จับเงินแสนในเวลาแค่ครึ่งปี ! "มิว ภานุวัฒน์ ชูเกิด" ศิลปิน NFT ที่เปลี่ยน Passion ให้กลายเป็นเงิน | ปันโปร Interview
โดย : imnat
ปันโปร | Interview
พูดคุยกับ "มิว ภานุวัฒน์ ชูเกิด"
ศิลปิน NFT คนไทย
ผู้เปลี่ยน Passion ให้กลายเป็นเงิน
รู้จักกันมาไม่เท่าไหร่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแส NFT ในบ้านเราตอนนี้ ‘มาแรงจริงอะไรจริง’ อย่างก่อนหน้านี้ที่เราได้ป้ายยา 5 เกม NFT สำหรับมือใหม่กันไป ปรากฏว่าเสียงตอบรับของเพื่อน ๆ ก็คือแรงมากจนน่าตกใจ มาคราวนี้เลยงัดหัวข้อ NFT มาพูดถึงกันใหม่ แต่ขอเปลี่ยนเวย์มาพูดในมุมมองของคนขายกันบ้าง
ซึ่งเราก็ได้ไปคว้าตัว มิว ภานุวัฒน์ ชูเกิด ศิลปิน NFT ชาวไทย มานั่งพูดคุย พร้อมตอบคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าโลกแห่ง NFT สามารถสร้างรายได้จริง ๆ หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่อุปทานหมู่กันแน่นะ 🤔
| ในเมื่อที่เรียนมามันไม่ใช่ โลกแห่ง NFT คือคำตอบ !
มิว : ต้องบอกก่อนว่ามิวไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมา แถมทักษะการวาดรูปก็คือไม่เก่งจนถึงขั้นไม่เป็นเลยก็ได้ แต่เพราะด้วยความที่เราชอบ ก็เลยลองศึกษา ช่วงแรกก็เริ่มจาก Photoshop ก่อน ที่เลือกอันนี้เพราะมันไม่ต้องวาด 😂 ก็ลองศึกษา ลองนู้นลองนี่มาเรื่อย หลังจากนั้นก็เริ่มมาสนใจศิลปะแบบ Collage (การตัดแปะ) แล้วดันไปติดใจผลงานของศิลปินชาวรัสเซียคนหนึ่งชื่อว่า Olga Khaletskaya และผลงานแนว Surrealism (เหนือจริง) ของ Chema Mendez ศิลปินชาวสเปน ก็เลยนำทั้งสองแนวนี้มา Combine กัน จนกลายมาเป็นผลงานแนว Collage Surreal ของเราขึ้นมา
ส่วนถ้าถามว่าเราเข้ามาในวงการ NFT ได้ยังไง ต้องบอกว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก และเราเองก็มือใหม่มาก ๆ เริ่มแรกจากที่อาศัยลงงานผ่าน Social Media เป็นหลัก อย่างลงไอจี ลงเพจ จนวันนึงเพื่อนที่อยู่ในวงการคริปโตมันมาชวน แล้วบอกว่างานแนว ๆ นี้ของเรามันมี NFT เข้ามานะ ลองเอางานไปลงขายดูไหม เพราะเอาจริง ๆ พวกงานที่ลงเพจก่อนหน้านี้ มันไม่เคยสร้างรายได้ให้กับเราเลย พอเห็นว่าเออมันน่าสนใจดี หลังจากนั้นก็ลองไปศึกษาดูว่า NFT มันคืออะไร เค้าแลกเปลี่ยนกันยังไง ก็เข้าไปอ่าน จนสุดท้ายก็ตัดสินใจว่าจะเอาผลงานของตัวเองไปลงขาย
| จริงไหมที่เค้าว่ากันว่า กว่าจะเข้าวงการนี้ได้ ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน !
