รวม "กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างควรรู้" อ่านก่อน จะได้ไม่โดนเอาเปรียบ !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer18 ก.พ. 2565 avatar writer61.1 K
รวม "กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างควรรู้" อ่านก่อน จะได้ไม่โดนเอาเปรียบ !

 

จะทำอะไรเดี๋ยวนี้ก็ต้องรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เวลาทำงานก็ตาม

 

เพราะเวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา จะได้ไม่ต้องมาอธิบายว่า 'ไม่รู้ ๆ' ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นควรจะเป็นเรื่องที่เราควรรู้ ไม่ว่าจะระเบียบในชีวิตประจำวัน กฎจราจร หรือว่าจะเป็นการทำงาน และไม่ใช่แค่นั้นนะ อย่างบางคนด้วยความไม่รู้เนี่ยแหละ เลยทำให้เราพลาดอะไรหลาย ๆ อย่าง จนกลายเป็นเสียโอกาส โดนคนอื่นเอาเปรียบแทน อย่างที่เปย์เป้เห็นบ่อย ๆ ก็จะเป็นบรรดามนุษย์เงินเดือนที่มักจะถูกเอาเปรียบโดยนายจ้างที่คิดว่าตัวเองถือไพ่เหนือกว่า มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ จนทำให้คนทำงานอย่างเราต้องก้มหน้าก้มตาทำไป ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วสิ่งที่นายจ้างกำลังปฏิบัติกับเราอยู่ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเราอยู่ก็เป็นได้

 

วันนี้เป้เลยจัดการมัดรวมข้อกฏหมายแรงงานที่ลูกจ้างอย่างเราต้องรู้ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายเกี่ยวกับวันทำงาน วันหยุด วันลา เวลาเข้างาน หรืออะไรต่อมิอะไรที่มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายควรที่จะต้องรู้ แต่ก็ยังมีคนบางส่วนที่ยังไม่รู้ ส่วนจะมีข้อกฎหมายอะไรบ้าง ตามมาดูกัน !

 


 

 

รวม กฎหมายแรงงานที่ลูกจ้างควรรู้

แวะอ่านสักนิด จะได้ไม่โดนเอาเปรียบ !

 

ก่อนจะไปเข้าสู่ข้อกฎหมายกัน ก่อนอื่นเปย์เป้ขออธิบายให้เข้าใจร่วมกันก่อนว่า ข้อกฎหมายที่เป้หยิบมา คือ ส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ไม่ใช่ข้อกฎหมายทั้งหมด แต่เป้คัดมาบางส่วนที่คิดว่าน่าสนใจ และเพื่อน ๆ มนุษย์ทำงานหลายคนควรที่จะรู้และน่าจะอยากรู้ว่าตามกฎหมายจริง ๆ แล้วมันควรจะเป็นยังไง ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนสนใจอยากจะอ่านข้อกฎหมายทั้งหมด เดี๋ยวเป้จะแปะลิงก์ให้ไปตามอ่านกันต่อที่ด้านล่างน้า อ่ะ ถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว เลื่อนลงไปอ่านต่อกันโล้ด...  😘 

 

💼  วันทำงานปกติควรอยู่ที่กี่ชม. แบบนี้เรียกว่าทำงานเกินเวลาหรือเปล่า ?

 

สำหรับเวลาทำงาน สามารถแยกได้ 2 หมวด คือ หมวดงานทั่วไป อันนี้จะอยู่ที่ไม่เกิน 8 ชั่วโมง / วัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมง / สัปดาห์ ส่วนเวลาเข้างาน หรือเวลาในการเริ่มงาน หรือเลิกงาน นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันได้ เอาง่าย ๆ คือ ไม่จำเป็นว่าทุกหน่วยงานจะต้องมีเวลาเข้างาน และเลิกงานเหมือนกัน

 

ส่วนอีกหมวด คือ หมวดงานที่อันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง เช่น พวกงานเชื่อมโลหะ งานที่ต้องทำใต้ดิน ในถ้ำ งานขนส่งวัตถุอันตราย เกี่ยวข้องกับสารเคมีใดใด อันนี้กฎหมายกำหนดให้มีเวลาทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมง / วัน และต้องไม่เกิน 42 ชั่วโมง / สัปดาห์ นะจ๊ะ

 


 

💼  แล้วถ้าจู่ ๆ ต้องทำงานล่วงเวลาล่ะ อันนี้สามารถทำได้ตามสั่งเลยเหรอ ?

