รีวิวนั่งรถไฟปู๊นๆ ไปเที่ยว "บ้านริมคลองโฮมสเตย์" อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
โดย : Ying
โฮมสเตย์เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความที่บ้านเมืองในช่วงนั้นเต็มไปด้วยสงคราม บรรดานักท่องเที่ยวจึงอยากหาที่พัก ที่เที่ยว ให้ห่างจากความตึงเครียดของตัวเมือง นั่นเลยทำให้บรรดาฟาร์มต่างๆ ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงครามพากันเปลี่ยนบ้านเป็นที่พัก ไม่เพียงเท่านั้นแต่ยังมีพวกกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และเสิร์ฟอาหารพื้นเมืองพ่วงมาด้วย
สำหรับประเทศไทยโฮมสเตย์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งตอนนั้นเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนักศึกษาออกค่ายอาสาเพื่อเรียนรู้และหาทางพัฒนาปัญหาของชุมชน ในช่วงนั้นโฮมสเตย์จะตั้งอยู่ตามเส้นทางการเดินป่า จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ได้เกิดโฮมสเตย์นำร่องของไทยขึ้นมา
จุดประสงค์ของโฮมสเตย์นำร่องนี้ก็เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาชุมชน
และจังหวัดแรกที่มีโฮมสเตย์นำร่องนี้ก็คือ เกาะยาว จังหวัดพังงา
พื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวประมงนั่นเอง
ในปัจจุบันการเกิดขึ้นมาของโฮมสเตย์นั้นมีอยู่มากมายเกือบจะทุกจังหวัด ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง โดยเฉพาะโฮมสเตย์เชิงท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ที่มีแนวคิดเปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ ซึ่งบทความนี้ก็อยากจะพาไปสัมผัสกับ บ้านริมคลองโฮมสเตย์ อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โฮมสเตย์น่ารักแห่งนี้อยู่ใกล้กรุงเทพฯ นิดเดียว เดินทางได้เองด้วยรถสาธารณะ แถมโฮมสเตย์ยังมีกิจกรรมให้เราได้ลงมือทำกันอย่างสนุกสนานอีกด้วย
ชุมชนต้องเที่ยว ของจังหวัดสมุทรสงคราม
และการเดินทางด้วยรถไฟสุดคลาสสิก
🏠
🌴 รู้จัก ชุมชนต้องเที่ยว การท่องเที่ยวที่ให้คนในชุมชนมีบทบาทสำคัญ
บ้านริมคลองโฮมสเตย์ เป็นโฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ริมน้ำ มีสวนอยู่ในตัว และยังมีความพิเศษคือมีกิจกรรมหลายอย่างให้ได้ทำ ทั้งทำขนม ทำผัดไทย จักสานจากทางมะพร้าว ทำผ้ามัดย้อม และทำสปาเท้าจากดอกเกลือผสมไพล ซึ่งจากการพูดคุยกับทางผู้ดูแลพบว่า บ้านริมคลองโฮมสเตย์เป็น 1 ในชุมชนต้องเที่ยวที่ผ่านการคัดเลือกจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) แถมยังเป็น 1 ใน 16 ชุมชนแรกๆ ของโครงการนี้อีกด้วย
ชุมชนต้องเที่ยวเป็นโครงการที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการทำการท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ มีรายได้เข้ามาจากการท่องเที่ยว โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนก็อย่างเช่น กิจกรรมที่เราจะได้ทำขณะเข้าพัก ก็จะมาจากคนในชุมชนเป็นคนเข้ามาสอนถึงในโฮมสเตย์เลย
