การกลับมาของ PayPal กับกฏใหม่ที่ทุกสายอาชีพต้องรู้ !
โดย : imnat
เป็นเวลานานกว่า 1 ปี หลังจากที่ PayPal ได้ยกเลิกการสมัครสมาชิกใหม่ในบ้านเรากันไป ล่าสุดดูเหมือนว่าเราจะได้ยินข่าวดีกันแล้ว เพราะในปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง ทาง PayPal จะกลับมาเปิดให้บริการในบ้านเรากันอีกครั้ง แต่ ดูเหมือนว่าการกลับมาในครั้งนี้จะมาพร้อมกับเงื่อนไขที่กระทบกับหลายคนกันพอสมควร ส่วนจะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เดี๋ยวเราจะมาสรุปให้ฟัง !
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จัก PayPal กันก่อน
PayPal คือ เว็บไซต์ตัวกลางที่ให้บริการทางธุรกรรมที่ได้มาตรฐานและนิยมใช้กันทั่วโลก โดยจุดเด่นของ PayPal นั้นก็คือ สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บริการรับ - ส่งเงิน, บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet แถมยังมาพร้อมกับความปลอดภัยที่มากกว่าการทำธุรกรรมแบบเดิมๆ รวมไปถึงการรองรับบริการทั้งจากฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายไปพร้อมๆ กัน
แล้วทำไมถึงต้องมีตัวกลางในเมื่อเดี๋ยวนี้บัตรเครดิตประเภท VISA หรือ MasterCard ทั้งหลายก็รองรับการชำระเงินที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ? เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะกำลังสงสัยกันอยู่ ซึ่งเราก็ได้ไปหาคำตอบมาให้เรียบร้อย ลองมาอ่านกันดู แล้วพิจารณากันดูซิว่าความเห็นส่วนตัวของทุกคนนั้น คิดว่าตัวกลางที่ว่านี่เวิร์คไหมในความเห็นของเรา
PayPal ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนซื้อกับคนขาย โดยเป็นตัวกลางที่เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกให้กับพวกเราได้มาก เพราะนอกจากบริการที่หลากหลายแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่องของความปลอดภัย คือหลักๆ เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า ข้อมูลของเราไม่มีทางรั่วไหลซึ่งข้อมูลนี้ได้แก่อะไรบ้าง ก็บรรดาข้อมูลบัตรเครดิต เดบิต รวมถึงเลขบัญชีต่างๆ คือทาง PayPal เค้าจะทำการเก็บข้อมูลเอาไว้อย่างดี นอกจากนี้เค้ายังรองรับผู้ใช้งานได้ทั้งคนที่มีบัตรเครดิต เดบิต รวมไปถึงคนที่ไม่มี (อย่างน้อยที่ต้องมีก็คือเลขบัญชีธนาคารนะทุกคน) ในการเพิ่มความสะดวกของการทำธุรกรรมทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้า รวมถึงการได้มาซึ่งรายได้ด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้า ผู้ใช้บริการ PayPal ทุกคนจะมั่นใจได้เลยว่า ต่อให้สินค้าของเราจะมีปัญหาหรือไม่มี ทางตัวกลางอย่าง PayPal เค้าก็พร้อมให้บริการรวมถึงติดตามให้เราได้อย่างดี อย่างแรกเลย PayPal จะมีการประกันเงินที่เราจ่ายไปเอาไว้ก่อน จนกว่าจะผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมจนกว่าเราจะได้รับสินค้า ตรวจสอบสินค้ากันเรียบร้อยแล้ว ทางระบบถึงจะเริ่มทยอยโอนเงินให้กับทางผู้ขายต่อไป
ยัง ยังไม่หมด เจ้าตัวกลางตัวนี้ยังสามารถรองรับ และแปลงสกุลเงินได้มากกว่า 100 สกุลเงิน ก็คือถ้าเราต้องการจะช้อปปิ้งไม่ว่าจะจากร้านค้าไหน หรืออยู่ในมุมไหนของโลก ทาง PayPal เค้าก็จะคิดเป็นค่าเงินบาท ณ เวลาจ่ายให้เราทันที แบบที่เราไม่ต้องมาลุ้นกันหลังจากที่ตัดเงินไปแล้วว่าสรุปค่าสินค้าและบริการที่เราจ่ายไปนั้นมีราคาอยู่ที่เท่าไหร่
เอาดีๆ แล้ว PayPal ต่างจากบัตรเครดิตยังไง ?
