มอเตอร์เวย์ "บางปะอิน-โคราช" ระยะทาง 196 กม. พร้อมเปิดแน่ปี 63
โดย : MilD
ทางด่วนใหม่เปิดประตูสู่ภาคอีสาน สะดวกกว่าเดิม!
ทางหลวงหมายเลข 6 "บางปะอิน-โคราช" ใกล้สร้างเสร็จสมบูรณ์
รัฐเปิดราคาแล้ว ค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ จะต้องจ่ายสูงสุด 255.- ตลอดเส้นทาง
คือขับรถจากกรุงเทพฯ ไปถึงโคราช ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น!
Highlight ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 "บางปะอิน-โคราช"
- โครงการนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 59 ถือเป็นโครงการที่มีการเร่งรัดให้ดำเนินการสร้างอย่างรวดเร็ว (PPP Fast Track) ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีเศษๆ ก็จะเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าพร้อมเปิดใช้งานได้ภายในปี 63
- รูปแบบของถนนของทางหลวงหมายเลข 6 จะมีขนาด 4-6 เลน ประกอบด้วยด่านเก็บเงินทั้งหมด 9 ด่าน ตกแต่งอย่างสวยงาม รองรับทั้งการชำระเงินด้วยเงินสดและอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดเส้นทางจะมีจุดพักรถและจุดอำนวยความสะดวกทั้งหมด 8 จุด แวะเข้าห้องน้ำหรือเติมพลังที่ร้านค้าต่างๆ ได้อีกด้วย
- ภาครัฐได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดค่าผ่านทางของเส้นทางนี้แล้ว ถ้าวิ่งยาวตลอดเส้นทางถึง 196 กม. รถยนต์ 4 ล้อ จะจ่ายสูงสุด 255.- ส่วนรถ 6 ล้อ จะจ่ายสูงสุด 408.- และรถ 6 ล้อขึ้นไป จะจ่ายสูงสุด 587.- นั่นเอง
"ทางหลวงหมายเลข 6" คือเส้นทางไปไหน?
หลายคนคงไม่คุ้นกับทางหลวงหมายเลข 6 สักเท่าไหร่เนาะ เพราะปกติเราจะเคยได้ยินบ่อยๆ ก็คือทางหลวงหมายเลข 1-4 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเดินทางไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ แล้วก็ข้ามไปทางหลวงหมายเลข 7 เลย ก็คือถนนมอเตอร์เวย์ไปพัทยานั่นเอง ความจริงแล้วยังมีทางหลวงหมายเลข 5 และ 6 ด้วยแหละ แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ไม่เปิดใช้งาน แต่อีกไม่มีกี่เดือนข้างหน้าคนที่จะมุ่งสู่ภาคอีสานก็เตรียมยิ้มออกกันได้เลย เพราะจะเดินทางสะดวกสบายกว่าเดิมหลายเท่า สายไวคือขับรถแปบเดียวก็ถึงโคราชเลยจ้า
(ขอบคุณภาพประกอบจาก ส.การภาพ)
จุดเริ่มต้นของโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 หรือถนนมอเตอร์เวย์ (บางปะอิน-โคราช) จะอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษกตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 9) บริเวณอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านไปวังน้อย ตัดผ่านจังหวัดสระบุรี มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ จนไปสิ้นสุดบริเวณถนนเลี่ยงเมือง ด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางทั้งหมด 196 กม. เป็นถนนคอนกรีตจำนวน 4-6 เลนตลอดเส้นทาง โดยจะมีบางช่วงเป็นถนนยกระดับด้วย ซึ่งโครงการในช่วงที่ 1 นี้ ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ตอนนี้มีความคืบหน้าประมาณ 70-80% ใกล้จะสร้างเสร็จแล้ว ภายในปี 63 ได้ใช้แน่นอนจ้า แต่ต้องมาลุ้นว่าอาจจะเปิดทดลองให้ใช้กันก่อนรึป่าว
