Fancì Club แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม ขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer13 ก.ย. 2566 avatar writer952
Fancì Club แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม ขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List

 

พักหลังมานี้กระแสของแบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามมาแรงมากในบ้านเรา เชื่อว่าหลายคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาว ๆ) น่าจะเคยผ่านหูผ่านตากับบรรดาคอนเทนต์พาไปช็อปปิงเสื้อผ้าที่ประเทศเวียดนามกันมาแล้ว ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่โด่งดังและสร้างชื่อให้แฟชั่นเวียดนามเป็นที่รู้จัก หนึ่งในนั้นเราขอยกให้ Fancì Club แบรนด์เสื้อผ้าจากเวียดนามใต้ ที่แม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 2 ปีกว่า แต่ตอนนี้กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List ไปเป็นที่เรียบร้อย

 


 

รู้จัก Fancì Club แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม ขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List

 

กว่าจะกลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List ได้ ใครเล่าจะเชื่อว่าแบรนด์เล็ก ๆ แบรนด์หนึ่ง จะได้รับโอกาสให้ได้เฉิดฉายบนเวทีสเกลใหญ่ระดับโลก แม้แต่ตัวของ Duy Tran หรือเจ้าของแบรนด์เองยังไม่เชื่อเลยว่า Fancì Club จะพาเขาออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาได้ไกลขนาดนี้

 

หลังจากดรอปเรียนไปในปี 2018  Duy Tran ในวัย 19 ปี ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนำเสื้อผ้ามือสองมาลงขายบน Depop หรือแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้ามือสองที่ได้รับความนิยมมากในตอนนั้น ที่สำคัญนอกจากบรรดาเสื้อผ้ามือสองสำเร็จรูปแล้ว เสื้อผ้ามือสองที่ผ่านการรีเมกทั้งหลาย ก็ได้รับอนุญาตให้นำมาลงขายในช่องทางนี้ด้วยเช่นกัน Duy Tran เลยนำเอาความรู้วิชาแฟชั่นที่ติดตัวมาครีเอตเป็นเสื้อผ้ามือสองในสไตล์ของตัวเอง ก่อนจะนำมาลงขายในแพลตฟอร์มกันอีกที

 

 

Duy Tran เจ้าของแบรนด์ Fancì Club ภาพจาก ELLE Vietnam

 

 

ซึ่งนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่ทว่ายิ่งใหญ่และสำคัญกับการต่อยอดมาก เพราะหลังจากรีเมกเสื้อผ้าขายมาได้สักพัก Duy Tran ก็นึกอยากจะทำเสื้อผ้าเป็นชิ้นเป็นอันของตัวเอง โดยเน้นวัสดุเหลือใช้อย่างเศษผ้าและผ้าค้างสต็อกที่หลายคนมองข้าม พร้อมหยิบเอาแรงบันดาลใจจากการชื่นชอบผลงานของ 3 หัวขบถแห่งวงการแฟชั่น อย่าง Vivienne Westwood, Jean Paul Gaultier และ John Galliano มาออกแบบเป็นเสื้อผ้าคอลเล็กชันแรก ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า Fancì Club

 

 

Golden A/W 2020 คอลเล็กชันแรกของแบรนด์ Fancì Club

 

 

ช่วงที่ Fancì Club เปิดตัว ตรงกับช่วงที่ในหลาย ๆ ประเทศ  มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอยู่พอดี  แต่ทว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส เพราะในเดือนมิถุนายน 2021  Duy Tran ได้รับการติดต่อจากสไตลิสต์ส่วนตัวของ Doja Cat ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกัน ว่าจะขอนำเสื้อผ้าจากแบรนด์ของเขาไปให้ศิลปินของตัวเองใส่ออกงาน ซึ่งนั่นถือเป็นโอกาสที่มีเปอร์เซ็นต์ว่าจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์เล็ก ๆ ซึ่งโอกาสสำคัญในครั้งนี้ เป็นเหมือนใบเบิกทางที่สร้างชื่อให้ Fancì Club เป็นที่รู้จัก ก่อนจะก้าวไปสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้นในลำดับต่อไป

 

 

Doja Cat ศิลปินชาวอเมริกันกับเสื้อผ้าแบรนด์ Fancì Club ภาพจาก Brettalannelson

 

 

BLACKPINK, Rosalía, Hailey Bieber, Bella Hadid และ Olivia Rodrigo คือรายชื่อคนดังระดับ A-List ที่ให้ความสนใจ และหยิบเอาเสื้อผ้าจากแบรนด์ Fancì Club มาใส่ออกงานอยู่บ่อยครั้ง และอย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า ถ้าไม้แขวนดี โอกาสที่เสื้อผ้าจะได้รับความสนใจ ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถอีกต่อไป เพราะหลังจากที่เสื้อผ้าของ Fancì Club ถูกหยิบมาใส่โดยคนดังบ่อยเข้า มันก็ถูกพูดถึงทั้งในหมู่ของคนที่ติดตามดารา, ศิลปิน, อินฟลูเอนเซอร์ และยังเป็นที่หมายตาของบรรดาสไตลิสต์คนดัง ทำให้ใคร ๆ ต่างก็พากันอยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์ Fancì Club ขึ้นมาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย 

