เงินฝาก มรดกตกทอด (ที่ระบุว่าไม่ใช่สินสมรสจะถือว่าเป็นสินส่วนตัว) ฯลฯ
• สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส เงินรางวัลจากลอตเตอรี่ ค่าเช่า หรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัว และมรดก ที่ระบุว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียนสมรส
ตัวอย่าง
ถ้าสามีเอาเงินที่ได้มาหลังจากการแต่งงาน ไปซื้อบ้านแถวสุขุมวิทแล้วใส่ชื่อเมียน้อย คนเป็นภรรยาสามารถเรียกร้องคืนได้ เพราะมีสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในสินสมรส (เพราะเงินที่ได้หลังจากแต่งงานถือเป็นสินสมรส) แต่...ถ้าไปเช็กแล้วว่า เงินที่สามีซื้อบ้านให้เมียน้อย เป็นเงินก่อนแต่ง (เป็นสินส่วนตัว) ภรรยาจะไปท้วงว่าเป็นสินสมรสไม่ได้ค่ะ
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส” เอาง่าย ๆ หลังจากแต่งงานจดทะเบียนกันปุ๊บ ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดที่ทั้งสองฝ่ายหามาได้หลังจากแต่งจะเป็นสินสมรส ถ้ามีการหย่า หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต สินสมรสจะถูกแบ่งครึ่งให้ทั้งสองฝ่ายเท่า ๆ กัน
ชีวิตแต่งงานที่ผูกพันมากกว่า "รัก"
อย่างที่ปันโปรได้อธิบายไปเรื่อง "สินสมรส" ก่อนและหลังแต่งงาน (จดทะเบียนสมรส) กับส่วนหนี้สินก็คล้ายกัน ที่จะต้องแยกแยะระหว่าง หนี้ที่เกิดก่อนแต่งงานและหลังแต่ง โดยเราจะไปไขข้อข้องใจกันว่าตามกฎหมายแล้วคู่สมรสจะต้องร่วมชดใจอย่างไรบ้าง
หนี้สินก่อนแต่งงาน
ในที่นี้ปันโปรขออธิบายเป็นตัวอย่างง่าย ๆ เราเป็นผู้หญิง ก่อนที่เรากับสามีจะจดทะเบียนกัน ฝ่ายผู้ชายมีหนี้ติดตัวมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หรือหนี้ที่เกิดจากการทำธุรกิจ พอจดทะเบียนไปแล้ว ผ่านไปหนึ่งปี ผู้ชายเขาชำระหนี้บัตรต่อไม่ได้
ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะไปเรียกร้องหนี้ส่วนนี้จากสินส่วนตัวของฝ่ายชาย ถ้าสินส่วนตัวไม่เพียงพอ ก็จะไปเรียกร้องจากสินสมรสของฝ่ายชาย (ครึ่งหนึ่งของสินสมรส) โดยเราฝ่ายหญิงไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ส่วนนี้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจะจดทะเบียนสมรสกัน
สรุป คู่สมรสไม่ต้องชดใช้หนี้ติดตัว แต่เมื่อหลังแต่งงาน 1 ปี กฏหมายจะบังคับยึดทรัพย์จากสินสมรสครึ่งหนึ่งที่เป็นของอีกฝ่ายเท่านั้น
หนี้สินหลังแต่งงาน
หลังจากตกลงปลงใจจดทะเบียนสมรสกันแล้ว หนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะเรียกว่า "หนี้ร่วม" ป.พ.พ. มาตรา 1490 ได้บัญญัติเรื่อง หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน สามีภรรยาต้องร่วมรับผิดชอบใน หนี้สิน ร่วมกัน ต้องชำระหนี้จากสินสมรส และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย แม้เจ้าหนี้จะฟ้องบังคับคดีแค่คนเดียว แต่สามารถยึดสินสมรสได้ทั้งหมด คู่สมรสอีกฝ่ายจะขอกันส่วนไม่ได้
** หมายเหตุ แต่ถ้าใครไม่จดทะเบียนสมรสถือว่าโชคดีไปนะคะ เพราะหนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภรรยา โดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะถือว่าไม่ใช่หนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันค่า
ข้อกฏหมายสำคัญของ
"หนี้ร่วม"
ป.พ.พ. มาตรา 1489
บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
ป.พ.พ. มาตรา 1490
บัญญัติเอาไว้ว่า หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้ค่ะ
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
ตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในการซื้อของกินของใช้ในบ้าน, ค่าเทอมของลูก, ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ของคู่สมรส และลูก
** หมายเหตุ หนี้ตามข้อนี้เน้นบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเป็นหลัก เช่น พ่อ แม่ ลูก และจำนวนหนี้ต้องพอสมควรแก่อัตภาพ ฉะนั้น ไม่ว่าสามีหรือภรรยาเป็นผู้ไปก่อขึ้น แม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยาที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
ตัวอย่าง หนี้ค่าจ้างต่อเติมซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรส, หนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อไถ่ถอนบ้าน
