คู่มือซื้อของออนไลน์ : จ่ายเงินซื้อของ - ขอคืนเงินอย่างไรให้ปลอดภัย

avatar writer
โดย : waranggg
avatar writer3 ก.ค. 2563 avatar writer2.9 K
คู่มือซื้อของออนไลน์ : จ่ายเงินซื้อของ - ขอคืนเงินอย่างไรให้ปลอดภัย

ซื้อของออนไลน์จ่ายเงินทางไหนได้บ้าง?
ของไม่ตรงปกอ่ะ ขอเงินคืนได้มั้ย?
เรารวมทุกข้อสงสัยมาให้แล้ว!

ปัจจุบันนี้การซื้อของออนไลน์คือง่าย สะดวกขึ้นมาก มีแพลตฟอร์มสำหรับให้เราช้อปและช่องทางการจ่ายเงินได้หลายช่องทางมากมาย เพื่อนๆ สามารถศึกษา Shopping Online แต่ละแบบได้ที่บทความก่อนหน้า คู่มือซื้อของออนไลน์ : มารู้จักเว็บขายของแต่ละแบบ พร้อมสอนวิธีสมัคร  ซึ่งความสะดวกนี้แน่นอนว่าทำให้เงินเราปลิวได้ง่ายกว่าเดิมไปอีก! แต่ปันโปรเราอยากให้ทุกคนซื้อของแบบรู้ลึก รู้จริง ในบทความนี้เราเลยจะมาเจาะลึกกันในเรื่องของเงินๆ ทองๆ กันอย่างละเอียด ตามนี้เลยจ้า

Part 1  :  ช่องทางการจ่ายซื้อของ Shopping Online

Part 2  : การผูกบัตร/บัญชี กับ Shopee และ Lazada

Part 3  : การขอเงินคืนหลังได้รับสินค้า

 


  Part 1   ช่องทางการจ่ายซื้อของ Shopping Online


online-shopping

แบบที่ 1 จ่ายผ่านเคาน์เตอร์

การจ่ายเงินซื้อของด้วยเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ของผู้ให้บริการต่างๆ เป็นช่องทางการจ่ายเงินแบบดั้งเดิม เป็นวิธีการจ่ายเงินที่เราคุ้นเคยกันดี ปัจจุบันนี้ก็ยังมีให้สามารถใช้วิธีจ่ายเงินสดได้อยู่นะ แต่มักจะเป็นผู้ค้าหรือ Marketplace รายใหญ่ๆ ที่จะมีตัวเลือกจ่ายเงินสดให้ โดยเราสามารถไปชำระได้ที่จุดบริการลูกค้าที่รับชำระค่าบริการ ต้องมีการนำใบแจ้งหนี้หรือบิลเรียกเก็บเงินไปยื่นที่เคาน์เตอร์

เมื่อเราชำระเสร็จ เราจะได้ใบเสร็จที่เป็นกระดาษระบุข้อมูลต่างๆไว้ชัดเจน บางเจ้าก็มีบริการเสริมเป็น SMS ยืนยันให้ด้วยว่ามีการชำระค่าบริการแล้ว ส่วนข้อจำกัดของช่องทางการจ่ายแบบนี้ คือต้องเสีย ค่าธรรมเนียม ประมาณ 10-20 บาท และ จำกัดเวลาปิด-เปิด ในบางผู้ให้บริการ

ช่องทางที่รับชำระค่าบริการ

• BigC

Tesco Lotus 

Counter Service ที่ 7-11

 CenPay ที่แฟมิลี่มาร์ท

ปรษณีย์ไทย
• เคาน์เตอร์รับชำระค่าบริการของธนาคารต่างๆ

cash

แบบที่ 2  จ่ายเงินปลายทาง

นอกจากการไปจ่ายเงินสดที่เคาน์เตอร์แล้ว เรายังสามารถเลือกจ่ายสดได้อีกวิธีหนึ่ง คือ การจ่ายเงินปลายทาง หรือ Cash On Delivery ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งลักษณะของการจ่ายเงินปลายทางนี้ เราสามารถรอให้ของมาส่งถึงหน้าบ้านก่อนแล้วจึงค่อยชำระเงินกับคนส่งพัสดุ