มิว : สำหรับมิวไม่นานนะ หรือเพราะเราใจร้อนด้วยก็ไม่รู้ 🤣 คือเห็นว่ามันได้เงินดี ก็เลยเออ ๆ ลองดู อีกอย่างก็โดนเพื่อนมันไซโคด้วย แบบเห้ย ขายแล้วมันได้เงินดีนะเว้ย นี่ก็เลยแบบ เออได้ ! งั้นขอลองดูละกัน
แต่ส่วนนึงเราว่ามันน่าจะเป็นเพราะ Passion ด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าสาขาที่เราเรียนมา เราไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ (มิวเรียนจบเอกภาษาอังกฤษมา) พอมาศึกษาตรงนี้ มันก็เหมือนเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง แบบเออกูชอบทางนี้จริง ๆ ว่ะ ในเมื่อมันชอบแล้วก็ต้องไปให้สุด
| ขายงานได้จริง "ไม่อุปทานหมู่"
มิว : เราเริ่มลงขายงานชิ้นแรกตอนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่กระแส NFT ในบ้านเรากำลังมาแรงมาก ตอนนั้นจำได้ว่าตื่นเต้นมาก แบบเห้ย งานเรามันจะขายได้หรอวะ ปรากฏก็คือขายได้ แถมยังขายได้ไวด้วย อย่างมิวจะมาแหวกกว่าคนอื่นนิดนึง ถ้าเป็นคนอื่น ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเค้าจะลงใน OpenSea กันก่อน แต่ของเราจะไปทาง Foundation เลย
ความยากของ Foundation เมื่อเทียบกับ OpenSea ก็คือ จะลงขายได้ก็ต่อเมื่อได้รับการชวนก่อนเท่านั้น ซึ่งตอนแรกหาคนชวนยากมาก หาอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ กว่าจะได้รับคำชวนจากชาวต่างชาติ พอได้มาปุ๊บก็ลองลงงานดู ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ขายได้เลย แถมช่วงนั้นค่า GAS (ค่าธรรมเนียม) ถูกด้วย พอขายได้เลยดีใจมาก
| ประสบการณ์ "เปิดโลก" ครั้งแรก
"ช่วงแรกที่ลงขาย มิวลงขายทีละชิ้น ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราไม่ได้รีบ
ถามว่าผลตอบรับมันเกินคาดไหม สำหรับมิว เราว่ามันเกินคาดแล้ว"
มิว : ถ้าเป็นในมุมของคนต่างชาติ สังคมบ้านเค้าในตอนนั้นจะครึกครื้นมาก อาจเป็นเพราะเริ่มมาก่อนนานแล้ว แต่ถามว่ามีคนไทยไหม ก็มีนะ เราก็มีการไปทำความรู้จักกับคนไทยด้วยกัน ก็สนุกสนานกัน เอาจริง ๆ มันก็แอบคล้ายพวก Community อยู่เหมือนกัน แบบว่าเข้าไปแล้วก็ทักทายกัน เธอเป็นใครมาจากไหน ซึ่งก็ได้เพื่อนด้วยนะ อย่างบางคนจนถึงทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ ซึ่งสังคม NFT ก็จะมีทั้งคนที่เป็นหน้าใหม่แบบเรา กับหน้าเก่า ที่มีทั้งคนมีชื่อเสียง หรือคนที่ขายงานในนั้นมานานแล้วก็มี
และต้องบอกก่อนว่าถึงแม้ว่าเราจะเริ่มต้นที่ Foundation แต่เราก็มีการหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ช่องทางการลงงานของเราตอนนี้นอกจากจะมีที่ Foundation แล้ว ยังมี HEN (Hic et Nunc) อีกที่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าของเราทั้ง 2 ที่ก็จะแตกต่างกัน ถ้าเป็น Foundation ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติเกือบหมด แต่ถ้าเป็น HEN ก็จะมีกลุ่มเพื่อน ๆ ของเราที่เข้ามาซื้อ เพราะราคามันจะถูกกว่า เฉลี่ยงานละประมาณ 200-300 บาท
ส่วนช่องทางก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับว่าโอกาสของช่องทางไหนมันจะมีมากกว่า เราก็จะอัดผลงานลงไปขายในช่องทางนั้นให้มากกว่า ก็อาศัยการลองตลาดไปเรื่อย ๆ ถ้าเวิร์คก็ลุย ถ้าไม่เวิร์คก็เบรก
| "ที่สุด" ของมิวต้องชิ้นนี้ !
