Social Distancing ทำต้นทุนเพิ่มแค่ไหน อะไรคือ COVID-19 Surcharge?
โดย : MilD
Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมให้เพิ่มขึ้น
จะช่วยลดความเสี่ยงติดต่อเชื้อไวรัส
แต่อีกแง่นึงก็เพิ่มภาระต้นทุนให้ธุรกิจมากขึ้นด้วย
ในต่างประเทศเริ่มคิด COVID-19 Surcharge กันแล้ว ส่วนบ้านเราจะเป็นยังไงดีล่ะ?
ลั้นลั้นลา ลั้นละลั้นลา มาม๊ามา ออกมาใช้ชีวิตกัน พวกเรากำลังจะได้กลับมาลั๊ลลากันอีกครั้งแล้ววว~ หลังจากต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ยาวนานเป็นเดือนๆ น้ำหนักก็ขึ้น กินทั้งวัน จะไปไหนก็ไม่ได้ อยู่บ้านก็ต้องทำงานวนไป โถ่ว ชีวิตหนอ นี่แหละทำให้เรารู้คุณค่าของช่วงเวลาปกติมากกว่าเดิมว่ามันแฮปปี้แค่ไหน พอตอนนี้หลายอย่างเริ่มดีขึ้น มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ทยอยปลดล็อกร้านค้าที่ต้องปิดไป ให้กลับมามีวิถีชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง
แต่จะว่าเหมือนเดิมเลยก็คงจะไม่ได้ ถึงจะสามารถใช้ชีวิตนอกบ้าน ไปไหนมาไหนได้มากกว่าเดิมแล้ว แต่ก็มีข้อจำกัดเยอะเหลือเกิน เดินทางก็ต้องพกหน้ากากอนามัยไปด้วยทุกที่ เจลล้างมือต้องพกติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา จะไปร้านไหนก็ต้องเช็คอินผ่าน QR Code ไทยชนะ ระบุว่าตัวเองอยู่ไหน ชีวิตลำบากไปหมด แต่อีกหนึ่งสิ่งที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแน่นอน คือ ระยะห่างทางสังคมระหว่างบุคคล หรือ Social Distancing จะมาใกล้ชิดเหมือนเดิม ปิดประตูไปเลยจ่ะ ต้องรอจนถึงช่วงที่มีวัคซีนแล้วอาจจะไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งไม่ใช่เร็วๆ นี้แน่นอนเด้อ
Social D i s t a n c i n g ช่วยให้ชีวิตปลอดภัยกว่าเดิม
ช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เฮกันใหญ่ รัฐบาลได้ปลดล็อกระยะที่ 2 พวกเราทุกคนได้มีโอกาสกลับไปเดินห้างฯ กันอีกครั้ง แอดเองก็ได้ไปมาเหมือนกัน ออกไปสัมผัสกับชีวิตใหม่ New Normal จะเป็นยังไงบ้าง ทุกย่างก้าวของชีวิต ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องสแกน QR Code ไปหมด จะเข้าร้านไหนก็ต้องจำกัดจำนวนคนให้เหมาะสม เข้าเยอะก็ไม่ได้อีก สัมผัสได้เลยว่าทุกคนปรับตัวเพื่อสถานการณ์นี้จริงๆ ไม่น่าอยากจิเชื่อเลย ว่าคนไทยทำได้!
ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ววว~
เดี๋ยวนี้ทุกคนต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน คือไม่ได้เล่นละครหรือแสดงอะไรอยู่หรอกนะ เพราะนี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องทำให้ชินหลังจากนี้ จะไปไหนมาไหนก็ต้องใส่หน้ากาก และเว้นระยะระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตรในทุกฝีก้าว ไม่ว่าจะทำอะไรนอกบ้านก็ต้องเว้นไปหมด นั่งรถไฟฟ้าก็ต้องเว้นที่นั่งติดกัน นั่งรถเมล์เบาะคู่ก็นั่งได้แค่คนเดียวละ ขึ้นลิฟต์ก็เข้าได้ไม่กี่คนแถมต้องหันหน้าไปคนละทางอีก นั่งกินข้าวก็ต้องนั่งคนเดียว จะนั่งเป็นกลุ่มใหญ่ไม่ได้อีกแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ Social Distancing ทั้งสิ้น เพื่อลดการแพร่เชื้อระหว่างกัน ได้โปรดทำใจ แล้วรับมันให้ได้ซะ เพราะจะต้องอยู่แบบนี้อีกนานแสนนาน
เพิ่มระยะห่างระหว่างกัน แต่เพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นด้วย
ในมุมมองของประชาชนทั่วไป พอได้เห็นธุรกิจหรือสถานที่ต่างๆ ทำตามมาตรการเว้นระยะห่างสังคมแล้ว ก็รู้สึกสบายใจไปอีก แบบว่าปลอดภัยแน่นอน เจ้าเชื้อไวรัสไม่มีทางทำอะไรเราได้หรอก แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยเหล่านี้แลกมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียวเลยล่ะ ใต้รอยยิ้มที่เราเห็นกันเนี่ย แอบมีน้ำตาซ่อนอยู่เป็นลิตรๆ ก็ว่าได้