ซึ่งมีข้อดีตรงที่เราสามารถตรวจสอบสินค้าได้ก่อนว่าสินค้าที่สั่งมาถูกต้องและชำรุดเสียหายหรือไม่ ถ้าหากว่าสินค้ามีตำหนิหรือชำรุด เราสามารถปฏิเสธการรับสินค้าได้ ถ้าหากตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถชำระเงินกับที่คนส่งพัสดุได้เลย


ATM

แบบที่ 3 ชำระด้วยการโอนเงิน

วิธีการชำระเงินด้วยการโอนถือเป็นวิธีที่นิยมที่สุดเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์กับแบรนด์ใหญ่ๆ ยันแม่ค้ารายย่อยก็ สะดวก รวดเร็ว สามารถโอนได้ทั้งที่ตู้ ATM , โอนที่เคาน์เตอร์สาขา หรือ Mobile Banking ให้สามารถโอนเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารบนสมาร์ทโฟนได้เลย รวดเร็วกว่าการโอนเงินผ่านช่องทางอื่นๆ เพราะสามาถโอนได้ทุกที่ทุกเวลส

 

ซึ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันยิ่งทำให้การโอนเป็นเรื่องง่ายขึ้นไปอีก เพียงแค่มีเบอร์โทรก็สามารถ โอนผ่านระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) โดยที่ยอดโอนไม่เกิน 5,000 บาท ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วย แม้ว่าตัวผู้โอนและผู้รับเงินจะอยู่กันคนละจังหวัดก็ไม่หักค่าธรรมเนียม และยังมีสลิปที่เซฟเป็นไฟล์ภาพลงอัลบั้มรูปในมือถือให้อัตโนมัติด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวสลิปหมึกจางเลย 

Mobile Banking

 

แน่นอนว่าการโอนเงินออนไลน์ก็มีเรื่องที่เป็นข้อจำกัดอยู่บ้าง อย่างถ้ามือถือของเราดันเน็ตหมด หรือแบตหมดในจังหวะที่ต้องโอน ก็จะจะไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้ หรือเรื่องของความเสถียรของแอปเองก็ต้องระวัง บางจังหวะเจอแอปล่มตัดเงินไปแล้วแต่เงินไม่ถึงบัญชีปลายทางก็มี รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย การตั้งรหัสผ่านก็ควรจะตั้งให้เดาได้ยากไว้ก่อน หรือเชื่อมไว้กับระบบยืนยันลายนิ้วมือหรือใบหน้าได้ยิ่งดี

แบบที่ 4 จ่ายด้วย QR Code ผ่านแอปธนาคาร 

การจ่ายเงินผ่าน QR Code หรือ Quick Respond Code เป็นการจ่ายเงินรูปแบบใหม่ที่เพิ่งมีมาได้ไม่นานนี่เอง สามารถจ่ายเงินได้ง่ายๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนกับแอปธนาคาร หรือ E-wallet ก็สามารถจ่ายเงินได้แล้ว QR Code ถือเป็นตัวกลางในการชำระเงินและการจ่ายเงินที่มีความปลอดภัยสูง เพราะจะใช้โค้ดที่เป็นรูปภาพแทนข้อมูลบัญชี ทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยกว่าที่เรากรอกเลขบัญชี หรือโค้ดอื่นๆ

โดยหลักการการจ่ายเงินผ่าน QR Code ก็คือการโอนเงินอย่างหนึ่ง เพียงแต่ตัดลดขั้นตอนต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเคยเช็คว่ากรอกข้อมูล หรือเลือกธนาคารถูกหรือไม่ แค่เปิดกล้องแล้วส่องไปที่ QR Code ระบบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนยืนยันการจ่ายเงิน ให้เราตรวจเช็คว่าปลายทางและยอดเงินนั้นถูกต้องหรือไม่ จากนั้นก็กดยืนยันการชำระเงินได้ทันที

 

วิธีการชำระเงินผ่าน QR Code ก็ง่ายมาก

 

