มีสิทธิ์ แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ ! เพราะไม่มี ‘บัตรคนพิการ’ เอกสารที่สำคัญไม่แพ้กับบัตรประชาชน
โดย : waranggg
จากรายงานข้อมูลสถานการณ์คนพิการในบ้านเรา เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ตอนนี้เรามีจำนวนผู้พิการมากถึง 2 ล้านคน แน่นอนว่าใน 2 ล้านคนนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบัตรคนพิการติดตัว !
ซึ่งบัตรนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้บัตรประชาชนเลยนะ ผู้พิการควรมีติดตัวไว้ เพื่อแสดงตัวตนและเป็นการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากภาครัฐ ถ้าหากว่าไม่มีบัตร การจะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการก็จะยิ่งยากมากขึ้น
| บัตรคนพิการ ใครสามารถทำได้บ้าง ? |
คนพิการบางคนที่ไม่มีบัตรคนพิการ อาจเป็นเพราะคิดว่าตัวเองนั้นไม่ได้พิการจนขนาดต้องไปทำบัตร และไม่รู้ว่าจะต้องไปทำบัตร หรือลงทะเบียนยังไง แต่ความจริงแล้ว เพียงแค่มีความผิดปกติและความบกพร่องตามที่หมอวินิจฉัย ก็สามารถทำบัตรคนพิการได้แล้วนะ และใช้คุณสมบัติเพียง 2 ข้อเท่านั้นเอง
คุณสมบัติของผู้ที่สามารถทำบัตรคนพิการได้
1. เป็นคนไทยที่ถือสัญชาติไทย
2. มีความผิดปกติหรือความบกพร่อง ดังนี้
- พิการทางการมองเห็น
- พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
- พิการทางร่างกายหรือเคลื่อนไหว
- พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
- พิการทางสติปัญญา
- พิการทางการเรียนรู้
- พิการทางออทิสติก
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการทำบัตรคนพิการ
1. เอกสารแสดงตัวตน สามารถเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งได้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- บัตรประจำตัวข้าราชการ
- สูติบัตร ในกรณีที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
- หนังสือรับรองการเกิด
2. ทะเบียนบ้านของผู้พิการ
3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป และรูปถ่ายต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน
4. เอกสารรับรองความพิการ ที่ออกโดยสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนที่กำหนด
บัตรคนพิการจะมีอายุ 8 ปี เมื่อใช้บัตรเดิมจนหมดอายุแล้ว ต่อไปยื่นเรื่องขอต่ออายุบัตรด้วยนะ เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง สำหรับเอกสารที่ใช้สำหรับการต่ออายุบัตร จะคล้ายๆ กับเอกสารการทำบัตรใหม่
*** ถ้าหากว่ามีความพิการเพิ่มหรือมีการเปลี่ยนแปลง จำเป็นจะต้องใช้เอกสารรับรองความพิการที่ออกโดยโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนแนบเพิ่มเติมด้วย
| แอปบัตรคนพิการ
บัตรประจำตัวแบบดิจิทัล พกง่าย และสะดวกกว่าเดิมมาก ! |
เมื่อได้รับบัตรคนพิการแล้ว ปันโปรแนะนำให้โหลดแอปบัตรคนพิการไว้ได้เลย เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และยังสามารถแสดงบัตรคนพิการแบบดิจิทัลได้ด้วย ไม่ต้องพกบัตรคนพิการติดกระเป๋าให้วุ่นวาย การเข้าใช้งานแอปเพียงแค่กรอกหมายเลขบัตรประชาชน และวัน /เดือน / ปีเกิด เท่านี้ก็ใช้งานได้ทันที
นอกจากตัวแอปจะใช้แทนบัตรคนพิการได้แล้ว ยังสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสายด่วนต่างๆ เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ และยังใช้สำหรับหาตำแหน่งงานว่าง ที่เปิดรับเฉพาะผู้พิการได้อีกด้วย
สามารถดาวน์โหลดแอปได้ที่นี่ : iOS, Android
| เมื่อได้บัตรคนพิการแล้ว สามารถใช้สิทธิประโยชน์อะไรได้บ้าง ? |
