น้ำมันดิบล้นตลาดโลก แตะระดับ $30 ต่อบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
โดย : MilD
ราคาน้ำมันตลาดโลก ลดภายในวันเดียวเยอะสุดในรอบ 29 ปี
จากความขัดแย้งของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน รวมถึงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ทำให้เกิดภาวะ Oversupply ซื้อขายกันที่ระดับราคา $30 ต่อบาร์เรล
ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ปรับลดลงต่อเนื่องถึง 5 วันติด
Highlight ของราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างแรง
• ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงกว่า 30% ภายในวันเดียว ถือว่าปรับลดเยอะที่สุดระหว่างวันตั้งแต่ปี 1991 หรือในรอบ 29 ปีเลย ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีราคาที่ซื้อขายกันในตลาด ก็ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จาก $60 ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ประมาณ $30 ต่อบาร์เรลในตอนนี้
• สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงแรงขนาดนี้ ก็มาจากสงครามราคาระหว่างประเทศสมาชิกผู้ผลิตน้ำมัน กับรัสเซีย ที่มีผลต่อกำลังการผลิตน้ำมันของโลก ซึ่งปัจจุบันก็มีภาวะ Oversupply อยู่แล้ว เพราะความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากสภาะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19
• ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างหนักขนาดนี้ ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ปรับลดราคาต่อเนื่อง 5 วันติด (ตั้งแต่วันที่ 9-13 มี.ค. 63) โดยเฉพาะน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลดไปแล้วถึงลิตรละ 3 บาท คาดว่าราคาน้ำมันของไทยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าลิตรละ 20 บาทอีกสักพักเลย
น้ำมันดิบตลาดโลก ปรับลดไม่หยุด ตั้งแต่ช่วงต้นปี 63
ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 63 ท่ามกลางข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างไปยังทวีปยุโรปและอเมริกา มีข่าวนึงที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลย ก็คือเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างหนักโดยไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้า (หรืออาจจะมีก็ไม่แน่) โดยถ้าหากดูราคาน้ำมันที่ซื้อขายในช่วงเดือนนี้ จะพบว่าในช่วงวันที่ 8 มี.ค. (ตามเวลาซื้อขายในอเมริกา) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ปิดตลาดที่ระดับ $31.13 ต่อบาร์เรล ลดลงจากวันก่อนหน้าเกือบ $10 ต่อบาร์เรล หรือลดลงในวันเดียวมากกว่า 24% โดยการซื้อขายระหว่างวัน ราคาลดลงต่ำสุดไปถึง $27.34 กันเลยทีเดียว
(ราคาน้ำมันดิบตลาดเวสต์เทกซัส (WTI) ย้อนหลัง 1 ปี)
หากลองเปรียบเทียบกราฟราคาน้ำมันดิบย้อนหลัง 1 ปี จะเห็นว่าตั้งแต่เข้าสู่ช่วงปี 2020 แล้ว ราคาก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากระดับซื้อขายที่ $60 ต่อบาร์เรล ราคาลดต่ำลงเป็นระลอก และได้ลดลงอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือนมีนาคมนี่เอง นี่ถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่เกิดขึ้นกันเป็นประจำ ราคาน้ำมันที่ซื้อขายลดลงถึง 1 ใน 4 ภายในวันเดียว จะต้องมีสาเหตุที่ทำให้ราคาผันผวนได้ขนาดนี้
(ราคาน้ำมันดิบตลาดเวสต์เทกซัส (WTI) ย้อนหลัง 5 ปี)
เมื่อลองดูข้อมูลราคาย้อนหลังกลับไปอีก 5 ปี ราคาน้ำมันดิบเคยลดลงแตะระดับ $30 ต่อบาร์เรลมาแล้วครั้งนึงในช่วงปี 2016 หลังจากนั้นก็ปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวลาราคาขึ้นจะค่อยๆ ขึ้น แต่ช่วงที่ราคาตกกราฟจะชันกว่าใกล้เป็นเส้นตรง แสดงว่าลดรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะการซื้อขายล่าสุดที่ลดหนักมากจ้าแม่ ถ้าหากใครติดดอยอยู่ บอกเลยมีหนาวอะงานนี้
สาเหตุเพราะอะไร ทำไมน้ำมันถึงลดแรง?