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
ตัวอย่าง สามีหุ้นกับภรรยากู้เงินไปเปิดร้านทอง หนี้ค่าวัสดุสร้างร้านทองที่ยังค้างชำระถือเป็นหนี้ร่วม
หมายเหตุ หนี้ตามข้อนี้อาจเกิดขึ้นจากฝ่ายสามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้ไปก่อขึ้นก็ได้
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งให้สัตยาบัน
ตัวอย่าง สามีกู้เงินไปทำธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ก่อนแต่งงาน โดยภรรยาได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืม (แม้ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัว ถือเป็นหนี้ร่วมค่ะ)
ปันโปรขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ค่ะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2734/2545
จำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้มาได้ไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านป้า เพราะป้าดูแลจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่เล็กรวมทั้งดูแลบุตรของจำเลยที่ 1 ด้วย การนำเงินกู้ไปซ่อมแซมบ้านของป้าก็เพื่อประโยชน์และความผาสุกของบุตรทั้งสามคนของจำเลยทั้งสอง กรณีจึงเป็นหนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(1) จึงเป็นหนี้ร่วมที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีต้องร่วมรับผิดด้วย
ข้อยกเว้นจาก
หนี้ที่ไม่ได้ก่อร่วมกัน
ใครที่แต่งงานแล้วอย่าเพิ่งปาดเหงื่อ เพราะหนี้ร่วมมักเป็นหนี้สินที่ทั้ง 2 คนมีส่วนได้ส่วนเสียกับ เงิน ที่ได้มา แต่ถ้าอีกฝ่ายแอบไปสร้างหนี้ แล้วครอบครัวไม่ได้เห็นชอบ หรือไม่ได้ใช้เงินก้อนนั้นด้วย แม้ตามกฎหมายจะไม่ได้ระบุคำว่า "หนี้ส่วนตัว" ไว้เฉพาะเจาะจง แต่ตามกฎหมาย "ป.พ.พ. มาตรา 1490 ได้บัญญัติเรื่อง หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน" ดังนั้นถ้าอะไรที่ไม่ใช่หนี้ร่วม ให้ถือว่าเป็น "หนี้ส่วนตัว" คู่สมรสจึงไม่ต้องชดใช้แม้จะจดทะเบียนกันแล้วก็ตาม
ตัวอย่างประเภทของหนี้ส่วนตัว
- หนี้บัตรเครดิตที่นำมาใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัว
- หนี้การพนัน
- หนี้ที่เกิดขึ้นขณะที่แยกกันอยู่กับภรรยาหรือสามี
- หนี้ที่เกิดจากการกู้ไปให้บุคคลอื่น ด้วยความพิศวาสเสน่หา
- ภาระหนี้ที่เกิดจากการค้ำประกันให้บุคคลอื่น
คู่สมรสเสียชีวิตขณะมีหนี้ส่วนตัว
โดยปกติตอนที่คู่สมรสเสียชีวิต สินสมรสจะแบ่งกันคนละครึ่ง เจ้าหนี้เขาจะมีสิทธิ์ทวงเงินที่แบ่งกันเสร็จแล้ว ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากคู่สมรสเสียชีวิต ถ้าหนี้มีมากเกินกว่าจำนวนมรดก เจ้าหนี้มีสิทธิ์รับเพียงส่วนที่เป็นมรดกเท่านั้น จะเรียกร้องเกินกว่านั้นไม่ได้ หากเกินจำนวนและเกินระยะเวลา 1 ปี ไม่มีสิทธิ์มาเรียกย้อนหลังจากคู่สมรสแล้วนะคะ
เคสจากข่าวดัง
ยกตัวอย่างกรณีที่เป็นข่าวดัง หนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์ และ ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์ กรณีที่ติ๊กติดหนี้การพนันออนไลน์และการกู้เงินต่าง ๆ เพื่อมาโปะหนี้นั้น จริง ๆ แล้วทางหนุ่มไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้แทน เพราะการติดหนี้การพนัน และการกู้เงินเพื่อใช้ส่วนตัว (ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งจำเป็นในครอบครัว) ถือเป็น “หนี้ส่วนตัว” ไม่ใช่หนี้ร่วมกันค่ะ
💰 สรุปเรื่องหนี้สินระหว่างสามีภรรยา 💰
• หนี้สินที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่กินกันฉันสามีภรรยา โดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะถือว่าไม่ใช่หนี้ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
• หากแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเล่นการพนันแล้วเป็นหนี้ ถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวค่ะ
• ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้เช็กก่อนว่า หนี้ที่ผู้ตายเหลือไว้ให้เรานั้นเป็น "หนี้ส่วนตัว" หรือ "หนี้ร่วม" ถ้าเป็น "หนี้ส่วนตัว" ของผู้ตาย ก็ไม่ต้องชดใช้แทนค่ะ
โดย น้องหลุมดำ
I'm coming when food's coming
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