• รายได้หายไปเกินครึ่ง ลองคิดภาพตามง่ายๆ ปกติพื้นที่ของร้านเท่านี้ สามารถจะรับลูกค้าได้ถึง 100 คน แต่พอต้องเว้นระยะห่างกันแล้ว อาจจะรองรับได้แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ที่หายไป 80 คนเนี่ย รายได้หายวับไปกับตา หรือถ้าเป็นระบบขนส่ง สมัยก่อนรถเมล์อัดกันแน่นสุดอย่างกับปลากระป๋อง แต่มาดูตอนนี้สิที่ว่างเหลือเพียบ แต่คนกลับขึ้นไม่ได้แล้ว เพราะจะนั่งหรือยืนติดกันแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป
(1 โต๊ะ สามารถกินได้แค่ 1 คน นั่งกับก้อน ลองคิดดูว่ารายได้จะหายไปเยอะแค่ไหน)
• ต้นทุนกลับเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก รายได้ลดลงยังไม่พอ แต่มีภาระที่ต้องจ่ายเยอะกว่าเดิม ต้องมีทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ระบบทำความสะอาดที่เข้มข้นกว่าเดิม ตัววัดอุณหภูมิ หรือขนาดต้องจ้างพนักงานมาเพิ่ม ทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายมากขึ้น และส่งผลกระทบกับกำไรของกิจการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
• ยิ่งทำไปก็ยิ่งเข้าเนื้อ ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยก็คือ รถเมล์ร่วมบริการ ซึ่งรายได้หลักมาจากจำนวนคนใช้บริการ แต่พอต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้สามารถรับผู้โดยสารได้น้อยลง ต้นทุนเท่าเดิมแต่รายได้ลดลง ยิ่งวิ่งก็เข้าเนื้อไปเรื่อยๆ สุดท้ายบางสายไปไม่รอดก็ต้องเลิกวิ่งไปในที่สุด หรืออย่างร้านอาหารช่วงที่ผ่านมาก็รับไปเต็มๆ รายได้ลดลง แต่ค่าจ้างพนักงานก็ยังต้องจ่ายอยู่ บางที่แทบไม่มีรายได้เลย มันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากบริษัท ไปจนถึงพนักงาน ทุกคนต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง ถ้าล้มก็เป็นโดมิโนกันหมด นี่เราไม่ได้เข้าข้างฝั่งนายทุนแต่อย่างใด เพราะทุกคนคงเห็นแล้วว่าผลกระทบมันกระจายออกไปเรื่อยๆ
ซึ่งผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นเนี่ย ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว แต่แทบทุกประเทศในโลกต่างโดนกันถ้วนหน้า ถ้ายังรอดอยู่เนี่ยถือว่าแปลก แล้วต่างประเทศจะเป็นยังไงบ้างน้อออ
มาทำความรู้จักกับ "COVID-19 Surcharge" คืออะไร?
แวะไปส่องดูสถานการณ์ที่ต่างประเทศแป๊บนึงดีกว่า ตอนนี้เค้าเริ่มมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมท้ายใบเสร็จเพิ่มขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "COVID-19 Surcharge" กันบ้างแล้วล่ะ อย่างหลายเมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย, มิชิแกน หรือมิสซูรี โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มร้านอาหาร เพราะช่วงนี้มีต้นทุนหลายอย่างที่ปรับสูงขึ้น ทั้งค่าวัตถุดิบต่างๆ หรือต้นทุนการผลิต โดยเลือกที่จะไม่ได้ปรับราคาอาหาร แต่เลือกที่จะแยกออกมาให้เห็นแบบชัดเจนในใบเสร็จเลย ส่วนมากจะคิดเพิ่มในอัตราประมาณ 5% เท่านั้น เก็บแค่นิดหน่อยเท่านั้นเอง ไม่ได้เยอะมากมาย เพื่อให้กิจการเดินต่อไปได้ ดีกว่าเจ๊งปิดตัวไป
นี่ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของร้านค้า ที่ต้องแบกรับหลังเกิดเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยต่างประเทศจะใช้หลักการบวกเข้าไปท้ายบิลแบบนี้เลย ก็ถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศฝั่งตะวันตกทำกัน ส่วนของเมืองไทยอาจจะไม่ได้มาบวกเพิ่มเข้าไปชัดเจนขนาดนี้ แต่จะเป็นให้เพิ่มตามความสมัครใจ เช่น ให้เงินพิเศษ (Tip) กับพนักงาน หรือบางแห่งก็นำหลักการของ CSR มาปรับใช้แทน
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก Delish)
สำหรับประเทศไทย ใช้ CSR นี่แหละเวิร์ก แถมได้ Brand Image ด้วย!