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 63 สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ และเริ่มกระจายเชื้อไปยังประเทศต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินและทัวร์อย่างหนัก มีการยกเว้นเที่ยวบินและงดเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้แต่ละธุรกิจมีความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างรุนแรง ลองคิดดูว่าเครื่องบินเป็นพันเป็นหมื่นลำต้องหยุดบิน จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงขนาดไหน
เมื่อความต้องการใช้น้ำมันลดลง
Demand ลดลง แต่ Supply ยังเท่าเดิม เกิดเป็น Oversupply
ราคาน้ำมันตลาดโลกจึงปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ
แต่ทำไมราคาน้ำมันดิบ ถึงลดลงแรงกว่าปกติ?
เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกและผลิตน้ำมัน (OPEC) ซึ่งนำโดย "ซาอุดิอาระเบีย" ประเทศที่ส่งออกและมีกำลังการผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก เกิดความขัดแย้งกับรัสเซียในเรื่องกำลังการผลิตน้ำมัน ไม่สามารถตกลงกันได้ตามที่กำหนด ทำให้ซาอุฯ ได้ประกาศลดราคาน้ำมัน และเตรียมแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีกในเดือน เม.ย. 63 ทั้งที่ภาพรวมของตลาดตอนนี้ก็มีความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมากอยู่แล้ว จากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยังกลับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก เลยยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบทุกตลาด ร่วงลงอย่างหนักภายในวันเดียวกว่า 30% ลงไปแตะระดับต่ำกว่า $30 ต่อบาร์เรลนั่นเอง และถ้าหากยังตกลงกันไม่ได้ต่อไปคาดว่าราคาน้ำมันก็อาจจะลดลงไปถึง $20 ต่อบาร์เรลก็เป็นได้ จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน
โครงสร้างราคาน้ำมันในไทย คำนวณจากอะไรบ้าง?
บางคนอาจจะสงสัยว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงเยอะขนาดนี้ ทำไมราคาน้ำมันขายปลีกในไทยถึงค่อยๆ ลดทีละนิด ต้องอธิบายก่อนว่าโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ไม่ได้มีแค่น้ำมันหน้าโรงกลั่นเท่านั้น แต่ยังถูกเก็บภาษี และเงินกองทุนต่างๆ อีกเพียบเลย และยังมีสัดส่วนของเอทานอลที่นำมาผสมอีกด้วย เลยทำให้ราคาในตลาดโลกกับราคาขายปลีกเปรียบเทียบกับเป๊ะๆ ง่ายๆ แบบนั้นไม่ได้น้า
โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทย จะประกอบไปด้วย 7 ส่วนหลักด้วยกันนะ ได้แก่
(1) ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น มีข้อสังเกตก็คือน้ำมันประเภทที่มีสัดส่วนเอทานอลหรือไบโอดีเซลยิ่งเยอะ ราคาหน้าโรงกลั่นกลับยิ่งแพง สะท้อนว่าพลังงานทางเลือกมีราคาสูงกว่าแล้ว
(2) ภาษีสรรพสามิต น้ำมันทุกประเภทจะถูกจัดเก็บ ประมาณลิตรละ 5-6 บาท ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เก็บลิตรละไม่ถึง 1 บาทเอง
(3) ภาษีเทศบาล รูปแบบการจัดเก็บภาษีจะใกล้เคียงกับภาษีสรรพสามิตเลย น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จะถูกจัดภาษีเก็บน้อยมาก
(4) กองทุนน้ำมันฯ จะเห็นว่าน้ำมันที่มีสัดส่วนของเอทานอลสูง เช่น E20 B20 หรือ E85 มีการอุดหนุนกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะ E85 กองทุนเข้าอุดหนุนอยู่ลิตรละ 7 บาทกว่าเชียว
(5) กองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยน้ำมันทุกประเภทจะถูกจัดเก็บในอัตราเดียวกัน 0.10 บาท
