Nike จากจุดเริ่มต้นหลักพัน สู่แบรนด์แฟชั่นมูลค่าล้านล้าน
โดย : imnat
เป็นเวลา 9 ปีติดต่อกัน ที่ Nike (ไนกี้) สามารถคว้าอันดับ 1 แบรนด์แฟชั่นที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2015 และจากข้อมูลล่าสุดของปี 2023 Nike ได้สร้างมูลค่าการตลาดของแบรนด์ไว้สูงถึง 1 ล้านล้านบาท โดยขยับขึ้นมา 3 แสนล้านบาทจากปี 2015 หรือเทียบได้กับอันดับ 3 ของแบรนด์ที่ติดอันดับในปีนี้
ซึ่งการขยับขึ้นมาของมูลค่าการตลาดของแบรนด์ ส่งผลทำให้มูลค่าการตลาดด้านอื่น ๆ ของ Nike เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าของ Swoosh (สวูช) โลโก้สุดไอคอนิก ที่ตอนนี้ถูกตีราคาไว้สูงถึง 5 แสนล้านบาท จากราคาตั้งต้นแค่หลักพัน สมฐานะการเป็นแบรนด์แฟชั่นมูลค่าล้านล้าน ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้
จุดเริ่มต้นหลักพัน ที่เจ้าของแบรนด์ทั้งรัก...และก็ชัง
ถ้าให้เทียบความเป็นไปได้ และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จระหว่างการสร้างแบรนด์ในอดีตกับปัจจุบัน ส่วนตัวเรามองว่าความเป็นไปได้ในปัจจุบันดูจะเป็นภาพที่จินตนาการออกมาได้ง่ายกว่า เพราะปัจจุบันเรามีช่องทางในการทำการตลาดเยอะมาก โอกาสที่แบรนด์จะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักเลยสูงมากตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อนำมาเทียบกับโอกาสที่จะสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จในอดีตแล้ว เราแทบจะไม่ต้องเดากันเลยว่ามันจะยากลำบากกว่าปัจจุบันแค่ไหน
ซึ่งความยากลำบากที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นกับ Phil Knight (ฟิล ไนต์) วัย 26 ปี ที่ ณ ตอนนั้นเขายังเป็นเพียงอาจารย์สอนวิชาบัญชี ที่มีแพสชันให้กับสิ่งที่เรียกว่ารองเท้ากีฬาเป็นอย่างมาก แต่ตราบใดที่เขายังไม่ได้ก้าวเท้าลงสนาม เขาก็ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า แพสชันที่มีอยู่ในตัวตอนนั้น จะมีโอกาสต่อยอดและประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ไหม
Phil Knight ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Nike ภาพจาก Nike
ฟิล ไนต์ เลยได้เริ่มต้นเส้นทางด้วยการนำรองเท้ากีฬาสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Onitsuka Tiger (โอนิซึกะ ไทเกอร์) มาวางขายที่สหรัฐฯ ในปี 1964 หลังจากขายไปได้สักพักเขาก็เกิดความคิดอยากจะผลิตรองเท้าของตัวเองขึ้นมา ประกอบกับระยะเวลาของสัญญากับ Onitsuka Tiger ที่ใกล้จะหมดลง ฟิล ไนต์เลยตัดสินใจว่าจะลองใช้ประสบการณ์จากการขายรองเท้าที่ผ่านมา มาสร้างเป็นแบรนด์ของตัวเอง แต่ทว่าการจะเกิดขึ้นมาเป็นแบรนด์สินค้าสักแบรนด์ได้ มันจะต้องผ่านการวางแผนแบบละเอียดยิบทุกขั้นตอน แถมยังต้องประเมินความเสี่ยงกับเงินทุนที่มีอยู่ในตอนนั้นด้วย นั่นจึงกลายเป็นที่มาของการใช้งบประมาณเพียงแค่หลักพัน ในการลงทุนไปกับสิ่งที่เรียกว่า โลโก้ หรือภาพจำแรกที่คนจะรู้จักแบรนด์ของเขา
โลโก้เวอร์ชันแรกของ Nike พร้อมลายเซ็นของ Carolyn Davidson (คนออกแบบ) ภาพจาก Nike
1,298 บาท คือค่าตอบแทน (คิดเป็นเงินไทย) ที่ Carolyn Davidson (แคโรลีน เดวิดสัน) ได้รับจากการว่าจ้างของฟิล ไนต์ หลังจากที่เขาโยนโจทย์มาเธอออกแบบโลโก้แบรนด์สินค้าอย่าง Nike ที่ได้แรงบันดาลใจของชื่อมาจากเทพีกรีกโบราณ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความแข็งแกร่ง โดยแคโรลีนได้ใช้เวลาในการออกแบบไปทั้งหมด 17.5 ชั่วโมง ก่อนจะส่งมอบแบบร่างจำนวนทั้งหมด 5 แบบให้กับเขา
