หายไปไหน? ทำไมกุมภาพันธ์ถึงมีแค่ 28-29 วัน ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีถึง 30 วัน!

avatar writer
โดย : Ying
avatar writer3 ก.พ. 2567 avatar writer588
หายไปไหน? ทำไมกุมภาพันธ์ถึงมีแค่ 28-29 วัน ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีถึง 30 วัน!

 

ถ้าพูดถึงเดือนกุมภาพันธ์จะคิดถึงอะไรกัน ? เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยจะตอบว่าวันวาเลนไทน์ ใช่เดือนกุมภาพันธ์มีวันแห่งความรักอยู่ แต่นอกจากเดือนกุมภาพันธ์จะมีวันวาเลนไทน์เป็นประเด็นสำคัญให้พูดถึงแล้ว เดือนนี้ยังมีประเด็นจำนวนวันที่มีน้อยกว่าเดือนอื่นให้พูดถึงด้วย คือเดือนอื่นมีกัน 30-31 วัน แต่น้องกุมภาของเราดันมีแค่ 28-29 วันเท่านั้น งงไหมล่ะ แต่! มีเรื่องให้งงมากขึ้นอีกเพราะ ครั้งหนึ่งเดือนกุมภาพันธ์เคยมีถึง 30 วันไปเลย และบทความนี้เราจะพาไปไขข้อสงสัยทุกประเด็นกันจ้า

 


เดือนกุมภาพันธ์
ก่อนจะมี 29 วัน พี่เคยมีถึง 30 วันมาก่อน
🗓️

 

กุมภากุมใจเมื่อก่อนเคยมีถึง 30 วันเลย ถ้าถามถึงที่มาที่ไปก็ต้องย้อนไปในยุคสมัยโรมันเลย ยุคนั้นเขาจะใช้ปฏิทินโรมันกัน และจำนวนเดือนในปฏิทินจะมีแค่ 10 เดือนเท่านั้น คือ 

 

  • Martius (มีนาคม)
  • Aprilis  (เมษายน)
  • Maius (พฤษภาคม)
  • Junius (มิถุนายน)
  • Quintilis (กรกฎาคม)
  • Sextilis (สิงหาคม)
  • September (กันยายน)
  • October (ตุลาคม)
  • November (พฤศจิกายน)
  • December  (ธันวาคม)

ใช่แล้วล่ะ จากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นว่า ยุคก่อนคริสตกาลเดือนแรกของปีคือเดือนมีนาคมไม่ใช่เดือนมกราคมอย่างในทุกวันนี้

 

 

 

ต่อมา จูเลียส ซีซาร์ (julius caesar) นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรมันได้ทำการเปลี่ยนจาก ปฏิทินโรมัน มาใช้ ปฏิทินจูเลียน แทน เหตุผลเพราะ จำนวนเดือนในปฏิทินโรมันไม่สอดคล้องกับการนับข้างขึ้น-ข้างแรม จูเลียส ซีซาร์จึงให้นักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อว่า โซซิจีนีส มาคำนวนใหม่แล้วค้นพบว่า ความจริงแล้ว 1 ปีควรมีทั้งหมด 12 เดือน เมื่อเห็นเช่นนั้น จูเลียส ซีซาร์ จึงทำการเพิ่มเดือนขึ้นมาอีก 2 เดือนคือ มกราคม และ กุมภาพันธ์ นั่นเอง และกำหนดให้จำนวนวันของแต่ละเดือนสลับคู่-คี่กันทั้ง 12 เดือน โดยเรียงตามลำดับดังนี้

 

  • มีนาคมมี 31 วัน
  • เมษายนมี 30 วัน
  • พฤษภาคมมี 31 วัน
  • มิถุนายนมี 30 วัน
  • กรกฎาคมมี 31 วัน
  • สิงหาคมมี 30 วัน
  • กันยายนมี 31 วัน
  • ตุลาคมมี 30 วัน
  • พฤศจิกายนมี 31 วัน
  • ธันวาคมมี 30 วัน
  • มกราคมมี 31 วัน 
  • และกุมภาพันธ์มี 30 วัน 

 

แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบเท่านั้น เพราะถึงแม้จะเพิ่ม มกราคม กับกุมภาพันธ์ เข้ามาแล้ว แต่ จำนวนวันกับเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็ยังนับได้เป็น 365 เศษ ¼ วัน และจะครบ 366 วันในเวลา 4 ปี นั่นทำให้เดือนกุมภาพันธ์ที่ตอนนั้นเป็นเดือนสุดท้ายของปีมีวันที่ 30 ทุก 4 ปี นั่นเอง

 