วิธีการชำระเงินผ่าน QR Code

1. เปิดแอปธนาคารหรือ E-wallet จากนั้นกดเลือกทีเมนู QR Code หรือเมนูสแกน 

2. จากนั้นสแกน QR Code จากร้านค้าที่ต้องการชำระเงิน 

3. กรอกจำนวนเงินค่าสินค้า และตรวจสอบชื่อร้านค้าและจำนวนเงินให้เรียบร้อย 

4. กดยืนยันเพื่อขำระเงินได้เลย จากนั้นก็จะมีแจ้งเตือนว่าเราชำระเงินเรียบร้อยแล้ว

credit card

แบบที่ 5 จ่ายผ่านบัตรเครดิต / บัตรเดบิต 

รูดบัตร เป็นศัพท์ที่นักช้อปคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันนั้นรูดได้ทั้ง บัตรเครดิตและเดบิต และเปลี่ยนจากลักษณะการรูดจ่ายกับหน้าร้าน มาเป็นการตัดบัตรออนไลน์แทน ซึ่งก็ยังคงอยู่บนหลักการเดิม งั้นปันโปรขอทวนเรื่องการชำระผ่านบัตร 2 แบบนี้อีกครั้งว่ามีกลไกอย่างไร และแตกต่างกันยังไงบ้าง? 

บัตรเครดิต : คือบัตรสินเชื่อที่ธนาคารออกให้เพื่อนำมาใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนได้ เมื่อถึงกำหนดชำระค่อยจ่ายเงินคืนกับธนาคาร โดยบัตรเครดิตมักจะกำหนดวงเงินมาให้ประมาณ 2-3 เท่าของเงินเดือน พูดง่ายๆ ก็คือ การใช้บัตรเครดิตคือการนำเงินอนาคตมาใช้ก่อนและจ่ายคืนทีหลัง ถ้ารู้จักใช้บัตรเครดิตจะกลายเป็นประโยชน์กับเรามากเลยนะ 

บัตรเดบิต : คือบัตรเอทีเอ็มเดิมนั่นแหละ ใช้กดเงินในบัญชีธนาคารผ่านตู้เอทีเอ็มเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสามารถใช้รูดชำระสินค้าหรือบริการได้ด้วย แต่ในบัตรเดบิตต้องมีจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีเพียงพอสำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการนั้นๆ ด้วย

ซึ่งในปัจจุบันหลายธนาคารก็เปลี่ยนให้ลูกค้ามาใช้บัตรเดบิตกันทุกธนาคารแล้ว เมื่อเราไปเปิดบัญชีใหม่จะได้รับเป็นบัตรเดบิตเลยโดยไม่ต้องขอสมัครเพิ่ม

การตัดเงินผ่านบัตรเป็นวิธีการชำระเงินที่หลายคนกังวลเรื่องความปลอดภัย บอกเลยว่าไม่ต้องกังวลไปจ้า การตัดผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต จะมีให้กรอก OTP หรือ CVV คอยช่วยรักษาความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำบัตรของเราไปใช้ แล้ว OTP และ CVV คืออะไรอีกล่ะเนี่ย 

OTP

OTP หรือ One Time Password คือรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งจะถูกส่งให้ทุกครั้งก่อนการยืนยันชำระเงินผ่าน SMS กับเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เรากรอกเมื่อตอนไปสมัครบัตร เมื่อเรากรอก OTP เสร็จปุ๊บระบบจะดำเนินการตัดเงินให้ทันที

CVV

CVV หรือ Card Verification Value คือ รหัส 3 ตัวด้านหลังบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต มีไว้เพื่อใช้กรอกยืนยันตัวตนเจ้าของบัตรในการจ่ายงินออนไลน์นั่นเอง 

หลายคนที่ใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ แล้วพบว่าทำไมราคาของที่ซื้อออนไลน์ถึงมีราคาสูงกว่าราคาของที่ซื้อหน้าร้าน นั่นเป็นเพราะว่าการจ่ายผ่านบัตรมักมีค่าดำเนินการ เว็บไซต์หรือแอปช้อปปิ้งใหญ่ๆ จะไม่ได้เรียกเก็บจากเรา แต่ไปเก็บกับร้านค้าผ่านค่า GP (Gross Profit) แทน ซึ่งค่าดำเนินการนี้บางร้านเค้าก็ถือว่าเป็นต้นทุนอีกทางหนึ่งด้วย จึงทำให้ร้านค้าต้องตั้งราคาสินค้าที่สูงขึ้นสำหรับหักค่าดำเนินการการจ่ายผ่านบัตรเครดิตด้วยนั่นเอง

บอกเลยว่านี้เป็นวิธีการจ่ายเงินที่สะดวกมากๆ ผูกบัตรครั้งเดียวจบเลย ไม่ต้องกรอกเลขบัตรใหม่ทุกครั้งด้วย เวลาจะกดชำระค่าสินค้าก็กรอกแค่เพียง OTP ก็เป็นอันเรียบร้อย แถมการตัดผ่านบัตรเครดิตก็ยังได้ส่วนลดหรือมีโปรโมชั่นลด On-Top เพิ่ม และทุกๆ การใช้จ่ายยังได้แต้มสะสมไว้แลกของรางวัลด้วย

