รีวิว Gone Shopping เมื่อห้างคือชีวิต จิตวิญญาณ และการตามหาตัวตนที่หล่นหาย
โดย : imnat
"ฉันไม่ได้ต้องการยาอะไรเลย
ฉันแค่เดินเข้าไปในห้าง ช็อปปิง แค่นั้นฉันก็หายแล้ว"
คลาร่า ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง Gone Shopping
ห้างสรรพสินค้า สวรรค์บนดินในนิยามของใครหลายคน สถานที่ที่รวบรวมผู้คนมากมายให้มาอยู่รวมกัน สถานที่ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาด กระตุ้นให้เกิดความอยากได้ แถมยังทำหน้าที่เป็นเสมือน หลุมหลบภัย ให้กับคนที่อยากหลบหนีออกจากโลกแห่งความจริง ได้ใช้เวลาเติมเชื้อไฟ ก่อนจะออกไปเผชิญหน้ากับโลกอันโหดร้ายกันอีกครั้ง
นี่คือสิ่งที่เรารับรู้ หลังจากที่ได้ดูภาพยนตร์นอกกระแสเรื่องหนึ่ง ที่ใกล้จะถึงวันลาจอใน Netflix เข้ามาแล้วทุกที โดย Gone Shopping เป็นภาพยนตร์สัญชาติสิงคโปร์ ที่เขียนบทและกำกับโดย Li Lin Wee โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กลิ่นอายของความเป็นหนังอินดี้ฟอร์มเล็ก แต่ทว่าสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะถ่ายทอดออกมา ผ่านบริบทเนื้อหาที่สอดแทรกอยู่ในหนัง เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และอิมแพคกับคนดูเป็นอย่างมาก ทำให้คนดูหวนนึกถึงพฤติกรรม มนุษย์ห้าง ของตัวเอง จุดประสงค์ในการเดินห้าง และความคาดหวังอยากจะให้สถานที่อย่าง ห้าง เติมเต็มสิ่งที่ขาดให้กับเราได้
🚨 คำเตือน : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ 🚨
Gone Shopping กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ห้าง
ภาพยนตร์เรื่อง Gone Shopping มีฉากหลังเป็นห้างสรรพสินค้า Marina Square ที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยความตั้งใจของผู้สร้างอย่าง Li Lin Wee ต้องการจะเข้าถึงสถานที่ในฝันของผู้คนอย่าง ห้างสรรพสินค้า กันมากขึ้น ด้วยการอาศัย Passion ของมนุษย์เดินห้างมาเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องราวของแต่ละตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน
โดยมีตัวละครหลักคือ คลาร่า (รับบทโดย Kym Ng) หญิงสาววัยกลางคนอายุ 40 ปี ไม่มีลูก อาศัยอยู่กินกับสามีนักธุรกิจที่เข้าขั้นว่ารวยมาก ซึ่งในสังคมของสิงคโปร์มักจะเรียกแทนผู้หญิงที่เป็นภรรยาของคนรวยที่แต่งงานแล้วและไม่ต้องทำอะไรเลยแบบนี้ว่า Tai Tai ซึ่งสำหรับคลาร่าแล้วกิจกรรมหลักในทุก ๆ วันของเธอนั่นก็คือ การช็อปปิง โดยตัวละครของคลาร่ามีความเชื่ออย่างหมดใจว่าการช็อปปิงจะสามารถช่วยรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า ความเบื่อหน่ายในชีวิตคู่ การใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย ให้มันดูมีความหวังหรือมีทิศทางที่ดีมากกว่าเดิม
