รวม “จุดตรวจโควิด” ทั่วประเทศไทย ที่ไหนเปิด ที่ไหนปิด มาดูกัน !

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer8 ก.ย. 2564 avatar writer1.6 K
รวม “จุดตรวจโควิด” ทั่วประเทศไทย ที่ไหนเปิด ที่ไหนปิด มาดูกัน !

 

หลังจากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา หลายคนก็เริ่มมีการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านกันบ้างแล้ว ถึงแม้จะเทียบไม่ได้ กับช่วงก่อนหน้าที่โควิดจะมา แต่ก็สามารถคลายความเบื่อจากการอยู่บ้านนานๆ ได้ดี 

แต่การออกไปนอกบ้าน อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็น การออกไปเจอคน ทั้งคนที่รู้จัก คนที่ไม่รู้จัก การสัมผัสอะไรต่อมิอะไร ถึงแม้ว่าเราจะมั่นใจ และป้องกันตัวเองดีแค่ไหน แต่ความกังวลใจมันก็ต้องมีเข้ามาบ้าง

 

และเพื่อความสบายใจ หลายคนจึงเลือก “ตรวจโควิด” เพื่อเซฟตัวเอง

 

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในที่นี้คงจะผ่านการฉีดวัคซีนมาเป็นที่เรียบร้อย แต่การฉีดวัคซีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเลย  ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป กับคนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว แต่ก็ยังติดโควิดอยู่

วิธีการเบื้องต้นสำหรับคนที่ไม่มั่นใจ ก็มักจะแก้ไขปัญหาด้วยการไปตรวจภูมิ ว่าเรามีภูมิต้านทานขึ้นมามากน้อยแค่ไหนหลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งผลที่ออกมาก็จะมีตั้งแต่น้อย ไปจนถึงมาก (อย่างบางคนก็คือยิ่งกว่ามากซะอีก) 

นอกจากตรวจภูมิแล้ว บางคนอาจจะเลือกใช้วิธีตรวจโควิดควบคู่กันไปด้วย อารมณ์แบบ.. ตรวจให้มันรู้ดำ รู้แดงกันไปเลย ซึ่งวิธีนี้ก็มีให้เลือกทั้งแบบไปตรวจที่โรงพยาบาล กับตรวจด้วยตัวเองที่บ้าน ข้อดีก็คือนอกจากจะช่วยยืนยันความเซฟตี้ของตัวเองได้แล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเกิดความสบายใจได้อีกด้วย

 


 

วิธีการตรวจโควิด ณ ปัจจุบัน มีแบบไหนบ้าง ?


สำหรับวิธีที่นิยมใช้กันในตอนนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือแบบ RT-PCR กับ ATK ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้จะใช้วิธีการ SWAB เหมือนกัน วิธีการ SWAB ก็คือ การตรวจหาเชื้อโดยใช้ไม้แหย่เข้าไปเพื่อเก็บเอาสารคัดหลั่งออกมาตรวจ 

โดยสารคัดหลั่งในที่นี้ก็ได้แก่ สารคัดหลั่งบริเวณจมูกด้านใน, กระพุ้งแก้ม, ลำคอ รวมไปถึงน้ำลาย แต่สารคัดหลั่งประเภทน้ำลายจะสามารถตรวจได้โดยวิธี ATK เท่านั้นนะ

 

| ความแม่นยำเต็ม 10 ให้เท่าไหร่ ?

 

  สำหรับวิธี ATK (หรือที่ย่อมาจาก Antigen Test Kit) จะมีวิธีการที่ง่าย เหมาะสำหรับการตรวจด้วยตัวเอง (เผลอๆ บางคนในที่นี่อาจจะเคยตรวจด้วยตัวเองกันไปแล้ว) สำหรับความแม่นยำของแบบนี้อาจจะสู้วิธีการตรวจแบบ Real Time PCR ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าสามารถคัดกรองได้ประมาณนึงนะ

 

 

การตรวจด้วยวิธีนี้ จะใช้เวลาเพียงแค่ 15-30 นาทีเท่านั้น (ห้ามทิ้งไว้เกิน 30 นาทีเด็ดขาด) สังเกตได้ว่าใช้เวลาน้อย บวกกับวิธีการตรวจที่ง่าย สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา คนเลยมักจะนิยมตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีนี้กัน 