แบบที่ 6 จ่ายด้วย E-Wallet Application

E-Wallet หรือ Electronic Wallet เป็นแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินออนไลน์ที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการได้ และบางแอปยังสามารถจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อวางแผนการใช้เงินได้ด้วย หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ปลอดภัย แต่จริงๆ เป็นช่องทางที่น่าเชื่อถือ ก่อนการทำธุรกรรมก็ต้องใส่รหัสอยู่เสมอ และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา

เรามาดูกันว่าตอนนี้ในไทยของเรามี E-Wallet หลักๆ ที่เป็นที่นิยมเจ้าไหนให้ใช้บ้าง? 

e-wallet 1

True Money Wallet เป็น E-Wallet ถือเจ้าแรกๆ และได้รับความนิยมมากในบ้านเรา สามารถทำธุรกรรมได้หลายอย่าง สามารถผูกบัตรเครดิตเพื่อจ่ายบิลหรือชำระเงินได้ลย โดยไม่ต้องเติมเงินก่อน และฟรี! ค่าธรรมเนียมทุกการใช้จ่าย

e-wallet 3

AirPay เป็นแอป E-Wallet ที่นอกจากจะจ่ายบิลหรือชำระเงินได้แล้ว ยังสามารถซื้อตั๋วหนัง เติมเกมได้ด้วย แถมยังมีจัดโปรโมชั่นให้ Cash Back คืนบ่อยด้วย 

e-wallet 2

Rabbit Line Pay  อันนี้สบายหน่อยไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม สามารถเปิดใช้งานผ่านไลน์ได้เลย นอกจากจะชำระเงินได้ ซื้อตั๋วหนัง เติมเงินมือถือ ก็สามารถผูกกับบัตร BTS แล้วเติมรอบได้ผ่านช่องทางนี้ได้เลย ไม่ต้องไปต่อคิวให้เสียเวลาอีกต่อไป

เป็นอีกช่องทางจ่ายเงินที่สะดวกสบายมาก อย่าง Shopee เองก็ให้มีเลือกชำระเงินผ่าน Airpay แถมยังได้ส่งฟรีด้วย วันไหนที่ลืมกระเป๋าตังก็ไม่ต้องกังวลแค่มีแอป E-Wallet ไว้ในมือถือก็สบ๊าย ไม่ต้องพกเงินสด พกกระเป๋าตังค์ หรือบัตรหลายใบให้วุ่นวายด้วย  และยังเหมาะกับสถานการณ์ช่วงนี้สุดๆ เพราะหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดเพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคนั่นเอง

 


  Part 2   การผูกบัตร/บัญชี กับ Shopee และ Lazada


การจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ผ่านแอปช้อปปิ้งอย่าง Shopee และ Lazada จะมีช่องทางการจ่ายเงินให้เลือกเยอะเพื่อให้ครอบคลุมกับความต้องการลูกค้า แต่ช่องทางที่เราอยากแนะนำมากๆ คือจ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเครดิตนั่นเอง เพราะเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว แถมยังส่วนลดเพิ่มด้วย

ใครที่เป็นมือใหม่หัดช้อปออนไลน์ ยังผูกบัตรเข้ากับแอปช้อปปิ้งไม่เป็น ก็ไม่ต้องกังวลกันไป เราทำวิธีผูกบัตรกับแอปช้อปปิ้งยอดนิยม อย่าง Shopee และ Lazada มาให้แล้ว

• วิธีผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิตกับ Shopee 

เมื่อผูกบัตรกับ Shoppee จะมีหักค่าธรรมเนียมการตรวจสอบบัตรเครดิต 1 บาทด้วยนะ และระบบจะคืนเงืนค่าธรรมเนียมคืนเข้าบัตรที่เราผูกไว้ภายใน 14 วัน 


• วิธีผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิตกับ Lazada 


ซื้อของออนไลน์สามารถเลือกผ่อนชำระได้ไหม?