เราจะเห็นว่าหลายบริษัทได้เริ่มทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อทุกคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ก็เลยเกิดแคมเปญดีๆ ขึ้นมาให้ตัวช่วยของพวกเราทุกคนในช่วงเวลานี้ ไม่ต้องเดินทางไปไหน คนขับก็จะมาส่งอาหารให้ถึงที่ แต่บางทีเราก็อยากตอบแทนความเหนื่อยยากของพี่ๆ เหล่านี้บ้าง จะทำยังไงได้บ้าง?
(ตัวอย่างแคมเปญ CSR ของทาง GrabFood คนสั่งอาหารก็ได้ฟิน คนส่งก็อิ่มเหมือนกัน)
Grab เลยจัดแคมเปญพิเศษ Buy 1 Share 1 เพียงแค่สั่งอาหารจากร้านค้าที่ร่วมรายการ และเลือกเมนูที่ร่วมรายการ เราก็ได้รับอาหารเหมือนเดิมตามปกติ แต่พี่คนขับมาส่งให้เราก็ได้อิ่มด้วย มันเริ่ดมากนะ คือเราไม่ได้เสียเพิ่มเลยนึกออกมั้ย แต่ทาง Grab ก็จะซัพพอร์ตตรงนี้แทน ร้านค้าก็ขายของได้มากขึ้นด้วย ทุกฝ่ายก็แฮปปี้กันไปหมด อิ่มเอมหัวใจมาก
(กฟผ. แจกฟรีเจลล้างมือ 5,000 ขวด เอาไว้พกติดตัวเวลาไปข้างนอก มั่นใจว่าสะอาดชัวร์)
ลองมาดูที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จัดกิจกรรมเพื่อสังคมเหมือนกัน เพราะช่วงนี้หลายคนต้องเริ่มออกจากบ้านไปทำงานหรือธุระส่วนตัวกันแล้ว ก็ต้องมีของพกติดตัวที่ใช้งานได้จริงซะหน่อย ก็แจกให้เป็นเจลล้างมือ และหน้ากากอนามัยแบบนาโน ให้แบบฟรีๆ เลย แค่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ในช่วงต้นเดือน พ.ค. 63 ที่ผ่านมา หมดอย่างรวดเร็วไม่กี่นาทีเอง เอาไปใช้เป็นตัวช่วยของชีวิต New Normal และต้องเว้นระยะห่าง Social Distancing กันแบบนี้ ขอบคุณงามๆ เลยค่า
(ขอขอบคุณภาพประกอบจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
ปิดท้ายกันด้วยร้าน Café Amazon ได้จัดแคมเปญพิเศษ "1 แก้ว 1 กำลังใจ ร่วมสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่" แค่ซื้อเครื่องดื่มตามปกติ 1 แก้ว ทางร้านก็จะมอบ 1 บาทให้กับกองทุนชัยพัฬนาสู้ภัยโควิด-19 ระหว่างวันที่ 1-7 พ.ค. 63 ซึ่งพอสรุปยอดมาแล้วได้เงินบริจาครวมถึง 4,500,000 บาทไปเลย พอเราเห็นโครงการดีๆ แบบนี้ก็อยากจะอุดหนุน ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ แถมยังได้ใจคนไทยไปอีกแม่ บริจาคเงินคนไทยชอบมาก เพราะนิสัยพวกเราชอบช่วยเหลือคนอ่าเนาะ เป็นคนจิตใจดีก็เงี้ย
นี่แหละเป็นตัวอย่างเล็กๆ ของ CSR ในประเทศไทยที่ถูกนำมาใช้กันเพียบ บางทีเราไม่ต้องเสียเงินสักบาท ก็สามารถส่งมอบสิ่งดีๆ ไปให้คนที่เราต้องการได้ง่ายแบบนี้แหละ
🌈 ปันโปรสรุปให้ 🌈
• New Normal คือชีวิตรูปแบบใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัวให้ได้ ซึ่งหนึ่งสิ่งที่ต้องทำก็คือ Social Distancing นี่แหละ เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จะต้องเตือนตัวเองไว้ตลอด
• ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นของทุกคน ก็ย่อมมีต้นทุนเสมอ แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่แต่ละธุรกิจต้องแบกรับมากกว่าเดิม แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำแหละ ช่วงเวลานี้ความมั่นใจสำคัญมากที่ซู๊ด
• ต่างประเทศเริ่มคิด COVID-19 Surcharge กันบ้างแล้ว ส่วนเมืองไทยยังไม่เห็นเรียกเก็บกัน แต่ช่วงนี้ต้องช่วยกันให้รอดผ่านวิกฤติในเวลานี้ไปให้ได้นะ
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