ค่าไฟฟ้า คิดอัตรายังไง? จ่ายแพงขึ้น หรือใช้งานเยอะขึ้นกันแน่
โดย : MilD
ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น จริงหรือเปล่า?
ช่วงนี้หลายคนกักตัวอยู่บ้าน ต้องเปิดแอร์แทบทั้งวัน ทำให้ค่าไฟพุ่งไปไกลล
เราลองมาดู "อัตราค่าไฟฟ้า" ในปัจจุบันกันหน่อยว่าคิดยังไง
จะได้เข้าใจบิลค่าไฟฟ้า ที่ส่งมาทุกเดือนมากขึ้นนะจ๊ะ
Highlight ของค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้กันแทบทุกบ้าน
• ในช่วงเดือนเมษายน ถือว่ามีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน อุณหภูมิแตะระดับ 40 องศาหลายพื้นที่ของประเทศ
• แต่ในปีนี้มีความพิเศษกว่าเดิม เพราะทุกคนต้องกักตัวเองอยู่บ้านลดโรค ยิ่งทำให้ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิมไปอีก ทั้งเปิดแอร์ ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ เลยทำให้พอเห็นบิลค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุด หลายคนถึงกับช็อกเลยทีเดียว
• อัตราคำนวณคิดค่าไฟฟ้าก็ยังคงเท่าเดิมหมดเลยน้า แถมค่า FT ในช่วงนี้ยังติดลบอีกด้วย ส่วนใหญ่เหตุผลที่ทำให้ค่าไฟพุ่งขนาดนี้ ก็เพราะการทำงานหนักของเครื่องใช้ไฟฟ้า กินไฟกว่าเดิม โดยเฉพาะแอร์นี่แหละ
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ สิ่งที่พบเจอกันทุกวันก็คือ "อากาศร้อนจัด" หลายพื้นที่ของประเทศอุณหภูมิทะลุ 40 องศาไปแล้ว อยู่บ้านก็เหมือนกับอยู่ในเตาอบอย่างงั้นเลย ยิ่งทุกคนต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยแล้ว ทำให้ต้องเปิดพัดลม หรือเปิดแอร์กันเกือบตลอดทั้งวันเลย ไม่งั้นก็คงร้อนตายแน่นอน ยิ่งอยู่บ้านก็ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เยอะกว่าเดิมไปอีก สิ่งที่ตามมาก็คือ บิลค่าไฟฟ้าพุ่งกระฉูด หลายคนอาจจะขึ้นเป็นหลักร้อย หรือหลักพันก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่บางบ้านคือแตะหลักหมื่นกันเลยทีเดียว แบบนี้เห็นแล้วช็อกเป็นลมกันได้เลยนะ แต่ความจริงแล้วตอนนี้อัตราค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติจริงๆ มั้ย หรือเพราะว่าพวกเราใช้งานพลังงานไฟฟ้ามากกว่าปกติ แบบนี้ต้องหาคำตอบกันหน่อยล้าวว~
อัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน คิดราคายังไง?
สำหรับการใช้งานไฟฟ้าตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เอ้าส์ ตึกแถว หรือห้องพักของคอนโดมิเนียม จะจัดรวมอยู่ในประเภทที่ 1 คือบ้านอยู่อาศัย ซึ่งการคำนวณค่าไฟฟ้าจะแบบปกติจะแบ่งเป็น 2 แบบ ตามปริมาณการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละเดือนจ้า ซึ่งคิดในอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้งานเยอะก็ต้องยิ่งจ่ายต่อหน่วยแพงขึ้นนั่นเอง
แบบที่ 1 : ปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 150 หน่วย > ค่าบริการรายเดือน 8.19 บาท
• หน่วยที่ 1–15 ราคาหน่วยละ 2.3488 บาท
• หน่วยที่ 16–25 ราคาหน่วยละ 2.9882 บาท
• หน่วยที่ 26–35 ราคาหน่วยละ 3.2405 บาท
• หน่วยที่ 36–100 ราคาหน่วยละ 3.6237 บาท
• หน่วยที่ 101-150 ราคาหน่วยละ 3.7171 บาท
• หน่วยที่ 151-400 ราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
• หน่วยที่ 400 ขึ้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท
แบบที่ 2 : ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 150 หน่วย > ค่าบริการรายเดือน 38.22 บาท ซึ่งแบบนี้น่าจะเป็นแบบที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ใช้กันอยู่นั่นเองจ้า
• หน่วยที่ 1-150 ราคาหน่วยละ 3.2484 บาท
• หน่วยที่ 151-400 ราคาหน่วยละ 4.2218 บาท
• หน่วยที่ 400 ขึ้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท
สำหรับเครื่องวัดขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย จะถูกจัดให้อยู่แบบที่ 1 หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย ติดต่อกัน 3 เดือน ในเดือนถัดไปจะถูกคิดอัตราค่าไฟฟ้าในแบบที่ 2 แทน ถ้าใช้งานไม่เกิน 150 หน่วย ติดต่อกันนาน 3 เดือน เดือนถัดไปก็จะถูกคิดอัตราค่าไฟฟ้ากลับไปเป็นแบบที่ 1 เช่นเดิม
สำหรับเครื่องวัดขนาดมากกว่า 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย จะถูกจัดให้อยู่แบบที่ 2 ตลอดการใข้งาน
นอกจากนี้ ยังมีการคำนวณค่าไฟฟ้าอีกแบบนึงก็คือ คิดตามช่วงเวลาของการใช้งาน (TOU Tariff) ซึ่งจะคำนวณอัตราแบบนี้จะต้องแจ้งความประสงค์ที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อน แต่โดยปกติผู้ใช้งานทั่วไปก็จะใช้งานแบบที่ 1 และ 2 เป็นหลักตามจำนวนใช้ไฟฟ้าจริงนั่นเองจ้า
ตัวอย่างการคำนวณคิดค่าพลังงานไฟฟ้าแบบง่ายๆ
ตัวอย่างที่ 1 : เป็นคอนโด ใช้ไฟฟ้าจำนวน 300 หน่วย โดยเป็นมิเตอร์วัดไฟฟ้าแบบที่ 2 จะต้องเสียค่าไฟเท่าไหร่?
150 หน่วยแรก หน่วยละ 3.2484 บาท จะเท่ากับ 487.26 บาท
150 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.2218 บาท จะเท่ากับ 633.27 บาท
รวมแล้วจะต้องเสียค่าไฟฟ้ารวมทั้งหมด 1,120.53 บาท (ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือน, ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตัวอย่างที่ 2 : เป็นทาวน์เฮ้าส์ ใช้ไฟฟ้าจำนวน 700 หน่วย โดยเป็นมิเตอร์วัดไฟฟ้าแบบที่ 2 จะต้องเสียค่าไฟเท่าไหร่?
150 หน่วยแรก หน่วยละ 3.2484 บาท จะเท่ากับ 487.26 บาท
250 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.2218 บาท จะเท่ากับ 1,055.45 บาท
300 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.4217 บาท จะเท่ากับ 1,326.51 บาท
รวมแล้วจะต้องเสียค่าไฟฟ้ารวมทั้งหมด 2,869.22 บาท (ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือน, ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตัวอย่างที่ 3 : เป็นบ้านเดี่ยว ใช้ไฟฟ้าจำนวน 1,500 หน่วย โดยเป็นมิเตอร์วัดไฟฟ้าแบบที่ 2 จะต้องเสียค่าไฟเท่าไหร่?
150 หน่วยแรก หน่วยละ 3.2484 บาท จะเท่ากับ 487.26 บาท
250 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.2218 บาท จะเท่ากับ 1,055.45 บาท
1100 หน่วยถัดไป หน่วยละ 4.4217 บาท จะเท่ากับ 4,863.87 บาท
รวมแล้วจะต้องเสียค่าไฟฟ้ารวมทั้งหมด 6,406.55 บาท (ยังไม่รวมค่าบริการรายเดือน, ค่า FT และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
จะเห็นว่าใช้งานพลังงานไฟฟ้าต่อเดือน ยิ่งใช้เยอะเท่าไหร่ ค่าไฟฟ้าก็จะสูงขึ้นมากกว่าเดิมเท่านั้น ก็มาจากอัตราคิดค่าไฟฟ้าในปัจจุบันของทั้งประเทศ จะเป็นขั้นบันไดแบบก้าวหน้า คือช่วงแรกจะคิดค่าบริการต่อหน่วยถูก เมื่อใช้งานเยอะขึ้น อัตราต่อหน่วยก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ยิ่งใช้เยอะเห็นบิลค่าบริการแล้วอาจจะตกใจได้
ในบิลแจ้งค่าไฟฟ้า เราต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง?