ถ้าถามว่าตอนนั้น ฟิล ไนต์ เกิดพิศวาสหรือถูกตาต้องใจกับแบบร่างโลโก้เหล่านั้นไหม เราขอตอบตามตรงว่า ไม่ แต่เขาก็ไม่ได้หันหลังให้กับมันเสียทีเดียว ยังมีการให้โอกาสแบบร่างหนึ่งได้ไปต่อ ซึ่งแบบร่างนั้นก็ได้แก่ โลโก้ Nike ที่มีลักษณะคล้ายกับบูมเมอแรง ที่แคโรลีนได้ให้คำอธิบายในภายหลัง ว่าเธอได้แรงบันดาลใจมาจากปีกของเทพีไนกี้ ที่แสดงออกถึงการเคลื่อนไหว ความว่องไว และการเป็นผู้ชนะ ก่อนจะคาดทับปีกนั้นด้วยชื่อแบรนด์อย่าง Nike ที่ทางฟิล ไนต์ ลงความเห็นว่ามันออกมาดีที่สุดในบรรดาแบบร่างทั้งหมด 5 แบบแล้ว
โดยโลโก้ที่แคโรลีนออกแบบ (ภายหลังถูกให้ชื่อว่า Swoosh) ถูกนำมาเปิดตัวพร้อมกับแบรนด์ Nike เป็นครั้งแรกในปี 1971 โดยความรู้สึกแรกของฟิล ไนต์ ไม่ได้คาดหวังอะไรกับผลงานการออกแบบชิ้นนี้มากนัก ดูค่อนไปทางลูกชัง ที่ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นลูกรัก ในแบบที่ฟิล ไนต์ จำใจจะต้องยอมรับ
โลโก้ Nike เวอร์ชันปัจจุบันที่ถูกดีไซน์ใหม่ในปี 1995 (โดยเป็นการเอาคำว่า Nike ออก ก่อนจะถมพื้นสีดำเข้าไปในโลโก้) ภาพจาก Nike
อิทธิพลของกีฬา พา Nike เจริญ
เหตุผลสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้ Nike กลายเป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกตอนนี้ ถ้าไม่ยกเครดิตให้ ความคลั่งกีฬา (เป็นเอามาก) ของคนอเมริกัน ก็ดูจะเป็นการยกเหตุผลแบบไม่จริงใจไปเสียหน่อย
เพราะนับตั้งแต่การเปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการ กระแสการเป็นที่รู้จักของ Nike ก็ค่อย ๆ ขยับดีขึ้น ก่อนจะกลายเป็นแบรนด์ที่มีความสามารถในการ ฮุบ เอาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาไปได้มากถึง 50% โดยใช้เวลาหลังจากนั้นแค่ 9 ปี ก่อนที่ภาพความสำเร็จจะค่อย ๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นในปี 1984 หลังจากที่ทาง Nike คว้าตัว Michael Jordan (ไมเคิล จอร์แดน) นักบาสที่ได้รับการขนานนามว่าเก่งกาจที่สุดในยุคนั้น มาเซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์ โดยปิดดีลไว้ที่ประมาณ 18 ล้านบาทต่อปี แถมยังมีการเปิดตัว Air Jordan 1 โมเดลที่สร้างปรากฏการณ์ฮือฮา และได้กลายเป็นหนึ่งในโมเดลรองเท้าอันทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้
Michael Jordan อดีตนักกีฬาบาสที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อให้ Nike เป็นที่รู้จัก ภาพจาก Nike
ถามว่าทำไม Nike ถึงมีความเชื่อมั่นในกีฬา จนกล้าที่จะยอมลงทุนให้กับไมเคิล จอร์แดนขนาดนั้น นั่นก็เป็นเพราะว่า กีฬา เป็นกิจกรรมที่มีอิทธิพลมากในประเทศสหรัฐอเมริกา แถมยังมีความสามารถในการส่งผลกระทบทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงวัฒนธรรม นอกจากนี้กีฬายังเป็นส่วนสำคัญในการปลุกทัศนคติความรักชาติ การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่สำคัญ ความคลั่งไคล้ในเกมกีฬาที่ว่านี้ ส่งผลทำให้ นักกีฬา เป็นอาชีพในฝันที่เด็ก ๆ ชาวอเมริกันทั้งหลายอยากจะเจริญรอยตามให้ได้
และด้วยอิทธิพลแห่งการเป็นประเทศที่คลั่งไคล้กีฬา (เป็นเอามาก) นี้ ส่งผลทำให้แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าใครเพื่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นแบรนด์กีฬาสัญชาติอเมริกันเองด้วย) ซึ่งงานนี้ถือว่า Nike เดินเกมมาถูกทาง เพราะหลังจากที่จับไมเคิล จอร์แดนมาเซ็นสัญญา ปีถัด ๆ มาทาง Nike ก็ลงทุนคว้าตัวนักกีฬาประเภทอื่นมาเซ็นสัญญาร่วมกับทางแบรนด์อีก ไม่ว่าจะเป็น