 

ซึ่งความน่าสนใจของมันอยู่ตรงที่ Fancì Club ไม่ใช่แบรนด์ที่มาจากฝั่งตะวันตกแต่อย่างใด แต่มันคือแบรนด์เล็ก ๆ จากประเทศเล็ก ๆ อย่างเวียดนามใต้ ที่เมื่อเทียบกับแบรนด์น้องใหม่จากฝั่งตะวันตกแล้ว โอกาสที่จะได้รับความสนใจ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

 

 

Jennie BLACKPINK ในมิวสิกวิดีโอเพลง Lovesick Girls กับชุดคอร์เซ็ตจากแบรนด์ Fancì Club

 

 


 

Fancì Club แบรนด์เสื้อผ้าที่ไม่ใช่ใครก็ใส่ได้

 

สำหรับแนวเสื้อผ้าของ Fancì Club มักจะถูกให้คำนิยามออกเป็น 2 แง่ คือแง่ที่ชอบ และมองว่าเป็นการฉีกกฎของแฟชั่นไปเลย กับอีกแง่คือไม่ชอบ แถมยังมองว่าเป็นการจงใจที่จะยั่วยุทางเพศ เพราะสไตล์ของ Fancì Club ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เสื้อผ้าน้อยชิ้น มีความซีทรู หรือการใช้ผ้ารัดรูปที่ขับให้สัดส่วนของคนใส่แลดูเด่นออกมา อย่างภาพของนางแบบที่ทางแบรนด์ใช้ในการโปรโมท มักจะมาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ดูหวือหวาค่อนไปทางติดเรท จนทำให้คนบางกลุ่มเกิดความรู้สึกว่ารับไม่ได้ ซึ่งทาง Duy Tran เคยให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเสื้อผ้าของเขาเอาไว้ว่า

 

Fancì Club คือการแสดงออกถึงความมั่นใจและความกล้าที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวของผู้หญิง ท่ามกลางกฎระเบียบและทัศนคติทางความคิดที่ถูกใส่กุญแจล็อกเอาไว้อย่างแน่นหนา ให้ได้รับการเปิดเผยออกมา ซึ่งความคิดทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกถ่ายทอดจากมุมมองของเขาเพียงคนเดียว แต่มันยังได้แรงสนับสนุนจากผู้หญิงที่อยู่รายล้อมรอบตัวเขาด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

สำหรับสไตล์การออกแบบนั้น Duy Tran ได้เน้นไปที่การหยิบเอาสไตล์ Y2K ที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม มาเบลนด์ให้เข้ากับดีไซน์คลาสสิกอย่างชุดคอร์เซ็ต, ผ้าพริ้ว, กางเกงและกระโปรงเอวต่ำ จนเป็นที่มาของไอคอนิกไอเทมทั้งหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ Ruffle Dress หรือชุดเดรสหนวดปลาหมึก ที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นกระแสขึ้นมาในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน TikTok  ที่สามารถสร้างสถิติการค้นหาคำว่า The Fanci Club สูงถึง 34.1 ล้านคำค้นหา และคำว่า Fanci Club Dress สูงถึง 431.1 ล้านคำค้นหา ในระยะเวลาไม่นานหลังจากที่เดรสตัวนี้ได้รับการใส่โดยบรรดาตัวแม่ระดับ A-List  ไม่ว่าจะเป็น Hailey Bieber, Dua Lipa, Rosé BLACKPINK และ SZA

 

 

Dua Lipa และ SZA ในชุดเดรสหนวดปลาหมึกของแบรนด์ Fancì Club ภาพจาก Instagram

 

 

ซึ่งแน่นอนว่าด้วยสไตล์ที่ดูหวือหวา พร้อมด้วยสีสันของเสื้อผ้าที่จัดจ้าน ไม่ใช่แค่ไอเทมอย่างเดรสหนวดปลาหมึกอย่างเดียว แต่เหมารวมไปถึงเสื้อผ้าทั้งหมดของแบรนด์ ทั้งยังมาพร้อมกับเสียงที่แตกออกเป็น 2 ด้าน ที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า Fancì Club ไม่ได้เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ ไม่ใช่ใครก็ใส่ได้ เพียงอย่างเดียว แต่คนใส่ยังต้องมีความกล้าและมั่นใจ ที่จะ ทลายกรอบและแหวกขนบ ของสังคมไปพร้อมกัน

 

 


 

อนาคตเจ้ดัน (โดยบังเอิญ) ส่งไม้ต่อให้แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเจ้าอื่น ๆ ได้เฉิดฉาย

 