นอกจากค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนจะคำนวณตามปริมาณการใช้งานจริงแล้ว แต่เรายังต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ด้วย ก่อนอื่นเลยเรามาดูก่อนว่ายอดทั้งหมดที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามาจากอะไรบ้าง
ค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการรายเดือน + ค่า FT +
ส่วนลด (ถ้ามี) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% = ยอดค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระ
(ขอขอบคุณภาพประกอบ จากการไฟฟ้านครหลวง)
• ค่าพลังงานไฟฟ้า ก็จะคำนวณแบบอัตราก้าวหน้าตามการใช้งานจริงของแต่ละบ้าน ถ้าใช้เยอะส่วนนี้ก็จะเยอะตามไปด้วย
• ค่าบริการรายเดือน จะเป็นอัตราคงที่ในแต่ละเดือน จะเท่ากับ 8.19 บาท หรือ 38.22 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องวัดไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่
• ค่า FT หรืออัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ซึ่งจะมีวิธีคิดคำนวณค่อนข้างซับซ้อนทีเดียว เราไม่จำเป็นต้องรู้วิธีการคิดละเอียด แต่โดยปกติแล้วจะคูณด้วยจำนวนหน่วยค่าไฟฟ้าที่ใช้งานในแต่ละเดือน ซึ่งปัจจุบันค่า FT จะเท่ากับ -0.1160 บาท/หน่วย โดยมีผลจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 63 (ค่า FT สามารถเป็นค่าบวกและลบได้หมดเลยนะ แล้วแต่ช่วงเวลา)
• ส่วนลดค่าบริการ (ถ้ามี) โดยปกติแล้วในส่วนนี้จะไม่มีส่วนลดสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปจ้า ก็จะเป็น 0.00 บาท แสดงในใบแจ้งค่าบริการ
• ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% หลังจากได้รวมค่าบริการต่างๆ ทั้งหมดแล้ว ก็ต้องนำมาบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นตัวสุดท้ายด้วยนะจ๊ะ ก่อนจะสรุปยอดว่าจะต้องจ่ายค่าบริการในเดือนนั้นจะเป็นเท่าไหร่
ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจริงมั้ย?
แทบทุกบ้านถ้าลองหยิบบิลค่าไฟฟ้าของเดือนนี้มาดูก็ต้องอึ้งกันบ้างแหละ ตัวเลขพุ่งขึ้นเยอะทีเดียวเลยใช่มั้ยล่ะ ถ้าถามว่าอัตราค่าไฟฟ้าคำนวณปกติมั้ย ก็คือปกติทุกอย่างเหมือนเดิมเด๊ะ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของพวกเราทุกคนนั่นเอง งั้นเราลองมาเจาะสาเหตุของค่าไฟฟ้าแพงขึ้นดีกว่า มาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
• อากาศร้อน ทำให้เครื่องไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น เรื่องนี้หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตมากนัก แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องทำความเย็นในช่วงนี้ เช่น แอร์ ตู้เย็น หรือพัดลม จะต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ เพราะอากาศร้อนมากจ้าแม่ บางพื้นที่ทะลุ 40 องศาแล้ว เวลาเปิดแอร์ครั้งนึงก็ต้องใช้กำลังไฟมากกว่าเดิม เพื่อทำความเย็นให้ได้อุณหภูมิที่เราต้องการ ก็ทำให้จะต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างปกติแอร์ทำงานแป๊บเดียวก็ถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้แล้ว แต่จากการใช้งานจริงของแอด ตอนนี้คือใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงกว่าจะเย็นเลย ก็ลองคิดดูว่าต้องใช้พลังงานไปเท่าไหร่ ส่วนตู้เย็นถ้ามีการใส่ของกักตุนไว้แน่นเกิน จะทำให้ทำงานหนักมากเกินไป สำหรับผักบางชนิดอาจจะไม่จำเป็นต้องแช่ไว้ ก็สามารถช่วยให้ทำงานน้อยลงได้ด้วยจ้า
• ทุกคนใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าแต่ก่อน จากสถานการณ์ในตอนนี้ทุกคนต่างกักตัวเองอยู่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะออกไปติดเชื้อไวรัสข้างนอก ยิ่งทำให้ใช้ไฟฟ้ามากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ ถ้าไม่ออกไปไหนเลยก็อยู่แต่บ้าน เปิดทั้งแอร์ พัดลม คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เยอะแยะไปหมดขนาดนี้ ลองคิดดูว่าใช้ไฟฟ้าวันนึงขนาดไหนกัน
