‘รักวัวให้ผูก รักลูกอย่าโพสต์’ กับประเด็นคำถามแบบไหนถึงเรียกว่า ละเมิดสิทธิส่วนตัวลูก ?
โดย : wacheese
ขอสวมบทคุณฐปณีย์รายงานข่าวแบบไม่ขายขำ กับประเด็น ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะเราคงคุ้นชินกับการเห็นบรรดาพ่อแม่แชร์ภาพความน่ารักน่าชังของลูกน้อยผ่านสังคมโซเชียล แถมบอกเล่าโมเมนต์ความประทับใจตั่งต่าง ตั้งแต่วันเริ่มตั้งท้องไปจนถึงวันที่เบบี๋ตื่นลืมตาดูโลก ถึงจุดประสงค์จะเป็นการบันทึกความทรงจำ แต่จุดเล็ก ๆ ตรงนี้ อาจส่งผลต่อจิตใจของเลือดเนื้อเชื้อไขที่กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้
เปิดตำนานบทใหม่ (อีกครั้ง) กับปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในยุคที่ใครก็ติดโซเชียล
ถือเป็นธรรมเนียมของเหล่าพ่อแม่ป้ายแดงไปแล้ว ที่จะต้องแชะรูปถ่ายคู่กับทารกที่เบ่งออกมาด้วยความรักและความปรารถนาดี โดยเฉพาะเหล่าดาราที่จะต้องตกเป็นข่าวทุกครั้งเมื่อให้กำเนิดทายาทคนใหม่ และจะต้องมีชาวเน็ตอย่างเรา ๆ นี่แหละ คอยไปแสดงความยินดี พร้อมปิดท้ายด้วยการช่วยพิจารณาว่า เด็กน้อยมีหน้าตาละม้ายคล้ายฝั่งพ่อ หรือฝั่งแม่มากกว่ากัน
ที่มา: PPTVHD36
แม่ก็คือแม่ ‘ปุ้มปุ้ย’ ขอเดินสวนกระแสสังคมจ้ะ!
ไม่ใช่กับสาว ‘ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา’ ที่ได้กลายเป็นคุณแม่มือใหม่สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพราะไม่ขอแง้มหน้าลูกชายให้ใครได้เห็น ซึ่งแม่เคยตอบคำถามผ่านทางไอจีส่วนตัวว่า
“เป็นเรื่องที่คิดหนัก และทำการบ้านหนักมากเรื่องนี้ค่ะ
ปุ้ยให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับจากผู้เลี้ยงดู 70 เปอร์เซ็นต์
คิดว่าจะไม่มีใครได้เห็นค่ะ จนกว่าลูกจะเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน
สามารถบอกความรู้สึกได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากลูกก่อนค่ะ”
งานนี้ทำเอาชาวเน็ตแตกเป็นสองเสียง บ้างก็บอกว่าคุณแม่ทำถูกแล้วที่ต้องนึกถึงความรู้สึกของลูกให้มาก ๆ บ้างก็ผิดหวังเพราะตั้งหน้าตั้งตารอชมความน่ารักน่าเอ็นดูของน้อง ‘ไซแอนบลู สกาย ดูวาล’ มานานนับปี
พาย้อนรอยคดีฉาวโฉ่ลูกฟ้องพ่อแม่บังเกิดเกล้าที่กลายเป็นตำนาน
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกอย่างแน่นอนค่ะสาว เพราะในปี 2559 วัยรุ่นชาวออสเตรียวัย 18 ปี ยื่นฟ้องพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด สาเหตุที่พ่อกับแม่เอาภาพถ่ายวัยเด็กของชี 500 กว่าภาพ ไปโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวที่มีเพื่อนกว่า 700 คน โดยไม่ได้ขออนุญาตหรือแคร์ความรู้สึกลูกสาวเลยแม้แต่น้อย และไม่สนว่าชีจะอับอาย หรือเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวว่า
“พวกเขากระทำโดยไม่รู้จักความละอายและทำโดยไม่มีขีดจำกัด
พวกเขาไม่สนว่าภาพนั้นจะเป็นภาพของฉันขณะที่กำลังเข้าห้องน้ำหรือนอนเปลือยเปล่าในเปล
ทุก ๆ ภาพส่วนตัวที่ถ่ายได้กลายมาเป็นภาพที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน"
แต่ฝั่งพ่อกลับยืนกรานว่า “ตราบใดที่เขาเป็นคนถ่ายรูปพวกนี้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรกับรูปก็ได้” ตอนนี้คดีก็อยู่ในชั้นโรงชั้นศาล เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลจะเป็นยังไง และจะไปจบลงที่จุดไหน
4 สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องรู้ !
สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับการโพสต์รูปภาพของเด็กลงบนโซเชียลมีในหลายประเทศ อย่างฝรั่งเศสก็ออกกฎหมายการโพสต์รูปภาพของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงการที่พ่อแม่โพสต์ภาพลูก มีโทษปรับสูงสุด 45,000 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.7 ล้านบาท และในประเทศไทยก็มีสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กอยู่ 4 ข้อ ที่พ่อแม่หลายคนอาจไม่เคยรู้ แต่ต้องเริ่มศึกษาอย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วในตอนนี้
1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival)
สิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด โดยได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย ไม่ว่าเด็กจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)
สิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็ก หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่น ๆ
4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)
สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง
ที่มา: มูลนิธิโสสะแห่งประเทศไทยฯ
ใครที่กำลังจะกลายเป็นพ่อแม่มือใหม่คงจะต้องระมัดระวังในการโพสต์รูปลูกในวัยเด็ก หรืออาจจะต้องขออนุญาตหรือถามความสมัครใจของลูก ๆ ก่อนโพสต์ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาลูกฟ้องพ่อฟ้องแม่อย่างในต่างประเทศ แต่ประเด็นนี้คงต้องค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา
โดย wacheese
[email protected] :)