 

คำตอบ ก็คือ ไม่ได้เด้อ คือต่อให้จะมีเคสทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด ทั้งหัวหน้างานและลูกจ้างควรจะต้องตกลงกันก่อน  และจะต้องได้รับการยินยอมจากอีกฝ่ายก่อนเท่านั้น และไม่ควรให้ลูกจ้างทำงานติดต่อกันตลอดทั้งวัน หรือถ้าเนื้องานนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการให้ทำงานล่วงเวลา ก็ต้องให้ลูกจ้างยินยอมและให้ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 

แต่ถ้าเป็นกิจการโรงแรม, สถานมหรสพ, งานขนส่ง, ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม หรือสถานพยาบาล อันนี้สามารถให้ทำงานในวันหยุดได้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราว ๆ ไป และชั่วโมงในการทำงานในวันหยุด หรือทำงานล่วงเวลาต่าง ๆ รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง / สัปดาห์  และนายจ้างจะต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างด้วย

 


 

💼  ค่าล่วงเวลาเค้าคิดกันยังไง ถ้าไม่ได้ นี่ชั้นโดนเอาเปรียบอยู่หรือเปล่า ?

 

สำหรับเคสทำงานล่วงเวลา สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ 1. เคสทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ อันนี้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้างต่อชั่วโมง หรือต่อหน่วย  โดยยึดตามจำนวนชั่วโมง หรือจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

 

กรณีที่ 2. เคสทำงานในวันหยุดเกินเวลาทำงานปกติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้กับลูกจ้างในอัตรา 'สามเท่า'  ของอัตราจ้างคิดเป็นชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

 

กรณีที่ 3. ถ้าทำงานในวันหยุดในเวลาทำงานปกติ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้าง ตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ ส่วนลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุด จะต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงาน ตามชั่วโมงที่ทำงานในวันหยุด หรือตามจำนวนผลงานที่ทำได้ ก็คือเหมือนกับไปทบในค่าจ้างในวันทำงานปกติ แทนที่จะจ่ายค่าจ้างในฐานะที่ทำงานล่วงเวลา 

 

แล้วอย่างบางคนทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้รับค่าจ้างล่วงเวลาอันนี้ถือว่าผิดไหม ตอบเลยว่า ไม่ผิดนะ แต่จะต้องดูก่อนว่าอาชีพนั้น ๆ เข้าข่ายอาชีพที่ทำงานล่วงเวลา แต่ไม่ได้รับค่าจ้างล่วงเวลาตามกฎของกระทรวงหรือเปล่า ซึ่งอาชีพที่ว่านั้นก็ได้แก่ ลูกจ้างที่ทำหน้าที่แทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง, พนักงานขาย ตัวแทนขาย ที่ได้รับค่าตอบแทนจากยอดขาย, งานดับเพลิง, งานอยู่เวร ฯลฯ อันนี้สามารถละเว้นให้ไม่รับค่าจ้างในส่วนนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับนายจ้าง

 


 

 

💼  ว่ากันด้วยเรื่องของ 'เวลาพัก' ตามกฎหมายเค้าให้พักนานแค่ไหน ?

 

เปย์เป้ว่าเรื่องของเวลาพักนี่เป็นอะไรที่ยืดหยุ่นนะ  บางบริษัทก็คือไม่ซีเรียสเลย (เหมือนปันโปรของเรา อิอิ) คือค่อนข้างที่จะชิวมาก ๆ ขอให้มีงานส่งทันตามที่กำหนดก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่บางบริษัทก็มีกฎที่เคร่ง เวลาพักก็ต้องเป็นเวลาพัก จะพักเกินกว่านี้ไม่ได้ แล้วเวลาพักแบบไหนคือเวลาพักที่ถูกต้องตามกฎหมายล่ะ ?