🌴 เดินทางได้แม้ไม่มีรถส่วนตัว
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ ทางคณะของเราเลือกเป็นขนส่งสาธารณะสุดคลาสสิกอย่าง รถไฟ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีสถานีที่ผ่านหน้าโฮมสเตย์เลย แต่ต้องบอกว่าการเดินทางไม่ได้ยากอย่างที่คิดแถมยังสร้างความสนุกสนานและประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับพวกเราไปได้ตลอดทางเลยด้วย
- ขึ้นรถไฟที่วงเวียนใหญ่ >> สุดสายที่มหาชัย ในราคา 10 บาท/คน
เรานัดเจอกันในช่วงเช้าที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ไม่ใช่ BTS นะ แต่เป็นสถานีรถไฟปู๊นๆ ที่แอบซ่อนอย่างกลมกลืนอยู่กับชุมชนวงเวียนใหญ่ พวกเราเลือกขึ้นรถไฟเที่ยว 08.35 น. ลงสถานีปลายทางมหาชัยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น โดยรถไฟที่เราขึ้นเป็นรถไฟพัดลม ออกตรงเวลาเป๊ะ
- ลงรถไฟ >> ขึ้นเรือข้ามฝากไปฝั่งท่าฉลอม ในราคา 3 บาท/คน
เมื่อลงรถไฟที่สถานีมหาชัยหรือตลาดมหาชัยแล้ว เราก็เดินต่อไปอีกประมาณ 350 เมตร เพื่อไปขึ้นเรือข้ามฝากไปฝั่งท่าฉลอม ตรงนี้หาไม่ยากเปิดแผนที่นำทางได้เลย ด้วยความที่ตรงนี้เป็นตลาดทำให้ระหว่างทางรถค่อนข้างจะเยอะ และยังเต็มไปด้วยร้านค้ามากมายบรรยากาศจึงคึกคักมาก
- สถานีรถไฟบ้านแหลม >> ไปต่อรถไฟสุดทางที่ตลาดร่มหุบ ในราคา 10 บาท/คน
เมื่อเรือข้ามฝากจอดสนิท ก็เปิดแผนที่ไปสถานีรถไฟบ้านแหลมได้เลย เดินไปประมาณ 600 เมตรก็ถึง หรือใครจะจ้างจักรยานสามล้อก็ได้ เรามาทันรอรถไฟรอบแรกคือ 10.10 น. เป็นรถไฟพัดลม ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง และที่สำคัญรถไฟออกตรงเวลาเป๊ะเช่นเดิม
เราถึงปลายทางคือตลาดแม่กลองตามเวลาในตารางไม่ผิดเพี้ยน และนับเป็นความโชคดีอีกอย่าง ที่จากเดิมเราจะต้องเรียกตุ๊กๆ ไปส่งที่โฮมสเตย์ แต่ด้วยเรามาถึงตรงจังหวะที่คุณป้าจากโฮมสเตย์ออกมาซื้อของพอดี เราเลยได้ติดรถเข้าโฮมสเตย์ไปพร้อมกันเลย คุณป้าก็น่ารักให้เราเข้าห้องพักได้ ไม่ต้องรอจนกว่าจะถึงเวลา 14.00 น. นับเป็นความโชคดีลำดับที่ 2 เลยนะ
รีวิว บ้านริมคลองโฮมสเตย์ อัมพวา
กินอิ่ม นอนหลับ กิจกรรมแน่น
🏠
หลังจากเราวางกระเป๋าล้างหน้าล้างตาเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินชมโฮมสเตย์ก่อนเลย บ้านริมคลองโฮมสเตย์มีห้องพักพอประมาณ กระจายตัวไปตามริมน้ำ ห้องพักที่เราพักจะอยู่ชั้นที่ 1 ของบ้านหลัก สามารถเข้าพักได้ 4 คน ถ้าบ้านหลังเดียวกันก็จะมีห้องพักอีกน่าจะ 2-3 ห้อง มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ รวมถึงอ่างล้างหน้าส่วนกลางให้ แต่ห้องพักบางห้องก็มีห้องน้ำให้ในตัวพร้อมติดตั้งแอร์เย็นฉ่ำให้ด้วย ภายในโฮมสเตย์มีต้นไม้คอยให้ความร่มรื่นแทรกตัวอยู่ตามทางเดิน และบริเวณห้องพัก ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่พักผ่อนที่มีความสงบดีเลย
