แท้จริงแล้ว อุปกรณ์ไอทีควรนำมารีไซเคิลหรือไม่?

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer22 ก.ย. 2566 avatar writer671
แท้จริงแล้ว อุปกรณ์ไอทีควรนำมารีไซเคิลหรือไม่?

 

 

เพิ่งผ่านมาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น สำหรับงานเปิดตัว iPhone 15 ซึ่งภายในงานนอกจากจะพูดถึง iPhone 15 กับผองเพื่อนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ Apple หันมาเอาจริงเอาจังก็คือ แนวคิดเรื่องรักษ์โลก เพราะในงาน Apple ทั้งเน้น ทั้งย้ำว่า iPhone 15 กับผองเพื่อนผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิลเกือบจะ 100% และทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตก็ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100% เช่นกัน

 

 

การรีไซเคิล คือแนวคิดที่ทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสนใจกับการนำของเก่ามาสร้างของใหม่ การใช้ซ้ำ รวมถึงการรีไซเคิล กันจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น รองเท้า เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่ผลิตมาจากขยะพลาสติก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ดูจะเป็นโครงการที่ไปได้สวย ผู้คนต่างให้การยอมรับและสนับสนุนสินค้าที่มาจากขยะมากขึ้นทุกปี แต่พอมาเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการรีไซเคิล ก็อาจทำให้ใครหลายคนต้อง….ชั่งใจ เหตุผลก็เพราะขยะประเภทนี้จะเต็มไปด้วยสารพิษนั่นเอง

 


 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 

ขยะสารพัดพิษ ควรถูกนำมารีไซเคิลไหม?

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste  เป็นขยะที่มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น ภายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะประกอบได้ด้วย แผงวงจร สายไฟ พลาสติก โลหะ และแร่ชนิดต่างๆ ที่บอกว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะสารพัดพิษนั่นก็เพราะว่า ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีแต่สารที่เป็นพิษต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนผู้คนมักจะกำจัดขยะประเภทนี้ด้วยวิธีการเผา หรือฝัง ซึ่งวิธีการแบบนี้มันไปทำให้พวกส่วนหนึ่งของอุปกรณ์นั้นๆ อย่าง พลาสติก แร่ และโลหะ ปล่อยสารพิษออกมา และก็เป็นสารพิษที่สร้างผลกระทบกับมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

 


สำหรับผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ก็อย่างเช่น

  • ปรอท มีผลเสียกับระบบประสาท
  • ตะกั่ว มีผลเสียกับระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต สมองของเด็ก
  • แคดเมียม มีผลเฉียบพลันส่งผลให้ไตวาย ปอดอักเสบรุนแรง
  • คลอรีน  มีสารก่อมะเร็ง มีผลต่อระบบหายใจ
  • โบรมี มีสารก่อมะเร็ง

 

ในส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้นจะมีสารสำคัญอย่าง CFC’s  ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ส่งผลเสียชั้นบรรยากาศโลก พอบรรยากาศโลกถูกทำลายก็ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และสุดท้ายภาวะโลกร้อนนี่แหละก็กลับมาทำร้ายมนุษย์อีกที หรือต่อให้เราจะกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการฝังผลกระทบก็ไม่ต่างกันเลย เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่ย่อยสลายยากมาก หรือบางส่วนจะไม่ย่อยสลายหายไปเลยด้วยซ้ำ อย่างพลาสติกใช้เวลาประมาณ 450 ปี โลหะและอะลูมิเนียมใช้เวลา 80-100 ปี ส่วนแก้ว กระจก จะไม่สามารถย่อยสลายได้ นั่นจึงทำสารพิษปนเปื้อนมากับดิน ไหลไปกับน้ำ และท้ายสุดก็จะย้อนกลับเข้ามาสู่ตัวเราอยู่ดี และแน่นอนว่าการรีไซเคิลคือพระเอกของเรื่องนี้ การรีไซเคิลคือสิ่งที่ถูกหยิบมาปิดจบขยะแทบจะทุกประเภท

 

 

 

 


 


