‘คนโสดล้นเมือง คนมีคู่ แต่งงานช้า’ รู้จักกับปรากฏการณ์ของการรอ ที่จะเกิดขึ้นในสังคม NEW NORMAL
โดย : imnat
ไม่ต้องฉุดกระชากลากถูเข้าพิธีแต่งงานกันอีกต่อไป
เพราะการมาของ NEW NORMAL จะทำให้คนในสังคมสนใจเรื่องการมีคู่น้อยลง
คนโสดแฮปปี้มากขึ้น เพราะคุณจะได้ชาวแก๊งเพิ่มอีกเพียบ!
พี่เธียรไม่รักไม่เป็นไร #ทีมน้องเมย อย่างเราต้องสตรอง! ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะได้ยินคำว่าสังคมปกติใหม่ หรือ NEW NORMAL กันเยอะมาก ซึ่งการมาของ NEW NORMAL นี้ว่ากันว่าจะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมไปถึงค่านิยมของพวกเราให้แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะค่านิยมเรื่องการมีคู่ลามไปจนถึงเรื่องการแต่งงาน เชื่อกันไหมว่าการมาของสังคมปกติใหม่นี้จะทำให้ปริมาณของคนโสดเพิ่มขึ้น และเห็นโสดๆ แบบนี้ถึงจะไม่มีแฟนแต่ก็อยู่ได้น้า
ทำความรู้จัก Waithood หรือปรากฏการณ์ของการรอ
ถ้าให้ทุกคนไปถามคุณพ่อ คุณแม่ของตัวเองเกี่ยวกับค่านิยมของการมีคู่ในสมัยนั้นกับตอนนี้ เชื่อเลยว่าคำตอบที่ได้จะต้องแตกต่างกันอย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยช่วงเวลา อย่างที่เค้าว่ากันว่า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน อะไรๆ ก็เปลี่ยน ซึ่งอะไรๆ ที่ว่ามานี้ก็ได้รวมไปถึงความคิดและทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวด้วยเช่นกัน
เราจะสังเกตได้เลยว่า สมัยนี้คนไม่ค่อยอยากมีลูก หรือต่อให้มีก็มักจะมีในจำนวนที่ไม่เยอะเท่าแต่ก่อน (สมัยก่อนคนลูกดกเยอะมากลองสังเกตดู) แถมบางคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานาน แต่ก็ไม่ยักจะมีเบบี๋สักที ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าต้องการความเป็นอิสระ หรืออยากเที่ยวเล่นไปโน่นมานี่แบบไม่ต้องมีภาระให้ต้องเลี้ยงดู หรือบางคนอาจจะเปลี่ยนไปหาสิ่งอื่นทดแทน ยกตัวอย่างเช่นการเลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงลูก (เพื่อน) หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทนในส่วนนี้เอา
และนี่ยังไม่รวมไปถึงปริมาณของคนโสด ที่เมื่อก่อนแค่ก้าวเข้าสู่เลข 2 แล้วยังไม่มีแฟนก็นั่งบนบานศาลกล่าว วัดไหนเค้าว่าดี ศาลไหนเค้าว่าเด็ดนี่แทบจะไปเยือนมันทุกที่ แต่ตัดภาพมาที่ตอนนี้ดูซิ อายุเข้าเลข 3 ไปหลายปีแล้ว คนรอบข้างอาจจะมองว่าปลงชีวิต แต่เอาจริงๆ เราอาจจะมีความสุขกับเรื่องอื่นๆ จนไม่ได้สนใจเรื่องการมีแฟน หรือมีลูกก็ได้ และทั้งหมดทั้งมวลที่เอ่ยมานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ของการรอ หรือ Waithood นั่นเอง
'รอไปจ้ะ ถ้าตอนนี้ชั้นยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็รอต่อไป' อธิบายได้ง่ายๆ เลยก็คือ Waithood หรือปรากฏการณ์ของการรอนี้เปรียบได้กับค่านิยมของคนในสังคมปัจจุบันที่ปัจจัยอย่างหน้าที่การงาน ความสำเร็จ ฐานะทางการเงิน หรือการได้รับการยอมรับจากคนในสังคม ได้เข้ามามีบทบาทต่อพวกเขาแทนที่เรื่องความรัก
ซึ่งการเบี่ยงเบนความสนใจไปแบบนี้ส่งผลทำให้คนคิดเรื่องการมีชีวิตคู่น้อยลง เพราะมัวแต่ไปคิดว่าจะทำยังไงตัวเราถึงจะประสบความสำเร็จ อย่างคนโสดก็สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะกินข้าว ดูหนัง ไปหาหมอ หรืออะไรใดใดก็ตาม ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเมื่อไหร่เราจะมีคนรัก จะมีครอบครัว หรือจะมีลูกๆ ให้ได้เลี้ยงดู
