ใครมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ต้องอ่าน! สรรพากรปรับเงื่อนไขเก็บภาษีใหม่
โดย : MilD
ใครเงินฝากเยอะมีหนาว เตรียมรับมือกันให้ดี!
กรมสรรพากรเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ถ้าไม่อยากเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากร ต้องไปทำเรื่องทุกธนาคารที่มีบัญชี ภายใน 14 พ.ค. 62
มิฉะนั้นจะถือว่ายินยอมเปิดเผยข้อมูลอัตโนมัติทันที
หากเปิดเผยข้อมูลบัญชีแล้ว ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000.- จะได้ยกเว้นภาษีเหมือนเดิม
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ถือเป็นบัญชีที่มีจำนวนมากที่สุดในบรรดาบัญชีเงินฝากทุกประเภทเลย เพราะสามารถเปิดบัญชีได้ง่าย มีความคล่องตัวสูง จะฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิลกี่ครั้งก็ได้ ก่อนอื่นเราลองมาดูกันว่าบัญชีเงินฝาก แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามนี้เลยยย
- บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือเดินสะพัด : เป็นบัญชีที่ส่วนใหญ่ไม่ให้ดอกเบี้ย และไม่มีสมุดบัญชี แต่จะมีการส่ง Statement ทุกเดือนไปให้ลูกค้าแทน เวลาจะถอนเงินจะต้องใช้เช็คเบิกออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีของบริษัท ห้างร้านต่างๆ ซะส่วนใหญ่
- บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือเผื่อเรียก : เป็นบัญชีที่ส่วนใหญ่จะมีสมุดบัญชี และให้ดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ เพราะมีความคล่องตัวสูง ไม่ได้กำหนดระยะเวลาฝากที่ชัดเจน ดอกเบี้ยที่ได้จะได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท
- บัญชีเงินฝากประจำ : เป็นบัญชีที่กำหนดชัดเจนว่าจะต้องฝากระยะเวลาเท่าใด ดอกเบี้ยจะสูงที่สุดในทุกประเภท แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับจะต้องเสียภาษี 15% ทุกบัญชี
ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของแบงค์ใหญ่ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.50% ต่อปี นั่นหมายความว่า ถ้าฝากเงิน 4 ล้านบาท จะได้ดอกเบี้ย 20,000 บาทพอดี ซึ่งจะไม่ต้องเสียภาษีใดๆ แต่หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราต้องมาลองดูกันหน่อยล้าววววว!
แม้เป็นบัญชีออมทรัพย์ ก็ต้องเสียภาษีแล้ว!
ทางกรมสรรพากรจะเริ่มดำเนินการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ไม่ว่าจะได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่นั้น ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 62 เป็นต้นไป ความจริงแล้วกฎหมายเกี่ยวกับในเรื่องนี้ถูกกำหนดไว้เป็นปกติ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง ทำให้เกิดการกระจายเงินฝากในชื่อเดียวกันออกเป็นหลายธนาคาร เพื่อให้ดอกเบี้ยรับไม่เกิน 20,000 บาทในแต่ละบัญชี ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย ซึ่งหลังจากที่มาตรการนี้บังคับใช้แล้ว บัญชีออมทรัพย์ทุกบัญชีจะต้องเสียภาษีหมด แม้ว่าจะมีเงินฝากเพียงแค่ 1 บาทก็ตาม
แต่ทางกรมสรรพาการได้กำหนดวิธีที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ถ้ารวมทุกบัญชีแล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทเหมือนเดิม คือ "การให้ความยินยอมกับสถาบันการเงินที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ทุกแห่ง เพื่อให้ธนาคารจัดส่งข้อมูลดอกเบี้ยของบัญชีออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์" โดยทางธนาคารจะต้องส่งข้อมูลปีละ 2 ครั้ง คือ เดือน พ.ค. และ พ.ย. ของทุกปี แล้วทางกรมสรรพากรจะนำมาตรวจสอบรายได้จากดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มาคำนวณภาษี และเสียภาษีในช่วงสิ้นปี ต้องลุ้นกันแล้วหล่ะงานนี้
แต่ละคนมีเงินฝากออมทรัพย์กันกี่ธนาคารน้าาา?
ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นมาตรการบังคับทางอ้อมให้แต่ละธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยของลูกค้ามาให้กับกรมสรรพากรนั่นเอง เพราะก่อนหน้านี้แต่ละธนาคารไม่ได้เชื่อมข้อมูลระหว่างกัน ทางกรมสรรพากรก็เลยไม่มีข้อมูลว่าลูกค้า 1 คน มีบัญชีออมทรัพย์ทุกที่รวมกันเท่าไหร่ เลยกำหนดว่าถ้าไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลฯ ดังกล่าว จะต้องเสียภาษีเลย 15% แต่ถ้ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากร ถ้าดอกเบี้ยรวมไม่ถึง 2 หมื่นบาท ก็จะได้รับการยกเว้นเหมือนเดิมนั่นเองจ้าาาา
99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
เพราะรวมดอกเบี้ยแล้วไม่เกิน 20,000.- ก็ไม่เสียภาษีเหมือนเดิม แต่ต้องยินยอมส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร
กรมสรรพากรเปลี่ยนหลักเกณฑ์ การยกเว้นภาษีเงินฝากออมทรัพย์ใหม่
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 347) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ และผลตอบแทนเงินฝาก ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ ในข้อ 3 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยกเว้นภาษีใหม่ โดยจะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี
- ชื่อบัญชีเงินฝาก และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก จะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ย หรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น
- ผู้มีเงินได้ไม่ได้แจ้งธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก มิให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากให้กับกรมสรรพากร
- เป็นดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ที่กรมสรรพากรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น จากธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก
ใครมีหลายบัญชีแล้วไม่อยากส่งข้อมูลให้สรรพากร ต้องไปทุกธนาคารเลยนะ
ซึ่งประกาศของกรมสรรพากรฉบับนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหม่จากประกาศเดิมที่ออกมาก่อนหน้า ถ้าเราไม่ได้ไปแจ้งธนาคาร ก็จะถือว่ายินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ซึ่งถ้าหากเราไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ต้องไปแจ้งความประสงค์กับธนาคารที่มีบัญชี และไม่ว่าจะได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่ จ่าย ตั้งแต่บาทแรกทันที
ประกาศกรมสรรพากรฉบับล่าสุด เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 62
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
- กรมสรรพากรได้เปลี่ยนวิธีการนำส่งข้อมูลภาษีเงินฝากใหม่ เพื่อความสะดวกของประชาชนส่วนใหญ่
แบบเดิม : หากใครยินยอมเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากร ต้องไปทำเรื่องที่ธนาคารทุกคน
แบบใหม่ : หากใครไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากร ต้องไปติดต่อธนาคารที่มีบัญชีทุกธนาคาร เพื่อไม่ให้ธนาคารนำส่งข้อมูลบัญชีไปให้ทางสรรพากร ส่วนถ้าหากใครที่ไม่ได้ติดต่อธนาคาร จะถือว่ายินยอมเปิดเผยข้อมูลให้ทางกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ - ถ้าได้รับดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาท จากทุกบัญชีออมทรัพย์ที่มีอยู่
ยินยอมเปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากร : ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเดิม
ไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลกับกรมสรรพากร : เสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% ไม่ว่าจะได้รับดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม - กรณีที่ไม่ได้ดำเนินการอะไร พูดง่ายๆ ก็คืออยู่เฉยๆ นั่นเอง จะมีการเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากร ถ้าดอกเบี้ยรวมไม่ถึง 20,000.- ก็จะไม่เสียภาษีเหมือนเดิมเลยจ้าาาา
- ถ้าใครได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกบัญชี มากกว่า 20,000.- ไมว่าจะยินยอมเปิดเผยข้อมูลให้กรมสรรพากรหรือไม่ก็ตาม จะโดนหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% อยู่ดี
- ถ้าไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้ทางกรมสรรพากร ต้องไปติดต่อธนาคารที่มีบัญชีทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7-14 พ.ค. 62 นะจ๊ะ ไม่งั้นจะถูกส่งข้อมูลอัตโนมัติเลยจ้าาาาาา
-- ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ --
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