"ประทับใจที่สุด"
มิว : ถ้ามองในมุมของความประทับใจ เราขอยกให้ผลงานที่ชื่อว่า Combination สำหรับงานชิ้นนี้ความตั้งใจแรกของเราเลยก็คือ เราตั้งใจจะใช้ตีมหลักเป็นอียิปต์ ซึ่งสารภาพว่ามันหารูปยากมาก 😅 เลยหาทางออกด้วยการนำไปผสมกับสไตล์ Renaissance (จุดเด่นคือกลิ่นอายของความเป็นกรีก - โรมัน) เลยผสมผสานกันจนออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ ที่เราไม่ได้วางแผนตั้งแต่แรก ซึ่งพอทำออกมาแล้ว ปรากฏว่ามันก็เข้ากันดีนี่หว่า ก็เลยเอาลงขายเลย
"ใช้เวลานานที่สุด"
อีกชิ้นที่เป็นผลงานล่าสุดของเราก็จะเป็น The Mystery Room ที่เราเน้นไปที่การใช้ Compose ผสมกับความเป็น Surreal ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา มีการใส่เทคนิคนู้นนี่ ก็สนุกดี ท้าทายดี ใช้เวลานานกว่างานชิ้นอื่น ๆ แต่ก็ประทับใจมาก
"รายได้มากที่สุด"
ขอยกให้ Time to be King ถ้าเทียบราคา ณ ตอนนี้จะมีมูลค่าอยู่ที่ 120,000+ บาท อย่างอันนี้ตอนลงงานช่วงแรก ๆ คนแย่งประมูลกันสนุกสนานมาก ซึ่งผลตอบรับก็เกินคาดมากจริง ๆ สำหรับเรา
| ในมุมมองของมิว NFT = โอกาส
"มิวมองว่ามันเป็นโอกาส ที่ทำให้เราได้เจอคนใหม่ ๆ
รู้สึกว่าเรามี Connection มากขึ้น ดีกว่าการลงงานอยู่ในเพจอย่างเดียว"
มิว : ตอนแรก ๆ สารภาพตามตรงว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ถือว่ายากอยู่นะสำหรับมือใหม่ เพราะมันต้องมี Account ต้องเชื่อมต่อโน่นนี่ นี่ยังไม่รวมถึงพวกความเสี่ยงในการโดนแฮกกระเป๋าอีกนะ ก็ต้องใช้เวลาศึกษามันให้มาก ๆ ไม่แปลกหรอกถ้าจะมีคนกลัว ต่อให้เริ่มต้นมาแล้วก็ยังมีความกลัวอยู่ดีว่าจะขายไม่ได้ แต่สำหรับเรา เรามองว่าของแบบนี้ต้องใช้เวลา
ส่วนหนึ่งมิวว่าเราไม่ได้กดดันตัวเองด้วยแหละ เราค่อนข้างปล่อย ไม่ได้รีบ ถามว่ามีท้อไหม มันก็มีบ้างนะ อย่าคิดว่าถ้าเราขายงานได้แล้ว เราจะขายได้ตลอด ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนี้ มิวกำลังเคว้งเลย 😂 แต่เราอย่าไปท้อ เพราะมันก็มีช่องทางในการกระตุ้น รวมถึงการโปรโมทงานอยู่ ให้คิดซะว่าเดี๋ยวมันก็มีเข้ามาเองแหละ
อันนี้เราพิสูจน์มากับตัวว่ามันเห็นผลมากกว่าการลงงานในเพจจริง ๆ คือมันสร้างรายได้ได้มากกว่า และเร็วกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมันตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายตรง ๆ เลยด้วยมั้ง หรือถ้าใครกลัวว่า เราไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีฝีมือด้านอาร์ตมาก่อนเลย ให้ดูมิวเป็นตัวอย่างก็ได้ เพราะเราไม่ได้จบด้านนี้มา แต่เรามี Passion กับมันสูงมาก ดังนั้นมิวเลยมองว่านี่มันเป็นข้อดีของ NFT นะ ที่มันเปิดกว้าง เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ มีประสบการณ์มาก-น้อยแค่ไหน ก็สามารถนำผลงานของตัวเองมาลงขายได้