หลังจากที่ Fancì Club เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากผู้คนกันมากขึ้น ผลพลอยได้ที่ตามมาคือการผลักดันและทำให้แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเจ้าอื่น ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย โดยทาง Statista หรือเว็บไซต์เก็บสถิติชื่อดัง มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ปี 2023 ตลาดเสื้อผ้าผู้หญิงของเวียดนามน่าจะทำรายได้สูงถึง 3.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 116,134 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้า 0.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,043 ล้านบาท 

 

ซึ่งถ้าพูดถึงจุดแข็งของเวียดนามในแง่ของการเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าแล้ว ส่วนตัวเรามองว่าประเทศเวียดนามมีจุดแข็งที่น่าสนใจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ กำลังการผลิต เพราะเดิมทีแล้วประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเสื้อผ้าแบรนด์ดังหลาย ๆ แบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น Uniqlo, ZARA และ H&M ทั้งในแง่ของแรงงานการผลิต, ประสิทธิภาพในการผลิต รวมไปถึงการลงทุนในการผลิต ที่นับได้ว่ามีต้นทุนที่ถูกมากเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้ 

 

 

L Seoul อีกหนึ่งแบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามที่ได้รับความนิยม

ด้วยสไตล์ที่ดูไม่ได้แตกต่างจาก Fancì Club มาก แถมยังมาพร้อมกับราคาที่จับต้องได้ ภาพจาก L Seoul

 

 

ที่สำคัญการที่ประเทศเวียดนามเป็นที่หมายตาของบรรดาสายช็อปในหลายประเทศ ยิ่งส่งผลทำให้แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเจ้าอื่น ๆ มีแรงกระตุ้นในการโปรโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จัก แข่งกันทำการตลาดอย่างสุดฤทธิ์ และอาจจะเป็นเพราะพลังของโซเชียลมีเดียด้วยที่ทำให้เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ดูง่าย อยากโปรโมทให้คนกลุ่มไหนได้รู้จักก็ทำได้ ดึงดูดคนให้เข้ามาซื้อ เข้ามาสนใจสินค้าของเราได้แบบสบาย ๆ

 

แต่ถ้าเราจะมองว่าทั้งหมดนี้เป็น ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ จากแบรนด์ Fancì Club ก็ได้เหมือนกัน เพราะต่อให้แบรนด์จะได้รับความสนใจจากคนดังในระดับ A-List มากแค่ไหน แต่ในมุมของคนที่สู้ไม่ไหวกับการตั้งราคาขายที่สูงไป (ขนาดเสื้อตัวหนึ่งของ Fancì Club ยังเริ่มต้นที่หลักพันปลาย ๆ ไปจนถึงหลักหมื่นต้น ๆ เลยก็มี) จำเป็นจะต้องหนีไปซบอกแบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเจ้าอื่น ๆ ที่อาจจะมีดีไซน์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ดันมาในราคาที่ถูกกว่า หรืออาจจะมีการออกแบบของเสื้อผ้าที่เข้าถึงพวกเขาได้ง่ายกว่า

 

 

Olivia Rodrigo และ Hailey Bieber กับเสื้อผ้าจากแบรนด์ Fancì Club ภาพจาก Instagram

 

 

แต่จุดแข็งของ Fancì Club  เมื่อเทียบกับแบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเจ้าอื่น ๆ ส่วนตัวเรามองว่ามันอยู่ที่การได้รับโอกาส ที่ทำให้ Fancì Club สามารถเกาะขาเก้าอี้ อาศัยบุญบารมีของเหล่าตัวแม่ต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ ทำให้แบรนด์มีภาษีที่ดี แถมยังมีอิมแพคต่อคนในวงกว้าง ไม่ใช่แค่แวดวงใด แวดวงหนึ่งเท่านั้น แต่ Fancì Club ยังสามารถตกได้ทั้งแฟนคลับของศิลปินตะวันตก, ศิลปิน K-POP, ดารา, วงการนางแบบ, อินฟลูเอนเซอร์ ก่อนจะขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดแข็งที่ยากจะโค่นล้มกันได้ง่าย ๆ แม้ว่าแบรนด์จะเปิดตัวมาได้เพียง 2 ปีกว่าเท่านั้น

 

ซึ่งถ้าในอนาคตแบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามได้รับการพูดถึงมากกว่านี้ โอกาสที่ Fancì Club จะถูกกล่าวถึงในฐานะเจ้ดันผู้บุกเบิกและทำให้แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนามเป็นที่รู้จักในระดับโลก ก็อาจจะไม่ได้ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เหมือนอย่างโอกาสที่ได้รับมาในตอนแรก ที่จู่ ๆ ก็ได้พลิกชะตา ทำให้แบรนด์เล็ก ๆ ที่แทบจะคาดเดาอนาคตตัวเองไม่ได้ ให้ได้รับการพูดถึง ในฐานะ แบรนด์เสื้อผ้าเวียดนาม ขวัญใจตัวแม่ระดับ A-List ไปเป็นที่เรียบร้อย

 

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : cosmopolitan, statistametalmagazine, elle, nytimes และ forbes

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น