ก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า PayPal ไม่ใช่บัตรเครดิตนะทุกคน แต่ PayPal จะทำงานคู่กันกับบัตรเครดิต, เดบิต และบัญชีธนาคารของเรา ในการเป็นด่านหน้าที่คอยเซฟความปลอดภัย รวมถึงอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ ของเราเฉยๆ ถ้าเราไม่มีบัตรเครดิต, เดบิต หรือบัญชีธนาคาร เราก็ไม่สามารถที่จะใช้บริการ PayPal กันได้ คือ PayPal เค้าจะเป็นอารมณ์เหมือนระบบจ่าย - รับเงินรูปแบบหนึ่งที่เอาไว้ใช้แทนการจ่ายด้วยเงินสด, เช็ค, บัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งจะบอกว่าได้รับความนิยมในหมู่ฟรีแลนซ์ และแม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ที่มีรูปแบบการขายแบบ Worldwide คือจัดส่งได้ทั่วโลก ทำการซื้อขายกับคนต่างชาติอะไรทำนองนั้น
แต่หลังจาก PayPal ประกาศกฏใหม่ออกมา งานนี้อาจจะส่งผลกระทบกับทุกสายอาชีพ !
หลังจากข่าวล่าสุดที่ออกมาว่าทาง PayPal จะกลับมาเปิดให้บริการในประเทศไทยกันอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ดูเหมือนว่าทาง PayPal ก็ได้ เปลี่ยนแปลงนโยบายบางส่วน ไปด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าหลายอาชีพจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะบรรดาฟรีแลนซ์ และผู้ที่ทำอาชีพขายสินค้าระหว่างประเทศทั้งหลาย
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ เลย ก็คือ นโยบายใหม่ของ PayPal นั้นจะ ขอความร่วมมือผู้ใช้งานเก่า และผู้ใช้งานใหม่หลังจากนี้จดทะเบียนบัญชีธุรกิจของตัวเองในไทยกันก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถรับชำระเงิน หรือพักเงินต่างๆ ได้ ซึ่งการจดทะเบียนธุรกิจที่ว่านี้จะทำให้ PayPal กลายเป็นตัวกลางในเชิงธุรกิจจริงๆ หลังจากที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งาน สามารถใช้งาน PayPal ได้อย่างมีอิสระก่อนหน้านี้
ผลกระทบจากนโยบายใหม่ที่ว่านี้ ทำให้บรรดาฟรีแลนซ์ หรือธุรกิจเล็กๆ ทั้งหลายจะต้องมีการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมในแบบที่ภาษาบ้านเราเรียกกันว่า จุกๆ แต่ข้อดีของการประกาศนโยบายมาก่อนเนิ่นๆ แบบนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถหาลู่ทางของตัวเองกันต่อได้ ว่าจะเอายังไงต่อ จะกลั้นใจจดทะเบียนบัญชีธุรกิจไปเลย หรือจะหาช่องทางใหม่ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับเราได้เหมือน PayPal
นอกจาก PayPal แล้ว ยังมี Payment Gateway เจ้าไหนที่น่าสนใจอีกบ้าง ?
✅ Payment Gateway เจ้าที่ 1 : 2C2P
อีกหนึ่งช่องทางที่อำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมให้กับเราได้เหมือน PayPal แถมยังมาแรงมากๆ นิยมใช้ในหมู่แพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงในบ้านเราหลายที่ อาทิ Lazada หรือ airasia เป็นต้น จุดเด่นของเจ้านี้คือมีมาตรฐานดี นิยมใช้กันทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็ก คือไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนธุรกิจก็สามารถใช้งานได้ ส่วนความหลากหลายก็คือไม่เป็นสองรองใคร อย่างระบบการชำระเงินที่เด่นๆ ในบ้านเราก็รองรับทั้งหมด สำหรับใครที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เข้าไปอ่านต่อกันได้ที่นี่เลยจ้า > คลิก
✅ Payment Gateway เจ้าที่ 2 : omise
เจ้านี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยมากเช่นกัน (แถมยังเป็นของคนไทยด้วยนะ) จุดเด่นคือได้รับความนิยมในหมู่ร้านค้าออนไลน์ในบ้านเรามาก มีความหลากหลายของระบบชำระเงินที่เยอะ รองรับได้เพียบ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงมาก ที่สำคัญคือ บุคคลทั่วไป รวมถึงฟรีแลนซ์สามารถใช้งานได้ โดยที่ไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจเลยจ้า สำหรับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ > คลิก
✅ Payment Gateway เจ้าที่ 3 : Pay Solutions
มาต่อกันที่เจ้าที่ 3 สำหรับเจ้านี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย และมีเจ้าของเป็นคนไทยเช่นกัน สำหรับจุดเด่นหลักๆ เลยจะอยู่ที่ค่าธรรมเนียมที่ถูกมากก เรียกได้ว่าน่าจะถูกสุดแล้ว คืออยู่ที่ 3.6% สำหรับความหลากหลาย คือหลากหลายสุดๆ ทั้งผ่านธนาคาร, ร้านสะดวกซื้อ, ออนไลน์, ออฟไลน์ ก็คือมีหมดดด ที่สำคัญสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ทั้งหลาย สบายใจได้ เพราะว่าสามารถใช้งานได้แบบไม่ต้องจดทะเบียนกันไปเลยจ้า ข้อมูลเพิ่มเติม > คลิก
นอกจากนี้ยังมีพวก Payment Gateway ที่เป็นของธนาคารอีกเพียบ ก็ต้องลองศึกษาข้อมูลดูกันดีๆ อย่างพวกเงื่อนไขรวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ Payment Gateway พวกนี้จะให้สมัครสมาชิกได้ฟรีกันเป็นปกติอยู่แล้ว ก็ลองเลือกกันดูอีกที ว่าพฤติกรรมการใช้จ่าย หรือรับเงินของเราส่วนใหญ่เป็นแบบไหน หรือใครที่สะดวกใจกับ PayPal แล้วอยากใช้บริการกับทางนี้กันต่อ ก็มาอ่านต่อที่ด้านล่างนี้เลยจ่ะ สำหรับวิธีการเตรียมตัวต้อนรับการกลับมาของ PayPal
หากต้องการจะใช้งาน PayPal ต่อไป ต้องทำยังไงต่อ ?