🌴 กิจกรรมควบคู่กับการพักผ่อน
เมื่อเราพักล้างหน้าล้างตาจนสดใสขึ้นแล้ว เราก็เริ่มทำกิจกรรมที่เราลงชื่อจองไว้ทั้งหมดจะมี 4 กิจกรรมดังนี้
- ทำผัดไทยกุ้งสด
- สานหมวกและสานของเล่นจากใบมะพร้าว
- ทำขนมต้มคลุกมะพร้าว
- สปาเท้าจากดอกเกลือและไพล
จริงๆ เราอยากทำผ้ามัดย้อมด้วย แต่ด้วยจำนวนคนไม่ถึงตามกำหนดจึงต้องเปลี่ยนเป็นสปาเท้าแทน สำหรับกิจกรรมทุกอย่างทางโฮมสเตย์จะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ รวมถึงคนสอนมาคอยดูแลพวกเรา ซึ่งคนสอนก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนในชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ นั่นเอง
- ทำผัดไทยกุ้งสดกันเถอะ
น้ำซอสผัดไทยเป็นซอสมะขามรสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ อร่อยมากเลย ในขณะที่เรากำลังทำผัดไทย จะมีคุณป้าเล็กคอยดูแลเราตลอด พร้อมทั้งบอกกับเราว่าไม่อิ่มให้มาทำใหม่ได้เลย
- สร้างงานฝีมือจากใบมะพร้าวกันเถอะ
หลังจากลงมือทำผัดไทยและจัดการกินเป็นอาหารกลางวันกันเรียบร้อยก็ถึงเวลาของงานฝีมือ โดยงานฝีมือครั้งนี้เราได้ลุงลั่นทมชาวบ้านที่ถนัดเรื่องสานใบมะพร้าวเป็นอย่างมาก แถมยังสอนเก่ง รู้ว่าจะใช้คำพูดแบบไหนให้เราเข้าใจง่าย คุณลุงลั่นทมน่ารักมาก คุยสนุก ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา คุณลุงสอนเราสานทั้งหมวก พัด รวมถึงสัตว์โลกน่ารักด้วย ตรงนี้ขอชื่นชมเลยว่าทั้งสนุก ทั้งได้ของที่ระลึกติดมือกลับบ้านกันคนละ 2-3 อย่างเลย
คุณลุงลั่นทมคอยให้คำแนะนำเราทุกขั้นตอน พร้อมกับเล่าให้ฟังอีกด้วยว่าลุงเคยถูกเชิญไปออกงานที่ประเทศเยอรมันไปสอนคนในงานสานใบมะพร้าว ถือเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญหาชาวบ้านของไทยให้ชาวโลกรู้จักมากขึ้นด้วยนะ
- ขนมต้ม ของว่างแสนอร่อยยามบ่าย
เมื่อเราทั้งสานหมวกและสานพัดกันจนเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาของ ของว่างยามบ่าย อย่างขนมต้ม ซึ่งเป็นของว่างที่เราได้ลงมือทำกันเอง ขนมต้มเป็นขนมไทยสอดไส้มะพร้าวผัด ตัวแป้งทำมาจากแป้งข้าวเหนียวและไส้ที่ทำมาจากมะพร้าว เมื่อต้มจนสุกแล้วก็จะนำมาคลุกกับมะพร้าวขูดอีกที โดยทางป้าเล็กและชาวคณะจะทำการเตรียมไส้ของขนมมาให้ เพราะไส้ต้องใช้เวลาผัดค่อนข้างนาน เราจะมีหน้าที่ขูดมะพร้าว ผสมแป้งต้มให้สุก และจัดการกินอย่างเอร็ดอร่อยในที่สุด
เราทำแป้งกัน 2 สี คือสีม่วงกับสีเขียว โดยใช้สีผสมอาหาร ด้วยความมือใหม่ทำให้ขนาดที่ปั้นออกมา
แป้งหนาบ้างบางบ้างสลับกันไป แต่โดยรวมคือสนุกมาก
ป้าเล็กบอกว่า เมื่อไหร่ที่ขนมลอยขึ้นมาให้ปล่อยขนมลอยในกระทะสักพักก่อน
แล้วค่อยตักขึ้นมาคลุกกับมะพร้าวที่เราขูดรอไว้ เป็นขนมที่อร่อยใช้ได้เลย ผสมกับมะพร้าวขูดแล้วคือรสชาติเข้ากันมาก
- สปาเท้าเพื่อความผ่อนคลาย