นักมานุษยวิทยาเลยได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า การที่คนเราแต่งงานช้าลง หรือจำนวนคนโสดมากขึ้น ล้วนเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเราทั้งนั้น แถมยังสบายใจไปได้เลย เพราะไม่ได้มีแค่สังคมเราสังคมเดียว แต่เรียกได้ว่าทุกคนบนโลกล้วนเผชิญกับปรากฏการณ์นี้เหมือนๆ กัน อีกทั้งคนเรายังสามารถหาปัจจัยอื่นมาทดแทนความต้องการตรงนี้กันได้ เลยทำให้เรื่องของการมีชีวิตคู่รวมไปถึงการสร้างครอบครัวได้ถูกยกไปไว้ในปัจจัยรอง ที่มีก็ได้ หรือถ้าไม่มีก็ไม่ได้ติดอะไร
ปรากฏการณ์ของการรอนี้ เป็นผลพวงมาจาก NEW NORMAL จริงหรอ?
ถ้าให้บอกว่าเป็นผลพวงแบบ 100% เลยคงจะไม่ถูก แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้คำว่า ทำให้ชัดเจนขึ้น น่าจะเหมาะมากกว่า เพราะปรากฏการณ์ Waithood นี้เกิดขึ้นในสังคมเรามาได้สักพักแล้ว และยิ่งสังคมเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมปกติใหม่อย่าง NEW NORMAL ด้วย อะไรๆ ก็สามารถเป็นไปได้ทั้งนั้น
เพราะการมาของ NEW NORMAL จะทำให้การใช้ชีวิตของเราทุกคนง่ายขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีการจัดการต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต ธุรกิจต่างๆ จะมีการปรับตัว รูปแบบการทำงาน การเข้าสังคม ซึ่งตรงนี้ยิ่งส่งผลทำให้คนเราเจอหน้ากัน (แบบตัวเป็นๆ) น้อยลง หันมาสื่อสาร พบปะพูดคุยกันผ่านออนไลน์มากขึ้น และความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ก็อาจกระทบต่อทัศนคติของเราในเรื่องชีวิตคู่ด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปแบบเต็มตัว ดังนั้นทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ รวมไปถึงค่านิยมดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน แต่จากแนวโน้มความเป็นไปได้แล้ว สำหรับตัวแอดเองนั้นมองว่าค่านิยมการสร้างครอบครัวของคนในสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน สืบเนื่องมาจากการรักษาระยะห่างทางสังคมเอย ความคิดต่อหน้าที่การงานและความอยากประสบความสำเร็จในชีวิตเอย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามานี้สามารถทำให้ปัจจัยที่เรียกว่าความรักนั้นตกไปเป็นรองได้เสมอ
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผลพวงที่มาจากการเปลี่ยนไปของกาลเวลา หรือการมาของ NEW NORMAL การวัดคุณภาพชีวิตและความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การแต่งงานหรือมีครอบครัวอีกต่อไป เพราะต่อให้โสดเราก็สามารถทำอะไรได้ไม่ต่างจากคนที่แต่งงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยว ไปกินข้าว ไปดูหนัง ไปหาหมอ ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
เพราะฉะนั้นต่อให้พี่เธียรไม่รัก ไม่สนใจ น้องเมยยุคใหม่ได้เวลาสะบัดบ๊อบใส่แบบโนสนโนแคร์กันได้เลย และอย่าลืมว่าทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมานี้ล้วนเป็นการคาดการณ์ เพราะการที่สังคมจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน อย่าลืมว่าเราทุกคนคือคนตัดสิน
แล้วเพื่อนๆ ล่ะ มีความคิดเห็นกันยังไงเกี่ยวกับค่านิยมเรื่องการแต่งงานและการครองโสดในปัจจุบัน
สามารถคอมเมนต์พูดคุยกันเข้ามาได้เลยนะ
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)