- Tiger Woods (ไทเกอร์ วูดส์) นักกีฬากอล์ฟ เซ็นสัญญากับ Nike ตั้งแต่ปี 1996 โดยมีมูลค่าการเซ็นสัญญาอยู่ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี
- Serena Williams (เซเรนา วิลเลียมส์) นักกีฬาเทนนิส เซ็นสัญญากับ Nike ตั้งแต่ปี 2004 โดยมีมูลค่าการเซ็นสัญญาอยู่ที่ 1 พันล้านบาทต่อปี
- Cristiano Ronaldo (คริสเตียโน โรนัลโด) นักกีฬาฟุตบอล เซ็นสัญญาตลอดชีพกับ Nike โดยมีมูลค่าการเซ็นสัญญาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท
- Roger Federer (โรเจอร์ เฟเดอเรอร์) อดีตนักกีฬาเทนนิส เคยเซ็นสัญญากับ Nike ตั้งแต่ปี 2008 โดยมีมูลค่าการเซ็นสัญญาอยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อปี ตอนนี้หมดสัญญาและยุติการเป็นนักกีฬาไปเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งรายชื่อนักกีฬาดังกล่าวนี้ เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ทาง Nike มีความตั้งใจที่จะโปรโมทแบรนด์ตัวเอง ผ่านตัวแปรสำคัญอย่างนักกีฬาจริง ๆ ต่อให้เราจะไม่รู้ตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าการลงทุนในครั้งนี้ ผลตอบรับที่ทาง Nike ได้กลับมาจะอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ข้อมูลหลังจากนี้น่าจะพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า อิทธิพลของกีฬา มีส่วนที่พา Nike ให้เจริญได้จริง ๆ
จากรายงานปี 2022 ตลาดกีฬาในประเทศสหรัฐอเมริกาสร้างมูลค่าในประเทศไปได้กว่า 2 ล้านล้านบาท ถ้าเทียบให้เห็นภาพ คือมีจำนวนมากกว่ามูลค่าของลีกกีฬาในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริการวมกัน โดยที่มาของมูลค่ามหาศาลนั้นมาจากอิทธิพลของนักกีฬา รายได้จากการเข้าชมกีฬา รวมไปถึงการแข่งขันกีฬาที่สำคัญ อาทิ Super Bowl (ซูเปอร์โบลว์) หรือการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศประจำปี ที่ได้รับความนิยมมาก จนขึ้นแท่นเป็นเกมกีฬาที่มียอดผู้เข้าชมสูง มีค่าโฆษณาที่แพงหูฉี่ แถมยังเป็นการแข่งขันกีฬาที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ด้วย
อย่างงาน Super Bowl 2023 ที่ผ่านมา มีข้อมูลการใช้จ่ายเงินของผู้ชมที่เกี่ยวข้องกับงานสูงถึง 6 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าในมุมของคนทำธุรกิจก็พร้อมที่จะเดิมพันโดยอาศัยอิทธิพลของกีฬาเข้ามาช่วย ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่เดิมพันเหล่านั้นก็ได้รวมไปถึงแบรนด์ Nike ด้วย
ขึ้นแท่นแบรนด์แฟชั่นมูลค่าล้านล้าน ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้
ต่อให้แหล่งที่มาของรายได้หลัก ๆ จะมาจากกีฬา แต่ถ้าเราลองเจาะรายละเอียดให้ลึกลงไป เราจะเห็นได้ว่า ต่อให้ Nike เป็นแบรนด์สินค้าที่มีโอกาสทำยอดขายในอเมริกาได้มาก แต่รายได้กว่า 60% ของ Nike กลับมาจากตลาดในประเทศอื่น ที่นอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกา และ 12% ของรายได้ในส่วนนั้นก็มีที่มาจากตลาดใหม่อย่างเอเชียและลาตินอเมริกาด้วย เราเลยสามารถสรุปได้ก่อนเบื้องต้นว่า อิทธิพลของกีฬา อาจจะเป็นเหยื่อล่อที่ใช้ไม่ได้ผลกับทุกประเทศ
ทาง Nike เลยต้องอาศัยกลยุทธ์อื่น ๆ เข้ามาดึงกลุ่มลูกค้าที่อยู่นอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ตัวเองสามารถเกาะขาเก้าอี้ยืนหนึ่งในการเป็นแบรนด์แฟชั่นมูลค่ามากที่สุดในโลกแบบนี้ต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์ของ Nike จะต้องเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ซึ่งเท่าที่เราลองสังเกต กลยุทธ์ที่ทาง Nike ใช้ในการทำการตลาดหลัก ๆ และเป็นจุดแข็งของแบรนด์มาโดยตลอดก็จะมีด้วยกันดังนี้