online-shopping

สามารถผ่อนได้ซึ่งสินค้าที่สามารถผ่อนชำระได้จะมีโลโก้ผ่อนชำระกำกับอยู่ บางชิ้นได้ผ่อน 0% ได้นานถึง 10 เดือน สามารถกดผ่อนชำระในขั้นตอนการจ่ายเงินได้เลย และต้องเป็นสินค้าที่เข้าร่วมรายการผ่อนชำระด้วย

แต่ถ้าหากสินค้าชิ้นนั้นไม่สามารถทำรายการผ่อนผ่านแอปไม่ได้ ก็ใช้วิธีตัดบัตรราคาเต็มไปก่อนก็ได้ แล้วจึงค่อยไปกดแบ่งยอดชำระ ผ่อนจ่ายรายเดือนผ่านแอปธนาคารในมือถืออีกครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วยว่ากำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ จึงจะแบ่งยอดชำระได้ แต่การทำวิธีนี้ก็อาจจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มด้วย

• การผ่อนชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิตกับ Shopee 

online-shopping

ผ่อนชำระผ่าน Shopee จะมีเพียงบัตรเครดิตที่ร่วมรายการเพียง 3 ธนาคารเท่านั้น คือ ธ.กรุงเทพ, ธ.กรุงไทยและธ.กสิกรไทย สามารถผ่อนได้ 0% สูงสุด 10 เดือน ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าด้วย 

ผ่อนผ่านบัตรเครดิต ธ.กรุงไทยและธ.กสิกรไทย

• ราคาสินค้าต้องมากกว่า 3,000 บาท ขึ้นไป เลือกผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 6 เดือน 

ผ่อนผ่านบัตรเครดิต ธ.กรุงเทพ 

ราคาสินค้าต้องมากกว่า 3,000 บาท ขึ้นไป เลือกผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 6 เดือน 

ราคาสินค้ามากกว่า 5,000 บาทขึ้นไป เลือกผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 10 เดือน


• การผ่อนชำระสินค้าด้วยบัตรเครดิตผ่าน Lazada 

สำหรับการผ่อนผ่าน Lazada จะมีธนาคารที่เข้าร่วมรายการอยู่หลายธนาคาร สินค้าต้องมีราคามากกว่า 3,000 บาทขึ้นไป สามารถเลือกผ่อนได้ตั้งแต่ 3 เดือน, 6 เดือนและ 10 เดือน เงื่อนไขตามนี้เลย 

• ราคาสินค้ามากกว่า 3,000 บาท ผ่อนได้สูงสุด 3 เดือน

ราคาสินค้ามากกว่า 4,000 บาท ผ่อนได้สูงสุด 6 เดือน

ราคาสินค้ามากกว่า 5,000 บาท ผ่อนได้สูงสุด 10 เดือน

ถ้าสังเกตเราจะเห็นว่าสินค้าที่สามารถผ่อนชำระ มักจะเป็นสินค้าที่ราคาสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องเป็นสินค้าที่มีคามากกว่า 3,000 บาทและเข้าร่วมรายการผ่อนชำระด้วย แต่ถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะถึงตามเงื่อนไข แต่ถ้าไม่เข้าร่วมรายการผ่อนชำระ ก็ไม่สามารถผ่อนได้ เพราะฉะนั้นก่อนกดซื้ออย่าลืมรายละเอียดกันด้วยนะ


  Part 3   การขอเงินคืนหลังได้รับสินค้า


การซื้อของออนไลน์เนื่องจากว่าเราไม่ได้เห็นหรือไม่ได้จับสินค้าก่อน แต่ตัดสินใจซื้อจากภาพที่ถูกทำเพื่อการโฆษณาและขายของ ทำให้บางครั้งเราได้รับของที่ไม่ตรงปกบ้าง สั่งเสื้อผ้ามาได้ไซส์ไม่ตรง ใส่ไม่ได้บ้าง หรือสินค้าชำรุดเสียหายมาบ้าง ในกรณีแบบนี้เราสามารถขอเงินคืนได้นะ ต้องทำยังไง? ตามมาเลย 

• การขอเงินคืนจาก Shopee 

เมื่อได้ของแล้วพบว่าของที่มีการชำรุดและต้องการขอคืนเงินหรือคืนสินค้า อย่าเพิ่งกดยอมรับสินค้าก่อนเด็ดขาดเพราะระบบจะถือว่าเราได้ตรวจสอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว จะทำให้เราทำเรื่องขอเงินคืนไม่ได้