 

สำหรับเคสของเวลาพัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี สำหรับกรณีแรก คือ เวลาพักระหว่างวันทำงานปกติ อันนี้กฎหมายกำหนดให้มี ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง / วัน  อาจจะกำหนดให้พักหลังจากที่ทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงก็ได้ หรือจะตกลงพักแล้วแต่แผนก ๆ ไปก็ได้ แต่รวมแล้วจะต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

 

แต่ถ้าเป็นงานขายอาหาร หรือเครื่องดื่มที่อาจจะมีการเปิดให้บริการในแต่ละวันไม่เท่ากัน อันนี้นายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างพักเกิน 2 ชั่วโมง / วันได้  ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

 

ส่วนถ้าเป็น เวลาพักก่อนทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องจัดให้ลูกจ้างได้พักก่อนที่จะเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที หรือมากกว่านั้นได้ในกรณีที่ลูกจ้างจะต้องทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติเกินกว่า 2 ชั่วโมงเป็นต้นไป

 


 

💼  แล้ว วันลาพักร้อนล่ะ ปีนึงควรได้กี่วัน ?

 

สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน ตามพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ระบุเอาไว้ว่า นายจ้างจะต้องกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานโดย ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน / ปี  สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจจะมีมากกว่า 6 วันได้ขึ้นอยู่กับอายุของพนักงาน ส่วนจะทบได้ หรือทบไม่ได้ (ในกรณีที่ใช้วันพักร้อนไม่หมดของปีนั้น ๆ) อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับบางบริษัท เพราะบางบริษัทก็สามารถทบได้ อันนี้ก็ถือว่าเก๋กู้ด ส่วนบริษัทไหนทบไม่ได้ พนักงานอย่างเราอย่าลืมใช้ให้ครบและให้หมดในปีนั้น ๆ เพื่อที่จะไม่เป็นการเสียสิทธิ์น้าา

 


 

💼  ลาป่วยแล้วโดนหักเงิน อันนี้คือถูกหรือผิด ?

 

ขึ้นอยู่กับเคส และปัจจัย แต่ถ้าเราได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำแล้ว และยังไม่เคยลา พอจะลาป่วยปุ๊บ กลับโดนหักเงินปั๊บ อันนี้ถือว่าผิด เพราะถ้าว่ากันตามกฎหมายจริง ๆ ลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะลาป่วยกี่วันก็ได้ แต่บางบริษัทอาจจะมีการขอหลักฐาน หรือใบรับรองแพทย์เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราป่วยจริง ไม่ได้ป่วยแกล้ง ส่วนเรื่องวันนั้น บางบริษัทอาจจะมีการกำหนดกฎไว้คร่าว ๆ เพื่อความเป็นระเบียบว่าสามารถลาป่วยได้เท่านี้ ๆ วัน หรืออาจจะมีการกำหนดมาเลยว่าสามารถลาโดยที่ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ได้กี่วัน ถ้าเกินจากนั้นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ร่วมด้วย ไม่งั้นจะไม่ได้รับค่าจ้างในส่วนของวันนั้น

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าเราต้องการจะลามากกว่านั้นก็ได้นะ ไม่ถือว่าผิด  แต่ก็ต้องชี้แจงให้ทางบริษัทได้รับทราบ หรือต้องศึกษากฎของแต่ละบริษัทอีกที อย่างบางบริษัทอาจจะมีการกำหนดวันลาป่วยไว้ว่าสามารถลาได้ 30 วัน ถ้าเกินกว่านั้นบริษัทอาจจะไม่ได้มีการจ่ายค่าจ้างของวันนั้น ๆ  แต่ถ้าเอาตามกฎหมายจริง ๆ ถ้าลูกจ้างมีการเจ็บป่วย ไม่สบาย ไม่สามารถที่จะมาทำงานได้ กฎหมายก็อนุญาตให้ลูกจ้างคนนั้นสามารถลาป่วยได้ ไม่ใช่ว่าป่วยแต่ไม่ให้ลาอะไรทำนองนั้นเด้อ

 


 

💼  ในหนึ่งปี เราสามารถลากิจได้กี่วัน ?