จริงๆ แล้วผู้พิการมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าการได้รับเงินค่าเบี้ยเพียง 800 บาทต่อเดือนนะ ไม่ว่าจะสิทธิ์การเข้าถึงการศึกษา การรักษาทางการแพทย์ รวมไปถึงการกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนประกอบอาชีพได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นทั้งตัวผู้พิการและผู้ดูแลผู้พิการเอง จำเป็นจะต้องรู้สิทธิ์เหล่านี้เอาไว้ เพื่อจะได้ใช้สิทธิประโยชน์เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่
1. ค่าเบี้ยสำหรับคนพิการ ผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นรายเดือน เดือนละ 800 บาท
2. การเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ สามารถใช้สิทธิบัตรทองคนพิการ ท.74 ได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และมีสิทธิได้รับการรักษาและบริการขั้นพื้นฐานทางการแพทย์
3. การลดหย่อนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้พิการกับเจ้าหน้าที่ที่จุดบริการ
- รถไฟฟ้า BTS สามารถขึ้นได้ฟรีทุกสถานี
- รถไฟสายสีน้ำเงินและสีม่วง สามารถขึ้นได้ฟรีทุกสถานี
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ สามารถขึ้นได้ฟรีเฉพาะสายสีน้ำเงิน สายสีแดงเสียค่าบริการตามปกติ
- รถไฟไทย ลดค่าโดยสาร 50% และลดค่าโดยสาร 25% สำหรับผู้ติดตาม ทุกเส้นทาง
- รถเมล์ ขสมก. และรถเมล์ร่วม ขสมก. ลดค่าโดยสาร 50%
- รถ บขส. ลดค่าโดยสาร 50%
- เรือโดยสาร ทั้งเรือด่วนธงส้ม, ธงเหลืองและธงเขียว และเรือข้ามฝากทั้งหมด 21 ท่า สามารถใช้บริการได้ฟรี
4. การเข้าถึงด้านการศึกษา สามารถเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนถึงระดับปริญญาตรี
5. เงินทุนกู้ยืมเพื่อทำอาชีพ สำหรับผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำไปเป็นเงินทุนได้คนละไม่เกิน 60,000 บาท และผ่อนชำระคืนภายใน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
6. การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การติดตั้งราวจับ หรือการปรับพื้นทางเดินใหม่ จ่ายแบบเหมาจ่ายให้คนละ 20,000 บาท
7. การส่งเสริมและคุ้มครองการมีอาชีพ ส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานด้วย
8. บริการด้านล่ามภาษามือ และการช่วยเหลือด้านกฎหมาย
| บัตรคนพิการ สามารถไปทำที่ไหนได้บ้าง ? |
📍 สำหรับในกรุงเทพมหานคร สามารถยื่นคำร้องทำบัตรคนพิการได้ ทั้ง 8 แห่ง ตามนี้เลย
- ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ณ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (บ้านราชวิถี) โทร. 02-354-3388, 02-354-5501
- โรงพยาบาลสิรินธร โทร. 02-328-6901-19
- โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บางขุนเทียน โทร. 02-405-0901-4
- สถาบันราชานุกูล โทร. 02-248-8900, 02-245-4696
- โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โทร. 02-517-4270-9
- โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) โทร. 034-388700-2, 034-388912-5
- โรงพยาบาลพระราม 2 โทร. 02-451-4920
- สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ โทร. สายด่วน 1415
📍 สำหรับต่างจังหวัด สามารถยื่นคำร้องทำบัตรคนพิการได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือ ศูนย์คนพิการจังหวัด ประจำจังหวัดที่อาศัยอยู่
รู้แบบนี้แล้วผู้พิการและผู้ดูแลที่ยังไม่ได้ทำบัตรคนพิการหรือยังไม่ได้ไปต่ออายุบัตร อย่าลืมเตรียมเอกสารและเข้าไปทำบัตรกันนะ เพื่อที่จะได้เข้าถึงสิทธิ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งระยะเวลาและขั้นตอนการทำบัตรนั้นใช้เวลาไม่นานเลย อาจจะยุ่งยากตอนหาเอกสารซักหน่อย แต่ทำบัตรติดตัวไว้ยังไงก็ดีกว่าแน่นอน~
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : dep.go.th
โดย waranggg
thaitealism
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