การรีไซเคิลถูกนำมาใช้ครั้งแรกกับขยะพลาสติกในช่วงปี 1980 โดยอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกก็เป็นผู้ริเริ่ม เนื่องจากพวกเขาพบว่า ภายหลังที่โลกรู้จักกับพลาสติกในปี 1856 จนเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่าการผลิตพลาสติกนั้นเพิ่มมากขึ้นถึง 300% กล่าวได้ว่าการรีไซเคิลนั้นอยู่กับโลกนี้มานานแล้ว เพียงแค่ในช่วงนั้นผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เลย แต่กับปัจจุบันที่ขยะทั่วทั้งโลกนั้นมีมากเกินไป แถมยังแตกแขนงไปอีกหลายประเภท การหันหลังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่สนใจเรื่องการรีไซเคิลคงจะไม่ใช่เรื่องที่พึงกระทำอีกต่อไป 

 

 

สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ยิ่งแล้วใหญ่ ในปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 53.6 – 54 ล้านตันต่อปี ท็อปฟอร์มสุดก็คือฝั่งเอเชียที่มีมากสุดถึง 24.9 ล้านตัน  ลองคิดดูว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณเยอะขนาดนี้ถ้าเรากำจัดแบบเผา หรือฝัง มลพิษจะหลุดออกมาเยอะขนาดไหน เพราะฉะนั้นการรีไซเคิลจึงดูเป็นหนทางที่ดีที่สุดจริงๆ นั่นแหละ ถ้ายกตัวอย่างเป็นการนำชิ้นส่วนขอมือถือเสียๆ สักเครื่องมาทำการรีไซเคิลจะมีขั้นตอนดังนี้

 

 

 

มือถือเสียแล้ว >> แยกชิ้นส่วน >> เข้าเตาหลอม >> นำสิ่งที่หลอมได้มาสร้างเป็นเครื่องใหม่

 

 

 

ใจความสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ สิ่งที่หลอมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้  ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาชนิดจะมีแผงวงจร สายไฟ โลหะ และแร่ธาตุต่างๆ  อย่าง ทอง เงิน โคบอล พาราเดียว ลิเทียม และทองแดง ซึ่งแร่ธาตุพวกนี้จัดเป็นแร่ที่มีค่ามาก ลองคิดตามดูว่า ถ้าเราทิ้งแร่มีค่าขนาดนี้ไปก็เหมือนการทิ้งเงินไปเปล่าๆ  แล้วลองคิดอีกมุมว่า ถ้าเรานำแร่มีค่าขนาดนี้มารีไซเคิล นำพวกเขาไปเป็นส่วนประกอบในโทรศัพท์เครื่องใหม่มันจะเกิดประโยชน์ และเกิดเป็นมูลค่าขนาดไหน  

 

 

สิ่งที่เราได้จากรีไซเคิลสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าแต่ละครั้งนับเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามาก มูลค่าในที่นี้คือมูลค่าที่ลดการเสาะแสวงหาแร่ใหม่มาใช้ อีกทั้งยังเป็นมูลค่าจากการนำแร่ธาตุที่มีอยู่เดิมมาใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่หลายคนเคยนึกกังวลกันคือ พอเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้วประสิทธิภาพการใช้งานมันจะดีจริงๆ หรอ แบบ iPhone 15 ของฉันทำมาจากขยะรีไซเคิล ระบบการทำงานของเครื่องจะไม่เอ๋อใช่ไหม คำตอบคือ ใช้งานได้ปกติ เพราะว่า โคบอล ทอง ทองแดง ลิเทียม พาลาเดียม และเงิน เป็นแร่ที่รีไซเคิลแล้วคุณสมบัติของเขาไม่ได้ลดลง 

 

 

หากจะยกตัวอย่างที่ช่วยให้เราเห็นภาพชัดขึ้นถึงการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลก็คงไม่พ้น iPhone 15 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ทาง Apple พยายามนำเสนอถึงการรีไซเคิลถึงขนาดให้แอร์ไทม์เรื่องนี้นานนับ 10 นาที นั่นแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเอาจริงของ Apple อีกทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถรีไซเคิลได้จริงๆ

 

 

แร่ที่ได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยมูลค่า และความหายากในตัวของแร่เหล่านี้ ก็ยิ่งต้องนำกลับมาใช้ซ้ำเป็นอย่างยิ่ง