 

คำตอบก็คือ ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน  (จากตอนแรกที่ไม่ได้กำหนด) ส่วนเรื่องเอกสารใบรับรองนั้นไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละบริษัท จะลาล่วงหน้าก็ได้ หรือจะไปธุระด่วนก่อนแล้วค่อยมาส่งใบลาตามหลังก็ได้ ทำได้ทั้งคู่

 


 

 

💼  ถ้าไม่ลาป่วย แต่จะ 'ลาออก' อันนี้สามารถบอกปุ๊บ เซย์กู้ดบายปั๊บได้เลยไหม ?

 

เอาตรง ๆ เลยมะ สามารถทำได้นะ 😆 คือถ้าบริษัทของเราไม่ได้มีกฎระเบียบที่ระบุชัดเจนในสัญญาจ้างตั้งแต่วันแรกที่เราเข้าทำงาน เราก็สามารถบอกปุ๊บ แล้วไปได้ปั๊บ แต่บางบริษัทก็ต้องเซฟตัวเองไว้ก่อน เซฟตัวเองในที่นี้คืออะไร? ก็เพื่อที่ว่าทางบริษัทจะได้หาคนใหม่มาผลัดเปลี่ยนได้ทัน เพราะงานบางประเภทก็ไม่สามารถทิ้งช่วงได้ หรือคนในบริษัทน้อย ฯลฯ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทนั้นว่าจะตั้งเงื่อนไขยังไง ที่เป้เห็นบ่อย ๆ ก็มักจะมีผลหลังจากที่เรายื่นลาออกเป็นเวลา 15 หรือ 30 วัน (ขึ้นอยู่กับบริษัทนั้น ๆ )

 

แต่ถ้าว่าตามกฎหมายจริง ๆ ไม่ได้มีบอกไว้นะ ว่าถ้าจะลาออกต้องรอให้มีผลหลังจากนั้นกี่วัน หรือเอาง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าก็ได้ ไม่ถือว่าผิด แต่การจะลาออกอย่างเป็นทางการนั้นจำเป็นที่จะต้องมี หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ที่แสดงว่าเราลาออกจริง ๆ ไม่ใช่คำพูดปากเปล่า แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะอันนั้นไม่ถือว่าเป็นการลาออกนะ

 

อ้อ แล้วที่สำคัญ นายจ้างไม่มีสิทธิ์ไม่อนุมัติการลาออกจากงานของเราได้ อย่างบางคนมักจะเจอนายจ้างขู่ว่าจะไม่เซ็นใบให้ อันนี้แปลว่าเราโดนตุกติกเข้าให้แล้ว  เพราะจริง ๆ เราเหมือนไปแจ้งให้ทางบริษัททราบเฉย ๆ ทางบริษัทไม่ได้มีผลบังคับว่าจะให้เราอยู่ หรือจะให้เราไป ดังนั้นระวังโดนหลอกกันด้วย 😉 

 


 

💼  ช่วยด้วยค่า หนูโดนไล่ออกทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หนูจะเรียกร้องอะไรได้บ้างค้า ?

 

ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างบอกเลิกจ้าง ทั้ง ๆ ที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ซึ่งค่าชดเชยนั้นจะถูก แบ่งออกไปตามอายุงาน ของลูกจ้าง ดังนี้

 

  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี มีสิทธิ์จะได้รับค่าชดเชย 30 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 90 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 180 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 240 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 300 วัน
  • ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย 400 วัน

 

โดยค่าชดเชยทุกอย่างที่ลูกจ้างพึงจะได้รับ นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกจ้าง

 


 

💼  แล้วมีเคสไหนบ้าง ที่นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้าง โดยที่ไม่ต้องเสียค่าชดเชย ?

 

อันนี้ท่องไว้ให้ขึ้นใจ ว่าถ้าเกิดมีกรณีใด กรณีหนึ่งเกิดขึ้นในบรรดาเคสต่าง ๆ เหล่านี้ นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้เลย แถมไม่ต้องเสียค่าชดเชยให้เราเลยด้วย ซึ่งเคสเหล่านั้นได้แก่อะไรบ้าง ?