เช่นเดียวกันกับ แอรอน (รับบทโดย Aaron Kao) ตัวแทนของคนรุ่นใหม่วัย 23 ที่เบื่อชีวิตการทำงานเป็น Routine ของตัวเอง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการเลย มันเลยทำให้ทุกเย็นหลังเลิกงาน แอรอนจะต้องหนีมาพักใจที่ห้างสรรพสินค้า พบปะสังสรรค์ อัปเดตเรื่องราวในชีวิต หรือแม้กระทั่งการนั่งวิจารณ์ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมากับกลุ่มเพื่อน โดยมีวัตถุประสงค์อย่างการตามหาสิ่งที่น่าตื่นเต้น (มากกว่างาน) ภายในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้
ถัดมาอีกไม่ใกล้ไม่ไกลกันนัก เรณู (รับบทโดย Sonya Nair) เด็กสาววัย 8 ปีที่พลัดหลงกับพ่อแม่อยู่ในห้าง Mustafa ห้างสรรพสินค้าอินเดีย ที่เปิดให้บริการ 24 ชม. โดยตัวละครของเรณูจะทำให้คนดูอย่างเราได้เห็นมุมมองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ในฝัน ได้เล่นของเล่น ได้เดินดูโน่นดูนี่ระหว่างที่รอพ่อแม่ของเธอออกตามหา ซึ่งความน่าสนใจของตัวละครเรณูคนนี้ นอกจากเราจะได้เห็นมุมมองของเด็กที่มีต่อสถานที่ในฝันของเธอแล้ว เรายังจะได้เห็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กอย่างเธอด้วย
Gone Shopping เมื่อห้างเป็นทุกอย่าง แต่ดันเติมเต็มไม่ได้ทุกสิ่ง
นอกจาก Gone Shopping จะทำให้เราได้คำตอบของการเป็น มนุษย์ห้าง ในแบบของตัวเองกันแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังจะช่วยให้เราได้คำตอบของคำถามที่ว่า ห้างคือคำตอบของทุกอย่าง ? เหมือนอย่างที่เหล่าตัวละครกำลังหาคำตอบกันอยู่
โดยการตามล่าหาคำตอบที่ว่านี้ ได้อาศัยการร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านสถานการณ์ของ การตามหาและเติมเต็มตัวตนที่หล่นหาย ของทั้ง 3 ตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นคลาร่า แอรอน หรือแม้กระทั่งผ่านสายตาของเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างเรณู
เริ่มกันที่ตัวละครของ คลาร่า ต่อให้ภาพลักษณ์ภายนอกจะดูเป็นหญิงสาวที่เจนจัดในเรื่องสังคม เดินเข้าร้านไหนก็มีแต่คนคอยช่วยเหลือและดูแล แต่ทว่าลึก ๆ แล้ว ตัวละครของคลาร่ามีปัญหาที่ซ่อนอยู่เยอะมาก กิจกรรมอย่างการช็อปปิงเดินห้างสำหรับเธอ เลยกลายเป็นเหมือนกิจกรรมที่ช่วยทำให้เธอลืมสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านั้นไปได้ แต่หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจลง เธอก็จะกลับมาจำเรื่องราวทุกอย่างได้อีกครั้ง จนทำให้เธออยากหลุดพ้นจากปัญหาเหล่านั้นแบบถาวร ด้วยการแอบไปอาศัยอยู่ในห้างสรรพสินค้ามันซะเลย
ซึ่งการที่เธอแอบเข้ามาอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ จริงอยู่ที่ว่าห้างสรรพสินค้าสามารถดึงเธอให้หลุดพ้นออกจากทุกปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ทว่ามันก็เป็นการหลุดพ้นออกมาแบบ ไม่สมบูรณ์ เพราะยังไงเธอก็หนีความจริงไปไม่พ้น แต่การที่เธอแอบเข้ามาอาศัยอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ก็มีข้อดีอยู่ คือมันทำให้เธอ ตาสว่างกับหลาย ๆ เรื่องในสถานที่เดียว นับตั้งแต่สังคม Tai Tai จอมปลอม ที่จริง ๆ แล้วทุกคนเหมือนสวมหน้ากากเข้าหากัน ไม่ได้มีคนที่จริงใจหรือว่าหวังดีกับเธอขนาดนั้น