แต่ความจริงแล้ว "ทางหลวงหมายเลข 6" ตามแผนของโครงการจะมีเส้นทางอีก 2 ช่วง คือ นครราชสีมา-ขอนแก่น (ระยะทาง 169 กิโลเมตร) และขอนแก่น-หนองคาย (ระยะทาง 160 กิโลเมตร) ซึ่งทั้ง 2 เส้นทาง ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการอยู่นั่นเอง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดแล้วจะทำให้มีระยะทางรวมทั้งสิ้นถึง 535 กิโลเมตรเลยทีเดียว
เส้นทางของถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงที่ผ่านเขื่อนลำตะคอง มองเห็นวิวได้แบบสวยงามๆ ไปเลยจ้าาา~
(ขอบคุณภาพประกอบจาก ส.การภาพ)
เจาะลึกด่านเก็บค่าผ่านทาง และสิ่งอำนวยความสะดวก
ตลอดเส้นทางของโครงการมอเตอร์เวย์ (บางปะอิน-โคราช) จะประกอบไปด้วยด่านเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด 9 จุด ได้แก่ ด่านบางปะอิน, ด่านวังน้อย, ด่านหินกอง, ด่านสระบุรี, ด่านแก่งคอย, ด่านมวกเหล็ก, ด่านปากช่อง, ด่านสีคิ้ว และด่านขามทะเลสอ ซึ่งจะรองรับการชำระเงินด้วยเงินสดกับพนักงาน และระบบอัตโนมัติ (M-Pass และ Easy Pass)
นอกจากนี้ ยังมีจุดบริการริมทาง สำหรับพักรถและใช้บริการร้านค้าต่างๆ อีก 8 แห่งตลอดเส้นทางอีกด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามขนาดของพื้นที่
- ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ขนาด 50 ไร่ จำนวน 1 แห่งคือ ปากช่อง
- สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) ขนาด 20 ไร่ จำนวน 2 แห่งคือ สระบุรี และสีคิ้ว
- ที่พักริมทาง (Rest Area) ขนาด 15 ไร่ จำนวน 5 แห่งคือ วังน้อย หนองแค ทับกวาง ปากช่อง และสูงเนิน
(ขอบคุณภาพประกอบจาก กรมทางหลวง)
เปรียบเทียบอัตราค่าผ่านทางของมอเตอร์เวย์
- สำหรับรถ 4 ล้อ : จะเก็บค่าแรกเข้า 10 บาท + ตามระยะทาง กม.ละ 1.25 บาท ถ้าวิ่งตลอดเส้นทาง 196 กม. ค่าผ่านทางสูงสุด 255 บาท
- สำหรับรถ 6 ล้อ : จะเก็บค่าแรกเข้า 16 บาท + ตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท ถ้าวิ่งตลอดเส้นทาง 196 กม. ค่าผ่านทางสูงสุด 408 บาท
- สำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไป : จะเก็บค่าแรกเข้า 23 บาท + ตามระยะทาง กม.ละ 2.88 บาท ถ้าวิ่งตลอดเส้นทาง 196 กม. ค่าผ่านทางสูงสุด 587 บาท
โดยค่าผ่านทางจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 7 ปี ตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป และค่ากลางของอัตราเงินเฟ้อด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยลดค่าผ่านทางเท่าไหร่ล่ะมั้ง 55 ถ้าลองเปรียบเทียบกับค่าผ่านทางของมอเตอร์เวย์ (สายชลบุรี) แล้วก็ถือว่าสูงกว่าไม่น้อยเลยนะ แอดลองเปรียบเทียบค่าโดยสารของ 2 เส้นทางมาเทียบกัน ระหว่างทางหลวงหมายเลข 6 และทางหลวงหมายเลข 7
แต่ถ้าเจาะลึกลงไปถึงการก่อสร้างโครงการแล้ว จะเห็นว่าเส้นทางทางหลวงหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช) จะใช้งบประมาณมากกว่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาในการก่อสร้าง ต้นทุนในการก่อสร้างช่วงหลังก็ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก เลยทำให้งบที่ใช้แตกต่างกันอยู่มาก การกำหนดอัตราค่าผ่านทางก็จะยึดพื้นฐานปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมาเกี่ยวข้องนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก กรมทางหลวง
http://www.doh-motorway.com
โดย MilD
รักที่จะเรียนรู้ อยู่อย่างมีชีวิตชีวา เพราะไม่ว่าโปรโมชั่นจะอยู่ที่ไหน เราต้องตามหามันให้เจอ <3