จูเลียส ซีซาร์ (julius caesar) เจ้าของ ปฏิทินจูเลียน และเป็นผู้เพิ่มเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เข้ามาในชีวิตพวกเราจนในทุกวันนี้

 


กุมภาพันธ์มี 30 วันได้ไม่นาน ก็ต้องโดนแย่งวันไป 

🗓️

 

 

อะไรก็ดูเหมือนจะเริ่มลงตัวแล้วใช่ไหม แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อถึงสมัยจักรพรรดิออกัสตัส ซีซาร์ (Augustus Caesar) รู้สึกชื่อคุ้นๆ ใช่ไหม จักรพรรดิออกัสตัส ซีซาร์ ท่านเกิดในเดินสิงหาคม และท่านก็ไม่พอใจที่ทำไมเดือนของฉันถึงแม้แค่ 30 วันเท่านั้น เลย เปลี่ยนให้เดือนสิงหาคมมี 31 วัน โดยไปเอาวันของเดือนกุมภาพันธ์มา 1 วัน  แล้วก็เปลี่ยนชื่อเดือนจาก Sextilis เป็น August ซะเลย จบ! (เอาแต่ใจสุด ๆ )

 

แล้วทำไมกุมภาพันธ์ถึงมี 29 วันทุกๆ 4 ปี ? คือหลังจากที่กุมภาโดนแย่งวันไปก็จะเหลือเต็มที่แค่ 29 วัน บวกกับเรื่องการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา 365 กับอีก ¼  วัน จึงทำให้เดือนกุมภาจะมี 29 วันในทุก 4 ปีส่วนปีอื่นๆ จะมีแค่ 28 วันเท่านั้น ซึ่งปีไหนที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันจะเรียกปีนั้นว่า ปีอธิกสุรทินหรือปีที่มี 366 วันนั่นเอง

 

จักรพรรดิออกัสตัส ซีซาร์ (Augustus Caesar) ผู้ทำให้เดือนกุมภาพันธ์มี 28-29 วัน

 


กุมภาพันธ์ถูกปรับไปเป็นเดือนที่ 2 ของปีได้ เพราะวันปีใหม่ถูกเปลี่ยน!

🗓️

 

 

ถึงแม้ในยุคของ จูเรียส ซีซ่าร์ จะค้นพบว่าและปรับเปลี่ยนจำนวนเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และฤดูกาลแล้ว แต่ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ 0.01 วัน/ปี ซึ่งพอสะสมไปเรื่อย ๆ จน 1,000 ปี ก็พบจำนวนวันที่คลาดเคลื่อนประมาณ 10 วันเลยทีเดียว 

 

จากความคลาดเคลื่อนทุกๆ  1,000 ปีนั่นจึงทำให้ พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII) ประกาศใช้ปฏิทินเกรกอเรียน ที่ปรับปรุงให้จำนวนวันใน 1 ปีตรงกับคาบการโคจรของโลกมากขึ้น โดยตัดวัน 10 วันจากความคลาดเคลื่อนสะสมออกไปจากปฏิทิน และประกาศให้วันที่ 1 มกราคมวันขึ้นปีใหม่เมื่อปี ค.ศ.1582 และ พอวันที่ 1 มกราคมได้เป็นวันขึ้นปีใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ก็ถูกสถาปนาเป็นเดือนที่ 2 ของปีแบบ อัตโนมัติ แต่จำนวนวันยังเท่าเดิมนะจ๊ะ

 

 พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (Pope Gregory XIII)  เจ้าของ ปฏิทินเกรกอเรียน

 


 

ชีวิตมีการเดินทางฉันใด เดือนกุมภาพันธ์ก็มีการเดินทางฉันนั้น แถมยังเป็นการเดินทางที่ยาวนานนับพันปีเลยด้วย จะว่าไปคนสมัยก่อนนี้ก็เก่งมากนะ แม้จะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในแบบสมัยนี้ แต่ก็สามารถคำนวณนั่นนี่โน่นออกมา จนเกิดมาเป็น วัน/เดือน/ปี ให้เราได้ใช้กันจนทุกวันนี้ พอพูดถึงวัน/เดือน/ปี วันสำคัญต่างๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัวทันที เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้วทุกคนเตรียมตัวให้พร้อมหรือยัง เพราะสถานีต่อไปคือ วันวาเลนไทน์ จ้า

 

 

🌹


 

💙  อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://ppro.pro/3Upnh1l / https://ppro.pro/47ZxIfc/ https://ppro.pro/3uhTv3J/ https://ppro.pro/482CBnN

  • avatar writer
    โดย Ying
    ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨
แสดงความคิดเห็น