 

  • เคสที่ลูกจ้างบอกลาออกเอง
  • เคสที่ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  • เคสที่ลูกจ้างจงใจ หรือประมาท อันเป็นเหตุทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  • เคสที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กฎระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โดย หนังสือเตือนมีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี  นับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำความผิด
  • เคสที่ลูกจ้างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่น หรือไม่มีก็ตาม โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า
  • เคสที่ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

 

และสำหรับเคสที่เป็นงานที่มีขอบเขตระยะเวลาจ้างที่ทางนายจ้างได้ทำการบอกลูกจ้างตั้งแต่วันที่เข้าทำงานวันแรกเรียบร้อยแล้ว นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้เลย ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย  เพราะถือว่าได้ระบุเงื่อนไขไว้ตามสัญญาจ้างตั้งแต่ตอนแรกแล้ว อันนี้ไม่ถือว่าผิด แต่ทั้งนี้เปย์เป้ก็แนะนำให้เพื่อน ๆ นอกจากจะศึกษากฏหมายแรงงานกันแล้ว เป้อยากให้ทุกคนศึกษาหนังสือสัญญาจ้างของเรากันไว้ด้วย เพราะแต่ละบริษัทก็มีระเบียบเป็นของตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่อ่านให้ละเอียดตั้งแต่ตอนแรก แล้วดันเกิดเหตุอะไรขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีการระบุไว้ในสัญญาแล้วนั่นแปลว่าเราเสียสิทธิ์เอง ไม่ได้ถูกเอาเปรียบนะ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกันใหม่ด้วย 

 


 

 

💼  ปุ๊บปั๊บรับโชค หวยออกว่าท้อง อันนี้ลาเลยได้ไหม ?

 

ถ้าว่ากันตามกฎหมายแรงงานฉบับล่าสุด ได้ระบุเอาไว้ว่า ลูกจ้างที่เป็นหญิงมีครรภ์ สามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน (จากเดิมที่ได้ 90 วัน) ซึ่งการลาคลอดที่ว่าได้นับรวมการลาเพื่อการฝากครรภ์, ตรวจครรภ์ และให้นับรวมวันหยุดที่มีระหว่างวันลาด้วย ทั้งยังกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่เป็นหญิงมีครรภ์ในวันลาเพื่อคลอดบุตร เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

 


 

💼  ไม่ได้ลาคลอด แต่จะลาไปทำหมัน อันนี้ยังได้ค่าจ้างอยู่ใช่ไหม ?

 

ได้สิจ๊ะ เพราะนอกจากลาคลอดแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะลาเพื่อทำหมันได้ และลูกจ้างมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างในวันนั้นด้วย แต่อย่าลืมให้ทางโรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์ที่เราไปรักษาออกใบรับรองมาให้ด้วยเด้อ

 


 

จะบอกว่าเรื่องกฎหมายแรงงานนี้มีอะไรอีกมากให้ไปศึกษา ซึ่งทั้งหมดที่คัดมาเปย์เป้ได้อ้างอิงมาจากปัญหาที่พวกเราชาวมนุษย์เงินเดือนเจอกันอยู่บ่อย ๆ บางคนไม่รู้หรอกว่าตามกฎหมายจริง ๆ เค้ากำหนดไว้ว่ายังไง เห็นบริษัทออกระเบียบมาก็ยึดตามนั้น จนบางทีอาจจะเผลอทำให้เราพลาดอะไรสำคัญ ๆ ไป

 

ที่เป้เคยเจอมากับตัวก็เรื่องการเซ็นใบลาออกเนี่ยแหละ ตอนนั้นเป้เคยหลงเชื่อมาแล้วว่าการลาออกจะไม่เป็นผล ถ้าหากหัวหน้าเราไม่ได้เซ็นรับทราบ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันไม่จำเป็น ยังไงเพื่อน ๆ อย่าพลาดแบบเป้นะ ส่วนใครที่อยากศึกษาเพิ่มเติม เดี๋ยวเป้จะแปะลิงก์ไว้ให้ด้านล่าง รวมถึงใครที่มีข้อสงสัยอะไรก็สามารถสอบถามผ่านช่องทางของกระทรวงแรงงานได้เช่นกัน อะ ลุยโล้ดด...