สำหรับธุรกิจที่เคยใช้ PayPal มาก่อน และได้ทำการจดทะเบียนธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเริ่มใช้ PayPal ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ส่วนลูกค้าใหม่และบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนธุรกิจ ก็ให้ไปทำการจดทะเบียนธุรกิจกันให้เรียบร้อย แล้วรอลงทะเบียน PayPal กันได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป (แต่ถ้าใครเป็นกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดบัญชี PayPal สามารถทำได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป)
เอาง่ายๆ เลยก็คือ ตอนนี้เปิดให้บริการแล้วสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วเท่านั้น ส่วนใครที่เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งานเก่าหรือใหม่ จะต้องทำการลงทะเบียนธุรกิจของตัวเองกันก่อน แล้วรอทำการสมัครบัญชี PayPal กันอีกทีน้าา
แล้วขั้นตอนของการจดทะเบียนธุรกิจล่ะ เป็นยังไง ?
สำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายที่ต้องการเปิดบัญชี PayPal หลังจากนี้ จะต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์กันให้เรียบร้อยซะก่อน โดยเอกสารที่ต้องใช้มีด้วยกันดังนี้
- แบบ ทพ. (หรือแบบคำขอจดทะเบียน สามารถเซฟได้จากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ คลิก)
- สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (กรณีที่มอบอำนาจให้จดทะเบียน)
- ทะเบียนบ้าน (กรณีที่ผู้ประกอบพาณิชยกิจเป็นเจ้าบ้าน) แต่ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าบ้านจะต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1. หนังสือให้ความยินยอมการใช้สถานที่ หรือ
2. สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และเอกสารสิทธิ์ของผู้ให้เช่า - แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ และสถานที่สำคัญใกล้เคียงโดยสังเขป
- หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- กรณีประกอบพาณิชยกิจการขาย หรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง ให้ส่งสำเนาหนังสืออนุญาติ หรือหนังสือรับรองการเป็นผู้จำหน่ายหรือให้เช่าจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือหลักฐานการซื้อขายจากต่างประเทศ
- กรณีประกอบพาณิชยกิจการค้าอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี ต้องดำเนินการและให้ตรวจสอบและเรียกหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน โดยเชิญผู้ประกอบพาณิชยกิจมาให้ข้อเท็จจริงของแหล่งที่มา หรือชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมแนบหลักฐานแทนได้
- กรณีประกอบพาณิชยกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ให้ส่งสำเนาใบอนุญาตค้างาช้างด้วย
เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อย สามารถยื่นจดทะเบียนกันได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง (ในกรุงเทพฯ) ส่วนต่างจังหวัด สามารถยื่นจดทะเบียนได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา โดยมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 50 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม > คลิก
สำหรับใครที่พึงพอใจใน PayPal กันอยู่แล้ว ก็สามารถทำการใช้งานกันต่อไปได้ อย่างถ้าเป็นกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้งานกันได้เลย ส่วนใครที่เป็นบุคคลธรรมดาทั้งหลายจะต้องทำการจดทะเบียนกันให้เรียบร้อย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 (ช่วงเวลาดังกล่าวสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีบัญชี PayPal แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน) ส่วนบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีบัญชีใดใดของ PayPal ก็ให้ไปทำการจดทะเบียนแล้วรอสมัครและเปิดบัญชีใหม่ที่หน้าเว็บไซต์ PayPal กันอีกครั้งเน้อ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เดลินิวส์
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