เดินทางมาถึงกิจกรรมสุดท้าย สร้างความผ่อนคลายด้วยสปาเท้าจากดอกเกลือและไพลในน้ำอุ่น ต้องบอกก่อนว่าดอกเกลือคือผลผลิตแรกของการทำนาเกลือ ดอกเกลือยังมีค่าความชื้นสูงกว่าเกลือธรรมดา ทำให้แร่ธาตุต่างๆ ซึมซับสู่ผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาใช้รักษาโรคผิวหนัง และใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สปา รวมไปถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ส่วนไพลที่นำมาผสม คนโบราณก็มักจะนำมาใช้กับผู้ที่มีอาการอักเสบ บวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา และอาการปวดต่างๆ และเมื่อทั้ง 2 มาผสมกันในน้ำอุ่นยิ่งทำให้เท้าของเรารู้สึกสบายมากขึ้นไปอีก
ทางโฮมสเตย์ได้เตรียมพื้นที่ให้เราสปาเท้าโดยหันหน้าออกทางคลอง นั่งฟังเสียงน้ำ เสียงเรือ เสียงนกไปด้วย
แช่เท้าไปด้วย จัดเป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลินมากๆ เลย
หลังจากสปาเท้าเสร็จก็เตรียมแยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย ทางแม่ครัวก็ได้มีการนัดแนะกับเราเรื่องของอาหารเช้า เย็นวันนั้นเราเข้าไปเดินเล่นและหาอาหารกินกันแถวๆ ตลาดน้ำอัมพวา แต่ด้วยความที่ปกติตลาดน้ำอัมพวาจะเปิดแค่วันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น เราจึงหาอะไรทานแล้วเดินเล่นรอบๆ ก่อนจะเรียกรถตุ๊กๆ กลับเข้าที่พัก
- อาหารเช้าสุดจะเรียบง่าย แต่อิ่มอร่อยไปครึ่งวัน
อาหารเช้าที่ทางโฮมสเตย์เตรียมไว้ให้เป็นอาหารง่ายๆ อย่างข้าวต้มกุ้งฝีมือแม่ครัว ปาท่องโก๋ที่ไม่ได้กินนานมากแล้ว รวมถึงขนมปังปิ้งแบบบริการตัวเอง ถึงจะไม่ได้ดูหลากหลายแบบอาหารเช้าโรงแรม แต่รับรองว่าอิ่มมาก
- เช้าๆ เราก็เข้าสวนมะพร้าว
เมื่อวานคุณยายแม่ครัวได้แนะนำให้เราขี่จักรยานเข้าไปชมสวนมะพร้าวด้วย คุณยายบอกว่าช่วงเช้าๆ จะมีคนมาเก็บน้ำตาลมะพร้าวสามารถเข้าไปดูและขอชิมน้ำตาลมะพร้าวได้ หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จเราก็ลุยเข้าสวนกันเลย ต้องบอกว่าในสวนร่มรื่นมาก เป็นสวนที่มีคูน้ำเล็กๆ ไปตลอดทาง มีต้นมะพร้าวเตี้ยๆ อีกทั้งยังมีโรงเลี้ยงไก่ มีศาลาเอาไว้ให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรอีกด้วย
ชาวบ้านขณะเก็บน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งเรามาพร้อมอาวุธที่คุณยายแม่ครัวแจกไว้ให้ เราจึงได้ชิมน้ำตาลมะพร้าวสดๆ
จากต้นกัน รสชาติหวานสดชื่นดีมากเลย
บ้านสวนโฮมสเตย์จัดเป็นที่พักที่น่าชื่นชม ทั้งกิจกรรมและความแน่วแน่ที่จะดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยว อีกทั้งทางโฮมสเตย์ยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมระดับที่จริงจังเลยนะ เขาจะมีการแยกขยะกันภายใน ทั้งพวกเศษอาหารและขวดน้ำเป็นต้น อีกทั้งภายในโฮมสเตย์ยังมีป้ายติดว่าใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ด้วยนะ ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยทำไมถึงถูกคัดเลือกให้เป็นชุมชนต้องเที่ยวของ ธ.ก.ส.