(6) ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะนำ (1) + (2) + (3) + (4) + (5) มารวมกันแล้วคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้เป็นราคาน้ำมันขายส่ง
(7) ค่าการตลาด + ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับราคาขายปลีกว่าเป็นเท่าไหร่ ไม่มีกำหนดตายตัวว่าค่าการตลาดจะได้รับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ถือว่าค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงเลยล่ะ เพราะปั๊มได้ค่าการตลาดถึงลิตรละ 2 บาทกว่าเลย
น้ำมันขายปลีกในประเทศ ลดต่อเนื่อง 4 วันติด
หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงอย่างหนัก จนแตะที่ระดับ $30 ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปี แน่นอนว่าจะต้องส่งผลต่อเนื่องมาถึงราคาน้ำมันขายปลีกในไทยปรับลดราคาอย่างหนักไม่แพ้กัน
• วันที่ 9 มี.ค. 63 : ผู้ค้าปรับลดราคาน้ำมันทุกประเภท ลิตรละ 60 สตางค์ (ยกเว้น E85 ลด 40 สตางค์)
• วันที่ 10 มี.ค. 63 : ผู้ค้าปรับลดราคาน้ำมันทุกประเภท ลิตรละ 60 สตางค์ (ยกเว้น E85 ลด 40 สตางค์)
• วันที่ 11 มี.ค. 63 : ผู้ค้าปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 60 สตางค์ (ยกเว้น E85 ลด 40 สตางค์)
• วันที่ 12 มี.ค. 63 : ผู้ค้าปรับลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 60 สตางค์ (ยกเว้น E85 ลด 40 สตางค์) ดีเซล ลดลิตรละ 30 สตางค์
• วันที่ 13 มี.ค. 63 : ผู้ค้าปรับลดราคาน้ำมันทุกประเภท ลิตรละ 60 สตางค์ (ยกเว้น E85 ลด 40 สตางค์)
การปรับลดราคาน้ำมันติดต่อกัน 5 วันต่อเนื่อง รวมลดไปถึง 3 บาทเป็นสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ ในช่วงเวลาปกติ แต่หลายคนก็มีความเห็นว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังสามารถลดราคาได้มากกว่านี้อีก ถ้าเทียบกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกแล้ว เรื่องนี้ถ้ามองในมุมของผู้ค้าแล้ว การทยอยปรับราคาเป็นขั้นๆ ไป น่าจะมีความเหมาะสมกว่า ลองคิดดูว่าถ้าหากผู้ค้าประกาศลดราคาน้ำมันวันเดียวไปเลย ลิตรละ 2 บาท จะต้องเกิดความแตกตื่นอย่างแน่นอน ซึ่งการปรับราคาน้ำมันครั้งละ 60 สตางค์ ถือว่าเป็นอัตราสูงสุดปกติไม่ว่าจะปรับราคาขึ้นหรือลงอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก็คือราคาน้ำมันจะลดลงไปถึงระดับใด? เพราะตอนนี้ราคาใกล้ระดับต่ำกว่าลิตรละ 20 บาทแล้ว จะเห็นว่าราคามีผลวันที่ 14 มี.ค. เวลา 05.00 น. น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 18.74 บาท ต่ำกว่าลิตรละ 20 บาทเป็นที่เรียบร้อย ส่วนน้ำมันดีเซล B10 อยู่ที่ลิตรละ 19.79 บาท และน้ำมันดีเซล B20 อยู่ที่ลิตรละ 19.29 บาท ก็ต่ำกว่า 20 บาทแล้วเช่นกัน ซึ่งถือว่าถูกที่สุดในรอบหลายปี เพราะก่อนหน้านี้ราคาขายยังใกล้แตะลิตรละ 30 บาทอยู่เลย ความกังวลใจในเรื่องของราคาน้ำมันในประเทศราคาแพงคงไม่มีอีกแล้ว แต่จะเป็นสิ่งตรงกันข้ามเลย คือราคาน้ำมันจะลดลงไปได้อีกเท่าไหร่มากกว่า เพราะดูจากสถานการณ์และสภาพเศรษฐกิจแล้ว ราคาน้ำมันขายปลีกน่าจะทรงตัวระดับนี้ไปอีกพักใหญ่ๆ เลยแหละ
แนะนำว่าช่วงนี้ยังอั้นได้ ก็อั้นไปก่อนจ้าาา~
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
• Investing.com
• Bloomberg.com
• ไทยรัฐ (https://www.thairath.co.th/news/foreign/1790644)
• สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (http://www.eppo.go.th)
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