และสำหรับชุดตรวจที่ได้รับการรับรองแล้ว สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ > คลิก

 

 

สำหรับคนที่ติด แถบสีจะแสดงผลขึ้น 2 แถบ ส่วนคนที่ไม่ติด แถบสีจะแสดงผลแค่แถบเดียว หรือถ้าคนไหนแถบสีจะไม่ขึ้นเลยสักแถบ อันนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์การตรวจที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเราอาจจะแหย่ไม้เข้าไปลึกไม่พอ ปันโปรขอแนะนำให้ไปซื้อชุดตรวจ มาตรวจซ้ำดูอีกรอบ ผลลัพธ์จะได้เคลียร์ๆ กันไปเลย

วิธีนี้เหมาะกับใคร : เหมาะกับคนที่ร่างกายยังไม่แสดงอาการ แต่อยากรู้ว่าตัวเองติดโควิดแล้วหรือยัง (ส่วนคนที่มีอาการแล้ว แนะนำให้ตรวจแบบ RT-PCR เลยดีกว่า เพื่อความชัวร์) 

ที่สำคัญ วิธีนี้ยังสามารถตรวจด้วยตัวเองได้เรื่อยๆ แต่ส่วนตัวปันโปรลองแค่ครั้งเดียว ยังสะท้านใจจนถึงตอนนี้ ถ้าเลี่ยงได้ หรือไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่อยากตรวจอีกแล้ว555  

ความแม่นยำเต็ม 10 : ให้ 8

 

 

  มาถึงแบบ RT-PCR (หรือที่ย่อมาจาก Real Time PCR) กันบ้าง วิธีนี้จะเป็นวิธีการตรวจที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำที่สุด ซึ่งจะมีวิธีการแหย่ไม้ตรวจเข้าไปในจมูกเหมือนกับ ATK แต่จะสามารถระบุรายละเอียดของตัวเชื้อได้มากกว่า ภายในเวลา 24 ชั่วโมง จะใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น คนทั่วไปอย่างเราไม่สามารถหาซื้อชุดตรวจ RT-PCR มาตรวจเองที่บ้านได้ 

วิธีนี้เหมาะกับใคร : เหมาะกับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ เริ่มมีอาการ หรือมีคนใกล้ตัวติดโควิดเป็นที่เรียบร้อย แล้วเราดันพบว่าตัวเองได้มีการสัมผัส และใกล้ชิดกับคนกลุ่มนั้น ก็สามารถทำการขอตรวจด้วยวิธีนี้ ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้เลย

ความแม่นยำเต็ม 10 : ให้ 10

 


ชี้พิกัด “จุดตรวจโควิด” ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่ยังเปิดให้บริการอยู่


สำหรับใครที่ไม่มั่นใจกับวิธีการตรวจโควิดด้วยตัวเอง หรือมีอาการสุ่มเสี่ยง แล้วอยากจะขอเข้ารับการตรวจแบบจริงๆ จังๆ ปันโปรมีพิกัดตรวจโควิดทั่วประเทศมาบอก ที่สำคัญเราสามารถทำการเช็กด้วยตัวเองได้เรื่อยๆ ว่ามีจุดไหนเปิดใหม่ หรือมีจุดไหนที่ปิดไปแล้ว ผ่านช่องทางนี้ได้เลย

 

 

ค้นโควิด คือแพลตฟอร์มน้องใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการในการค้นหาจุดตรวจโควิดที่ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังค้นหาได้ทั่วประเทศเลย!