สำหรับใครที่สนใจอยากจะเข้าพักที่บ้านริมคลองโฮมสเตย์ อัมพวา โฮมสเตย์ริมน้ำสุดแสนจะน่ารัก กิจกรรมแน่นๆ แบบนี้ สามารถสอบถามกับทางโฮมสเตย์ได้โดยตรง โดยทางโฮมสเตย์จะมีหลากหลายแพ็กเกจ จะไปเป็นแบบกลุ่มใหญ่ 10-20 คน หรือจะเป็นคณะเล็กๆ 3-4 คนก็มี
📌 บ้านริมคลองโฮมสเตย์
📞 089-170-2904
ปัจจุบันถึงแม้โฮมสเตย์แต่ละแห่งต่างพยายามจะหาจุดน่าสนใจให้ตัวเอง การสร้างความน่าสนใจในรูปแบบที่ดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาเป็นจุดขาย ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่เพราะนอกจากแขกจะได้พักผ่อนแล้วยังได้ทำกิจกรรม และกิจกรรมก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนอีกด้วย แล้วไหนจะช่วยให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้กันมากขึ้นอีก อย่างปกติถ้าไม่ใช่ช่วงที่ตลาดน้ำอัมพวาเปิดทำการ ผู้คนก็ไม่รู้จะเดินทางมาเที่ยวที่นี่กันทำไม นั่นจึงทำให้ช่วงวันจันทร์-พฤหัส พื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างเงียบ รายได้ของชาวบ้านก็เงียบตามไปด้วยเช่นกัน
นอกจากจะดึงลูกค้าด้วยของดีประจำชุมชนแล้ว เรื่องราวระหว่างการเดินทางก็สามารถนำมาเป็นจุดขายได้ อย่างการเดินทางด้วยรถไฟ ต่อเรือ แล้วต่อด้วยรถไฟอีกที นับเป็นการเดินทางที่สนุก เราจะได้เห็นชุมชนข้างทางรถไฟ ได้เห็นวิถีชีวิตของน้องๆ นักเรียน พ่อค้าแม่ค้า เดินทางไปเรียนไปทำมาหากิน และยังได้เห็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่มีจุดหมายปลายทางคือ ตลาดร่มหุบ หนึ่งในตลาดที่โด่งดังของเมืองแม่กลอง นั่นช่วยทำให้การท่องเที่ยวมีมูลค่า และน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปด้วย
นักท่องเที่ยวและแม่ค้าขณะที่รถไฟกำลังเคลื่อนผ่านตลาดร่มหุบ อีก 1 จุด Unseen Thailand
💙 อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ที่นี่
โดย Ying
ฺ𝘉𝘰𝘰𝘬 • 𝘊𝘰𝘧𝘧𝘦𝘦 • 𝘞𝘢𝘭𝘬𝘪𝘯𝘨 • 𝘍𝘳𝘦𝘦𝘥𝘪𝘷𝘪𝘯𝘨