- Nike เป็นแบรนด์ที่ทุ่มทุนให้กับงบในการทำการตลาดเยอะมาก จากข้อมูลของปี 2022 ที่ผ่านมา ทาง Nike ได้ใช้งบในการทำการตลาดสูงถึง 1 แสนล้านบาท โดย 1 แสนล้านบาทที่ว่านี้ถูกนำไปใช้ตั้งแต่การเป็นสปอนเซอร์ให้กับนักกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬา การจับมือกับคนดังที่มีชื่อเสียง การลงทุนให้กับค่าโฆษณา ถ้าถามหาเหตุผลว่าทำไม Nike ถึงใจป้ำกับกลยุทธ์นี้มาโดยตลอด นั่นก็เป็นเพราะว่า มันเป็นการลงทุนที่ได้ผลในแง่ของยอดขายที่เพิ่มขึ้น (มีข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า Nike จะได้กำไรเป็นเงิน 12.21 บาท จากยอดขายทุก ๆ 100 บาท ดังนั้นถ้าสมมุติ Nike มียอดขายในปีนั้นอยู่ที่แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่าทาง Nike จะมีโอกาสได้กำไรสูงถึงหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว)
- Nike มีพื้นฐานการเป็นแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว นั่นเลยทำให้ Nike ไม่จำเป็นจะต้องโอ้อวดสรรพคุณของสินค้าให้ใคร ๆ ได้รู้จักมาก แต่สิ่งที่ Nike หันไปโฟกัสแทนก็ได้แก่ การสื่อสารทางอารมณ์ ผ่านเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน เพราะ Nike รู้ดีอยู่แล้วว่า การที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง อารมณ์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเยอะมาก ซึ่งผลพลอยได้ของกลยุทธ์ทางการตลาดที่เล่นกับอารมณ์นี้ สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้ แถมโฆษณาที่เล่นกับอารมณ์ของ Nike ส่วนใหญ่ ก็เป็นกระแสและถูกพูดถึงกันอยู่เสมอ โดยที่ไม่ต้องอวดอ้างผ่านความดีงามของสินค้า แต่หนีไปใช้วิธีที่ฉลาด (และได้ผลที่ดีกว่า) แทน
- Nike ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาขายให้คนซื้อสินค้ารู้สึกว่ามันพรีเมียม คือการตั้งราคาที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเกินไป หรือว่าแพงเกินไป เป็นราคาที่ทำให้คนซื้อรู้สึกว่า 'ฉันยอมจ่ายให้กับมันได้' หรือถ้ารองเท้ารุ่นไหนมีการคอลแลปส์กับคนดังที่มีชื่อเสียง พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองพร้อมจ่ายให้กับมันมากกว่าราคาปกติอีกเท่าตัว (แถมไม่ได้รู้สึกว่ารองเท้าคู่นั้นแพงเกินไปด้วย)
- Nike ใช้กลยุทธ์ของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนเป็นการสร้างลัทธิให้คนใส่โดยปริยาย ให้ความรู้สึกภาคภูมิใจ ต่อให้จะเดินออกไปข้างนอกแล้วเจอคนที่ใส่รองเท้ารุ่นเดียวกัน แทนที่เราจะรู้สึกถึงความเกลื่อน แต่มันกลับให้ผลในทิศทางตรงกันข้าม เหมือนกับเจอพวกพ้องที่ถึงแม้เราจะไม่รู้จักกัน แต่เราจะสัมผัสถึงความลิงก์กัน โดยมีรองเท้า Nike เป็นสื่อกลาง
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นกลยุทธ์หลัก ๆ ที่ทาง Nike นำมาใช้ในการทำการตลาดของแบรนด์ ที่สำคัญคือดูเหมือนจะใช้ได้ผลในทุกครั้ง จนทำให้รายรับของแบรนด์ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นมูลค่าที่เสถียร (ต่อให้จะมีการขยับเขยื้อนขึ้น ๆ ลง ๆ บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในมาตรฐานที่เราพอจะเดากันได้)