 


 

Apple กับเป้าหมายที่จะทำให้ทุกผลิตภัณฑ์มีความเป็นกลางทางคาร์บอน
ภายในปี 2030

 

 

 

Apple เน้นย้ำอย่างชัดเจนในวันเปิดตัว iPhone 15 ว่าทุกผลิตภัณฑ์ของเขาทำมาจากวัสดุรีไซเคิล และทุกกระบวนการผลิตก็ใช้พลังงานจากธรรมชาติ หรือแม้แต่การขนส่งก็ยังพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด ถึงแม้ว่าทางแบรนด์จะเจาะจงให้เห้นกันในปี 2023 นี้ แต่ในความจริงแล้ว Apple ได้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม และมีแนวคิดเรื่องเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2015 และก็ดำเนินการต่อมาเรื่อยๆ  


เราทุกคนน่าจะเคยเห็นผ่านๆ ตามาบ้างว่า Apple มีการตั้งรับผลิตภัณฑ์เครื่องเก่าที่เสียแล้วกลับเขามาในโรงงานอีกครั้ง ก่อนจะส่งต่อไปที่หุ่นยนต์นามว่า Daisy, Dave และ Taz เพื่อแยกชิ้นส่วนกันอีกครั้ง และในปี 2023 นี้ทางแบรนด์ได้นำเสนอความก้าวหน้าให้เราได้เห็นมากขึ้น โดยการใช้พลังงานธรรมชาติจาก น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ เป็นตัวขับเคลื่อนในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังตั้งเป้าว่าจะพยายามขนส่งผลิตภัณฑ์ด้วยยานพาหนะไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้า  นับเป็นการตั้งเป้าที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง คงจะให้ความรู้สึกดีไม่น้อยที่ได้รู้ว่าสมาร์ทโฟนที่เราใช้ นั้นสามารถช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ โลกน่าอยู่ด้วยมือเราจริงๆ 

 

 

 

 


 

 

มีข้อมูลที่น่าสนใจจากโครงการ e-Waste ทิ้งถูกที่ ดีต่อใจ’ ของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยเป็นโครงการที่เปิดจุดรับ e-Waste หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ว่า 

“ หากในประเทศไทยมีการรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรนั้นพบว่า โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 12.6 กิโลกรัม โทรศัพท์มือถือ 1 ล้านเครื่อง จะเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์บนถนน 1,368 คัน ภายในระยะเวลา 1 ปี ขณะเดียวกันยังเป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า 370,000 ครัวเรือนภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งถือเป็นสเกล Butterfly Effect ส่วนภาพรวมของโลกโทรศัพท์มือถือ 4.6 พันล้านเครื่อง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าการลดใช้รถยนต์ 6 ล้านคัน ”

 


ข้อมูลนี้เหมือนเป็นเครื่องตอกย้ำให้เรามั่นใจได้ว่า ในขณะที่ทรัพยากรบางอย่างบนโลกเรากำลังลดลงแบบฮวบฮาบ และทรัพยากรบางอย่างถ้าหมดแล้วจะไม่มีงอกมาทดแทนได้ การรีไซเคิลคือสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างมาก และหากใครที่ยังกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งานก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเทคโนโลยีการรีไซเคิลนั้นทันสมัยขึ้นมากในปัจจุบัน ยิ่งทั่วทั้งโลกหันมาสนใจการรีไซเคิลมากขนาดนี้ รับรองว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลก็จะยิ่งถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น อย่างแน่นอน

 

 

ท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกบ้านหันมาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลก โดยทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากสารพิษต่างๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดการนำไปรีไซเคิลใหม่ได้อีกด้วย และสามารถนำทิ้งได้ ณ จุดรับที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครถึง 52 จุด (เขตละ 1 จุด) อีกทั้งยังมีภาคเอกชนอย่าง True ที่ตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ ทรูช้อป ทรูสเฟียร์ และศูนย์บริการดีแทค รวม 154 แห่ง รวมถึง AIS ที่ตั้งจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตาม AIS Shop และจุดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

 


 

💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่ 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : apple / thairath/ AIS Mission

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น