หรือแม้กระทั่งการได้หวนกลับไปเจอ อดีตคนรู้จัก ที่ทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้ตัวละครอย่างคลาร่า พอจะหลุดออกมาจากภาพในหัวอันสวยหรูของตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้เธอเห็นความหมายของชีวิตมากขึ้น มีความสุขอย่างแท้จริง (ที่ไม่ได้มาจากการใช้เงินซื้อ) และได้รู้คำตอบอย่างถ่องแท้ว่า เงิน ไม่สามารถซื้อทุกอย่างที่เธอต้องการได้ แม้กระทั่งกับความรักเองก็ตาม
อย่างในมุมมองของ แอรอน ที่ได้ตัดสินใจหนีออกมาจากชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อของตัวเอง หนีออกมาจากบทบาทการเป็นลูกชายคนโตความหวังของครอบครัวในอนาคต สู่การตามหาสิ่งที่น่าสนใจพอที่จะเติมเชื้อไฟให้ตัวเองได้ ที่กำลังรอคอยเขาอยู่ ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้
โดยแอรอนได้ค้นพบกับ เชื้อไฟ ที่ว่านั้นกันจริง ๆ แต่ทว่าเชื้อไฟนั้นมันทำให้เขาตัดสินใจทิ้งภาระอันหนักอึ้งทุกอย่าง ทิ้งความรับผิดชอบ และความคาดหวังทุกอย่างจากคนในครอบครัว ออกมาใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขาโหยหาและต้องการมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือว่าความฝันเองก็ตาม
แต่นั่นทำให้ตัวละครอย่างแอรอนได้ค้นพบความจริงในภายหลังว่า ความสุขไม่ได้ยืนยาวอย่างที่คิด เพราะความสุขที่เขาได้รับมันเกิดขึ้นแบบชั่วคราว ท้ายที่สุดแล้วเขาจะต้องก้าวออกไปสู่โลกแห่งความจริง กลับไปรับผิดชอบหน้าที่ที่ต้องทำ เป็นลูกชายคนโตของบ้านที่สามารถเติมเต็มความหวังให้ครอบครัวได้ ความสุขที่ผ่านมาเป็นแค่เพียงความฝัน ที่มาพร้อมกับบทเรียนสำคัญก็เท่านั้น
แล้วความสุขของการที่ได้อาศัยอยู่ในห้าง
ในมุมมองของเด็กอายุ 8 ขวบคนหนึ่งล่ะเป็นยังไง ?
สำหรับ เรณู เด็กสาวที่โตมาพร้อมกับทัศนคติที่ว่า ห้าง = วิมานแห่งความสุข คนนี้สอนอะไรเราได้เยอะ เรณูคือตัวแทนของคนที่มองห้างสรรพสินค้าในแง่มุมที่ดีเสมอ ห้างสรรพสินค้าสำหรับเธอคืออะไรที่แปลกใหม่ เพราะมันมีทุกอย่างที่เธอต้องการอยู่ในนั้น ดังนั้นสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองของเรณูเลยกลายเป็น Mood and Tone ที่ดูสวยงามมากกว่าสองตัวละครที่ผ่านมา
แต่ทว่าในอีกมุมหนึ่ง เราจะสัมผัสได้ถึงความโหยหาบางอย่าง ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ให้กับเธอไม่ได้ นั่นก็คือ ความโหยหาในครอบครัว ที่เธอพยายามส่งสัญญาณตามหาอยู่เสมอ ต่อให้เธอจะสนุกสนานกับวิมานในฝัน แต่ลึก ๆ แล้วเธอก็ไม่ได้สนุกสนานกับมันขนาดนั้น จากภาพวิมานในฝัน นับวันมันยิ่งกลายเป็นสถานที่ที่เธอ อยากหลบหนีไปจากมันให้ไวที่สุด
นอกจากหนังจะถ่ายทอดเรื่องราวในฐานะของลูกค้าแล้ว มันยังถ่ายทอดรายละเอียดในมุมมองของพนักงานห้างให้เราได้เห็นและหวนนึกถึงภาพเหตุการณ์จริงที่อาจจะเคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่เรื่องราวของ มนุษย์ห้าง อย่างแท้จริง ถึงแม้จะเป็นเพียงมนุษย์ห้างหนึ่งในร้อย แต่ทว่าเรื่องราวของพวกเขา อาจจะจุดประกายอะไรบางอย่าง หรือเปลี่ยนมุมมองความคิดของเราจากหน้ามือเป็นหลังมือขึ้นมาเลยก็ได้