ถ้าให้ลองยกตัวอย่างรายได้ของ Nike ที่พอจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่มาจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดต่าง ๆ ที่ว่านี้ เราก็ขอปักหมุดตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา เพราะเป็นปีที่ Nike มีการขยายฐานการตลาดออกไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำให้รายได้ของ Nike เพิ่มสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ
- ปี 2005 Nike สามารถทำรายได้ทั่วโลกอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท
- ปี 2011 Nike สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 7 แสนล้านบาท (โดยขยับขึ้นมา 2 แสนล้านบาทในระยะเวลา 6 ปี)
- ปี 2015 Nike สามารถทำรายได้ทั่วโลกแตะล้านล้านบาทเป็นปีแรก แถมยังติดอันดับ 1 แบรนด์แฟชั่นที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกเป็นปีแรกอีกด้วย
- ปี 2021 Nike ยังคงทำยอดขายอยู่ในระดับล้านล้านบาทเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือภายในปีเดียว Nike สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นมา 3 แสนล้านบาท (คาดว่าน่าจะเป็นผลพวงมาจากยุคหลังโควิด) แถมยังทำรายได้จากยุโรปและตะวันออกกลาง สูสีกับรายได้ที่มาจากอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นปีแรกที่ตลาดใหม่เริ่มมีบทบาทให้เห็นชัดเจน
- ปี 2023 Nike ทำรายได้อยู่ในระดับล้านล้านบาทเหมือนเดิม แต่ปีนี้รายได้ที่มาจากประเทศอื่น (นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา) มีสัดส่วนมากถึง 60% ซึ่งคาดว่าประเทศเหล่านี้จะค่อย ๆ มีอิทธิพลกับทาง Nike มากขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกาหลีใต้ ที่ Nike เป็นแบรนด์แรกและแบรนด์เดียว ที่สามารถทำยอดขาย 'เฉพาะรองเท้ากีฬา' ได้มากกว่า 1 ล้านล้านวอน ต่อให้จะรวมยอดขายของเสื้อผ้าและรองเท้าจากแบรนด์อื่นที่คนเกาหลีใต้นิยมกัน ยกตัวอย่าง New Balance หรือ FILA ก็ยังเทียบยอดขายเฉพาะรองเท้า Nike อย่างเดียวไม่ได้ - และประเภทของสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับ Nike มากที่สุดนับตั้งแต่ขยายตลาดเป็นต้นมา ก็หนีไม่พ้นรองเท้ากีฬา และไม่มีวี่แววว่าจะพลิกโผไปจากนี้
จากจุดแข็งและความกล้าที่จะเสี่ยงให้กับการ คิดใหญ่ ทำใหญ่ และเล่นใหญ่ ของ Nike ทำให้จากจุดเริ่มต้นหลักพันในวันนั้น ได้กระโดดขึ้นมาสู่การเป็นแบรนด์แฟชั่นหลักล้านล้านบาทในวันนี้ ซึ่งเมื่อเทียบกับแบรนด์กีฬาที่ติดอยู่ในโผนี้ด้วยกันอย่าง adidas ที่ถึงแม้จะมีอายุของแบรนด์มากกว่า Nike ถึง 15 ปี แต่มูลค่าการตลาดของ Nike ได้แซงหน้า adidas มาเกินกว่าครึ่ง และน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน (ตราบใดที่ adidas ยังไม่เจอทางลัดที่จะทำให้แบรนด์ของตัวเองกระโดดขึ้นมายืนเทียบ Nike ได้ภายใน 1-2 ปีนี้)
*ข้อมูลรายได้ทั้งหมดอ้างอิงจากอัตราการแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทไทย ณ วันที่ 10 ต.ค. 66
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- Nike Dunk ผ้าใบตัวตึง รีเซลแต่ละทีทำไมถึงได้แพ๊ง..แพง ?
- ไขข้อสงสัย ทำไมเกาหลีใต้ ถึงเป็นดินแดนแห่ง Sneakers
- Sneakerheads จากโมเมนต์สำคัญของชีวิต สู่ซีรีส์ที่คนคลั่งรองเท้าควรดู !
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Nike, Study, Statista 1 2 3, Brandfinance, Investing, gmtm, The Source, Marketeer Online, Ridiculous History, Macro Trends, The Football USA, Forbes Thailand, Business Korea
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