นอกจากนี้ภายในเว็บไซต์ยังมีข้อมูลส่วนอื่นๆ อาทิ ศูนย์แยกกักตัว รวมไปถึงสถานพยาบาลที่เปิดรับการรักษาโควิด อย่างใครที่รู้ตัวว่าติด หรือมีคนใกล้ตัวติด แล้วหาโรงพยาบาลในการรักษาไม่ได้ ก็อย่าลืมแวะมาดูข้อมูลในเว็บนี้กัน สำหรับวิธีการใช้งานเบื้องต้นมีดังนี้เลยจ้า

 

 

1. กดไปที่เมนู ค้นหาจุดตรวจโควิด

 

 

2. เว็บไซต์จะแสดงผล จุดตรวจทั่วประเทศ มาให้เรา 

ซึ่งตรงนี้ เราสามารถเลือกประเภทของการแสดงผลได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเลือกตามสถานที่ตรวจ หรือเลือกตามวิธีการตรวจ


หมายเหตุ
: การตรวจแบบ Fit-to-fly จะเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่มีแพลนจะเดินทางไปต่างประเทศแล้วต้องใช้ใบรับรองในการยืนยันตัวนั่นเองจ้า

 

 

3. เราสามารถทำการ ซูมเข้า - ซูมออก ในพื้นที่ที่ต้องการได้

ที่สำคัญเมื่อลากเมาส์ไปวางบริเวณตำแหน่งที่ต้องการ ทางเว็บไซต์จะขึ้นข้อมูลรายละเอียดต่างๆ บวกกับค่าบริการมาให้เราแบบเสร็จสรรพ สะดวกสุดอะไรสุด!

 

 

4. หรือใครที่ขี้เกียจเลื่อนหา ก็สามารถพิมพ์ รหัสไปรษณีย์ เพื่อค้นหาสถานที่รับตรวจโควิดได้ที่เมนูแว่นขยายตรงนี้ก็ได้เหมือนกัน

 


| รวมจุดตรวจโควิดเชิงรุก “ฟรี” ในกรุงเทพมหานคร*


สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจากพิกัดตรวจที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ค้นโควิดแล้ว สามารถเข้ารับการตรวจโควิดเชิงรุก “ได้ฟรี” ระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน 2564 ตามพิกัดด้านล่างนี้เลย

 

ขอบคุณภาพจาก : prbangkok

 

จุดที่ 1 โซนกรุงเทพกลาง : ลานกีฬาพัฒน์ 2 ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี ให้บริการวันละ 500 คน

จุดที่ 2 โซนกรุงเทพเหนือ : ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ ให้บริการวันละ 1,000 คน

จุดที่ 3 โซนกรุงเทพตะวันออก : สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี ให้บริการวันละ 700 คน

จุดที่ 4 โซนกรุงเทพใต้ : วัดด่าน แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา ให้บริการวันละ 500 คน

จุดที่ 5 โซนกรุงธนเหนือ : ใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด ให้บริการวันละ 400 คน

จุดที่ 6 โซนกรุงธนใต้ : ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค ให้บริการวันละ 600 คน

จุดที่ 7 : พณิชยการเชตุพน เขตราษฎร์บูรณะ ให้บริการวันละ 1,000 คน

จุดที่ 8 : EnCo Terminal (ศูนย์ลูกเรือเดิม) เขตหลักสี่ ให้บริการวันละ 1,500 คน

จุดที่ 9 : รพ.สนามศูนย์คัดกรอง สโมสรทหารบก เขตพญาไท ให้บริการวันละ 1,200 คน

 

โดยทุกจุดจะใช้วิธีการตรวจแบบ ATK หากใครที่มีผลเป็นบวก (ตรวจพบเชื้อ) จะต้องทำการตรวจอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR

แต่ใดใดปันโปรขอแนะนำให้ทุกคนเข้าไปอัปเดตข้อมูลเรื่อยๆ ทางเพจ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ เพราะเค้าอาจจะมีการอัปเดตสถานที่ตรวจเพิ่มเติม นอกจาก 9 จุดที่บอกไป สำหรับใครที่อยากตรวจโควิดแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็สามารถทำการ Walk in เข้าไปตรวจ หรือสอบถามเพิ่มเติมทางเพจกันได้เลย

 

*ข้อมูล ณ วันที่ 8 กันยายน 2564


ข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "การตรวจโควิด"