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กระทรวงแรงงาน และ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น
จิรณะ แพนไธสง
จิรณะ แพนไธสง
ขอสอบถามหน่อยครับ บริษัทตกลงจ้างเราเข้าทำงานเงินเดือน18,200 บาท/เดือน ยังไม่รวมสวัสดิการอื่นๆ พอเราเข้าไปทำงาน ไม่มีสัญญาจ้างมาให้เราเช็น พอเงินเดือนออกจ่ายเราแค่ 16,380 บาท บอกว่าบริษัท หัก 10%ของฐานเงินเดือน 3 เดือน ก่อนผ่านทดลองงาน หลังทดลองงาน 3 เดือน บริษัทถึงจะปรับขึ้นให้เป็น18,200 บาท บริษัททำได้ไหมครับ
ตอบกลับ | 1 ปีที่แล้ว 0
Inter Inter
Inter Inter
สอบถามครับพอดีมีน้องผมคนหนึ่งเขาใช้สิทธิ์ลาพักร้อนแต่เขาเขียนผิดวัน ยกตัวอย่างเช่น เขาหยุดงานไปวันที่ 26 แต่เขาเขียนวันลาพักร้อนวันที่ 25 ตามกฎของบริษัทแล้วเขียนใบลาผิดวันต้องได้รับใบเตือน แต่ในกรณีนี้ทางบริษัทถือว่าวันที่น้องเขียนวันที่ 25 ถือว่าให้น้องใช้สิทธิ์พักร้อนไปทั้งๆที่น้องมาทำงานอยู่แล้ววันที่ 26 ที่น้องไม่มาถือว่าขาดงานแล้วไม่ได้เขียนใบลาได้รับใบเตือนไป ผมเลยสงสัยว่าสิทธินายจ้างทำแบบนี้ได้ด้วยหรอครับ
ตอบกลับ | 1 ปีที่แล้ว 0
Montein Thedsing
Montein Thedsing
ผมขอสอบถามหน่อยครับ เรื่องเวลาพักเบรกครับ ที่แผนกผมเขาให้พักเบรกคนละ1ชั่วโมงก็จริง แต่พนักงานต้องทำงานเพิ่ม2เท่าคนละ1ชั่วโมงเหมือนกัน แบบนี้ทำถูกต้องไหมครับ
ตอบกลับ | 1 ปีที่แล้ว 0
suriya sinsai
suriya sinsai
ผมขอสอบถามหน่อยเติมหน่อยได้ไหมครับมีเฟสบุ๊คหรือไลน์ส่วนตัวไหมครับ ไอดีไลน์ผม Spalrrow
ตอบกลับ | 2 ปีที่แล้ว 0
ภูผา อัครภาคิน
ภูผา อัครภาคิน
ผมสอบถามคับผมโดนไล่ออกทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิดอะรัยเลย...และก็ทำงานตามปกติเกินเวลามั่งไปต่างจังหวัดมั่งนอนค้างมั่งต่างๆนาๆและไม่เคยขอเรียกโอที...แถมยังออกเงินส่วนตัวเองไปซื้อของเล็กๆน้อยๆให้นายจ้างอีก...ไม่ขอเก็บตังเพราะคิดว่าแกเหมือนผู้มีพระคุณ แต่อยู่ดีๆแกให้ออกไม่บอกร่วงหน้าสักคำไม่บอกเหตุผลสักคำ...ให้ออกเลยกระทันหัน...และแกยังเป็นถึงระดับ...สส.หัวหน้าพักการเมืองมีชื่อด้วย มีความคิดเห็นยังงัยคับเรื่องนี้
ตอบกลับ | 2 ปีที่แล้ว 0
กิตติพันธ์ จันทสะเร
กิตติพันธ์ จันทสะเร
บริษัติขนส่งพัสดุ. เข้างาน. 08.00. เลิกงาน. 19.00 - 20.00. ไม่มีโอที. บริษัติทำถูกใหมครับ
ตอบกลับ | 2 ปีที่แล้ว 1
Nartrudee Pinthongkum
Nartrudee Pinthongkum
แล้วกรณีเกษียณอายุล่ะคะมีไหมคะ
ตอบกลับ | 3 ปีที่แล้ว 1