• อัตราค่าไฟฟ้าคำนวณแบบก้าวหน้า ในช่วงที่ใช้งานน้อยนั้น อัตราค่าไฟต่อหน่วยก็ยังถูกอยู่ แต่พอใช้งานเยอะขึ้นเรื่อยๆ อัตราค่าไฟต่อหน่วยก็สูงขึ้นไปอีก ยิ่งใช้เยอะเท่าไหร่ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นมากเท่านั้น
แต่ตอนนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดค่าไฟฟ้า 3% ระยะเวลานาน 3 เดือนอยู่ด้วยนะ ก็ถือเป็นตัวช่วยสำหรับแต่ละบ้าน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายกันได้บ้าง อาจจะเป็นตัวเลขไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้น
ถ้าหากลองสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของตัวเองแล้ว คิดว่าบิลค่าไฟฟ้าไม่น่าจะสูงเท่าที่เรียกเก็บ ก็สามารถแจ้งทางการไฟฟ้านครหลวง (โทร. 1130) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (โทร. 1129) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ แต่ถ้าใช้งานจริงๆ ก็ต้องจ่ายด้วยนะ อย่างไรแล้วถ้าต้องการควบคุมค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกันสักหน่อย เปิดแอร์ใช้งานเท่าที่จำเป็น ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสม จะสามารถช่วยให้จ่ายเงินน้อยลงได้แล้ววว~
รัฐบาลออกมาตรการเยียวยา "ลดค่าไฟฟ้า" เพิ่มเติม
(คณะรัฐมนตรีอนุมัติเรียบร้อยแล้ว วงเงิน 23,688 ล้านบาท ไม่รวม VAT)
หลังจากที่ประชาชนได้รับบิลค่าไฟฟ้าในช่วงนี้ จะพบว่าค่าไฟสูงกว่าปกติค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าว แถมยังต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านตลอดทั้งวัน ยิ่งทำให้อัตราการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนพุ่งขึ้นอย่างมาก ทางภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จึงออกมาตรการเยียวยาค่าไฟให้สำหรับประชาชนประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย โดยให้มีผลสำหรับบิลค่าไฟฟ้าเดือน มี.ค. - พ.ค. 63 (ระยะเวลา 3 เดือน) โดยใช้ฐานการใช้ไฟฟ้าเดือน ก.พ. 63 มาเป็นตัวอ้างอิงคำนวณส่วนลด
สำหรับบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์
ขยายสิทธิ์ใช้งานไฟฟ้าฟรี จากเดิม 90 หน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 150 หน่วย ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 10 ล้านราย
สำหรับบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดมิเตอร์ 5 แอมป์ขึ้นไป
กรณีที่ 1 : ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะคิดค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ก.พ. 63
เช่น เดือน ก.พ. 63 ใช้ไฟฟ้า 400 หน่วย ส่วนเดือน มี.ค. 63 ใช้ไฟฟ้า 750 หน่วย (ยังไม่เกิน 800 หน่วย) ก็จะคิดค่าไฟฟ้าเพียง 400 หน่วย เท่ากับของเดือน ก.พ. นั่นเองจ้า
กรณีที่ 2 : ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย จะให้ส่วนลด 50% จากหน่วยที่ใช้เกิน
เช่น เดือน ก.พ. 63 ใช้ไฟฟ้า 1,500 หน่วย ส่วนเดือน มี.ค. 63 ใช้ไฟฟ้า 2,500 หน่วย จะพบว่าเกิดส่วนต่าง 1,000 หน่วย ก็จะคิดค่าไฟเพียงแค่ 50% ก็คือ 500 หน่วย นำไปรวมกับฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 63 สรุปแล้วในเดือน มี.ค. 63 จะต้องจ่ายทั้งหมด 1,500 + 500 หน่วย = 2,000 หน่วย
กรณีที่ 3 : ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 3,000 หน่วย จะให้ส่วนลด 30% จากหน่วยที่ใช้เกิน
เช่น เดือน ก.พ. 63 ใช้ไฟฟ้า 1,700 หน่วย ส่วนเดือน มี.ค. 63 ใช้ไฟฟ้า 5,500 หน่วย จะพบว่าเกิดส่วนต่าง 3,800 หน่วย ได้ส่วนลด 30% ก็จะคิดค่าไฟเพียงแค่ 70% ก็คือ 3,800 x 70% = 2,660 หน่วย นำไปรวมกับฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 63 สรุปแล้วในเดือน มี.ค. 63 จะต้องจ่ายทั้งหมด 1,700 + 2,660 หน่วย = 4,360 หน่วย
ซึ่งถ้าหากได้มีการชำระบิลค่าไฟฟ้าของเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. ไปเรียบร้อยแล้ว ทางการไฟฟ้าฯ จะคืนส่วนต่างให้ในบิลค่าใช้ไฟฟ้าในรอบถัดไป ไม่ต้องกังวลว่าเราจะเสียสิทธิ์ตรงนี้นะ เพราะทุกคนจะได้รับการเยียวยาเหมือนกันหมดจ้า
#SaveForMore #Saveค่าไฟฟ้า #Saveพลังงานของประเทศ
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