 

| วิธีการใช้ชุดตรวจ ATK อย่างถูกต้องด้วยตนเอง


เพื่อให้เข้าใจ และใช้งานกันได้แบบถูกวิธีมากขึ้น ปันโปรขอหยิบเอาวิดีโอสาธิตจาก Mahidol Channel ตัวนี้มาให้ดู เพื่อความกระจ่าง แบบเคลียร์ชัดกันไปเลย ว่าต้องแหย่ลงไปลึกแค่ไหน เก็บสารคัดหลั่งยังไง วิดีโอนี้มีคำตอบ มือใหม่ดูแล้วทำตามได้เลย แต่ถ้าใครไม่เชี่ยวชาญก็อย่าเพิ่งลงมือ มาศึกษาวิธีการกันก่อน จะได้ไม่ต้องแหย่เข้าไปแบบผิดๆ ถูกๆ เดี๋ยวจะเจ็บจมูกกันไปเปล่าๆ น้าา

 


| หากตรวจแบบ ATK แล้วผลลัพธ์ขึ้น 2 ขีด (ตรวจพบเชื้อ) ต้องทำยังไงต่อ


อันดับแรกปันโปรแนะนำให้ไปตรวจแบบ RT-PCR เพื่อความชัดเจนกันอีกรอบ หรือถ้าใครไปตรวจมาแล้วพบเชื้อ ก็ให้ประเมินอาการกันต่อว่าเราเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยในระดับใด

สำหรับระดับอาการของผู้ป่วยโควิด มีด้วยกัน 3 ระดับคือ เขียว หลือง และแดง

💚  เขียว > คือกลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย สามารถทำการกักตัวที่บ้านได้

💛  เหลือง > คือกลุ่มที่มีอาการ แต่ไม่รุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล

❤️  แดง > คือกลุ่มที่มีอาการหนัก และรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเราเป็นผู้ป่วยระดับอาการใดก็ให้ทำการแจ้งไปยังสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษาต่อไป อย่างใครที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ทางสาธารณสุขอาจจะแนะนำให้กักตัวที่บ้านแทน แต่สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและแดงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งเพื่อนๆ สามารถค้นหาข้อมูลสถานพยาบาลที่เปิดรับผู้ป่วยได้ที่เว็บไซต์ ค้นโควิด กันได้เลย


| ช่องทางการซื้อชุดตรวจโควิดแบบ ATK


สำหรับใครที่อยากจะหาซื้อชุดตรวจแบบ ATK มาตรวจด้วยตัวเอง สามารถหาซื้อได้ที่สถานพยาบาล คลินิก หรือร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่เท่านั้น ที่สำคัญควรเลือกซื้อชุดตรวจที่ได้รับการรับรอง สำหรับใครที่อยากรู้ว่าจะมียี่ห้อไหนบ้าง สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้เลย > คลิก

 


| วิธีขอรับชุดตรวจโควิดแบบ ATK ฟรี ผ่านแอปฯ เป๋าตัง


เรียกได้ว่าสดๆ ร้อนๆ กันเลย กับนโยบายแจกชุดตรวจโควิดฟรี ซึ่งเบื้องต้นได้เคาะวันคร่าวๆ มาแล้ว ว่าจะเริ่มแจกได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยจะทำการแจกให้กับคน 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด

2. กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดง

3. ร้านขายยาและคลินิกในเครือข่าย สปสช.

โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้จะต้องทำแบบคัดกรองที่อยู่ในแอปฯ เป๋าตังกันก่อน เมื่อได้รับสิทธิ์แล้วจะได้รับชุดตรวจโควิดคนละ 2 ชุด สามารถรับได้ที่ร้านขายยา หรือ อาสาสมัครสาธารณสุข แต่ละชุดจะต้องตรวจห่างกัน 5 วัน และจะต้องทำการบันทึกผลทางแอปฯ เป๋าตังเท่านั้น ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมก็รออัปเดตอย่างเป็นทางการกันอีกทีน้าา

 

และสำหรับใครที่ไม่มั่นใจในการตรวจโควิดด้วยตัวเอง แต่ใจมันเรียกร้องอยากตรวจซะเหลือเกิน  ปันโปรขอแนะนำให้เพื่อนๆ ไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือคลินิกก็ได้ แล้วให้คุณหมอช่วยตรวจให้ แบบนี้น่าจะเวิร์คกว่า และน่าจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าด้วย เป็นกำลังใจให้ทุกคน แล้วเราจะผ่านมันไปด้วยกันนนนนน 😂


แหล่งข้อมูลอ้างอิง  : workpointtoday และ thaipbs

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น