Gone Shopping เมื่อห้างคือชีวิต จิตวิญญาณ และการตามหาตัวตนที่หล่นหาย
แม้ว่าในช่วงต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทางผู้กำกับอยากจะให้คนดูอย่างเรามองภาพของ ห้างสรรพสินค้า ว่าเป็นสถานที่ที่บันดาลทุกอย่างได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วสถานที่แห่งนี้กลับมอบบทเรียนหลาย ๆ อย่าง ทำให้ตัวละครได้ค้นพบความจริงที่หล่นหาย ได้คำตอบของเรื่องบางอย่างที่ควรรู้ ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวแบบง่าย ๆ ด้วยการอาศัยสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง ห้าง มาเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน
โดยมี 3 ตัวละคร ที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ห้างในแบบที่แตกต่างกัน เดินเข้ามาในห้างพร้อมกับจุดประสงค์ที่แตกต่าง โดยหวังว่าห้างจะสามารถเติมเต็มสิ่งที่พวกเขากำลังขาดอยู่ได้ จนท้ายที่สุดเราถึงได้ค้นพบคำตอบว่า
ต่อให้มันจะเป็นสถานที่แห่งความสุขก็จริง
แต่เรื่องบางเรื่อง ห้างก็ไม่สามารถให้สิ่งที่เราต้องการได้
การใช้เงินซื้อความสบายใจใช่ว่าจะเป็นทางออกของทุกปัญหา อีกทั้งห้างสรรพสินค้าก็ไม่ใช่ Safe Zone ที่ดีเสมอไป และสำคัญที่สุดคือ ภาพในหัวอันเพ้อฝันของเราที่มีต่อสถานที่แห่งนี้ บางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทุกอย่างควรขึ้นอยู่กับ หลักความจริง เป็นสำคัญ การใช้ชีวิตของเราถึงจะเต็มไปด้วยความสุข และเติมเต็มในสิ่งที่เราต้องการได้จริง ๆ
สำหรับใครที่อยากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สามารถเข้าไปชมกันได้ใน Netflix จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นี้ หลังจากนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนไปดูในช่องทางอื่น ๆ แทน อย่างเช่น Apple TV ส่วนใครที่เข้ามาอ่านบทความนี้ โดยที่ยังไม่ถึงกำหนดลาจอใน Netflix ก็ลองไปหามาดูกันนะ เราว่าเป็นภาพยนตร์นอกกระแสที่มีเนื้อหาดีมาก ๆ อีกทั้ง Mood and Tone โดยรวมก็ไม่ได้ตึงเครียดจนเกินไป สามารถเปิดดูระหว่างทานข้าวสบาย ๆ กันได้เลย 😉
"เมื่อฉันเหงา ฉันจะซื้อเสื้อผ้า
เมื่อฉันหลงทาง ฉันจะซื้อรองเท้า
เมื่อฉันเศร้า ฉันจะซื้อกระเป๋า
แต่ตอนนี้ ที่ฉันได้นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ
ฉันกลับรู้สึกไม่อยากซื้ออะไรเลย"
คลาร่า ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง Gone Shopping
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่
- SNEAKERHEADS จาก Moment สำคัญของชีวิต สู่ซีรีส์ที่คน 'คลั่ง' รองเท้าควรดู !
- รู้จัก "โรคอีลูกช่างซื้อ" ซื้อมาใช้ ❌ ซื้อมาเก็บ ✅
- แพงแบบมีลูกเล่น แพงแบบไม่ตะโกน ! "Quiet Luxury" เมื่อความแพง ไม่จำเป็นต้องออกตัวแรงเสมอไป
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)