| งานประจำ VS NFT
"ข้อดีของ NFT ในมุมมองของมิว คือ
มันสามารถทำได้เรื่อย ๆ ไม่ฟิกซ์เวลา มีอิสระมากกว่า
อยากตื่นมาทำงาน หรือลงขายงานตอนไหนก็ทำได้"
มิว : ก่อนหน้านี้เราเคยรับฟรีแลนซ์มาบ้างนิดหน่อย แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันยุ่งยาก ต้องประสานงานหลายฝ่าย บวกคุยกับเค้าไม่รู้เรื่องด้วยมั้ง 🤣 ก็เลยคิดว่าเรามาทำตรงนี้ของเราน่าจะดีกว่า ซึ่งถ้าถามว่าพอเรามาทุ่มเทให้กับ NFT ตรงนี้แล้วเรารู้สึกกดดันตัวเองบ้างไหม ก็ขึ้นอยู่กับวันนะ อย่างวันไหนฟิตมากก็จะสิงอยู่ใน Twitter นู้นนี่ ส่วนการทำงานก็แล้วแต่ฟีลวันนั้นเลยว่าอยากทำอะไร หลัก ๆ คือเราจะไม่เร่งตัวเอง อยากทำตามฟีลลิ่งมากกว่า
ส่วนถ้าถามว่าในอนาคตเราจะหันมาโฟกัสกับ NFT เลยไหม มิวว่า NFT มันสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้นะ เพราะมันมีหลาย Chain ให้เราเลือก แถมตลาดใหม่ ๆ ก็ผุดขึ้นทุกวัน เราเลยมองว่ามันเต็มไปด้วยโอกาสทั้งนั้น เผลอ ๆ อาจจะมีโอกาสมากกว่าพวกงานประจำ แถมหารายได้ได้เยอะ เพราะหยิบจับอะไรมา ก็สามารถลงขายได้ทั้งนั้น
ที่สำคัญ คือ มันเห็นภาพชัดมากว่า เราสามารถหารายได้จากช่องทางนี้ได้ ถามว่าคุ้มไหม ช่วงแรก ๆ ที่เราเข้าไปตอบได้เลยว่า คุ้มมาก คุ้มเกินคาดก็ว่าได้ อาจจะเป็นเพราะค่า GAS มันถูกมากด้วยมั้ง ส่วนตอนนี้ถ้าถามว่าคุ้มไหม ก็ถือว่ายังคุ้มอยู่ เพราะพวกค่าธรรมเนียมเหล่านี้มันก็มีปรับขึ้นลงอยู่แล้วเป็นปกติ คนเป็นศิลปินอย่างเราก็ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ถึงจะอยู่ในวงการนี้ได้
🗣 ปันโปรอยากบอก 💬
- เห็นมากฝีมือแบบนี้ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามิว มีอายุเพียงแค่ 25 ปีเท่านั้น !
- ที่มิวเข้าวงการ NFT ได้เร็ว เรียนรู้ได้ไว ส่วนหนึ่งเพราะเค้าได้ เทรนเนอร์ที่ดี อย่างเพื่อนที่ชักชวนเข้าวงการนี่แหละ
- สำหรับจุดเด่นของการลงขายงานที่ Foundation นอกจากกว่าจะเข้าได้ต้องได้รับการชวนเท่านั้นแล้ว วิธีการขายก็น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่าง OpenSea เค้าจะมีให้เลือกทั้งประมูล กับตั้งราคาขายเองได้ แต่ที่ Foundation จะเน้นไปที่ การประมูล อย่างเดียว เมื่อมีคนนึงเปิดประมูลแล้ว เวลาจะนับถอยหลังทันที ทำให้ปิดการขายได้ไวภายใน 24 ชม.
- สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังสงสัยว่า สมมุติเราลงงานขาย หรือซื้อผลงานชิ้นนึงมาแล้ว ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของใคร ? คำตอบก็คือ ลิขสิทธิ์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลิขสิทธิ์ในฐานะคนซื้อ กับลิขสิทธิ์ในฐานะเจ้าของผลงาน สมมุติถ้ามีคนซื้อผลงานชิ้นนึงไปจากเรา ลิขสิทธิ์ในฐานะเจ้าของก็ยังคงอยู่กับเรา แต่คนซื้อก็จะได้ลิขสิทธิ์ไปเหมือนกันในฐานะคนซื้อนั่นเอง ซึ่งผลงานที่เราซื้อมาแล้ว สามารถขายต่อได้ จะขายอัปราคาจากที่ซื้อมาก็ได้ ตามสบายเลยจ้า
- ส่วนใครที่อยากจะลงขายผลงานแต่ กลัวว่าจะไม่คุ้มกับค่า GAS อันนี้มิวได้แนะนำเพิ่มเติมว่า มันมีเวย์ที่ทำให้คุ้มอยู่นะ ดังนั้นไม่ต้องกังวล ยกตัวอย่างเช่น การอัปราคาขายขึ้นจากเดิม แบบรวมค่านู้น ค่านี่ให้เรียบร้อย ซึ่งคนซื้อก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ค่า GAS หรือค่าธรรมเนียมที่เจ้าของผลงานเค้าต้องเสียมันมี ปรับขึ้นลงตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้มันได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ก็ต้องหาทางแก้กันไป ซึ่งมันมีทางออกแน่นอนไม่ต้องกังวล
- ภาพผลงานที่มิวนำมา Collage นั้นมาจาก Public Domain ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ สามารถใช้ได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานจากมิวเซียมต่าง ๆ, รูปที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือศิลปินเจ้าของผลงานเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 50 ปี เป็นต้น
- เห็นแบบนี้แต่มิวก็ยังคง มือใหม่มาก ๆ สำหรับวงการ NFT นะ นี่ทางเราแอบมีถาม ๆ ไปเหมือนกันว่าได้เล่นกง เล่นเกมกับเค้าไหม ซึ่งทางมิวปฏิเสธทันทีเลยว่า วงการนี้เอาดี ๆ มันก็น่าปวดหัวอยู่เหมือนกัน ดังนั้นตอนนี้สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการลงขายผลงานของตัวเอง, ซื้อผลงานของคนอื่นไปขายต่อ รวมถึงเทรดเหรียญนิดหน่อยก็พอครับ 😅
"ถึงแม้ว่า NFT จะสร้างรายได้ให้คนได้ก็จริง
แต่พวกเค้าจะไม่ประสบความสำเร็จกันเลย ถ้าหากขาดความรู้ ความเข้าใจ
ดังนั้น ใครที่สนใจอยากจะลงขายงานทางนี้กันดูบ้าง อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลกันดี ๆ
ต่อให้ประตูแห่งโอกาสจะอยู่ข้างหน้าเราก็จริง แต่ถ้าเราก้าวเข้าไปแบบไม่รู้อะไร
จากที่ควรจะได้โอกาส อาจจะทำให้เราเสียโอกาสแทนได้"
ติดตามผลงานของมิวเพิ่มเติมได้ที่นี่
• Facebook - https://www.facebook.com/search/top?q=1dontknows
• Instagram - https://www.instagram.com/1dontknows_/
• Twitter - https://twitter.com/1dontknows
• Foundation - https://foundation.app/@1dontknows
• KnowOrigin - https://knownorigin.io/1dontknows
โดย imnat
เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
บทความ ที่คุณอาจจะสนใจ