• ขั้นตอนการขอเงินคืนของ Shopee ก็ง่ายมากๆ 

refund

1. เข้าไปที่หน้า 'ฉัน' จากนั้นเลือกสินค้าที่ต้องได้รับ

2.เลือกสินค้าที่ต้องการคืนเงินหรือสินค้า แล้วกดที่คืนเงิน / คืนสินค้า 

3.เลือกเหตุผลที่ต้องการขอคืนเงินหรือคืนสินค้า ถ้าไม่ได้สินค้าระบบจะขึ้นข้อเสนอให้แค่คืนเงินเท่านั้น หากได้ของแต่สภาพไม่สมบูรณ์จะมีให้เลือกว่าขอเงินคืนอย่างเดียว หรือขอเงินคืนและส่งคืนสินค้า

แต่การจะส่งของคืนด้วยหรือไม่นั้น เราควรตกลงกับทางร้านก่อนด้วยนะ อย่างเราสั่งของจากร้านต่างประเทศแล้วมูลค่าของไม่ได้สูงมาก เราเลือกที่จะไม่ส่งของคืน เพราะค่าส่งของคืนสูงกว่าราคาสินค้าซะอีก 

4. จากนั้นก็รอร้านค้าอนุมัติคำขอ แล้วรอเงินคืนซึ่งระบบจะคืนให้เงินตามช่องทางการจ่ายเงินและใช้ระยะเวลา ดังต่อไปนี้ 

refund


• การขอเงินคืนผ่าน Lazada 

 

ในกรณีที่เราสั่งของจาก Lazada เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วต้องการขอเงินคืนและคืนสินค้า ต้องทำภายในวันที่กำหนดโดย Lazada จะมีประกันสินค้าให้ 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับพัสดุ ถ้าต้องการขอเงินคืนหรือคืนสินค้า ต้องทำเรื่องภายใน 2 สัปดาห์นี้เท่านั้น ถ้าเกินจากนี้ถือว่าหมดประกัน

สำหรับช่องทางการคืนเงินและระยะเวลาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชำระเงินผ่านช่องทางไหน รายละเอียดตามนี้เลย 

refund

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการส่งสินค้าคืนควรพูดคุยตกลงกับทางร้านก่อนที่จะทำเรื่อง อย่างเราสั่งของจากร้านต่างประเทศแล้วได้ของที่ไม่ตรงปกมา ก็ทำเรื่องขอเงินคืนอย่างเดียว เพราะไม่รู้จะสื่อสารกับเจ้าของยังไง แล้วมูลค่าของไม่ได้สูงมาก เราก็เลยเลือกที่จะไม่ส่งของคืน เพราะค่าส่งของคืนสูงกว่าราคาสินค้าซะอีก


🌈 ปันโปรสรุปให้ก่อนจ่าย 🌈

• นี่ก็เป็นคู่มือการจ่ายเงินสำหรับนักช้อปออนไลน์มือใหม่ที่ครบ จบ ในที่เดียวมากๆ แต่ก็อย่าลืมเช็ครายละเอียด ก่อนจะกดปุ่มจ่ายเงินทุกครั้ง ไม่ว่าจะสินค้าที่สั่ง ที่อยู่จัดส่งสินค้า และรายละเอียดการจ่ายเงินให้เรียบร้อยด้วยนะ 

• เวลาช้อปออนไลน์และต้องการผูกบัตรเครดิต / เดบิต ควรทำผ่านคอมพิวเตอร์หรือมือถือส่วนตัว เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลไปใช้ต่อ 

• สำหรับใครที่จะสั่งสินค้าแล้วจ่ายปลายทาง เราแนะนำคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนสั่ง เพื่อที่จะได้ของที่อยากได้โดย ไม่เสียเวลาทั้งผู้ซื้อและผู้ขายน้า ถ้าเจอของที่ชำรุดจริงๆ จึงค่อยปฏิเสธสินค้า

อ่านบทความจากซีรีส์ Shopping Online 101 ต่อ

คู่มือซื้อของออนไลน์ : มารู้จักเว็บขายของแต่ละแบบ พร้อมสอนวิธีสมัคร

คู่มือซื้อของออนไลน์ : โปรลดราคา ของเซลในเน็ต ดีจริงหรือ

คู่มือซื้อของออนไลน์ : ค่าส่งเรื่องปวดใจของนักช้อป แล้วที่ว่าส่งฟรีมีอยู่จริงมั้ย?

 

via GIPHY

แสดงความคิดเห็น